xs
xsm
sm
md
lg

"นพ.ระวี" วิเคราะห์ทางออกนายกฯ หลังแยกทาง "ธรรมนัส"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"นพ.ระวี" วิเคราะห์ทางออกนายกฯ หลังแยกทาง "ธรรมนัส" ชี้วิธีพบกันครึ่งทาง ให้ส่งตัวแทนมาเป็นรัฐมนตรี โดยที่ "ธรรมนัส" ไม่ต้องเป็นเอง เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ตัดสินใจได้เร็ว เพื่อยืดอายุรัฐบาล



วันที่ 28 ม.ค. 2565 นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ ร่วมสนทนาในรายการ "คนเคาะข่าว" ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ช่อง "นิวส์วัน" ถึงกรณี ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า ออกจากพรรคพลังประชารัฐ

โดย นพ.ระวี กล่าวว่า ประเด็นปัญหาคือว่าเมื่อแยกเป็นพรรคใหม่ พรรคนี้จะอยู่ในสถานะพรรคร่วมรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน จากคำพูดของ พลเอก ประวิตร บอกว่าก็ต้องเป็นรัฐบาล แต่เป็นรัฐบาลยังไง เป็นไปได้ไหมเป็นรัฐบาลแต่ไม่มีตำแหน่งรัฐมนตรี ก็คงต้องติดตามต่อไปว่า พลเอก ประวิตร ร้อยเอก ธรรมนัส ตัดสินใจอย่างไร แต่ถ้าหลักการพื้นฐานทั่วไป ถ้าเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ต้องมีการต่อรองขอตำแหน่งรัฐมนตรี ถ้าต่อรองได้ พลเอก ประยุทธ์ ก็ต้องปรับ ครม.

ตอนนี้โควตา พปชร. มีแค่ 2 รัฐมนตรีช่วย ถ้าเอาแค่ 2 รัฐมนตรีช่วยได้หรือไม่ คนที่จะตอบคำถามได้ก็คือ พลเอก ประยุทธ์ กับ พลเอก ประวิตร

แล้วถ้า ร้อยเอก ธรรมนัส ยอมที่จะโหวตอยู่ข้างรัฐบาล และไม่ต้องมีรัฐมนตรี ถ้ายอมจะยอมได้อยู่กี่วัน พอสิ้น ก.พ. ปิดสมัยประชุม จากนั้นเปิดสมัยประชุมสภา 1 มิ.ย. จะยินยอมโหวตให้ พลเอก ประยุทธ์ ไหม ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งหน้า

นพ.ระวี กล่าวอีกว่า กรณีที่ พลเอก ประยุทธ์ ไม่ยอมปรับ ครม. จะอยู่อย่างไร ส.ส.ตอนนี้มีทั้งหมด 476 คน ฝ่ายรัฐบาล 266 คน ฝ่ายค้าน 210 คน ฝ่ายรัฐบาลตอนนี้ต้องลบทีม ร้อยเอก ธรรมนัส 20 คน เพราะหยุดทำหน้าที่ไป 1 คน และคาดการณ์ว่าพรรคเล็กจะไปอยู่กับทีมธรรมนัสอีก 4 เสียง แต่ก็บวก 2 เสียงจากประชาธิปัตย์ ที่เพิ่งเลือกตั้งซ่อมได้มา และบวก 3 คนจากกล้าวไกลที่เป็นทีมภูมิใจไทยไปแล้ว รัฐบาลก็จะมี 246 เสียง เกินครึ่งนึงมา 8 เสียง

มาดูที่ฝ่ายค้าน สมมตินายกฯ ตกลงกับ ร้อยเอก ธรรมนัส ไม่ได้ แล้วไปอยู่ฝ่ายค้าน บวก 19 เสียง เพราะถูกใบเหลืองไป 1 หยุดปฏิบัติหน้าที่ 1 บวกทีมพรรคเล็ก 4 ลบก้าวไกล 3 ก็จะเหลือ 230 เสียง ต่างกัน 16 เสียง นายกฯ จะเดินต่อได้ไหม ถ้าไม่ตกลงกับทีมธรรมนัส

ทางออกที่ตนมองตอนนี้ 1. นายกฯ สู้ต่อไม่ปรับ ครม. ไม่ยุบสภา แต่จะอยู่ตลอดได้หรือไม่ ค่อนข้างลำบาก 2. ยุบสภา ช่วงปลาย พ.ค. - ต้น มิ.ย. 65 ก่อนอภิปรายไม่วางใจ ถ้า มิ.ย. ไม่ยุบสภา ถ้า พ.ร.บ. งบประมาณผ่านวาระ 1 ไปได้ ถ้าอภิปรายไม่วางใจผ่านไปได้

ช่วงที่สอง ที่จะยุบสภา คือ ก่อน 23 ส.ค. 65 เรื่องการอยู่ในตำแหน่งนายกฯ ครบ 8 ปีหรือไม่ ถ้าไม่ยุบก่อน 23 ส.ค. พอ 24 ส.ค. มีคนยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ ถ้าตีความว่าหมดอำนาจตั้งแต่ 23 ส.ค. แต่กว่าจะตีความก็เกือบเดือน ช่วง 1 เดือน ครม. มีมติอะไรผิดกฎหมายหมด ถึงวันนั้นยุบสภายิ่งไม่ได้ เพราะออกจากนายกฯ แล้ว

อีกทางเลือกคือยอมลาออก ให้คนอื่นขึ้นมาเป็นนายกฯ ก็ต้องใช้ที่ประชุมรัฐสภาเลือกนายกฯ ใหม่ ทางออกสุดท้าย คือยอมปรับ ครม. โดยพบกันครึ่งทาง คือให้คนจากทีมธรรมนัสมาเป็นรัฐมนตรี แต่ไม่ใช่ตัวของธรรมนัสเองขึ้นเป็นเอง

ไม่รู้นายกฯ จะตัดสินใจรูปแบบใด แต่ถ้าในรูปแบบพบกันครึ่งทาง น่าตัดสินใจไม่นานนัก แต่ถ้าเลือกสู้ต่อ ก็จะยืดเยื้อต่อ


กำลังโหลดความคิดเห็น