"พิชาย" ชี้ "ยุบสภา" เป็นทางออกเดียวของ "ประยุทธ์" คาดอย่างช้าไม่เกิน มิ.ย. นี้ หลังแตกหัก "ธรรมนัส" เพราะหากปล่อยให้ฝ่ายค้านเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ พ.ค. นี้ โอกาสแพ้มีสูง
วันที่ 24 ม.ค. 2565 รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผอ.หลักสูตรปริญญาเอก สาขาการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา นิด้า ร่วมสนทนาในรายการ "คนเคาะข่าว" ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ช่อง "นิวส์วัน"
โดย รศ.ดร.พิชาย กล่าวช่วงหนึ่งว่า ตนคิดว่าโดยบุคลิกของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ลาออกเด็ดขาด เพราะการลาออกหมายถึงการพ่ายแพ้ เป็นเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์ รับไม่ได้ สอง ไม่ต้องการปรับรัฐมนตรี ชัดเจนว่าปฏิเสธไม่เอา ร.อ.ธรรมนัส สาม ไม่ยุบสภา แน่นอนในสถานการณ์ปกติถ้ายังบริหารได้ คงไม่ยุบสภา ถ้ามองในแง่ความต้องการ พล.อ.ประยุทธ์ อยากอยู่จนหมดวาระ ก็คงจะพยายามประคับประคองไปให้หมดวาระ เพียงแต่ว่ามันยากที่จะบรรลุ เนื่องจาก ร.อ.ธรรมนัส ออกไป เอา ส.ส. ไปด้วย 20 เสียง และอาจเพิ่มเป็น 30 เสียงในเร็ว ๆ นี้ ทำให้เกิดความยากลำบากในสภาขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นการผ่าน พ.ร.บ. ต่าง ๆ แม้แต่ พ.ร.บ. งบประมาณเอง ถ้า ร.อ.ธรรมนัส จะล้มรัฐบาล ก็จะใช้โอกาสในการคว่ำ พ.ร.บ. ต่าง ๆ ที่เสนอมาในสภา
ซึ่งโดยมารยาททางการเมือง หาก พ.ร.บ. ไม่ผ่าน นายกฯ ไม่ลาออกก็ต้องยุบสภา เพราะถือว่ารัฐบาลขัดแย้งกับรัฐสภา จะทนอยู่ก็ได้ แต่เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก เพราะเสียงแพ้ในสภาก็บริหารไมได้แล้ว
สมมติไม่มีกฎหมายใดเข้าสภาเลยช่วง 3-4 เดือนนี้ เนื่องจากประเมินแล้วว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะไม่ผ่าน ก็อาจไม่เสนอ ก็จะเจอด่านต่อไป พ.ค. - มิ.ย. เมื่อฝ่ายค้านยื่นเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ถ้ายื่นได้ ความเสี่ยงที่จะแพ้ในการลงมติไม่ไว้วางใจมีสูงมาก ถ้ายอมให้เปิดมีโอกาสถูกขับไล่กลางสภามีสูง ฉะนั้นเขาอาจชิงยุบสภาเสียก่อนที่ฝ่ายค้านจะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะทันทีที่เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจจะยุบสภาไม่ได้แล้ว คิดว่าเพื่อลดความเสี่ยง ความเสียหน้าจากความพ่ายแพ้ คงชิงยุบสภาก่อน
รศ.ดร.พิชาย กล่าวอีกว่า ดูเกมมาถึงขณะนี้ ยุบสภาจะเป็นการแก้วิกฤต หากบริหารต่อไปภายใต้ความขัดแย้งในพรรคเองมันบริหารยาก และคลื่นใต้น้ำจากพรรคร่วมรัฐบาลอีก ซึ่งตนประเมินว่าอย่างช้าไม่เกิน มิ.ย. 2565 แต่บางท่านประเมินว่าอาจไปเร็วกว่านั้น