xs
xsm
sm
md
lg

ที่สำคัญกว่าสถานะของประยุทธ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ



ความแตกแยกในพรรคพลังประชารัฐทำให้สมการการเมืองเปลี่ยนไปแล้ว ความคิดที่ว่ารัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์จะอยู่ไปยาวๆ จนครบสมัยนั้นจบลงไปแล้ว เพราะกลายเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำที่ไม่รู้ว่าจะผ่านพ้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือไม่ และก่อให้เกิดคำถามต่ออนาคตของชาติด้วย

ถ้ารัฐบาลจะอยู่จนผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจไปได้จนครบสมัยก็คงต้องผ่านการต่อรองผลประโยชน์เพื่อแลกกับความมั่นคงของรัฐบาล แต่ถ้าปล่อยให้การต่อรองแบบนี้มีอำนาจเหนือเสถียรภาพของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็คงมีสภาพเป็นนายกรัฐมนตรีมะเขือเผา ซึ่งคนอย่างพล.อ.ประยุทธ์คงจะไม่ยอมเป็นเช่นนั้น

และพล.อ.ประยุทธ์ได้แสดงออกชัดเจนแล้วว่าไม่ยอมแพ้ ไม่ปรับ ครม.และไม่ยุบสภาฯ พูดง่ายๆ ว่าพล.อ.ประยุทธ์คงไม่ยอมให้ใครมากดดัน

ตอนนี้สเต็ปชีวิตของพล.อ.ประยุทธ์อยู่ที่สองสามจังหวะคือ จะจัดสรรอำนาจในรัฐบาลเพื่อให้กลับมามีเสถียรภาพเสียงไม่ปริ่มน้ำได้ไหม ถ้าไม่ได้แม้จะมีเสียงข้างมากอยู่แต่ฉิวเฉียดมากจะผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจในเดือนพฤษภาคมไปได้ไหม ถ้าผ่านไปได้จะผ่านด่านศาลรัฐธรรมนูญเรื่องการเป็นนายกรัฐมนตรี 8 ปีในเดือนสิงหาคมได้ไหม

ก็มีคำถามเหมือนกันว่าถ้าพล.อ.ประยุทธ์ยืนกรานจะไม่ยุบสภาฯ ก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็จะต้องเผชิญกับสภาวะสุ่มเสี่ยงที่จะถูกคว่ำกลางสภาฯ หรือไม่

ดูเหมือนอนาคตของพล.อ.ประยุทธ์จะต้องฝากไว้กับพี่ใหญ่อย่างพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ยืนยันถึงสัมพันธภาพอันเหนียวแน่นของ 3 ป. Forever ว่าจะเกิดสนิมเนื้อในไหม เพราะพล.อ.ประวิตรยืนยันแล้วว่าพรรคของธรรมนัส พรหมเผ่าที่นำทีมแยกไปสังกัดนั้นเป็น “พรรคของผมทั้งนั้น”

ความไม่แน่นอนของสถานะรัฐบาลในขณะที่ทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่าอาจจะทำให้การเลือกตั้งมาเร็วเกินคาด หลายคนเริ่มตั้งคำถามว่า การเลือกตั้งครั้งหน้าใครจะมาเป็นรัฐบาล ในขณะที่ทุกคนเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยจะชนะเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 1 กระทั่งเชื่อว่า พรรคเพื่อไทยกับพรรคร่วมฝ่ายค้านอื่นโดยเฉพาะพรรคก้าวไกลรวมกันแล้วอาจจะมีเสียงเกินครึ่งของจำนวน ส.ส.ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงพรรคเพื่อไทยก็จะเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคก้าวไกลได้สำเร็จ แม้จะมีเสียง ส.ว. 250 เสียงก็เชื่อว่า ส.ว.ไม่กล้าที่จะฝืนมติของประชาชน

แต่อย่าลืมว่าพรรคก้าวไกลนั้นมีแนวคิดไปทางปฏิกษัตริย์นิยม หรือพูดให้ชัดว่ามีแนวคิดที่ต้องการลดทอนบทบาทและสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของม็อบบนถนนเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ที่พรรคให้การสนับสนุนอย่างเปิดเผย รวมไปถึงการอภิปรายถึงงบประมาณของส่วนราชการในพระมหากษัตริย์ในสภาฯ และสนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญในหมวดพระมหากษัตริย์

พูดตรงๆ ว่า พรรคก้าวไกลนั้นท้าทายต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

คำถามว่าประเทศเราจะยอมให้มีพรรคร่วมรัฐบาลที่มีแนวคิดแบบนี้ร่วมอยู่ในรัฐบาลที่จะปกครองประเทศไหม

จากความคิดแบบนี้จึงเชื่อว่าหากพรรคเพื่อไทยไม่แลนด์สไลด์จนจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ หรือพรรคร่วมฝ่ายค้านในขณะนี้สามารถรวบรวมเสียงในสภาฯ ได้เกินกึ่งหนึ่ง แต่การที่จะต้องร่วมกับพรรคก้าวไกลเพื่อให้ได้เสียงข้างมากนั้นอาจจะไม่เกิดขึ้น เพราะพรรคเพื่อไทยย่อมรู้ว่า ไม่อาจเชิญพรรคก้าวไกลเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลได้

เงื่อนไขความจำเป็นและปัจจัยที่ไม่อาจหยั่งคาดอาจจะบีบให้พรรคเพื่อไทยต้องจับมือกับพรรคการเมืองอื่นตั้งรัฐบาล

จึงมีความเป็นไปได้มากที่พรรคร่วมรัฐบาลหลังการเลือกตั้งครั้งหน้าจะเป็นพรรคเพื่อไทยและพรรคพลังประชารัฐ เพราะเป้าหมายเดียวของทักษิณหรือโทนี่แห่งดูไบก็คือการได้กลับประเทศ เขาน่าจะรู้ดีกว่าสถานะแบบไหนที่จะไม่ปิดกั้นหนทางของตัวเอง แน่นอนพรรคของธรรมนัสจะต้องเข้าเป็นพรรคร่วมรัฐบาลด้วย

เพียงแต่ยังมองไม่ออกว่า ทักษิณจะกลับมาอย่างลอยนวลได้อย่างไร ในขณะที่ยังมีหลายคดีที่ศาลได้ตัดสินให้จำคุกไปแล้ว หวังจะได้รับพระราชทานอภัยโทษหรือหวังการรื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่เช่นนั้นหรือ พูดกันตามตรงมอง ณ เวลานี้ยังมองไม่เห็นหนทางว่าทักษิณจะกลับมาได้เลย

แต่หากเกิดรัฐบาลผสมแบบนี้ มวลชนที่ให้การสนับสนุน 2 พรรคจะยอมรับกันและกันได้ไหม หรือว่าจะทำให้ความขัดแย้งของ 2 ฝั่งความคิดในชาติของเรายุติลงชั่วคราวเพราะต้องลงเรือลำเดียวกัน หรือว่านี่แหละที่จะเป็นทางออกของความปรองดองของคนในชาติที่จะเกิดขึ้น

เป็นไปได้ไหมว่าหากพรรคพลังประชารัฐและพรรคเพื่อไทยหรือพรรคอื่นที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลในเวลานี้จัดตั้งได้สำเร็จ จะทำให้แนวคิดในการลดทอนบทบาทและสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์อ่อนแอลง เพราะจะเหลือเพียงพรรคก้าวไกลเท่านั้นที่สนับสนุนแนวคิดนี้

และจะเป็นทางออกที่ทำให้ความอ่อนไหวที่จะกระทบต่อสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ฝ่ายตรงข้ามสามารถปลูกฝังความคิดคนรุ่นใหม่ให้เป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ลดทอนความเข้มแข็งลง

นี่อาจจะเป็นทางออกที่ปริญญา เทวานฤมิตกุล จากธรรมศาสตร์ ตั้งคำถามนั่นแหละว่า “ความขัดแย้งรอบใหม่เริ่มมาอีกแล้ว เป็นความขัดแย้งที่เกี่ยวพันหรือกระทบไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างที่ไม่เคยมีประเด็นแบบนี้มาก่อน ทำอย่างไรให้เราจะกลับสู่ประชาธิปไตย โดยไม่สูญเสียและท่ามกลางความเห็นต่างในสังคม ทำอย่างไรให้เราไม่ต้องมาเข่นฆ่ากันอีก”

เพียงแต่ปริญญาไม่ได้พูดเท่านั้นแหละว่า กลับไปสู่ประชาธิปไตยแบบไหน แบบที่คนรุ่นใหม่เรียกร้องแล้วเขาหนุนหลังอยู่ หรือยังเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

แต่แม้อำนาจของประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินชะตากรรมของประเทศในหีบเลือกตั้งในสภาวะที่มวลชนสองฝั่งความคิดมีความก้ำกึ่งกันเหมือนวางชะตากรรมของประเทศที่อาจจะพลิกผันไปทางใดทางหนึ่งก็ได้ ที่อาจส่งผลกระทบต่อระบอบและสถาบันหลักของชาติ ก็มีคำถามให้ต้องคิดเหมือนกันว่า คนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีในสภาวะบ้านเมืองอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงต่อระบอบของรัฐแบบนี้นั้น ไม่น่าจะเป็นใครก็ได้ แต่น่าจะต้องเป็นคนที่ทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อความมั่นคงของชาติ ศาสน์ กษัตริย์เป็นสำคัญ

พูดง่ายๆ ว่า ถ้าพ้นจากพล.อ.ประยุทธ์หรือพล.อ.ประยุทธ์จบเห่ไปด้วยเงื่อนไขทางกฎหมายก็จะต้องมีคนที่ใกล้เคียงกันหรือไม่ หรือต้องเป็นคนที่ฝ่ายความมั่นคงยอมรับได้หรือไม่ ถามว่ากลไกอะไรที่จะทำให้เป็นอย่างนั้นได้ ก็ต้องบอกว่าอำนาจของ 250 ส.ว.ยังไงเล่า

ต้องยอมรับว่าความแตกแยกกันเองภายในฝั่งรัฐบาลนั้น ยิ่งทำให้เกิดความอ่อนไหวต่อสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ ในขณะฝั่งที่อ้างตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยนั้นมีความเข้มแข็งและเป็นเอกภาพมากกว่าไปพร้อมกับความคิดที่รุ่มร้อนของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฝ่ามือ อาจจะทำให้ต้องเลือกทางออกที่สูญเสียน้อยที่สุด นั่นก็คือจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคของทักษิณแล้วโดดเดี่ยวพรรคก้าวไกล

ชะตากรรมและอนาคตของพล.อ.ประยุทธ์นั้น ไม่ได้สำคัญไปกว่าการปกป้องระบอบของรัฐที่กำลังจะถูกสั่นคลอน

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น