xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายบุหรี่ไฟฟ้าโวย โต้ข้อกล่าวหาเป็นตัวแทนบริษัทบุหรี่ ชี้กลุ่มต่อต้านบุหรี่ไฟฟ้าดิสเครดิต เพราะสู้ความจริงไม่ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าร่อนจดหมายชี้แจง ไม่เกี่ยวข้องทุนบริษัทบุหรี่ โวยกลุ่มรณรงค์ต่อต้านบุหรี่ตั้งเป้าดิสเครดิต อ้างพันธสัญญาแบบผิดๆ เหนือรัฐธรรมนูญไทย หวังให้คนเข้าใจผิดเพื่อปิดกั้นโอกาสในการแสดงความเห็นเพื่อให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย

นายอาสา ศาลิคุปต ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า กลุ่มลาขาดควันยาสูบ หรือ Ends Cigarette Smoke Thailand (ECST) ชี้แจงกรณีเครือข่ายด้านสุขภาพออกมาโจมตีว่ามีความเชื่อมโยงกับ "บริษัทบุหรี่ข้ามชาติ" ในการเป็นที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการศึกษาเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าว่า “เครือข่ายเราไม่ได้มีความเกี่ยวข้องหรือได้รับเงินสนับสนุนใด ๆ จากบริษัทบุหรี่เลย พวกเราออกมาเคลื่อนไหวให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายเพราะเราเป็นผู้ใช้ และเรารู้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าลดอันตรายให้กับพวกเราและคนรอบตัวได้ การทำกิจกรรมพูดคุยกับสมาชิกกว่า 1 แสนคนรับฟังความคิดเห็น ให้ข้อมูลเกี่ยวกับงานวิจัยบุหรี่ไฟฟ้าและมาตรการควบคุมในต่างประเทศ และผ่านเฟซบุ๊คเพจ "บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร" ไม่ได้มีค่าใช้จ่ายอะไรมากมาย ทีมงานที่มาช่วยกันทำก็เป็นผู้ใช้ ทำกันด้วยใจทั้งนั้น”

“ขอท้าให้มาดูบัญชีหรือเอกสารการเงินได้ เราไม่เคยได้รับเงินใดๆ จากหน่วยงานไหนเลย ผมเคยเป็นกรรมการของเครือข่ายผู้บริโภคผลิตภัณฑ์นิโคตินระหว่างประเทศ The International Network of Nicotine Consumer Organisations (INNCO) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระไม่หวังผลกำไรที่มาจากการรวมตัวของ 37 องค์กรผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าทั่วโลกที่สนับสนุนสิทธิของผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้ากว่า 98 ล้านคน และได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าทั่วโลก รวมถึงมูลนิธิ Smoke-free world foundation ด้วย"

"แม้ว่ามูลนิธิจะได้รับการสนับสนุนจากใครก็ตาม แต่ INNCO ก็เป็นอิสระและองค์กรสมาชิกของ INNCO ต่างก็ทำงานโดยอาสาสมัคร ซึ่งหนึ่งในเงื่อนไขการเป็นสมาชิกคือต้องไม่มีการรับเงินสนับสนุนจากบริษัทบุหรี่โดยตรง การที่ผมเคยเป็นกรรมการของ INNCO เพราะเห็นว่าเรามีเป้าหมายเดียวกันในการทำให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นทางเลือกให้กับผู้สูบบุหรี่ทั่วโลก ตำแหน่งกรรมการของ INNCO ไม่เคยได้รับเงินเดือนหรือค่าตอบแทนประจำ มีแค่เคยเดินทางได้เข้าร่วมประชุมกับ INNCO และองค์กรเครือข่ายทั่วโลก เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับการแบนบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยและชี้ให้เห็นผลกระทบด้านลบที่เกิดขึ้นตามมาจากการแบน ทั้งการลิดรอนสิทธิผู้สูบบุหรี่ สินค้าเถื่อน เป็นต้น”

ด้านนายมาริษ กรัณยวัฒน์ เสริมว่า “กลุ่มรณรงค์ต่อต้านยาสูบมักยกเอามาตรา 5.3 เรื่องการแทรกแซงนโยบายมาอ้างผิด ๆ เพื่อกีดกั้นการแสดงความคิดเห็นจากผู้สูบบุหรี่และผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า แท้จริงแล้ว มาตรา 5.3 ของกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบมิได้มีการห้ามไม่ให้หน่วยงานรัฐมีปฏิสัมพันธ์กับอุตสาหกรรมยาสูบหรือผู้เกี่ยวข้องแต่อย่างใด แต่มีการไปกำหนดแนวทางการนำมาตรา 5.3 ของกรอบอนุสัญญาฯ ไปปฎิบัติที่เกินเลยไปกว่าข้อความในอนุสัญญาฯ ซึ่งไม่มีผลผูกพันตามกฎหมายกับประเทศสมาชิกของกรอบอนุสัญญาฯ และจะเห็นได้ว่าหลักการและข้อเสนอแนะข้างต้นไม่ได้ห้ามให้หน่วยงานรัฐมีปฎิสัมพันธ์กับอุตสากรรมยาสูบแต่อย่างใด"

"แต่การมีปฏิสัมพันธ์ดังกล่าวควรมีความโปร่งใสและเกิดขึ้นเท่าที่จำเป็นต่อการกำกับดูแลอุตสาหกรรมสูบได้อย่างมีประสิทธิภาพ กระบวนการพิจารณาของคณะอนุกรรมาธิการก็โปร่งใสตรวจสอบได้ รับฟังความเห็นทุกฝ่าย และยังมีผู้แทนของฝ่ายต่อต้านบุหรี่ไฟฟ้าเข้าไปนั่งอยู่ถึง 4 คน ดังนั้นข้ออ้างที่ว่ามีตัวแทนของบริษัทบุหรี่เข้าไปนั่งในคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าแล้วจะขัดต่อกรอบอนุสัญญาจึงไม่เป็นความจริง แต่เป็นเพียงความพยายามปิดกั้นผู้ที่เห็นแตกต่างไม่ให้มีโอกาสในการแสดงความเห็น และทำลายความน่าเชื่อถือของเรา"

"เพราะไม่สามารถปฎิเสธความจริงที่ว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวนได้อีกแล้ว รัฐธรรมนูญของไทยได้รองรับสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยเอาไว้ในเมื่อไม่มีกฎหมายไทยห้ามเอาไว้ กฎหมายต่างชาติจะมาเหนือกว่ารัฐธรรมนูญของไทยไม่ได้ จึงขอเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในสภาผู้แทนราษฎรได้ตรวจสอบข้อกฎหมายอย่างละเอียดก่อนที่จะไปหลงเชื่อคำกล้าวอ้างของกลุ่มผู้คัดค้านบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชน”






กำลังโหลดความคิดเห็น