xs
xsm
sm
md
lg

ช็อก!! หมู่บ้านรับล้างถังสารเคมี วิธีลดค่ากำจัดของเสียอันตรายแบบใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พบวิธีลดค่ากำจัดของเสียอันตรายแบบใหม่ “หมู่บ้านรับล้างถังสารเคมี” ที่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา คาดรับถังของเสียจากโรงงานรีไซเคิล ขุดบ่อล้าง นำถังเปล่าขายต่อ


รายงานพิเศษ

เมื่อประมาณ 7-8 ปีก่อน เคยมีปรากฏการณ์ “หมู่บ้านรีไซเคิล” ที่เกิดขึ้นใน จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งชาวบ้านนำเครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ มาแยกชิ้นส่วนกันเองตามบ้านเรือนคล้ายเป็นอุตสาหกรรมในชุมชน เพื่อนำสิ่งที่ยังมีราคาไปขายต่อ

ส่วนของที่ขายต่อไม่ได้ ก็ถูกนำไปเผาจนเกิดสารพิษ และบางส่วนถูกนำไปกองทิ้งรวมกันจนเกิดเป็นกองภูเขาขยะอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเต็มไปด้วยสารอันตราย

แต่ล่าสุดมีรายงาน พบชุมชนที่ประกอบการเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนเกี่ยวกับของเสียอันตรายเกิดขึ้นอีก เป็น “หมู่บ้านรับล้างถังสารเคมี” โดยการนำถังสารเคมีที่ปนเปื้อนมาล้างให้สะอาด และนำถังที่ล้างแล้วไปขายต่อให้ร้านค้าขายถัง ซึ่งคาดว่า จะต้องมีผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมมีส่วนเกี่ยวข้อง








“หมู่บ้านล้างถังสารเคมี” อยู่ที่บ้านซับชุมพล ต.หนองหญ้าขาว อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ถูกเปิดเผยเพราะมีผู้เดือดร้อนไปร้องเรียนกับหลายหน่วยงานว่ารูปแบบการนำถังสารเคมีมาล้างในชุมชน อาจส่งผลกระทบให้เกิดการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม

เพราะการล้างถังไม่ใช่การกระทำในลักษณะของโรงงาน ไม่มีมาตรการป้องกันการปนเปื้อน เป็นการล้างและปล่อยของเสียลงสู่สิ่งแวดล้อมโดยตรง

นางดาวัลย์ จันทรหัสดี เจ้าหน้าที่อาวุโสและที่ปรึกษาชุมชน มูลนิธิบูรณะนิเวศ ซึ่งลงไปร่วมตรวจสอบในพื้นที่ เปิดเผยว่า หมู่บ้านแห่งนี้มีผู้ประกอบกิจการล้างถังสารเคมีที่ตรวจสอบพบจนถึงเวลานี้ 13 ราย แต่ละรายจะรับถังบรรจุสารเคมีทุกขนาดทั้ง 200 ลิตร 1,000 ลิตร และ 1,500 ลิตร มาล้างให้ถังสะอาด

ถังบางส่วนยังมีสลากที่ระบุว่าเป็นถังบรรจุสารเคมีที่มีคำเตือนว่าเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมหรือระบุเลยว่าสารเคมีมีฤทธิ์เป็นกรด โดยรูปแบบการล้างถังก็ไม่มีมาตรการป้องกันการปนเปื้อนสู่แวดล้อมเลย

“ถังสารเคมีที่เอามาล้างเขาก็กองกันไว้หน้าบ้านเลย บางรายก็ทิ้งสารเคมีลงไปในดินที่เป็นลูกรัง บางรายไปขุดบ่อดินเพื่อเทสารเคมีที่ติดอยู่ก้นถังลงในบ่อ และยังมีบ่อดินที่เราพบว่าไปขุดอยู่ใกล้กับคลองอีสานเขียว ซึ่งเป็นคลองชลประทาน เมื่อเขาทิ้งสารเคมีลงในบ่อดินโดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกันอะไรเลย มันก็มีความเสี่ยงที่จะซึมลงไปในดินและซึมไปยังคลองชลประทาน ที่น่าเป็นห่วงมากไปกว่านั้นคือ คลองอีสานเขียวจะเชื่อมไปยังอ้างเก็บน้ำซับชุมพล ซึ่งเป็นแหล่งผลิตประปาหมู่บ้านด้วย หมายความว่า ชุมชนนี้อาจไม่มีน้ำสะอาดให้ใช้อุปโภคบริโภคนอนาคต” นางดาวัลย์ อธิบายสิ่งที่พบจากการลงพื้นที่ให้ฟัง












จากรายงานของสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 11 นครราชสีมา เปิดเผยผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำพบว่า จุดที่มีการทิ้งมีการปนเปื้อนสารเคมีอันตรายในน้ำเกินกว่ามาตรฐาน และยืนยันได้ว่า เป็นสารเคมีจากภาคอุตสาหกรรม เพราะไม่ใช่สารเคมีที่จะพบได้ตามธรรมชาติในพื้นที่ พร้อมรายงานผลต่ออธิบดีกรมควบคุมมลพิษ

ข้อเสนอในรายงาน ระบุว่า “สารเคมีที่พบเป็นของเสียอันตรายจากภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นวัตถุอันตราย แต่ผู้ประกอบการไม่สามารถแสดงเอกสารใบกำกับการขนส่งหรือเอกสารการอนุญาตให้ครอบครองได้ ดังนั้น การซื้อถังสารเคมีที่ยังไม่ได้ผ่านการทำความสะอาดโดยไม่มีเอกสารกำกับการขนส่ง อาจเข้าข่ายเป็นการครอบครองสิ่งของผิดกฎหมาย และเข้าข่ายเป็นการประกอบกิจการโรงงานลำดับที่ 106 (รีไซเคิล) โดยไม่ได้รับอนุญาต”

ประเด็นที่มาของถังสารเคมีที่ปนเปื้อน เป็นสิ่งที่มูลนิธิบูรณะนิเวศให้ความสำคัญเช่นกัน นางดาวัลย์ ตั้งข้อสังเกตว่า เป็นไปไม่ได้ที่ชาวบ้านในหมู่บ้านนี้จะไปนำถังสารเคมีมาจากโรงงานได้เองโดยตรง แต่จะต้องมีโรงงานที่ประกอบกิจการรีไซเคิล “มีใบอนุญาตล้างภาชนะบรรจุที่ปนเปื้อน” เป็นด่านแรกที่นำถังออกมา แล้วจึงส่งต่อมาให้ชาวบ้านนำถังไปล้างอีกที

จึงตั้งสมมติฐานได้ว่า มีขบวนการที่ต้องการลดภาระค่ากำจัดของเสียอันตราย ตัดค่าใช้จ่ายในการนำน้ำที่ปนเปื้อนจากการล้างไปกำจัดอย่างถูกต้อง โดยใช้ชาวบ้านเป็นเครื่องมือ ส่งถังที่ปนเปื้อนมาให้ไปล้างเอง และเสนอผลตอบแทนให้นำถังที่ล้างแล้วไปจำหน่ายต่อได้เลย

ดังนั้น จึงหวังให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ สืบหาตัวโรงงานที่ใช้ใบอนุญาตนำถังออกมาส่งต่อเพื่อดำเนินคดีให้ได้ด้วย


















เมื่อตรวจสอบไปยังผู้เชี่ยวชาญในวงการกำจัดของเสียอันตราย ได้ข้อมูลตรงกับสมมติฐานของนางดาวัลย์ เพราะการจะขนส่งหรือนำถังสารเคมีออกมาได้ ต้องผ่านโรงงานที่มีใบอนุญาต 106 และต้องเป็นโรงงานที่ระบุเงื่อนไขในอนุญาตด้วยว่า “ประกอบกิจการซ่อมแซมหรือล้างภาชนะบรรจุที่ปนเปื้อน”

ดังนั้น การเกิดขึ้นของหมูบ้านล้างถังสารเคมี จึงจะต้องมี โรงงาน 106 บางแห่ง ทำหน้าที่เป็นนายหน้า ไปซื้อถังสารเคมีที่ปนเปื้อนออกมาจากโรงงานต่างๆ เพื่อส่งต่อให้ชาวบ้านนำไปล้าง และนำถังที่ล้างแล้วไปขายต่อ

“ถัง 200 ลิตร ที่ปนเปื้อน ถ้าไปซื้อออกมาจากโรงงานจะมีราคาประมาณถังละ 40-50 บาท ส่วนถังที่ล้างแล้วไปวางขายอยู่ริมถนน เขาขายกันอยู่ที่ประมาณ 150 บาท เมื่อมองจากปรากฏการณ์นี้ เราจะเห็นว่า โรงงาน 106 ที่เป็นคนกลาง เขาเปลี่ยนบทบาทจากการที่เขาต้องล้างถังเองและต้องเสียเงินเพื่อส่งน้ำที่เหลือจากการล้างถังไปกำจัดอย่างถูกต้อง ซึ่งต้องใช้เงินมาก มาเป็นการขายถังที่ยังไม่ล้างมาให้คนในหมู่บ้านนี้ล้างแทนไปเลย ไม่มีค่ากำจัดของเสียเกิดขึ้น เพราะวิธีการล้างแบบชาวบ้านกลุ่มนี้เท่ากับเป็นการทิ้งของเสียอันตรายไปในสิ่งแวดล้อมเลย โรงงาน 106 แห่งนั้น ก็ได้กำไรง่ายๆ ส่วนชาวบ้านที่เอาถังมาล้าง ก้ได้เงินจากการเอาถังที่สะอาดแล้วไปขายต่อ พร้อมรับสารพิษไปด้วย”

“ที่ต้องพิจารณาอีกเรื่อง คือ โรงงานต้นทาง ที่เป็นเจ้าของถังสารเคมีแต่แรก มีส่วนรู้เห็นด้วยหรือไม่ เพราะหากเราดูตามหลักการ โรงงานต้นทาง (สมมติเป็นโรงงาน A) จะส่งถังที่ปนเปื้อนไปกำจัด จะต้องจ่ายเงินให้ โรงงาน 106 (สมมติเป็นโรงงาน B) เพื่อเป็นค่ากำจัด จากนั้นโรงงาน B ก็นำถังไปสกัดนำสารเคมีที่ยังใช้ได้ออกมาขาย และได้ขายถังที่ล้างแล้วไปด้วย แต่จะมีต้นทุนค่ากำจัดของที่เหลือจากการรีไซเคิลอีก แต่ถ้ามองจากการส่งถังที่ยังปนเปื้อนไปที่หมู่บ้านนี้เลย หมายความว่า โรงงาน B จะกลายเป็นฝ่ายจ่ายเงินให้โรงงาน A แทน เป็นค่าซื้อถัง และทำตัวเป็นนายหน้าขายถังต่อไปให้ชาวบ้านเลย ซึ่งขัดกับหลักการเดิมทั้งหมด และหมายความว่า โรงงาน A รู้อยู่แล้วว่า ถังปนเปื้อนที่ส่งออกไป จะถูกนำไปกำจัดอย่างผิดวิธี แต่ในใบขนส่ง ก็จะพบว่าเป็นใบขนส่งที่ถูกต้องเพราะไม่มีระบุว่าฝ่ายใดเป็นคนจ่ายเงินกันแน่”
ผู้เชี่ยวชาญด้านการกำจัดของเสียอันตราย กล่าวทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น