นักข่าวอาวุโสข่าวสดชี้กรณีแบนลูกหนัง คือความเกลียด ตั้ว ศรัณยู ไปลงที่ลูกสาวแทน ย้ำไม่ใช่ความยุติธรรม แต่ล้างแค้นแบบไม่ถูกต้อง วอนอย่าจมปลักอดีต ด้านโบว์ ณัฏฐา ชี้มีคนที่เรียกตัวเองว่าประชาธิปไตยก็เคยไปร่วมม็อบพันธมิตรฯ เหมือนกัน บางคนเป่านกหวีดด้วยซ้ำ ย้ำการโจมตีถึงขั้นอยากทำลายอนาคตลูกหลานคือวัฒนธรรมศาลเตี้ยที่ล้าหลัง ไม่เกิดพลังอะไรนอกจากผู้มีอำนาจนั่งยิ้ม
วันนี้ (1 ธ.ค.) จากกรณีที่ในโซเชียลมีเดียวิพากษ์วิจารณ์กรณีที่ ลูกหนัง ศีตลา วงษ์กระจ่าง ลูกสาวของ ตั้ว ศรัณยู และ เปิ้ล หัทยา วงษ์กระจ่าง มีกำหนดเดบิวต์อย่างเป็นทางการที่ประเทศเกาหลีใต้ ในวันที่ 5 ม.ค. เป็นหนึ่งในสมาชิกของเกิร์ลกรุ๊ปใหม่ เอชวันคีย์ (H1-KEY) จากค่ายจีแอลจี หรือ GLG (Grandline Group) ซึ่งเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 29 พ.ย.ที่ผ่านมา แต่กลับมีกระแสต่อต้านจากกลุ่มผู้สนับสนุนม็อบราษฎร หรือม็อบสามนิ้ว และผู้สนับสนุนนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำคณะก้าวหน้า กล่าวหาว่าบิดา คือ ตั้ว ศรัณยู ผู้ล่วงลับ เคลื่อนไหวการเมืองกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ทำให้เกิดรัฐประหารถึง 2 ครั้ง และได้นายกรัฐมนตรีที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ระบุว่าเป็นสัญลักษณ์ของระบอบเผด็จการทหาร พร้อมติดแฮชแท็ก #แบนลูกหนัง และ #BANSITALA เพื่อไม่ให้มีที่ยืนในสังคมนั้น
เฟซบุ๊ก Pravit Rojanaphruk ของนายประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโส เครือหนังสือพิมพ์ข่าวสด โพสต์ข้อความระบุว่า “ศาลตัดสินลงโทษ ยังลงโทษลูกเมียแทนมิได้ เราจึงมิสมควรลงโทษและบอยคอตหญิงคนหนึ่งเพราะสิ่งที่พ่อเธอก่อ (เธอเป็นเพียงตัวประกอบในการชุมนุมที่ไม่มีใครสนใจ จนกระทั่งจะเดบิวต์กับวง K Pop แล้วพบว่าเป็นลูกตั้ว ศรัณยู - และถามจริงว่าถ้าลูกหนังมิใช่ลูกของตั้ว ศรัณยู จะมีใครสนใจประเด็นนี้ไหม? เกลียดชังขนาดนี้ไหม? ยอมรับเถอะครับมันคือความเกลียดตั้ว ศรัณยู ที่ไปลงที่ลูกสาวแทน เพราะลำพังลูกสาวไปร่วมชุมนุม มิได้มีใครสนใจหรือจดจำ) ผมไม่เห็นด้วยกับการกดดันลูกหนังเพื่อลงโทษกับกรรมที่ตั้ว ศรัณยูทำ นี่มิใช่ความยุติธรรม แต่มันคือการล้างแค้นอย่างไม่ถูกต้อง เราควรจะมองไปในอนาคต มิใช่จมปลักอยู่กับความเกลียดชังในอดีต”
อ่านโพสต์ต้นฉบับ คลิกที่นี่
ขณะที่เฟซบุ๊ก Bow Nuttaa Mahattana ของ โบว์ ณัฏฐา มหัทธนา อดีตแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง และนักเคลื่อนไหวการเมือง โพสต์ข้อความระบุว่า “ในทางการเมือง ปัจเจกบุคคลมีสิทธิแสดงออกและมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเองตามกฎหมาย ส่วนการเปลี่ยนแปลงใดๆ ทางการเมืองนั้นมีปัจจัยอีกมาก จะไปโยนให้ใครคนใดคนหนึ่งรับผิดชอบกับการกระทำของรัฐหรือกองทัพไม่ได้ บ่อยครั้งปัจเจกบุคคลก็เป็นเหยื่อของสถานการณ์และการปลุกปั่นเช่นกัน
ไม่ทราบว่าคนที่โจมตีลูกหนังอยู่นี่จะรู้หรือไม่ว่าคนที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตยปัจจุบันจำนวนมากก็เคยเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรฯ และมีคนระดับแกนนำที่เคยเป่านกหวีดมาทั้งบ้านเช่นกัน การแสดงออกทางการเมืองเป็นสิทธิและปัจเจกบุคคลมีหน้าที่รับผิดชอบตามกฎหมายอยู่แล้ว การโจมตีถึงขั้นอยากทำลายอนาคตลูกหลานคือวัฒนธรรมศาลเตี้ยที่ล้าหลังมาก ในอนาคตลูกหลานของแกนนำในปัจจุบันก็ไม่ควรโดนสิ่งเหล่านี้จากฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ต้องไม่ร่วมสร้างบรรทัดฐานที่เสื่อม
ในสังคมประชาธิปไตยมีการสอนแต่เด็กให้รู้จักสื่อสารแบบ assertive (กล้าแสดงออก) ใช้เหตุผลในประเด็น ไม่โจมตีตัวบุคคล แค่ไม่จงใจสร้างความเดือดร้อนหรือทำร้ายทำลายกันก็เป็นเส้นที่คุยกันได้อย่างมีอารยะแล้ว ถ้าสร้างบรรยากาศที่ตรงกันข้าม การแลกเปลี่ยนในหมู่ประชาชนจะเป็นไปไม่ได้และไม่เกิดพลังอะไรเลย สถานการณ์แบบนี้ผู้มีอำนาจนั่งยิ้ม”
อ่านโพสต์ต้นฉบับ คลิกที่นี่