xs
xsm
sm
md
lg

ไขข้อข้องใจ ธนบัตรพอลิเมอร์ 20 บาท ทนกว่าธนบัตรแบบเดิมยังไง?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สรุปให้ฟัง 12 ประเด็น คนไทยจะได้ใช้ธนบัตรใหม่ 20 บาทแบบพอลิเมอร์ แตกต่างจากธนบัตรกระดาษแบบเดิมยังไง พร้อมแนะวิธีสังเกตง่ายๆ ว่าอันไหนจริงอันไหนปลอม ก่อนเริ่มใช้ 24 มี.ค. 65

จากกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะออกใช้ธนบัตรชนิดราคา 20 บาท ที่เปลี่ยนวัสดุการพิมพ์เป็นพอลิเมอร์ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ธนบัตรที่มีสภาพใหม่ สะอาด และใช้งานได้นานขึ้น อาจมีคนสงสัยว่าทำไมต้องเปลี่ยน ทีมข่าวสรุปจากการแถลงข่าวของนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และนายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายออกบัตรธนาคาร ธปท. มาให้เข้าใจง่าย โดยขอแยกย่อยออกเป็น 12 ประเด็น

ประเด็นที่ 1 ทำไมต้องเปลี่ยน? ที่ผ่านมาธนบัตรชนิดราคา 20 บาทเป็นธนบัตรที่ประชาชนใช้จ่ายมากที่สุด มีการหมุนเวียนเปลี่ยนมือบ่อย จึงทำให้ธนบัตรมีสภาพเก่ากว่าธนบัตรชนิดราคาอื่น การเปลี่ยนธนบัตรพอลิเมอร์ เพื่อพัฒนาคุณภาพให้ประชาชนได้ใช้ธนบัตรที่มีสภาพใหม่ สะอาด และใช้งานได้นานขึ้น

ประเด็นที่ 2 ธนบัตรพอลิเมอร์แตกต่างจากธนบัตรกระดาษอย่างไร? ปัจจุบันธนบัตรในประเทศไทยผลิตด้วยกระดาษ แต่ธนบัตรพอลิเมอร์ผลิตจากพลาสติกแบบพิเศษ ไม่ดูดซับความชื้นและสิ่งสกปรก ทนทานในการใช้งานมากกว่า และด้วยลักษณะเฉพาะ ช่วยลดปริมาณการผลิตธนบัตรใหม่ทดแทนธนบัตรที่ชำรุด และเอื้อต่อการรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ประเด็นที่ 3 ทำไมถึงกลับมาใช้ธนบัตรพอลิเมอร์? ก่อนหน้านี้แบงก์ชาติเคยนำธนบัตรแบบพอลิเมอร์มาใช้กับธนบัตรชนิดราคา 50 บาท ได้แก่ ​ธนบัตรชนิดราคา 50 บาท แบบ 15 รุ่นหนึ่ง (พิมพ์บนวัสดุพอลิเมอร์) ออกใช้เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2540 ก่อนจะยกเลิกไป แต่เทคโนโลยีปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก คุณภาพการพิมพ์ความทนทานแตกต่างจากในอดีต

ประเด็นที่ 4 มีประเทศไหนใช้ธนบัตรพอลิเมอร์บ้าง? ปัจจุบันธนาคารกลางหลายประเทศได้ออกใช้ธนบัตรพอลิเมอร์ เช่น อังกฤษ แคนาดา ออสเตรเลีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม เป็นต้น

ประเด็นที่ 5 ธนบัตรพอลิเมอร์เสี่ยงต่อปัญหาธนบัตรปลอมหรือไม่? ธนบัตรพอลิเมอร์ ชนิดราคา 20 บาท มีภาพและลักษณะโดยรวมเหมือนกับธนบัตรกระดาษชนิดราคา 20 บาทที่หมุนเวียนในปัจจุบัน ใช้เทคโนโลยีต่อต้านการปลอมแปลงที่ทันสมัยและมีมาตรฐานขั้นสูง

ประเด็นที่ 6 สังเกตธนบัตรพอลิเมอร์รุ่นใหม่ของจริงยังไง? จุดสังเกตแรก คือ ช่องใสที่สามารถมองเห็นทะลุได้ทั้งสองด้าน โดยช่องใสด้านล่างที่เป็นทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ เมื่อพลิกธนบัตรขึ้นลงจะเห็นเป็นสีเหลือบแดง และมีการเพิ่มจุดสังเกตสำหรับผู้บกพร่องทางสายตาในบริเวณช่องใสด้านบนที่เป็นทรงหยดน้ำ โดยมีตัวเลข "20" ขนาดเล็ก ดุนนูนเพื่อให้สัมผัสได้ง่ายขึ้น

ประเด็นที่ 7 ธนบัตรพอลิเมอร์ 20 บาทใช้งานได้กี่ปี? ธนบัตรแบบพอลิเมอร์มีคุณสมบัติไม่ดูดซับความชื้น สิ่งสกปรก จึงมีความสะอาดกว่า 2.5 เท่า คาดว่าอายุการใช้งานจะอยู่ที่ 5 ปีขึ้นไป จากแบบเดิมที่ใช้ 2-3 ปีก็จะเติมเข้าไปในระบบทดแทนธนบัตรแบบเดิม ซึ่งไม่ได้มีการยกเลิก ยังสามารถใช้ได้ตามปกติ

ประเด็นที่ 8 ธนบัตรพอลิเมอร์ 20 บาท จะเริ่มใช้เมื่อไหร่? ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเริ่มใช้หมุนเวียนในวันที่ 24 มี.ค. 2565 ประชาชนสามารถเบิกถอนผ่านสาขาธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจทุกแห่ง

ประเด็นที่ 9 ธนบัตรกระดาษ 20 บาทแบบเดิมยังใช้ได้อยู่หรือไม่? สำหรับธนบัตรกระดาษชนิดราคา 20 บาท ที่ใช้หมุนเวียนอยู่ในปัจจุบันยังคงสามารถใช้จ่ายได้ตามปกติต่อไป ระหว่างนั้นแบงก์ชาติจะเติมเข้าไปในระบบทดแทนธนบัตรที่ชำรุด ปัจจุบันมีมูลค่าคงค้างอยู่ในระบบอยู่ที่ 4.7 หมื่นล้านบาท

ประเด็นที่ 10 ปัจจุบันธนบัตร 20 บาทพิมพ์เข้าสู่ระบบเท่าไหร่? ปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทยพิมพ์ธนบัตรเข้าสู่ระบบ 1,800 ล้านฉบับต่อปี ลดลงจากเดิมที่ 2,000 ล้านฉบับต่อปี ในจำนวนนี้เป็นธนบัตร 20 บาทกว่า 600 ล้านฉบับต่อปี มีสัดส่วนมากกว่า 30% ของจำนวนธนบัตรที่พิมพ์ทั้งหมด

ประเด็นที่ 11 ใช้งานกับเครื่องอัตโนมัติ เช่น ตู้เติมเงินได้ไหม? ขณะนี้แบงก์ชาติได้หารือกับผู้ประกอบการมีความพร้อม ปัจจุบันมีตู้รองรับได้ 60-70% และจะทยอยดำเนินการเปลี่ยนได้ทั้งหมดกว่า 90% ระหว่างนี้จะมีการติดสติกเกอร์ที่ตู้รับธนบัตรว่า ตู้ไหนรับธนบัตรแบบใหม่ได้ หรือไม่ได้ เพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความสับสน

ประเด็นที่ 12 จะเปลี่ยนธนบัตรชนิดราคาอื่นเป็นพอลิเมอร์หรือไม่? ที่เริ่มใช้กับธนบัตรชนิดราคา 20 บาท เพราะเป็นราคาต่ำสุด มีการใช้หมุนเวียนสูงสุด ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่แบงก์ชาติได้ศึกษาจากหลายประเทศ แต่ในอนาคตจะเปลี่ยนไปใช้กับธนบัตรชนิดราคาอื่นตามความเหมาะสม


กำลังโหลดความคิดเห็น