อดีตประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟฯ เตือนรัฐอย่าพูดความจริงไม่หมด ยกเลิกหัวลำโพงย้ายไปบางซื่อ นำที่ดินมาแปลงล้างผลการขาดทุนสะสม ชี้ปัจจุบันเก็บค่าโดยสารเพียง 24 สตางค์ต่อกิโลเมตร ไม่เคยปรับราคา 36 ปี แต่ยอมกัดก้อนเกลือเพื่อลดรายจ่ายประชาชน เพียงแต่รัฐต้องชดเชยเต็มจำนวน ชี้ผ่านมา 14 ปีค้างจ่ายแล้ว 2.4 แสนล้าน
วันนี้ (23 พ.ย.) เฟซบุ๊ก Sawit Kaewvarn ของนายสาวิทย์ แก้วหวาน อดีตประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย โพสต์ข้อความกรณีที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม มีนโยบายที่จะย้ายการเดินรถไฟจากสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ไปยังสถานีกลางบางซื่อ และนำที่ดินหัวลำโพง 120 ไร่มาพัฒนาในเชิงพาณิชย์เพื่อล้างผลการขาดทุนสะสม ระบุว่า “อย่าพูดว่าการรถไฟฯ ขาดทุน โดยไม่พูดให้หมดว่าที่ขาดทุนนั้น ขาดทุนและเป็นหนี้เพราะอะไร นโยบายของรัฐบาลทุกยุคสมัยให้การรถไฟฯ ให้บริการโดยสารแก่ประชาชนในราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริง ความจริงคือต้นทุนดำเนินการต่อผู้โดยสาร 1 คน เดินทาง 1 กิโลเมตร การรถไฟฯ จะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 2 บาทต่อกิโลเมตร แต่รัฐบาลให้การรถไฟฯ เก็บราคาค่าโดยสารเพียง 24 สตางค์ต่อกิโลเมตร จะไม่ให้ขาดทุนได้อย่างไร? และการรถไฟฯ ไม่ปรับราคาค่าโดยสารมาตั้งแต่ปี 2528 เป็นเวลากว่า 36 ปี
พ.ร.บ.การรถไฟฯ พ.ศ. 2494 มาตรา 43 ระบุไว้ว่า “รายได้ที่การรถไฟแห่งประเทศไทยได้รับจากการดำเนินงานให้ตกเป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทยสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ รายได้ที่ได้รับในปีหนึ่งๆ เมื่อได้หักค่าใช้จ่ายสำหรับดำเนินงาน ค่าภาระต่างๆ ที่เหมาะสม เช่น ค่าบำรุงรักษา ค่าเสื่อมราคา และเงินสมทบกองทุนสำหรับจ่ายสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงานในการรถไฟแห่งประเทศไทยและครอบครัว เงินสำรองธรรมดาซึ่งตั้งไว้เผื่อขาด เงินสำรองขยายงาน และเงินลงทุนตามที่ได้รับความเห็นชอบตามความในมาตรา 42 แล้ว เหลือเท่าใดให้นำส่งเป็นรายได้ของรัฐ แต่ถ้ารายได้มีจำนวนไม่พอสำหรับรายจ่ายดังกล่าวนอกจากเงินสำรองที่ระบุไว้ในวรรคก่อนและการรถไฟแห่งประเทศไทยไม่สามารถหาเงินจากทางอื่น รัฐพึงจ่ายให้แก่การรถไฟแห่งประเทศไทยเท่าจำนวนที่ขาด”
แต่รัฐจ่ายไม่เต็มจำนวน จ่ายล่าช้า จนถึงปัจจุบันงบการเงินของการรถไฟฯ ที่ระบุว่า “เงินค้างรับตามกฎหมาย” ชี้ให้เห็นว่ารัฐค้างจ่ายการรถไฟฯ ตั้งแต่ปี 2550 จนถึงเดือนมิถุนายน 2564 อยู่ที่ 249,347,968,511.08 บาท (สองแสนสี่หมื่นเก้าพันสามร้อยสี่สิบเจ็ดล้านเก้าแสนหกหมื่นแปดพันห้าร้อยสิบเอ็ดบาทแปดสตางค์) ในแต่ละปีการรถไฟฯ ต้องกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องและต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้กว่าปีละ 3,000 ล้านบาท ดังนั้น เวลาพูดถึงการรถไฟแห่งประเทศไทยขาดทุนและเป็นหนี้นั้น ขอความกรุณาพูดให้ครบถ้วน การจงใจพูดไม่ครบถ้วนเท่ากับเป็นการให้ร้ายการรถไฟฯ พนักงานการรถไฟฯ คนรถไฟ หรือหากไม่รู้ข้อมูล ไม่เข้าใจในประเด็น ควรสอบถามข้อมูลให้ชัด มิฉะนั้นจะเข้าข่ายจงใจ เจตนาบิดเบือนสังคม
และอยากเรียนพี่น้องประชาชนให้ทราบและเข้าใจว่า อย่าเรียกร้องให้การรถไฟฯ มีกำไรจากค่าโดยสาร เพราะถ้าเก็บตามราคาต้นทุนประชาชนก็ต้องจ่ายค่าโดยสารที่แพงขึ้น ซึ่งสหภาพแรงงานรถไฟฯ มีจุดยืนมาโดยตลอดว่าไม่เห็นด้วยในการเพิ่มภาระให้ประชาชน แต่รัฐต้องชดเชยผลการขาดทุนให้เต็มตามจำนวน และตรงเวลา และขอให้พี่น้องประชาชนอย่าเรียกร้องให้รัฐขูดรีดประชาชน หากรัฐขาดทุนนั่นหมายถึงประชาชนมีกำไร ได้ลดรายจ่ายเพื่อนำรายได้ไปหล่อเลี้ยงจุนเจือครอบครัว ไม่ใช่เฉพาะแต่การรถไฟฯ แต่ทุกรัฐวิสาหกิจควรเป็นนโยบายของรัฐ ให้รัฐวิสาหกิจเป็นเครื่องมือช่วยเหลือประชาชน ทั้งในเรื่องพลังงาน ขนส่ง โทรคมนาคม เกษตรกรรม พาณิชยกรรม บริการ และอื่นๆ ไม่ใช่เอาเงินภาษีประชาชนไปลงทุน แต่สุดท้ายการบริหารจัดการประเคนให้เอกชนมาขูดรีดประชาชนของตนเองด้วย นโยบาย PPP (การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน) และแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เพราะแปรรูป ให้สัมปทานไปแล้ว คนเดือดร้อนคือพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่นั่นเองที่ยังต้องดิ้นรนทำงานสร้างฐานชีวิต ฐานครอบครัว”
อ่านโพสต์ต้นฉบับ คลิกที่นี่
ด้าน นายกมล กมลตระกูล นักวิชาการอิสระ โพสต์ข้อความระบุว่า “หัวลำโพงมีพื้นที่รวมกัน 120 ไร่เศษ ราคาที่ดินที่สถานทูตอังกฤษขายให้บริษัทเซ็นทรัลพัฒนาวาละประมาณ 2 ล้านบาท ที่ดินสามย่านน่าจะราคาใกล้เคียงกัน หรือมากกว่า เพราะอยู่ใจกลางชุมชนค้าขาย ใกล้เยาวราชจึงมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท ถ้าให้เช่าโดยเก็บเงินอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยตามราคาตลาดก็สามารถปลดหนี้ รฟม.ได้ทั้งหมด ที่มักกะสันอีก 150 ไร่ มีมูลค่าพอๆ กัน หายไปกับสายลมแล้ว เพราะไปพ่วงแถมให้โครงการรถไฟเชื่อมแอร์พอร์ตลิงก์ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกันอย่างสิ้นเชิง สัมปทานสร้างรถไฟฟ้าสายหรือสีอื่นๆ ไม่เห็นมีการพ่วงเอาที่ดินจำนวนมากๆ ไปกับโครงการเลย ประเทศนี้เป็นของใครก็ไม่รู้ มือใครยาว สาวได้สาวเอา”
อ่านโพสต์ต้นฉบับ คลิกที่นี่