xs
xsm
sm
md
lg

"หมอยง" ชี้เหตุทำไมจึงต้องมีการกระตุ้นเข็ม 3 เข็ม 4

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศ.นพ.ยง ชี้รับวัคซีนเข็ม 2 ผ่านมานาน ระดับภูมิต้านทานจะลดต่ำลงตามกาลเวลา ทำให้ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคลดลง ประกอบกับไวรัสกลายพันธุ์หลบหลีกระบบภูมิต้านทาน จึงจำเป็นที่จะต้องมีการกระตุ้นเข็ม 3-4 เพื่อยกระดับภูมิต้านทานที่สูงขึ้น


วันนี้ (24 ก.พ.) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว “Yong Poovorawan” ประเด็นโควิด- 19 วัคซีน ทำไมจึงต้องมีการกระตุ้นเข็ม 3 เข็ม 4 โดยระบุข้อความว่า

วัคซีนในปัจจุบันไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ แต่เป็นที่ยอมรับความมีประสิทธิภาพในการลดความรุนแรงของโรค โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบาง

แต่เดิมหลังจากพัฒนาวัคซีน มีเป้าหมายป้องกันการติดเชื้อ ไวรัสโควิดมีระยะฟักตัวสั้น จึงทำให้ยากต่อการป้องกันการติดเชื้อ เพราะต้องการระดับภูมิที่สูงอยู่ตลอดเวลา

เมื่อให้วัคซีนครบ 2 เข็ม การศึกษาประสิทธิภาพในระยะแรก เป็นการศึกษาประสิทธิภาพในระยะสั้นหลัง 2 เข็ม จึงดูเหมือนว่าได้ผลดี แต่ความเป็นจริงเมื่อกาลเวลายาวนานออกระดับภูมิต้านทานลดต่ำลง ประสิทธิภาพในการป้องกันและลดอาการของโรคจึงลดลงตามระยะเวลาที่ห่างออกไป

เมื่อมีการกระตุ้นเข็มสาม จะมีการยกระดับภูมิต้านทานให้ขึ้นสูงไปใหม่ และก็จะลดลงตามกาลเวลาอีกเช่นเคย จึงจำเป็นที่จะต้องมีการกระตุ้นให้ภูมิต้านทานอยู่ในระดับที่สูงขึ้นอีก และก็จะลดลงอีก จึงมีความสำคัญในการกระตุ้นโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มเปราะบาง

ภูมิคุ้มกันที่วัด ที่เป็นแอนติบอดี้หรือระดับ B เซลล์ จะป้องกันการติดเชื้อ ยิ่งสูงก็จะสามารถป้องกันข้ามสายพันธุ์ได้ ส่วนระดับ T เซลล์ จะช่วยลดความรุนแรงหรือทำให้หายเร็วขึ้น

เมื่อเราให้วัคซีนมาแล้วเป็นระยะเวลายาวนาน ขณะนี้การให้วัคซีนในประเทศไทยจะครบ 1 ปี จึงไม่แปลกที่ภูมิต้านทานจะลดลง และจำเป็นที่จะต้องมีการกระตุ้นเข็ม 3 และถ้านานวันออกไปอีก โดยเฉพาะปีนี้เป็นปีที่ 2 ก็จะไม่แปลกที่จะต้องมีการให้เข็มกระตุ้นเพิ่มขึ้นอีกหรือให้เข็มที่ 4 เพื่อยกระดับภูมิต้านทานที่สูงขึ้น ดังแสดงในรูป

ไวรัสกลายพันธุ์หลบหลีกระบบภูมิต้านทาน เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ต้องใช้ภูมิต้านทานในระดับที่สูงกว่าปกติ และที่ผ่านมาก็จะเห็นว่า เมื่อให้วัคซีนในประชากรหมู่มากขึ้น ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อัตราความรุนแรงของโรค และอัตราการเสียชีวิต ลดลงกว่าการระบาดในปีแรกๆ




กำลังโหลดความคิดเห็น