ทวิตเตอร์ @ThinkTalkLoud หรือ ความคิดเสียงดัง ของอาจารย์บอย นักเขียนอิสระด้านการตลาดชื่อดัง เขียนถึงการเสียชีวิตของหมอนะ โยงรัฐบาลกับวัคซีน เจอหมอตัวจริงแจงไม่มีหลักฐานว่าวัคซีนโควิดกระตุ้นโรคประจำตัว ขณะที่ชาวเน็ตแห่ด่า ไม่มีมารยาท ไม่ให้เกียรติผู้เสียชีวิต
วันนี้ (15 พ.ย.) รายงานข่าวแจ้งว่า ทวิตเตอร์ @ThinkTalkLoud หรือ ความคิดเสียงดัง ของนายธนบัตร ชายด่าน หรืออาจารย์บอย นักเขียนอิสระด้านการตลาดชื่อดัง (เจ้าของเดียวกับเพจ Branding by Boy) ที่ปรึกษาธุรกิจ โพสต์ข้อความถึงการเสียชีวิตของ ทพ.กฤษณะ พลอยบุษย์ หรือ หมอนะ เจ้าของเพจ “ใกล้หมอฟัน” ที่มีคนติดตามกว่า 2 แสนคน เนื่องจากโรคภูมิแพ้ ระบุว่า “เห็นมีแต่ #RIPหมอนะ แต่ไม่เจาะประเด็นเรื่องวัคซีนมีผลต่อการกระตุ้นโรคประจำตัวอย่างภูมิแพ้ ให้มีความอ่อนไหว หรือไวต่อการเป็นภูมิแพ้มากขึ้นไหม? รัฐก็ไม่ได้ออกมาให้ความรู้ประชาชน แม้เป็นโรคใหม่ ต้องศึกษาวิจัยเพิ่ม แต่ถ้าฉีดวัคซีนด้วยความไม่รู้ เท่ากับพาคนไทยเสี่ยงหัวก้อย ควรหรือ?”
ปรากฏว่ามีคนวิจารณ์ว่า ไม่มีมารยาท และไม่ให้เกียรติผู้เสียชีวิต ทำให้อาจารย์บอยโพสต์ข้อความอีกครั้ง ระบุว่า “การตั้งคำถามกับการเสียชีวิตวันนี้เป็นเรื่อง “ไม่มีมารยาท” และ “ไม่ให้เกียรติผู้ตาย” ปัญหาจริงๆ ไม่ใช่เรื่องมารยาท แต่ปัญหาคือเราไม่พูดคุยเรื่องที่เราควรคุยกัน เพื่อให้การสูญเสียแปรเปลี่ยนเป็น “คำตอบที่เป็นประโยชน์กับคนไทย” ให้เรามีโอกาสสูญเสียน้อยลง และทุกคนปลอดภัย”
หนึ่งในความเห็นที่วิจารณ์ข้อความนี้ คือผู้ใช้ทวิตเตอร์ @pokrath ของ ผศ.นพ.ปกรัฐ หังสสูต ผู้ช่วยศาสตราจารย์ หน่วยไวรัสวิทยา ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความระบุว่า “1. ไม่มีหลักฐานว่าวัคซีนโควิดกระตุ้นโรคประจำตัว เช่น โรคภูมิแพ้เป็นมากขึ้น 2. กรุณาให้เกียรติผู้เสียชีวิต และให้ความเป็นส่วนตัวกับครอบครัว/คนที่รักคุณหมอในเวลาที่ยากลำบากนี้ด้วยครับ”
นอกจากนี้ ยังมีความเห็นที่น่าสนใจ โดยผู้ใช้ทวิตเตอร์ @sansani23 โพสต์ข้อความระบุว่า “Confidentiality / หลักจริยศาสตร์ในการรักษาความลับของผู้ป่วยซึ่งถูกบัญญัติไว้เป็นสากลทั่วโลก และเป็นสิทธิของผู้ป่วย นอกจากนั้นยังถูกบัญญัติไว้ในกฎหมาย เช่น ไทยมี พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 กำหนดว่า ข้อมูลสุขภาพของบุคคลมีสถานะเป็นความลับส่วนบุคคล ใครจะเปิดเผยไม่ได้ ยกเว้น 1. ผู้ป่วยยินยอมให้เปิดเผย 2. ข้อมูลเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ / Public Interest ซึ่งก็มีหลักในการพิจารณาว่าอย่างไรจึงเรียกว่าเกิดประโยชน์แก่สาธารณะ ซึ่งคนละประเด็นกับที่คุณคิดเลยค่ะ อย่าทำแบบนี้เลยค่ะ ให้เกียรติผู้อื่น เป็นเรื่องง่ายมากนะคะ”