วันนี้ (3 ก.พ.) นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เปิดเผยว่า ทราบหรือไม่ว่าคนไทยเราทนใช้น้ำคุณภาพต่ำมาเกือบตลอดชั่วอายุคน ทำให้ร่างกายรับสารพิษที่ปนเปื้อนมากับน้ำประปา ไม่ว่าจะเป็นสารพิษจำพวกสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง ปุ๋ย ที่เป็นต้นกำเนิดของไนเตรท ทำให้ร่างกายดูดซึมสารพิษผ่านผิวหนังจากการอาบน้ำ ผ่านทางระบบทางเดินอาหารผ่านการกิน หรือผ่านระบบการหายใจผ่านการสูดดม ทำให้เกิดการเจ็บป่วย ต้องเข้าโรงพยาบาล ทำให้รัฐบาลต้องสูญเสียเงินงบประมาณมหาศาลในแต่ละปี เพื่อรักษาชาวบ้านที่เป็นโรคเหล่านี้
อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวต่อว่า ดังนั้น กรมทรัพยากรน้ำบาดาล จึงตั้งเป้าที่จะช่วยรัฐบาลขับเคลื่อนภารกิจนี้อย่างเป็นรูปธรรม และ มีนโยบายที่จะช่วยเหลือพี่น้องประชาชนผ่านความทุกข์ยากนี้ โดยมีเป้าหมายว่า น้ำกินน้ำใช้ต้องไม่ขาดแคลน ทุกพื้นที่ของประเทศไทย ต้องมีน้ำสะอาดใช้ในการอุปโภคบริโภค ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำบาดาล จะขับเคลื่อนภารกิจ 7 ข้อดังนี้
1.ตรวจคุณภาพน้ำของระบบประปาหมู่บ้านทั่วประเทศ ทั้งที่ใช้น้ำต้นทุนจากแหล่งน้ำบาดาลหรือน้ำผิวดิน เพื่อให้ทราบถึงคุณภาพของน้ำประปา ว่าผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) กำหนดไว้หรือไม่ โดยกรมทรพยากรน้ำบาดาล มีกองวิเคราะห์น้ำบาดาล ที่สามารถตรวจและวิเคราะห์คุณภาพน้ำบาดาลและน้ำผิวดิน ที่มีมาตรฐาน มีเครื่องมือที่ทันสมัย และจะจัดชุดวิเคราะห์น้ำเคลื่อนที่เพื่อไปบริการประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้มั่นใจว่าประชาชน มีน้ำสะอาด ตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลกไว้ใช้ในการอุปโภคและบริโภค อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี
2.มีจุดบริการน้ำดื่มสะอาดฟรี ที่ประชาชนสามารถนำภาชนะมารองรับแล้วนำไปใช้ดื่มได้ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำดื่มของคนไทยทั่วประเทศ ซึ่งหากจะวิเคราะห์กันในเชิงลึก จะพบว่าประชาชนคนไทย เสียเงินเพื่อซื้อน้ำดื่ม โดยเฉลี่ย 10 บาทต่อคนต่อวัน หากครอบครัวใดมีสมาชิก 5 คน ในวันหนึ่งจะเสียงเงินซื้อน้ำดื่ม วันละ 50 บาท หรือ 18,000 บาทต่อปี หากเราทำจุดบริการน้ำดื่มสะอาดฟรีทั่วประเทศ จะทำให้ชาวบ้านประหยัดเงินได้มหาศาลในแต่ละปี
3.เป่าล้างทำความสะอาดบ่อน้ำบาดาล ที่มีอายุการใช้งานเกิน 5 ปี เนื่องจากบ่อน้ำบาดาลเมื่อมีการใช้งานไปนานๆ จะเกิดตะกอนตกค้างอยู่ในบ่อน้ำบาดาล ทำให้ประสิทธิภาพของบ่อน้ำบาดาลลดลง และคุณภาพของน้ำบาดาลแย่ลง จึงจำเป็นที่จะต้องมีการเป่าล้างทำความสะอาดบ่อน้ำบาดาลเป็นประจำทุกปี เพื่อให้บ่อน้ำบาดาลดังกล่าวสามารถกลับมามีประสิทธิภาพดังเดิมได้
4.เจาะบ่อน้ำบาดาลเสริม ในกรณีที่ระบบประปา ที่ใช้น้ำจากน้ำผิวดิน พอถึงช่วงหน้าแล้งน้ำในสระอาจจะแห้งขอด ทำให้ไม่มีน้ำดิบในการผลิตประปา ดังนั้นควรจะมีการเจาะบ่อน้ำบาดาลในบริเวณดังกล่าวเพื่อเสริมความมั่นคงให้กับรับบประปาเดิม หรืออาจจะเปลี่ยนเป็นแหล่งน้ำหลักให้กับระบบประปาเดิมไปเลยก็ได้ หากมีความเหมาะสมและทางท้องถิ่นมีความพร้อมในการบริหาร
5.ซ่อมแซมระบบประปาที่ใช้แหล่งน้ำดิบจากบ่อน้ำบาดาล เนื่องจากระบบประปาบาดาลมีความละเอียดซับซ้อน และมีข้อปลีกย่อยเยอะ ในการบำรุงรักษา บางครั้งผู้ดูแลระบบไม่เข้าใจ จึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ทางกรมทรัพยากรน้ำบาดาล จะจัดหน่วยซ่อมเคลื่อนที่เร็ว ไว้คอยบริการประชาชน เพื่อให้ในหน้าแล้งนี้ ประชาชนจะได้มั่นใจว่ามีน้ำสะอาดใช้ตลอดเวลา
6.จัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลระบบประปาบาดาลทั่วประเทศ เพื่อเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบประปาบาดาลทั่วประเทศ จำเป็นต้องมีช่างท้องถิ่นที่มีความรู้ ความสามารถ และเข้าใจระบบ ที่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะจัดฝึกอบรมให้กับช่างหรือคนที่มีหน้าที่ดูแลรักษาระบบประปาบาดาลทั่วประเทศ โดยจะมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ คอยให้ความรู้และคำแนะนำ และเป็นที่ปรึกษาให้ตลอดหลักสูตร ซึ่งผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมจะมีความรู้และนำความรู้ไปใช้ในการดูแลรักษาระบบต่อไป
7.อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรน้ำบาดาล โดยการเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำบาดาลผ่านระบบสระ ร่อง หรือบ่อวงเติมน้ำ เพื่อเป็นการรักษาสมดุลของระบบน้ำบาดาล และระบบนิเวศใต้ดิน ให้ดำรงอยู่กับประชาชนคนไทยชั่วลูกชั่วหลานต่อไปในอนาคต
“หากพี่น้องประชาชนหรือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความประสงค์จะเข้าร่วมโครงการสามารถแจ้งความประสงค์ผ่านระบบออนไลน์ของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ที่ http://1310.dgr.go.th ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อน้ำกินน้ำใช้ต้องไม่ขาดแคลน…” นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ ระบุ