เปิดงบการเงิน "สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง" ต้นตอน้ำมันรั่วทะเลระยองซ้ำเติมเมื่อ 9 ปีก่อน ขณะที่ทำประกัน 2 ฉบับ วงเงินรวมกว่า 3 หมื่นล้านบาท แต่ต้องรับผิดชอบส่วนแรกกว่า 700 ล้านบาท จับตาฟื้นฟูทะเลระยอง ชดเชยเยียวยาชาวประมงและชาวบ้านสมน้ำสมเนื้อหรือไม่ เพราะย้อนกลับไปเมื่อ 9 ปีก่อนได้แค่ 3 หมื่นบาท ต้องฟ้องศาลใช้เวลาสู้คดีหลายปี
รายงาน
"ด้านการเยียวยา ทางบริษัทฯ ยินดีที่จะรับผิดชอบค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งระยะสั้น และระยะยาว โดยทางบริษัทฯ จะเปิดรับเรื่องร้องเรียนสำหรับผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน และจะร่วมมือกับทางจังหวัดในการจัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียน และทำงานร่วมกันเพื่อให้สามารถจัดการเยียวยาได้อย่างรวดเร็ว"
ข้อความดังกล่าว มาจากแถลงการณ์ฉบับที่ 8 กรณีพบน้ำมันดิบรั่วไหลบริเวณทุ่นผูกเรือน้ำลึกแบบทุ่นเดี่ยวกลางทะเล หรือจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเล (SPM) บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หลังเกิดเหตุน้ำมันดิบรั่วจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเล ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งท่าเรือมาบตาพุดไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 20 กิโลเมตร เมื่อเวลา 21.06 น. ของวันที่ 25 ม.ค. 2565 ที่ผ่านมา นับจากวันนี้ผ่านไปแล้ว 6 วัน ซึ่งนับจากวันนี้ตัวเลขน้ำมันที่รั่วไหลออกมายังคงเป็นปริศนา
ความเสียหายจากเหตุน้ำมันรั่วจังหวัดระยองปรากฏให้เห็นเด่นชัด หาดแม่รำพึงกลายเป็นทะเลสีดำ ต้องประกาศปิดชายหาด ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ ชาวประมงต้องหยุดออกจับสัตว์น้ำ เพราะจับไปสัตว์น้ำก็ปนเปื้อนน้ำมัน ไม่มีใครกล้ารับประทาน ขาดรายได้เลี้ยงดูครอบครัว นักท่องเที่ยวที่จองห้องพักไว้ในช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมาต่างยกเลิกห้องพักกันหมด แม่ค้าขายของไม่ได้ ไม่มีใครมาเที่ยวทะเลต้องเก็บร้านกลับบ้าน ไม่นับรวมระบบนิเวศทางทะเลพังเสียหาย กุ้ง หอย ปู ปลาหมึก ที่ต้องตาย ซึ่งเป็นความเสียหายที่ประเมินค่าไม่ได้
ล่าสุดมวลก้อนน้ำมันขนาดใหญ่ที่มีทิศทางมุ่งเข้าสู่อ่าวพร้าว เกาะเสม็ด แหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง จากการตรวจโดยภาพถ่ายของจิสด้า พบว่ามวลคราบน้ำมันอยู่ห่างเกาะเสม็ดประมาณ 5 ไมล์ทะเล หรือ 8 กิโลเมตร หลายภาคส่วนออกปฏิบัติการกู้คราบน้ำมัน โดยใช้เรือบูมปิดล้อมมวลก้อนน้ำมัน เรือดูดทำการดูดคราบน้ำมันที่อยู่ในวงล้อมของบูมขึ้นเรือ และเรือพ่นสารเคมีอีก 10 ลำ เร่งพ่นสลายคราบน้ำมันจมลงทะเลเร็วที่สุด โดยมีเรือเฝ้าระวังคราบน้ำมันที่อาจจะเล็ดลอดจากบูมต่างหาก
อีกด้านหนึ่ง นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เปิดศูนย์รับเรื่องร้องเรียนผู้ได้รับผลกระทบจากคราบน้ำมัน ภายในหมู่บ้านสบายสบาย ริมหาดแม่รำพึง ต.ตะพง อ.เมือง จ.ระยอง โดยมีศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดระยอง สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดระยอง อำเภอเมืองระยอง เทศบาลตำบลบ้านเพ องค์การบริหารส่วนตำบลเพ องค์การบริหารส่วนตำบลตะพง และ บมจ.สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกคนสามารถนำหลักฐานเข้ามาแจ้งด้วยตนเอง
ขณะที่นายโรเบิร์ต โจเซฟ โดบริด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 27 ม.ค.ที่ผ่านมา ในตอนหนึ่งระบุว่า บริษัทฯ มีประกันภัย ได้แก่ 1. ประกันภัยคุ้มครองทรัพย์สินและการหยุดชะงักของธุรกิจ โดยมีทุนประกันทั้งหมด 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ความรับผิดชอบส่วนแรก 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และ 24 เดือน (ความรับผิดชอบส่วนแรก 60 วัน) 2. ความรับผิดต่อบุคคลที่สาม โดยมีทุนประกันทั้งหมด 100 ดอลลาร์สหรัฐ (ความรับผิดชอบส่วนแรก 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ต่อเหตุการณ์
คำว่า "ความรับผิดชอบส่วนแรก" (Deductible) ในทางประกันภัย หมายความว่า บริษัทฯ จะต้องออกค่าใช้จ่ายต่อความเสียหายเองส่วนหนึ่ง หากเกินกว่าความรับผิดชอบส่วนแรก บริษัทประกันจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายส่วนเกินนั้นให้กับบริษัทฯ นั่นหมายความว่า ทุนประกันทั้งหมด 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 33,401.5 ล้านบาท) บริษัทฯ ต้องออกไปก่อน 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 668 ล้านบาท) ส่วนที่เหลือบริษัทประกันจะเป็นผู้รับผิดชอบ และความรับผิดต่อบุคคลที่สาม ทุนประกันทั้งหมด 100 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3,340.15 ล้านบาท) บริษัทฯ ต้องออกไปก่อน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 33.40 ล้านบาท) ทั้งสองฉบับรวมกว่า 700 ล้านบาท ส่วนที่เหลือบริษัทประกันจะเป็นผู้รับผิดชอบ
ย้อนกลับไป บมจ.สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง (SPRC) จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2535 เป็นโรงกลั่นน้ำมันในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง โดยมีเชฟรอนถือหุ้น 64% การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ถือหุ้น 36% กระทั่งเข้าจดทะเบียนและเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อปี 2558 ต่อมา ปตท.ขายหุ้นหมดเกลี้ยง ปัจจุบันเชฟรอนถือหุ้น 60.56% ประชาชนทั่วไปถือหุ้น 39.44% โดยมีจำนวนผู้ถือหุ้นทั้งหมด 17,658 ราย มีกำลังการกลั่นน้ำมันดิบ 175,000 บาร์เรลต่อวัน หากพิจารณาผลประกอบการ ณ วันที่ 30 ก.ย. 2564 ที่ผ่านมา พบว่ามีสินทรัพย์รวม 56,074.98 ล้านบาท หนี้สินรวม 23,076.95 ล้านบาท 9 เดือนแรกปี 2564 มีรายได้รวม 119,723.96 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,891.94 ล้านบาท
ย้อนกลับไปเมื่อ 9 ปีก่อน เคยเกิดเหตุการณ์ท่อน้ำมันดิบขนาด 16 นิ้วของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC บริษัทของกลุ่ม ปตท. รั่วบริเวณทุ่นรับน้ำมัน เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2556 ส่งผลให้น้ำมันดิบ 50,000 ลิตรหรือ 50 ตัน ไหลลงทะเล ก่อนที่คลื่นจะพัดพาคราบน้ำมันเข้าสู่อ่าวพร้าว ท้ายที่สุดระบบนิเวศพังเสียหาย ก้อนน้ำมันดินหรือทาร์บอล (Tarball) ขึ้นชายหาด เพราะการกำจัดอย่างไม่ถูกวิธี สัตว์ทะเลหายากล้มตาย ระบบนิเวศเปลี่ยนไป แต่กลับไม่ได้ฟื้นฟูเยียวยาอย่างเป็นธรรม เพราะชาวบ้านเฉกเช่นกลุ่มสมาคมประมงเรือเล็กพื้นบ้านระยองต้องการให้ชดใช้ค่าเสียหายรายละ 120,000 บาท แต่บริษัทต้นตอกลับเยียวยาให้แค่ 30,000 บาท ทำให้การเจรจาล่ม เพราะทั้งสองฝ่ายไม่สามารถที่จะหาข้อยุติกันได้
กลุ่มประมงและกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าอาชีพประมงต่อเนื่องรวม 429 คน ต้องฟ้องศาลจังหวัดระยอง เพื่อขอให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการสูญเสียรายได้ในการประกอบอาชีพ และขอให้มีการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติจากปัญหาน้ำมันรั่ว กระทั่งวันที่ 28 ก.ย. 2561 ศาลจังหวัดระยองพิพากษาให้จ่ายค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีทุกคน กลุ่มประมงจะได้ค่าเสียหาย 3 เดือน เดือนละ 30,000 บาท เป็นเงิน 90,000 บาท แต่ทุกคนได้รับเงินเยียวยาแล้วคนละ 30,000 บาท คงเหลือรายละ 60,000 บาท กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าอาชีพประมงต่อเนื่อง คนละ 60,000 บาท โดยให้หักเงินที่ได้รับการเยียวยามาแล้ว ส่วนที่เหลือให้คิดดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีตั้งแต่วันที่น้ำมันรั่ว แต่ชาวบ้านตัดสินใจอุทธรณ์ ในที่สุดศาลอุทธรณ์ตัดสินเมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2563 สั่งให้ชดเชยชาวประมง จากเดิม 90,000 บาท เป็น 150,000 บาท กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าอาชีพประมงต่อเนื่อง จากเดิม 60,000 บาท เป็น 120,000 บาท
ต้องจับตากันต่อไปว่า ในที่สุด SPRC จะเยียวยาชดใช้ความเสียหายสมน้ำสมเนื้อหรือไม่ รวมทั้งทะเลระยองจะฟื้นฟูไปในทิศทางใด แต่ก็แสดงให้เห็นว่า แม้ต่อให้เหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วสักกี่ครั้ง กลุ่มประมงและผู้ประกอบอาชีพอื่นๆ จำต้องรับเงินเยียวยาจากนายทุนสักกี่หน แต่ทะเลระยองยังคงถูกทำร้ายทำลาย ฟื้นฟูแล้วฟื้นฟูอีก เหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่าคง "ไม่ใช่ครั้งสุดท้าย" สำหรับความพินาศฉิบหายบนท้องทะเลอ่าวไทย