ภาพจากดาวเทียม TerraSAR-X เผยคราบน้ำมันบนอ่าวไทยบริเวณมาบตาพุด จ.ระยอง ขยายวงกว้างกว่า 47 ตารางกิโลเมตร ด้านองค์กรกรีนพีซ ประเทศไทย จี้สตาร์ปิโตรเลียมฯ รับผิดชอบอย่างเดียวไม่พอ ต้องเปิดเผยข้อมูลทุกอย่าง 6 ประเด็น ขาดตกบกพร่องหรือไม่ พร้อมจี้รัฐบาลไทยปลดแอกเชื้อเพลิงฟอสซิล ยุติแผนขุดเจาะน้ำมันหรือก๊าซด้วย
เมื่อวันที่ 27 ม.ค. จากกรณีที่บริษัท สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) แจ้งกรมควบคุมมลพิษ เมื่อเวลา 00.10 น. วันที่ 26 ม.ค. ว่าได้เกิดเหตุน้ำมันดิบจากท่อใต้ทะเลบริเวณทุ่นผูกเรือน้ำลึก หรือจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเล (SPM) ซึ่งเป็นของบริษัทฯ ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง รั่วไหลลงทะเลจำนวน 400,000 ลิตร ทำให้เจ้าหน้าที่นำเรือฉีดโฟมขจัดคราบน้ำมัน และใช้เฮลิคอปเตอร์โปรยสารเคมีเพื่อสกัดคราบน้ำมันไม่ให้ถูกพัดเข้าฝั่ง โดยบริษัทฯ แจ้งว่าไม่ได้เกิดจากกระบวนการขนถ่ายจากเรือ แต่เกิดจากระบบท่อขนส่งน้ำมันดิบใต้น้ำ ขณะที่ชาวบ้านใน จ.ระยอง มีความกังวลว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจซ้ำรอยเหตุการณ์น้ำมันรั่วเมื่อปี 2556 ตามที่นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ใช้ภาพจากดาวเทียม TerraSAR-X ถ่ายภาพเมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2565 เวลา 18.23 น. เพื่อติดตามคราบน้ำมันอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดพบคราบน้ำมันลอยแผ่เป็นบริเวณกว้างกว่าเดิม (กรอบสีแดง) คิดเป็นพื้นที่ 47 ตารางกิโลเมตร (29,506 ไร่) หรือกว่า 9 เท่าของเกาะเสม็ด และมีทิศทางเคลื่อนที่ไปทางทิศด้านตะวันออกเฉียงเหนือ (จากจุดเดิม) ซึ่งคราบน้ำมันดังกล่าวอยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลของอำเภอเมืองระยอง ประมาณ 6.5 กิโลเมตร และห่างจากเกาะเสม็ดประมาณ 12 กิโลเมตร และคาดว่าคราบน้ำมันจะขึ้นฝั่งในวันศุกร์ที่ 28 มกราคม 2565 (จุดสีน้ำเงิน และสีส้ม) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชายฝั่งเมืองระยอง ชายหาดแม่รำพึง และพื้นที่ชายหาดใกล้เคียง
โดยข้อมูลจากการวิเคราะห์ทาง GISTDA จะส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้วางแผน ติดตาม ตรวจสอบในพื้นที่ต่อไป ทั้งนี้ การประเมินคราบน้ำมันจากภาพถ่ายดาวเทียมระบบ SAR (X-Band) เป็นการประมาณจากขอบเขตพื้นที่ ส่วนปริมาตรของน้ำมัน (ความหนาของชั้นน้ำมัน: Oil Thickness) อาจต้องใช้ข้อมูลจากการเก็บข้อมูลในพื้นที่จริง ปัญหาภัยพิบัติและมลพิษทางทะเลส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศมาโดยตลอด ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศไทยกำลังจะได้ใช้ระบบ THOES-2 อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งหนึ่งในภารกิจสำคัญของระบบนี้ คือการสำรวจ วิเคราะห์ และติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้น ได้อย่างทันท่วงทีและแม่นยำ เพื่อการสนับสนุนข้อมูลสำคัญให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำข้อมูลไปใช้วางแผน ป้องกัน บรรเทา และแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น
อ่านโพสต์ต้นฉบับ คลิกที่นี่
ด้านองค์กรกรีนพีซ ประเทศไทย แถลงข่าวระบุว่า ทะเลไทยซึ่งเป็นแหล่งอาหารสำคัญของไทย ถูกคุกคามมาโดยตลอดจากการรั่วไหลของน้ำมันตามเส้นทางขนส่งน้ำมันกลางทะเล ในบริเวณที่มีการขนถ่ายของเรือบรรทุกน้ำมัน หรือจากการดำเนินการขุดเจาะน้ำมัน เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นอุบัติภัยน้ำมันรั่วครั้งล่าสุดในทะเลไทยที่เกิดขึ้นมากกว่า 235 ครั้งในช่วง 45 ปีที่ผ่านมา และไม่ใช่ครั้งแรกของอุบัติภัยน้ำมันรั่วของบริษัท สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด มหาชน (SPRC) ในปี 2540 เกิดเหตุน้ำมันรั่วระหว่างการขนถ่ายน้ำมันจากเรือ Once สู่สถานีน้ำมันดิบของบริษัททำให้น้ำมันดิบกว่า 160,000 ลิตรรั่วไหลลงทะเล อุบัติภัยน้ำมันรั่วล่าสุดในวันที่ 25-26 ม.ค.ครั้งนี้ แม้ว่าทางบริษัท สตาร์ปิโตรเลียมฯ จะขออภัยในสิ่งที่เกิดขึ้น แจ้งเตือนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชุมชนในพื้นที่ แต่สิ่งที่ขาดหายไปคือความชัดเจนของข้อมูลที่ต้องเปิดเผยต่อสาธารณชน การชี้แจงว่าสามารถหยุดการรั่วไหลและคุมสถานการณ์นั้นยังไม่เพียงพอ บริษัท สตาร์ปิโตรเลียมฯ ต้องมีภาระรับผิด (accountability) กับอุบัติภัยที่เกิดขึ้น และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อระบบนิเวศทางทะเล ชายฝั่งและชุมชนที่อาจจะเกิดขึ้น
บริษัท สตาร์ปิโตรเลียมฯ ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการขจัดคราบน้ำมันและผลกระทบอื่นๆ ที่อาจจะตามมา และควรต้องมีการดำเนินการตรวจสอบโดยคณะอนุกรรมการว่าด้วยการฟื้นฟูและการประเมินความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมซึ่งเกิดจากมลพิษจากน้ำมัน ส่วนภาระรับผิด (accountability) ของบริษัทฯ ไม่ใช่เพียงแค่ดำเนินการขจัดคราบน้ำมันรั่ว แต่ต้องเปิดเผยข้อมูลทุกอย่างโดยทันทีเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อระบบนิเวศทางทะเล ชุมชนชายฝั่งทะเลและการท่องเที่ยว ข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะจะต้องชัดเจนและโปร่งใส ซึ่งนอกจากใช้ในการจัดการปัญหาอย่างมีส่วนร่วมทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม และข้อมูลที่ชัดเจนจะมีความสำคัญยิ่งต่อการประเมินผลกระทบและความเสียหาย การฟื้นฟูการปนเปื้อนมลพิษที่จะเกิดขึ้นต่อระบบนิเวศทางทะเลในระยะสั้นและระยะยาว การเยียวยาที่ถูกต้องและเป็นธรรมหากเกิดความเสียหายขึ้น รวมถึงมาตรการป้องกันอุบัติภัยในอนาคต ข้อมูลเหล่านี้ได้แก่
1. ปริมาณน้ำมันดิบทั้งหมดที่รั่วไหล ได้ถูกกำจัดและแพร่กระจายไปยังที่ใดบ้าง เป็นปริมาณเท่าใด เช่น ปริมาณที่ถูกกำจัดโดยการโปรยสารเคมี ปริมาณที่เก็บกู้ได้ ปริมาณที่ตกค้างในสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยต้องแสดงหลักฐานและอธิบายโดยละเอียด
2. การรั่วไหลในครั้งนี้มีสาเหตุที่แท้จริงจากอะไร เช่น เป็นอุบัติเหตุ อุปกรณ์เสื่อมคุณภาพหรือละเลยที่จะซ่อมบำรุงระบบ
3. ที่ผ่านมาบริษัทมีแผนการจัดการอุบัติภัยหรือไม่ และเคยมีการซักซ้อมหรือไม่ อย่างไร
4. ใครเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดในปฏิบัติการ (รวมถึงการยืมตัวบุคลากรจากหน่วยงานราชการต่างๆ)
5. ต้องเปิดเผยและชี้แจงว่าบริษัทได้ปฏิบัติตามมาตรการลดและขจัดมลพิษจากการรั่วไหลของน้ำมันที่ระบุไว้ในรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการหรือไม่
6. สารเคมีสลายคราบน้ำมันที่ใช้ทั้งหมดมีกี่ชนิด มีองค์ประกอบอะไรบ้าง แต่ละชนิดมีปริมาณเท่าใด ได้มาจากแหล่งใดบ้าง ขั้นตอนการใช้สารเคมีทั้งหมด และข้อมูลความเป็นพิษและความปลอดภัยของสารเคมีที่ใช้ และผลกระทบทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
"กรีนพีซ ประเทศไทย เรียกร้องให้รัฐบาลไทยทบทวนแผนพลังงานชาติโดยเร่งด่วนเพื่อปลดแอกเชื้อเพลิงฟอสซิล และยุติแผนการขยายการขุดเจาะน้ำมันหรือก๊าซฟอสซิลซึ่งทำให้วิถีชีวิต สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและชุมชนต้องแบกภาระจากผลกระทบสิ่งแวดล้อมและวิกฤตสภาพภูมิอากาศ" องค์กรกรีนพีซ ประเทศไทยระบุ
องค์กรกรีนพีซ ประเทศไทย ระบุเพิ่มเติมว่า บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจประเภทการผลิตปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม จัดตั้งขึ้นในปี 2535 โดยมีเชฟรอนถือหุ้นในสัดส่วน 64% และ ปตท.ถือหุ้นในสัดส่วน 36% ต่อมาในปี 2560 บริษัทถือหุ้นโดยเชฟรอนในสัดส่วน 60.56% และประชาชนทั่วไปในสัดส่วน 39.44% ในปี 2562 ได้เพิ่มกำลังการผลิตเป็น 175,000 บาร์เรลต่อวัน
อ่านประกอบ คลิกที่นี่