xs
xsm
sm
md
lg

"เอกนิติ" ชี้ สรรพากรเล็งใช้ Data Analytics ตรวจสอบภาษีย้อนหลังนักลงทุนคริปโต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมสรรพากร เผยเตรียมเดินหน้าเก็บภาษี " cryptocurrency " ตั้งแต่มีนาคม 2565 โดยจะมีระบุในเอกสารยื่นแบบเสียภาษีเงินได้ประจำปี ชี้มีระบบ Data Analytics ตรวจสอบย้อนกลับได้

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวถึงประเด็นร้อนออนไลน์ถึงมาตรการในการจัดเก็บภาษีเงินได้ส่วนบุคคลที่ระบุถึง "สินทรัพย์ดิจิทัล" (digital asset) เช่น cryptocurrency หรือสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นๆนั้น ซึ่งอ้างอิงจากพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 โดยระบุรายละเอียดในเนื้อหาว่าสินทรัพย์ดิจิทัลหากมีกำไรหรือมีผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนจะต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายร้อยละ 15 ของกำไร และบุคคลที่มีเงินได้จากการซื้อขายคริปโทจะต้องยื่นแบบแสดงการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งทากรมสรรพากร ได้ระบุช่องการใส่ข้อมูลเงินได้จาก "cryptocurrency" ในแบบยื่นภาษีแล้ว โดยแบบยื่นภาษีที่จะใช้กันในปีนี้ ช่องที่ให้ใส่เงินได้จากการลงทุนจะมีคำว่า "ประโยชน์ใดๆ จาก cryptocurrency หรือ Digital Token" ซึ่งผู้ที่มีเงินได้ทุกคนที่ได้ประโยชน์จาก cryptocurrency หรือ Digital Token ในปี 2564 จำเป็นต้องใส่จำนวนเงินได้ของตนเองในแบบที่ยื่นต่อกรมสรรพากร เพื่อใช้ในการคำนวณภาษีที่ต้องจ่าย

"ในการยื่นแบบภาษีเงินได้ในเดือนมีนาคม 2565 สรรพากรจึงระบุช่องทางให้เลือกสำหรับผู้ที่มีกำไรจากการเทรด "cryptocurrency" เพื่อให้นักลงทุนผู้มีเงินได้ แสดงแบบการเสียภาษีเงินได้ โดยหากนักลงทุนที่มีรายได้ แต่พยายามหลบเลี่ยงไม่ยอมยื่นแบบภาษี หรือปกปิดข้อมูล ทางกรมสรรพากรจะนำระบบ data analytics มาใช้เพื่อตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับ ตลอดจนถึงการใช้อำนาจในการออกหมายเรียกพยานเพื่อแสดงหลังฐานรายได้ เช่น หากสรรพากรมีข้อมูลที่เชื่อว่าบุคคลดังกล่าวมีกำไรจากการซื้อขายคริปโตก็มีอำนาจเรียกทั้งสถาบันการเงินที่เป็นแหล่งเงินต้นทางของนักลงทุน ไปยังกระดานเทรด โดยทั้งสถาบันการเงินและกระดานเทรดจะต้องเข้ามาให้ข้อมูลการได้มาของกำไรที่เกิดขึ้นจากการลงทุนนั้น"

อย่างไรก็ดีขณะนี้กรมสรรพากรอยู่ในช่วงของการศึกษาข้อมูลและการกำหนดอัตราที่เหมาะสมสำหรับการจัดเก็บภาษีจากธุรกรรมการขายหุ้น (financial transaction tax) ในอัตราร้อยละ 0.1 จากมูลค่าการขาย โดยอยู่ในช่วงของการพูดคุยระหว่างตลาดหุ้น และ ก.ล.ต. ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเก็บได้เร็วๆนี้ ซึ่งจะทำให้สามารถเก็บรายได้เข้าคลังไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี โดยเหตุผลหลักของการจัดเก็บภาษีจากการเทรดหุ้นครั้งนี้ เพื่อต้องการสร้างความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น หลังจากที่มีการชะลอการเรียกเก็บภาษีหุ้นมานานหลายปี

ทั้งนี้รูปแบบการจัดเก็บภาษีในการลงทุนสำหรับภาษีหุ้นทั่วโลกมีอยู่ 2 รูปแบบ คือ transaction tax และ capital gain tax (ภาษีกำไรจากการขายหุ้น) โดยในหลายประเทศมีการเรียกเก็บภาษี 2 รูปแบบ ขณะที่ประเทศไทยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนศึกษาเพื่อจัดเก็บ transaction tax ซึ่งเป็นภาษีธุรกิจเฉพาะ ซึ่งมีการริเริ่มในการจัดเก็บมาตั้งแต่ปี 2534 แต่ก็เลื่อนการบังคับใช้การจัดเก็บภาษีดังกล่าวนี้มาโดยตลอด


กำลังโหลดความคิดเห็น