ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักวิจัยด้านไวรัสวิทยา ไบโอเทค เผยผลวิจัยจากประเทศแคนาดา กรณีการแพร่เชื้อโควิด-19 จากกวางมาสู่คน ชี้ยังไม่น่าวิตก การกลายพันธุ์ของไวรัสวัคซีนยังเอาอยู่ แต่เตือน ไวรัสสามารถมาจากสัตว์ได้ และอาจสร้างปัญหาในอนาคตได้
วันนี้ (27 ก.พ.) ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักวิจัยด้านไวรัสวิทยา ไบโอเทค โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Anan Jongkaewwattana" ระบุถึงงานวิจัยจากประเทศแคนาดา ที่ได้ศึกษาเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 จากกวางที่อาจจะแพร่มาสู่คน ซึ่งอาจจะสร้างปัญหาในอนาคตได้ โดย “ดร.อนันต์” ได้ระบุข้อความว่า
“งานวิจัยชิ้นล่าสุดจากแคนาดาที่ศึกษาไวรัสโรคโควิด-19 ที่อาจแพร่จากกวางกลับมาสู่คนได้ มีข้อมูลที่น่าสนใจทั้งจุดที่น่ากังวลและจุดที่ยังไม่น่ากังวลครับ
จุดที่น่ากังวลคือ ไวรัสที่มาจากกวางที่ติดเข้าสู่คนได้มีการเปลี่ยนแปลงหรือการกลายพันธุ์แตกต่างจากไวรัสสายพันธุ์อื่นๆ ที่ชัดเจน ถ้าดูการจัดกลุ่มทางพันธุกรรมจะเห็นว่ากลุ่มของไวรัสในกรอบสีแดง แตกออกมาเป็นกลุ่มย่อยที่แตกต่างจากไวรัสกลุ่มอื่นๆ การเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมของไวรัสนี้จึงไม่เคยพบในไวรัสที่แพร่กระจายในประชากรในมนุษย์มาก่อน
แต่จุดที่ยังไม่น่ากังวลคือการเปลี่ยนแปลงที่ดูเหมือนจะมีมากหลายตำแหน่ง แต่ก็ยังเกิดขึ้นในส่วนของโปรตีนสไปค์ที่ใช้เข้าสู่เซลล์ไม่มาก มีเพียงแค่ 2 ตำแหน่ง ซึ่งไม่เหมือนกรณีของโอมิครอนที่มีจำนวนเป็นสิบ ทำให้เมื่อทีมวิจัยตรวจสอบไวรัสดังกล่าวกับซีรัมของคนที่มีภูมิจากวัคซีนจะยังสามารถไวรัสชนิดนี้ได้อยู่
ข้อมูลนี้อาจจะเป็นการเตือนให้เราระวังว่า ไวรัสสามารถมาจากสัตว์ตัวกลางที่การเปลี่ยนแปลงของไวรัสเป็นไปในรูปแบบที่เราอาจจะไม่เคยพบมาก่อน กลายเป็นสายพันธุ์ที่สร้างปัญหาในอนาคตได้”
อ่านโพสต์ต้นฉบับ