xs
xsm
sm
md
lg

"ดร.อนันต์" ชี้ไม่นานสายพันธุ์ "BA.2" แทนที่ "BA.1" แพร่เร็วกว่า 40% เผยอาจมีการเปลี่ยนชื่อไวรัสอีกครั้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยาจากไบโอเทค เผยไม่นานโควิด-19 สายพันธุ์ "BA.2" แทนที่ "BA.1" แพร่กระจายได้ดีกว่า 30-40% แย้มอาจมีการเปลี่ยนชื่อไวรัสอีกครั้งเพราะคุณสมบัติของไวรัสแตกต่างกัน เผย "BA.2" หยุดการทำงานของแอนติบอดีจากยาโซโตรวิแมบ ซึ่งได้ทดสอบว่าเป็นความหวังของการรักษาไวรัสโอมิครอนได้ อาจจำเป็นต้องหาแอนติบอดีตัวใหม่เพื่อรับมือกับ BA.2

เมื่อวันที่ 16 ก.พ. ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "Anan Jongkaewwattana" ระบุถึงเชื้อโควิดสายพันธุ์ BA.2 ที่คาดว่าจะมาแทนสายพันธุ์หลักอย่าง BA.1 ซึ่งแพร่กระจายได้ดีกว่า BA.1 ถึง 30-40% ทั้งนี้ "ดร.อนันต์" ได้ระบุข้อความว่า

"อีกไม่นาน BA.2 อาจจะเป็นโควิดสายพันธุ์หลักแทนที่ BA.1 ซึ่งเป็นโอมิครอนสายพันธุ์หลักที่ระบาดเป็นวงกว้างในตอนนี้ ไวรัส BA.2 มีความสามารถในการแพร่กระจายได้ดีกว่า BA.1 ประมาณ 30-40% ความแตกต่างระหว่าง BA.2 กับ BA.1 นอกจากจะมีการเปลี่ยนแปลงบนโปรตีนหนามสไปค์ที่ต่างคนต่างมีการเปลี่ยนแปลงเฉพาะตัวของตัวเองแล้ว เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงที่ตำแหน่งอื่นนอกโปรตีนหนามสไปค์อาจมีส่วนทำให้ BA.2 มีคุณสมบัติที่โดดเด่นกว่า BA.1 งานวิจัยชิ้นล่าสุดจากทีมญี่ปุ่นมีผลการทดลองที่น่าสนใจครับ

1. ภูมิคุ้มกันจากวัคซีนจากอาสาสมัครในญี่ปุ่นเมื่อนำมาทดสอบเปรียบเทียบระหว่างไวรัส BA.1 กับ BA.2 พบว่า BA.2 หนีภูมิได้สูงกว่า เช่น ภูมิจาก Moderna ถูก BA.1 หนีได้ 15 เท่า แต่ BA.2 หนีได้ 18 เท่า และภูมิจาก AZ ถูก BA.1 หนีได้ 17 เท่า แต่ BA.2 หนีได้ 24 เท่า

2. ที่น่าสนใจคือ ภูมิจากการติดเชื้อ BA.1 มา ดูเหมือนจะถูก BA.2 หนีได้เช่นกัน ทั้งๆ ที่หลายคนเชื่อว่าไวรัสสองตัวนี้เป็นกลุ่มโอมิครอนเหมือนกัน แต่ความแตกต่างระหว่างสองสายพันธุ์นี้ทำให้ภูมิจาก BA.1 ถูกไวรัส BA.2 หนีได้มากถึงเกือบ 3 เท่า ผลจากหนูทดลองที่ได้รับวัคซีนที่ออกแบบจากสไปค์ของ BA.1 ก็ถูก BA.2 หนีได้มากถึง 6.4 เท่า แสดงว่าโอมิครอน 2 สายพันธุ์นี้อาจจะใช้ทำเป็นวัคซีนแทนกันไม่ได้ซะทีเดียว

3. BA.1 เป็นไวรัสที่ไม่รุนแรงในหนูแฮมสเตอร์ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะไวรัสเปลี่ยนไปจนจับโปรตีนตัวรับของสัตว์ทดลองไม่ได้ดี หรือไวรัสลดความรุนแรงลงจนติดปอดหนูไม่ได้ดีเหมือนสายพันธุ์ก่อนหน้านี้ แต่ BA.2 ติดหนูแฮมสเตอร์ได้ดีกว่า BA.1 มาก

ทีมวิจัยเชื่อว่า BA.2 อาจจะไม่ใช่โอมิครอนทั่วไปเหมือน BA.1 ทั้งคุณสมบัติของไวรัสที่แตกต่างกัน และ ความแตกต่างทางการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน ไวรัสตัวนี้อาจจะถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Pi ซึ่งเป็นตัวอักษรตัวถัดไปต่อจากโอมิครอน"

และล่าสุดวันนี้ (17 ก.พ.) "ดร.อนันต์" ได้ออกมาโพสต์ข้อความชี้ว่า ไวรัสโอมิครอนสายพันธุ์ BA.2 มีการเปลี่ยนแปลงบางตำแหน่งไปจาก BA.1 ซึ่งมีผลวิจัยที่ระบุว่า BA.2 มีความสามารถต่อต้านแอนติบอดีได้ ซึ่งทำให้อาจจำเป็นต้องหาแอนติบอดีตัวใหม่เพิ่มเติมเพื่อการรับมือกับ BA.2 โดยได้ระบุข้อความว่า

"แอนติบอดีที่สามารถจับโปรตีนหนามสไปค์ได้ดีมากๆหลายตัวได้ถูกแยกออกมา และผลิตออกมาเป็นแอนติบอดีรักษาหลายตัวแล้ว เป็นเหมือนยาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพสูงมาก ตอนช่วงก่อนโอมิครอนมีของหลายยี่ห้อใช้ได้มีประสิทธิภาพสูงพอๆ กัน แต่โอมิครอนทำให้แอนติบอดีรักษาหลายชนิดใช้งานไม่ได้เพราะตำแหน่งที่แอนติบอดีเข้าทำงานถูกกลายพันธุ์ไปในโอมิครอน ปัจจุบันยังมีแอนติบอดีเพียงแค่ไม่กี่ชนิดที่ยังจับและยับยั้งโอมิครอนได้อยู่ แม้จะมีประสิทธิภาพลดลงเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่น เช่น ยาโซโตรวิแมบ ซึ่งได้ทดสอบว่าเป็นความหวังของการรักษาไวรัสโอมิครอนได้..
นับว่าเป็นข่าวดี

แต่ข่าวที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่คือ ไวรัสโอมิครอนสายพันธุ์ BA.2 ที่มีการเปลี่ยนแปลงแตกต่างจาก BA.1 ไปบางตำแหน่ง ดูเหมือนจะไปหยุดการทำงานของแอนติบอดีตัวนี้ได้ ผลการทดสอบที่เพิ่งเปิดเผยออกมาคือ ค่าที่ยาสามารถยับยั้งไวรัสเข้าสู่เซลล์ได้ 50% (IC50) จากที่ใช้จำนวน 2072 ng/ml ในสายพันธุ์โอมิครอน BA.1 แต่ค่านั้นสูงเกินวัดได้เมื่อทดสอบกับ BA.2 ซึ่งอาจจะบอกว่าแอนติบอดีตัวนี้อาจใช้ต้าน BA.2 ไม่ได้ รวมถึง Evushield ซึ่งเป็นอีกสูตรของแอนติบอดีด้วย อาจจำเป็นต้องหาแอนติบอดีตัวใหม่เพิ่มเติมกับการรับมือกับ BA.2 ครับ"

อ่านโพสต์ต้นฉบับ

อ่านโพสต์ต้นฉบับ


กำลังโหลดความคิดเห็น