xs
xsm
sm
md
lg

"ดร.อนันต์" เผยเรื่องไม่น่ายินดี "โอมิครอน BA.2" ดุพอๆ กับเดลตา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักวิจัยด้านไวรัสวิทยา ไบโอเทค เปิดเผยเรื่องน่าเป็นห่วง หลังนักวิจัยญี่ปุ่นได้สรุปว่าโอมิครอน BA.2 ซึ่งคาดว่าจะเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดหลักในประเทศไทยดุพอๆ กับเดลตา อย่างไรก็ตาม ยังมีข่าวดี เมื่อนักวิจัยจากเนเธอร์แลนด์พบแอนติบอดีชื่อว่า 87G7 สามารถผ่านด่านหินของโอมิครอนทั้ง BA.1 และ BA.2 ไปจับโปรตีนหนามสไปค์และยับยั้งการเข้าสู่เซลล์ของไวรัสได้

เมื่อวันที่ 19 ก.พ. ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักวิจัยด้านไวรัสวิทยา ไบโอเทค โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก "Anan Jongkaewwattana" ในประเด็นที่เกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ BA.1 และ BA.2 ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะไม่สามารถจับและยับยั้งไวรัสกลุ่มนี้ได้ ซึ่งได้มีผลวิจัยว่า BA.2 มีแนวโน้มจะดื้อกับแอนติบอดีรักษาที่กำลังพัฒนาอยู่แทบทุกตัว โดย ดร.อนันต์ได้ระบุข้อความว่า

"เนื่องจากการกลายพันธุ์บนโปรตีนหนามสไปค์ของไวรัสโอมิครอนทั้ง BA.1 และ BA.2 แอนติบอดีที่ไปแยกมาจากผู้ป่วยที่ติดไวรัสสายพันธุ์ก่อนหน้านี้มาจะมีแนวโน้มสูงมากที่จะไม่สามารถจับและยับยั้งไวรัสกลุ่มนี้ได้ ล่าสุดมีผลการศึกษาว่า BA.2 มีแนวโน้มจะดื้อกับแอนติบอดีรักษาที่กำลังพัฒนาอยู่แทบทุกตัว สาเหตุคือการกลายพันธุ์ที่กระจัดกระจายบนส่วนโปรตีนหนามที่ยากจะหาแอนติบอดีที่จะหนีส่วนกลายพันธุ์ตรงนั้นเข้าไปจับได้...แต่ร่างกายเราสร้างแอนติบอดีได้หลากหลายมาก และผลการศึกษาจากการติดเชื้อจากธรรมชาติ หรือจากการฉีดวัคซีนทำให้เราเชื่อว่ายังต้องมีแอนติบอดีเหล่านั้นที่จับโอมิครอนได้ผสมๆ อยู่ในร่างกายของเรา เพียงแต่ว่าการหาและแยกแอนติบอดีเหล่านั้นออกมาจาก pool ที่มีแอนติบอดีอื่นๆ อยู่มากมายทำได้ยากมาก และต้องอาศัยโชคช่วยจริงๆ

ข่าวดีวันนี้คือความพยายามของนักวิจัยที่แข่งกันหาแอนติบอดีที่สามารถจับและยับยั้งไวรัสโรคโควิดได้ทุกสายพันธุ์เหมือนจะเป็นจริง โดยงานวิจัยล่าสุดของทีมวิจัยจากเนเธอร์แลนด์ (ซึ่งเป็นกลุ่มนักวิจัยด้านไวรัสโคโรนามายาวนานและเข้มแข็งมาก) พบว่าแอนติบอดีที่ทีมวิจัยไปแยกได้มา 1 โคลน ชื่อว่า 87G7 สามารถผ่านด่านหินของโอมิครอนทั้ง BA.1 และ BA.2 ไปจับโปรตีนหนามสไปค์และยับยั้งการเข้าสู่เซลล์ของไวรัสได้ ผลการทดลองใช้แอนติบอดีตัวนี้ในสัตว์ทดลองที่รับเชื้อไวรัสพบว่าสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ดีมาก

ทีมวิจัยทำการศึกษาเชิงลึกพบว่า แอนติบอดี 87G7 นี้ไปจับโปรตีนหนามสไปค์ตรงจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่ใช้เข้าเซลล์ (เรียกว่า RBD) ที่กรดอะมิโน 6 ตำแหน่ง (สีเขียวในภาพ) ที่เป็นตำแหน่งที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในไวรัสทุกสายพันธุ์ในตอนนี้ ซึ่งกลุ่มโอมิครอนที่พบเปลี่ยนแปลงจะเป็นส่วนสีแดงจะไม่ได้ตรงกับที่ 87G7 เข้าไปจับ ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า ตำแหน่งกรดอะมิโนที่เป็นสีเขียวนี้จะเปลี่ยนได้ยาก เพราะถ้าเปลี่ยนจะทำให้หน้าที่ของโปรตีนหนามสไปค์ทำงานไม่ได้ หรือไม่ดี ไวรัสจึงจำเป็นต้องเก็บตำแหน่งนี้ไว้โดยไม่เปลี่ยนแปลง ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงๆ 87G7 ก็จะเป็นแอนติบอดีที่จะสามารถยับยั้งไวรัสได้ทุกสายพันธุ์ถ้าไวรัสไม่กลายพันธุ์เพิ่มในกรดอะมิโน 6 ตำแหน่งนี้

งานวิจัยที่แข่งกันตอนนี้น่าทึ่งมากครับ และเชื่อว่า 87G7 คงจะไม่ใช่แค่โคลนเดียวที่เราจะหาเจอ ต่อไปคงมีตามมาอีกครับ"

ล่าสุดวันนี้ (20 ก.พ.) ดร.อนันต์ได้ออกมาโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กของตนเองอีกครั้ง โดยได้ระบุข่าวร้ายว่า BA.2 มีความรุ่นแรงพอๆ กับสายพันธุ์ "เดลตา" โดยได้ระบุข้อความว่า

"นักวิจัยญี่ปุ่นสรุปว่า BA.2 ดุพอๆ กับเดลตา มาจากผลวิจัยติดไวรัสในหนูที่ไม่เคยได้วัคซีน..จะใช้อธิบายกับคนได้หรือไม่?.เป็นคำถามสำคัญ"

อ่านโพสต์ต้นฉบับ

อ่านโพสต์ต้นฉบับ


กำลังโหลดความคิดเห็น