ระยอง - ทัพเรือภาค 1 ส่งเฮลิคอปเตอร์โปรยสารเคมีสกัดคราบน้ำมันกลางทะเลระยอง ป้องกันพัดเข้าฝั่ง ด้านอธิบดีกรมทะเล ยันไม่ซ้ำรอยเหตุน้ำมันรั่วปี 56 เผยรั่วไหลเพียง 20 ตัน ทำควบคุมได้แล้วเสร็จในเวลาอันรวดเร็ว ขอชาวบ้านสบายใจ ขณะที่ ผวจ.ระยอง ลั่นเอาผิดเจ้าของบริษัทน้ำมัน
จากเหตุการณ์น้ำมันดิบจำนวนมากรั่วไหลจากท่อใต้ทะเลบริเวณท่าเรือนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมืองระยอง ซึ่งท่อดังกล่าวเป็นของบริษัท สตาร์รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) เหตุเกิดเมื่อเวลา 00.10 น.ที่ผ่านมา และหลังเกิดเหตุบริษัทฯ ได้ชี้แจงว่าสามารถระดมทีมงานเพื่อควบคุมสถานการณ์ตามแผนรับมือเหตุฉุกเฉิน
พร้อมทั้งหยุดกิจกรรมในพื้นที่ใกล้เคียงตามขั้นตอนความปลอดภัย และแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ชุมชน ศูนย์เฝ้าระวังและควบคุมสิ่งแวดล้อม ศูนย์บัญชาการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน และกลุ่มบริษัทข้างเคียง รวมทั้ง ศรชล.ภาค 1 เป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น
ล่าสุด ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าว่า เมื่อเวลา 11.00 น.วันนี้ (26 ม.ค.) นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมด้วย นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และ นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงเรือเข้าตรวจสอบจุดที่ได้รับรายงานว่ามีน้ำมันดิบรั่วไหลจากท่อใต้ทะเล
โดยพบว่าอยู่บริเวณทุ่นผูกเรือน้ำลึก หรือจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเล (SPM) และอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมืองระยอง ห่างจากฝั่งประมาณ 12 ไมล์ทะเล
และจากการตรวจสอบพบคราบน้ำมันลอยบนผิวน้ำลักษณะคล้ายแผ่นฟิล์มบางๆ เป็นบริเวณกว้าง เจ้าหน้าที่จึงนำเรือฉีดโฟมขจัดคราบน้ำมัน และใช้เฮลิคอปเตอร์โปรยสารเคมี พร้อมยืนยันว่าคราบน้ำมันจะไม่ถูกพัดเข้าฝั่ง ขอให้ประชาชนไม่ต้องกังวลใจ เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะสามารถกำจัดคราบน้ำมันได้หมด
โดยอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เผยว่า ได้รับการยืนยันจากบริษัทฯ ว่าน้ำมันที่รั่วไหลลงทะเลมีจำนวน 20 ตัน หรือประมาณ 200,000 ลิตรเท่านั้น ซึ่งการแพร่กระจายไม่ได้เป็นมวลก้อนใหญ่และไม่จำเป็นที่จะต้องใช้บูมในการกำจัด แต่ได้ใช้เฮลิคอปเตอร์โปรยสารเคมีเพื่อสกัดคราบน้ำมันไม่ถูกพัดเข้าฝั่ง
ส่วนการดำเนินคดีต่อบริษัทดังกล่าวเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับทรัพยากรทางทะเลนั้น หลังจากนี้ จะต้องประเมินความเสียหาย ทั้งในส่วนของกรมเจ้าท่า และกรมควบคุมมลพิษ ขณะที่สาเหตุการรั่วไหลของน้ำมัน บริษัทฯ แจ้งว่าไม่ได้เกิดจากกระบวนการขนถ่ายจากเรือ แต่เกิดจากระบบท่อขนส่งน้ำมันดิบใต้น้ำ
“กรณีที่ชาวบ้านใน จ.ระยอง มีความกังวลว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจซ้ำรอยเหตุการณ์น้ำมันรั่วเมื่อปี 2556 ขอยืนยันว่ามีความแตกต่างกัน เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้น้ำมันที่รั่วไหลออกจากท่อใต้ทะเลอยู่ห่างจากเกาะเสม็ดและฝั่งกว่า 20 กิโลเมตร อีกทั้งปริมาณน้ำมันที่รั่วไหลมีไม่มาก จึงเชื่อว่าจะสามารถควบคุมได้” อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าว
เช่นเดียวกับ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ บอกว่าการกำจัดและควบคุมการกระจายตัวของน้ำมันสามารถทำได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ส่วนผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตามจะต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้งว่าเกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมมากน้อยเพียงใด
ด้าน นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการ จ.ระยอง เผยว่า ในส่วนของจังหวัดจะต้องดำเนินคดีตามกฎหมายต่อบริษัทที่ทำให้น้ำมันรั่วไหลอย่างแน่นอน ซึ่งหลังจากนี้จะต้องพิจารณาว่ามีส่วนใดได้รับผลกระทบบ้างโดยเฉพาะทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล ซึ่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลและหลักฐาน
ขณะที่ พล.ร.ท.พิชัย ล้อชูสกุล ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 เผยว่า หลังเกิดเหตุได้ส่งเฮลิคอปเตอร์ขึ้นโปรยสารเคมีเพื่อสกัดคราบน้ำมันบริเวณที่เกิดเหตุน้ำมันรั่วไหลเพื่อให้จับตัวเป็นก้อนก่อนจมลงสู่ใต้ท้องทะเล ป้องกันไม่ให้คราบน้ำมันถูกพัดเข้าฝั่ง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ควบคุมการรั่วได้ทั้งหมดแล้ว หลังได้ยกระดับการแก้ปัญหาเป็น Tier 2