รายงานพิเศษ
“ทั้งที่เคยมีบทเรียนมาแล้วเมื่อปี 2556 น้ำมันรั่วครั้งนั้น เขาใช้สารเคมีโปรยลงไปเกาะน้ำมันให้แตกตัวและจมลงไปใต้ทะเล แล้วเดี๋ยวทางการก็จะออกมาประกาศว่า เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว .... มันจะเข้าสู่ภาวะปกติได้ยังไง แค่ทำให้น้ำมันจมลงไป แค่มองไม่เห็นน้ำมันแล้ว ก็แปลว่ากลับคืนเป็นปกติแล้วเหรอ ไม่เห็นผลกระทบที่มันตามมาจนถึงตอนนี้กันเลยเหรอ”
นั่นเป็นคำถามใหญ่ต่อวิธีการจัดการปัญหาน้ำมันรั่วที่ทะเลระยอง ของ “ลุงเจิด” หรือ นายบรรเจิด ล่วงพ้น ชาวประมงพื้นบ้าน ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วที่ทะเลระยองเมื่อปี 2556 แม้ว่าผลจากเหตุการณ์นั้น จะทำให้เขาได้เข้าไปเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านทรัพยากรและประมงของจังหวัดระยอง แต่เมื่อเกิดเหตุน้ำมันรั่วขึ้นอีกครั้ง ลุงเจิด ก็บอกว่า ทั้งหน่วยงานรัฐและผู้ประกอบการ ยังใช้วิธีการที่ไม่ต่างไปจากเดิม ทั้งที่เคยทำพลาดครั้งใหญ่จนส่งผลเสียอย่างมากต่อทะเลระยองมาแล้ว
เหตุน้ำมันรั่วในทะเลครั้งนี้ เกิดขึ้นจากการไหลภายในท่อใต้ทะเลของ บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง ในบริเวณมาบตาพุด จังหวัดระยอง ซึ่งบริษัทอ้างว่า มีสาเหตุจากการที่ท่อถูกเพรียงทะเลเกาะจนเกิดรอยรั่วขนาด 0.9 เซนติเมตร ส่วนปริมาณน้ำมันที่รั่วออกมายังเป็นที่สงสัย เพราะเดิมทีถูกรายงานว่ามีมากถึง 4 แสนลิตร ก่อนจะลดลงมาเรื่อยๆเหลือ 3.8 แสนลิตร, 1.6 แสนลิตร, 5 หมื่นลิตร จนกระทั่งนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บอกว่า มีน้ำมันรั่วเพียง 2 หมื่นลิตร
แม้ปริมาณน้ำมันที่รั่วออกมาจะยังเป็นที่สงสัย เพราะเหตุเกิดขึ้นจากท่อที่ฝั่งอยู่ใต้ทะเล ลอยจากใต้ทะเลขึ้นมาที่ผิวน้ำ ต่างจากปี 2556 ที่น้ำมันรั่วจากเรือทำให้คราบน้ำมันเป็นแผ่นฟิล์มเกาะอยู่บนผิวน้ำตั้งแต่แรก แต่ในแง่ของวิธีการจัดการกับปัญหา ยังคงใช้วิธีการเดิม คือ การโปรยสารเคมีที่เรียกว่า ดิสเพอร์เชนต์ (Dispersant) หรือสารช่วยกระจายตัวลงไป เพื่อลดแรงตึงผิวของน้ำมัน และเป็นตัวทำละลายใหน้ำมันแตกตัวเป็นก้อนเล็กๆ ก่อนจะจมลงไปในทะเล และยังปรับมาใช้น้ำยา “ทีโพล์” ในช่วงเช้าวันที่ 27 ม.ค. 2565 เพื่อทำให้น้ำมันแตกตัวละจมลงไปเร็วขึ้น
วิธีการนี้มีการโต้แย้งจากกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านและนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมว่า ไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง
“ลุงเจิด” ผู้ซึ่งทำประมงในทะเลระยองมาตลอดชีวิต อธิบายลักษณะเฉพาะของกระแสน้ำและลมในอ่าวระยองไว้ได้อย่างละเอียดตั้งแต่เหตุการณ์เมื่อปี 2556 สรุปโดยรวมคือ ระยองเป็นกระแสน้ำวน คลื่นและลมจะพัดหมุนเวียนเป็นโค้งตามรูปตัวอ่าว สิ่งที่ตกตะกอนอยู่ในทะเลใกล้ชายฝั่งก็จะไม่ออก เหมือนขยะในทะเลระยอง ก็จะพัดกลับขึ้นมาเสมอ
หรือพูดง่ายๆ ว่า อะไรที่เข้ามาในอ่าวระยอง “เข้าง่าย กำจัดออกไปยาก” ดังนั้นหากหน่วยงานที่กำลังจัดการคราบน้ำมันอยู่ในขณะนี้ ยังคงใช้วิธีการเดิมกับเมื่อปี 2556 คือ ทำให้คราบน้ำมันจมลงไปในทะเล ซึ่งอยู่ห่างชายฝั่งเพียงประมาณ 20 กิโลเมตร อีกไม่นานก็จะเกิดผลกระทบขึ้นในรูปแบบเดิม
“เมื่อปี 56 น้ำมันที่จมลงไป มันถูกพัดกลับมาขึ้นฝั่งมากมาย การทำให้มันแตกตัวและจมลงไป มันไม่ได้หายไปไหน มันยังอยู่ในพื้นทะเล” ลุงเจิด อธิบายถึงวันที่คราบตะกอนน้ำมันถูกพัดกลับเข้าที่ชายหาดเมื่อหลายปีก่อน
ก่อนจะมีเหตุการณ์น้ำมันรั่วเมื่อปี 2556 กลุ่มประมงพื้นบ้านอย่างลุงเจิด จะออกเรือในรัศมีประมาณ 5 กิโลเมตรจากชายฝั่ง ทั้งหาปลา ปู หมึก และสิ่งที่ขึ้นชื่อที่สุดของระยองคือ “เคย” (กุ้งขนาดเล็ก) เพราะเป็นแหล่งที่นำ “เคย” ไปทำกะปิได้กลิ่นหอมที่สุด แต่หลังจากเกิดน้ำมันรั่ว ทรัพยากรจากทะเลที่ช่วยเลี้ยงปากท้องชาวประมงเหล่านี้ก็หายไปจากทะเลระยอง
“ทุกวันนี้ชาวประมงพื้นบ้านระยอง ต้องออกเรือไปไกลถึง 20 กิโลครับ ไปไกลเหมือนเป็นเรือประมงพาณิชย์ ไปไกลจนจะไปถึงจันทบุรีอยู่แล้ว เพราะตั้งแต่น้ำมันรั่วรอบก่อน สัตว์น้ำก็หายไปหมด ผมจะใช้ “เคย” เป็นตัวชี้วัดนะ สัตว์ตัวนี้มันมาหากินตามพื้นดิน พื้นทราย ที่กะปิระยองอร่อยเพราะทรายเราสะอาด ไม่มีเลน “เคย” มันไม่เลอะ แต่มันเป็นสัตว์ที่ไวต่อกลิ่น พอมีกลิ่นน้ำมัน มันหายไปเลย ตั้งแต่ปี 57 แล้วครับ พอ “เคย” หายไป พวกปลาที่กลุ่มผู้ล่าในห่วงโซ่อาหาร ก็มาอยู่ที่อ่าวระยองแค่แป็บเดียวมันก็ไป เพราะห่วงโซ่มันขาดไปแล้ว มันไม่มีอะไรกิน พวกเราประมงพื้นบ้านก็ต้องออกเรือไกลไปอีกเรื่อยๆ และมาเจอน้ำมันรั่วรอบนี้อีก เขาใช้วิธีทำให้มันจมลงไปแบบเดิมอีก ทุกคนเครียดมาก คงหมดทางทำมาหากินแล้ว” ลุงเจิด อธิบายผลกระทบต่อระบบนอเวศน์ในทะเลระยอง ซึ่งส่งผลระยะยาวมาตั้งแต่ปี 2556 และกำลังจะถูกซ้ำด้วยการจัดการแบบเดิมเมื่อเกิดเหตุ
ดร.สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมจากกลุ่ม EEC Watch เห็นด้วยกับกลุ่มชาวประมงว่า การจัดการกับเหตุน้ำมันรั่วครั้งนี้ ไม่ควรใช้วิธีใส่สารเคมี Dispersant เพื่อทำให้น้ำมันแตกตัวและจมลงไปในทะเล โดยอ้างอิงตามมาตรฐานสากลว่า วิธีแก้ปัญหาด้วยการทำให้คราบน้ำมันในทะเลจมลงไป จะทำในเขตน้ำลึกมากๆ เท่านั้น ไม่ทำในพื้นที่ใกล้ชายฝั่ง เพราะเป็นเขตที่มีปะการัง มีแพลงตอน เป็นแหล่งอาหาร เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ และจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออาชีพประมง
ซึ่งเมื่อพิจารณาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ก็มีคำถามว่า ทำไมผู้ประกอบการและหน่วยงานที่ตัดสินใจ จึงเลือกใช้วิธีทำให้น้ำมันจมลงไป ทั้งที่ในช่วงนี้ทะเลก็สงบ ไม่มีคลื่นลมแรง สามารถปล่อยให้คราบน้ำมันลอยขึ้นมาและใช้ทุ่นดูดซับน้ำมัน หรือ “บูม” มาล้อมไว้ และนำเรือไปดูดหรือตักน้ำมันออกไปกำจัด จะส่งผลกระทบต่อทะเลน้อยกว่ามาก
“ในเมื่อช่วงเวลาที่เกิดเหตุน้ำมันรั่ว ก็อยู่ในช่วงที่คลื่นลมสงบ และจุดนี้อยู่ห่างจากชายฝั่งแค่ไม่ถึง 20 กิโลเมตร การทำให้น้ำมันจมลงไปจะส่งผลกระทบรุนแรงมากต่อระบบนิเวศน์ และก็เคยมีบทเรียนกันมาแล้วเมื่อเลือกใช้วิธีนี้ในปี 56 ผมรู้สึกสงสัยว่า ทำไมถึงไม่เลือกใช้วิธีการปล่อยให้น้ำมันลอยขึ้นมาให้หมดแล้วใช้บูมล้อม ยิ่งเมื่อมารู้ว่าการให้ข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณน้ำมันที่รั่วยังมีความสับสน แต่ละหน่วยงานรายงานไม่เท่ากัน ตัวเลขที่เปิดเผยออกมาลดลงเรื่อยๆ ก็ยิ่งสงสัยว่า มีความเกี่ยวพันกับการเลือกใช้วิธีทำให้จมลงไปหรือไม่”
ดร.สมนึก เพิ่มเติมว่า การจะใช้บูมล้อมคราบน้ำมันรั่วในปริมาณมากเช่นนี้ จะต้องใช้บูมที่มีความยาว 40 กิโลเมตร แต่ตั้งข้อสังเกตว่า กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ที่ล้วนมีความเสี่ยงต่อการเกิดเหตุน้ำมันรั่ว มีบูมยาว 40 กิโลเมตร พร้อมไว้ใช้สำหรับเผชิญเหตุเช่นนี้หรือไม่
ข้อสังเกตจากทั้งชาวประมงพื้นบ้านที่อยู่มาทั้งชีวิต กับนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ต่างก็พุ่งคำถามตรงไปว่า เหตุใดจึงเลือกใช้วิธีทำให้น้ำมันที่รั่วจมลงไปในทะเล ทั้งที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากลในการจัดการคราบน้ำมันบริเวณชายฝั่งทะเล ทั้งที่เคยมีบทเรียนมาแล้วเมื่อปี 2556 ว่าไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง และยังจะส่งผลเสียระยะยาวต่อผู้คนจำนวนมากที่ต้องเลี้ยงปากท้องด้วยทะเลระยอง
“พวกลุงเป็นชาวบ้าน เราเคยเสนอไปทั้งแผนฟื้นฟู ทั้งแผนเผชิญเหตุฉุกเฉิน พวกเรายินดีให้คำปรึกษาฟรีๆ ไม่ต้องจ้าง ไม่คิดเงินเลย แต่หน่วยงานรัฐก็ไม่เคยฟัง เขาไปฟังแต่ผู้ประกอบการ ฟังนักวิชาการที่ผู้ประกอบการพามา ไม่เคยให้พวกเราได้เข้าไปร่วมกำหนดแนวทางอะไรเลย”
“ลองคิดดูนะครับ พอเกิดเหตุแบบนี้เป็นข่าวใหญ่ ถึงเราหาปลามาได้ ก็ไม่มีคนซื้อ ไม่มีคนกิน ผู้บริโภคเขาก็กลัวสารปนเปื้อน แต่พวกเราชาวประมง ก็ยังต้องกินมันเข้าไปเหมือนเดิม เราอยู่ในสภาพจำยอม ขายปลาไม่ได้ ก็ไม่มีเงินไปซื้ออย่างอื่นกิน” ลุงเจิด กล่าวทิ้งท้าย