xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัยไวรัสวิทยาชี้ "โอมิครอน" ใกล้ถึงจุดระบาดหนักเทียบ "เดลตา" ต่างที่ตัวเลขคนตาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา เผยสถิติยอดติดเชื้อโอมิครอน ใกล้ถึงจุดระบาดหนักเทียบเดลตา แต่แตกต่างชัดที่ตัวเลขคนตายยังไกลกันลิบลับ ระบุผู้ติดเชื้อใหม่เท่ากับวัคซีนที่ฉีดกันยังเอาไม่อยู่ ยังติดเชื้อกันได้ แต่ลดความรุนแรงลง ย้ำต้องป้องกันตัวเองสูงสุด เตือนหากปล่อยให้ติดเชื้อพุ่งนานๆ เสี่ยงทั้งเชื้อกลายพันธุ์ ยอดป่วยหนักจะพุ่งขึ้น

เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 65 ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุข้อความว่า "ตามสถิติร้อยละการตรวจที่พบคนติดเชื้อสูงสุดของประเทศไทยคือวันที่ 17 สิงหาคม 2564 ซึ่งข้อมูลผู้ติดเชื้อคือ 20,128 ราย โดยช่วงนั้นข้อมูลของ ATK ยังไม่ได้มีการใช้อย่างแพร่หลาย ตัวเลขการติดเชื้อโอมิครอนตอนนี้กำลังใกล้จุดสูงสุดของเดลตา แต่ตัวเลขที่แตกต่างกันค่อนข้างชัดคือ จำนวนผู้เสียชีวิตในวันนั้นที่ 239 ราย แต่ช่วงการระบาดตอนนี้ยังเหลือประมาณ 10-20% ของการระบาดช่วงเดลตา ซึ่งบ่งชี้ว่าภูมิคุ้มกันของเราตอนนี้จากวัคซีนที่ฉีดกันสูงกว่าตอนช่วงพีกเดลตามาก

จำนวนเคสที่สูงขึ้นแสดงว่าภูมิคงจะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้โดยเฉพาะโอมิครอน แต่อาการหนักและรุนแรงภูมิจากวัคซีนทำหน้าที่ได้ดีมากอยู่ เมื่อการป้องกันการติดเชื้อไม่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน เครื่องมืออื่นๆ เช่น หน้ากากอนามัย สบู่ แอลกอฮอล์ การตรวจ ATK ที่ไวและเริ่มแยกตัวเองออก ตลอดจนการระบายอากาศที่ดี คงจะต้องเป็นตัวหลักที่จะกดตัวเลขตัวนี้ลงครับ

การปล่อยให้ตัวเลขการติดเชื้ออยู่ในระดับสูงนานๆ มีความเสี่ยงทั้งจากการเปลี่ยนแปลงของเชื้อที่อาจเกิดขึ้น และจำนวนผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตที่อาจสูงขึ้นตามครับ การตัดสินใจที่จะ move on กับไวรัส คือ การรู้วิธีการตั้งรับที่ดี ตัดตอนป้องกันไม่ให้ศัตรูเก่งขึ้น ดีกว่าการพึ่งพาภูมิคุ้มกันจากวัคซีนอย่างเดียวที่ไวรัสพยายามหนีอยู่ตลอดเวลา และไวรัสมักจะชนะได้ไม่ยาก"

คลิกโพสต์ต้นฉบับ




กำลังโหลดความคิดเห็น