นายไพศาล พืชมงคล อดีตกรรมการผู้ช่วย รองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) โพสต์เฟซบุ๊กกล่าวถึง “กรมสรรพากร” ควรเร่งออกประกาศ กำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและประโยชน์แก่ผู้เสียภาษีคริปโต
จากกรณี ดรามาภาษีคริปโตที่สร้างความวิตกกังวลต่อนักลงทุนอย่างมาก โดยเฉพาะนักลงทุนรุ่นใหม่ที่นิยมเข้าเทรดเหรียญคริปโตในกระดานเทรดทั้งไทย และต่างประเทศ ซึ่งเป็นกระแสที่ร้อนแรงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยล่าสุด ทางกรมสรรพากรได้ประกาศเรียกเก็บภาษีคริปโตตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 นี้ เป็นต้นไป ซึ่งจากการประกาศออกมาดังกล่าว ก่อให้เกิดข้อถกเถียงของนักลงทุนเหรียญคริปโตในโซเชียลมีเดียหลายแพลตฟอร์มต่อมาตรการ “ภาษีคริปโต 15%” ที่เกิดขึ้นอย่างเผ็ดร้อน
อ่านข่าวประกอบ - มัดรวบ “ภาษีคริปโต” เจ็บแต่จบ จ่ายเฉพาะส่วนกำไร แม้ผลรวมทั้งปีจะขาดทุน
อย่างไรก็ตาม “ท็อป-จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา” ผู้ก่อตั้งกระดานเทรดเหรียญคริปโต Bitkub ที่มีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดในประเทศไทย โพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว ขอนักลงทุนและประชาชนทั่วไปตอบแบบสอบถามถามข้อมูลด้านภาษี Cryptocurrency ที่สรรพากรประกาศเรียกเก็บในอัตรา 15% เพื่อรวบรวมปัญหาเข้าหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
อ่านข่าวประกอบ - เอกลาภ-จิรายุส ตบเท้าเข้าคุย “สรรพากร” หาทางออกภาษีคริปโต
อย่างไรก็ตาม วันนี้ (9 ม.ค.) นายไพศาล พืชมงคล อดีตกรรมการผู้ช่วย รองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) โพสต์เฟซบุ๊ก “paisal puechmongkol” ได้ออกมาโพสต์ข้อความถึงสรรพากรควรรีบออกประกาศกำหนดวิธีการภาษีธุรกิจคริปโตโดยเร็ว โดยได้ระบุข้อความว่า
“สรรพากรควรรีบออกประกาศกำหนดวิธีการภาษีธุรกิจคริปโตโดยเร็ว
1. ขณะนี้ พูดกันเลอะไปหมด เกี่ยวกับเรื่องเหรียญคริปโต จนสับสนวุ่นวาย และเข้าใจผิดกันมากมาย ถึงขั้นจะย้ายธุรกิจไปทำในต่างประเทศกันแล้ว จึงต้องทำความเข้าใจเรื่องนี้สักครั้งหนึ่ง
2. เรื่องเหรียญคริปโต หรือธุรกิจเกี่ยวกับเหรียญคลิปโตนั้น ไม่ได้มีธุรกิจเดียวตามที่สับสนกันอยู่ แต่มีธุรกิจถึง 6 ประเภทคือ
(1) การลงทุนซื้อเครื่องขุดมาขุดเหรียญคริปโต
(2) ธุรกิจให้เช่าสถานที่ วางเครื่องขุด
(3) ธุรกิจออกเหรียญคริปโต
(4) ธุรกิจเป็นโบรกเกอร์ซื้อขายเหรียญคริปโต
(5) ตลาดซื้อขายเหรียญคริปโต
(6) ธุรกิจซื้อขายเหรียญคริปโตในตลาดซื้อขาย
3. ธุรกิจตามข้อ 2(1) เป็นธุรกิจที่ทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย โดยลงทุนซื้อเครื่องขุด มาขุดเองที่บ้าน หรือตั้งที่ไหนก็ได้ ที่ต้องระวังให้มาก ก็คือ อย่าไปลักใช้ไฟหลวงเป็นอันขาด เพราะมีความผิดทางอาญา และอาจถูกยึดเครื่องขุดได้ด้วย
ธุรกิจตามข้อ 2(2) ก็เป็นธุรกิจที่ทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย โดยผู้ให้เช่าจัดสถานที่ ให้เช่าตั้งเครื่องขุด โดยคิดค่าเช่าเป็นรายเดือน
ธุรกิจตามข้อ 2(3)-(5) เป็นธุรกิจที่กำกับควบคุมโดย ก.ล.ต. และต้องได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต.จึงจะดำเนินธุรกิจได้ มิฉะนั้นเป็นการผิดกฎหมาย ธุรกิจตามข้อ 2(6) ผู้ซื้อหรือขายเหรียญคริปโตจะต้องทำการซื้อขายผ่านโบรกเกอร์ตาม (4)
4. การซื้อขายเหรียญคริปโตเป็นธุรกิจที่เป็นสากล สามารถซื้อขายได้ในต่างประเทศ โดยไร้ขอบเขต ดังนั้น จึงมีการซื้อขายผ่านโบรกเกอร์ในต่างประเทศได้อีกทางหนึ่งด้วย แต่ต้องระวัง เพราะมีการฉ้อโกง และ ทางราชการกำกับควบคุมดูแลไม่ได้ จึงมีความเสี่ยงอยู่มาก
5. เจ้าหน้าที่บางพวก สำคัญผิดคิดว่า การขุดเหรียญคริปโตเป็นเหมือนตู้ม้า!! สะเหร่อแอบอ้างชื่อผู้ใหญ่ ไปเรียกส่วยรีดไถชาวบ้าน แล้วถูกนักการเมืองในพื้นที่ตอกหน้าไปหลายรายแล้ว อย่าไปลุ่มล่ามเข้านะครับ เดี๋ยวจะติดคุกหรือถูกไล่ออกจากราชการเอาง่ายๆ เพราะเครื่องขุดเหรียญไม่ใช่ของผิดกฎหมาย และการซื้อขายเหรียญคริปโตก็ไม่ได้ผิดกฎหมาย และมีหน่วยงานเฉพาะคือกลต.กำกับดูแลรับผิดชอบอยู่ ไม่ใช่เรื่องของตำรวจหรือดีเอสไอ!!!
ถ้ามีกรณีลักใช้ไฟหลวง ก็ต้องให้การไฟฟ้า เป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดี เพราะไฟฟ้าไม่ใช่ของสาธารณะ แต่เป็นของการไฟฟ้า ส่วนการไปหลอกลวงชาวบ้าน ให้นำเงินมาลงทุนโดยสัญญาว่า จะจ่ายค่าตอบแทนให้เป็นรายเดือนในอัตราที่สูงนั้น ไม่ใช่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเหรียญคริปโต แต่เป็นการหลอกลวงฉ้อโกง
6. ขณะนี้มีความสับสนเกี่ยวกับภาษีเงินได้ เกี่ยวข้องกับธุรกิจคริปโต ซึ่งหลักเกณฑ์เกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินเดิมนั้นไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของธุรกิจ และผู้เกี่ยวข้องก็พูดจาทำความเข้าใจไม่ตรงกันเสียอีก
ดังนั้น จึงควรที่กรมสรรพากรจะได้ออกประกาศ กำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไข เกี่ยวกับเงินได้พึงประเมิน ของธุรกิจเกี่ยวกับเหรียญคลิปโตทุกประเภทธุรกิจ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้เสียภาษีและปฏิบัติได้โดยสะดวก ถูกต้อง จะทำให้ฐานภาษีกว้างขึ้น ดีกว่าที่จะให้หนีไปค้าต่างประเทศ โดยเฉพาะที่ต้องทำโดยด่วนคือ
หลักเกณฑ์การคำนวณเงินได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษีว่าให้ใช้เกณฑ์สิทธิ์หรือเกณฑ์เงินสด แม้ในส่วนของบุคคลธรรมดา
หลักเกณฑ์การคำนวนเงินได้พึงประเมินว่าให้ใช้มูลค่าในขณะซืัอขายจริงหรือ ณ วันสิ้นงวดตามราจาตลาดและถือมาตรฐานราคาตลาดใดเพราะมีหลายตลาด
สำหรับบุคคลธรรมดา จะถือเอาเฉพาะรายการที่มีกำไร หรือผลสรุปการซื้อขายรวมในแต่ละงวด เพื่อคำนวณเงินได้พึงประเมิน ซึ่งเรื่องนี้ผู้บริหาร ของกรมสรรพากรเองก็พูดจาไม่ตรงกัน ไม่รู้ว่าจะเชื่อใคร
ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องในการขุดเหรียญ ในการทำธุรกิจซื้อขายเหรียญคริปโต จะหักค่าใช้จ่ายได้อย่างไรและมีหลักเกณฑ์อย่างไร
เหล่านี้ถ้าออก “ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ว่าด้วย หลักเกณฑ์และวิธีการ เกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินเกี่ยวกับธุรกิจเหรียญคริปโต ก็จะเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย”
อ่านโพสต์ต้นฉบับ