สัมมนา “โครงการสนับสนุนการตีพิมพ์ผลงานแปลของไต้หวัน” สำนักเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ผนึกวงการวรรณกรรมไต้หวัน โปรโมตโปรเจกต์มอบทุนสำนักพิมพ์ไทย สนับสนุนการตีพิมพ์งานแปลวรรณกรรมไต้หวัน มอบทุนทุนละ 600,000 ดอลลาร์ไต้หวัน คิดเป็นเงินไทยมากกว่า 600,000 บาท หวังเป็นการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมผ่านงานเขียน ล่าสุด จัดสัมมนา “โครงการสนับสนุนการตีพิมพ์ผลงานแปลของไต้หวัน” สำนักพิมพ์ชื่อดังของไทยเข้าร่วมคับคั่งกว่า 35 สำนักพิมพ์ เชื่อการสนับสนุนของไต้หวันจะช่วยผลักดันธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ให้พัฒนาไปอีกขั้น
นางโจแอนน์ เถียน ผู้อำนวยการฝ่ายวัฒนธรรม สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2564 ที่ผ่านมา ฝ่ายวัฒนธรรม สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย ได้จัดงานสัมมนา
“โครงการสนับสนุนการตีพิมพ์ผลงานแปลของไต้หวัน” (Grant for the Publication of Taiwanese Works in Translation : GPT) เพื่อสนับสนุนการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวรรณกรรมไต้หวันในต่างประเทศ โดยภายในงานได้เชิญตัวแทนสำนักพิมพ์ไทยที่เคยเข้าร่วมโครงการฯ มาแบ่งปันประสบการณ์ รวมถึง เฉินอวี้หลิน หัวหน้าแผนกสื่อสิ่งพิมพ์วรรณกรรม ตัวแทนจากกระทรวงวัฒนธรรมไต้หวันผู้รับผิดชอบโครงการนี้ ก็ได้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนพร้อมตอบคำถามกับสำนักพิมพ์ไทยที่มาเข้าร่วมงานผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยงานสัมมนาในครั้งนี้มีสำนักพิมพ์ไทยเข้าร่วมมากกว่า 35 สำนักพิมพ์ อาทิ อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง, สำนักพิมพ์มติชน, สำนักพิมพ์ซีเอ็ดยูเคชั่น, สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์, สำนักพิมพ์แจ่มใส, สำนักพิมพ์เนชั่นบุ้คส์ และอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้บรรยากาศภายในงานเป็นไปอย่างคึกคัก นอกจากนี้ ยังมีการถ่ายทอดสดผ่านเพจ Thai Book Fair ให้ผู้ที่สนใจสามารถรับชมบรรยากาศภายในงานได้ผ่านทางออนไลน์ ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการสนับสนุนการตีพิมพ์ผลงานแปลของไต้หวันของกระทรวงวัฒนธรรมไต้หวัน จะสามารถทำให้ผลงานวรรณกรรมไต้หวันมีโอกาสตีตลาดประเทศไทยได้มากยิ่งขึ้น”
นางสาวทิพย์สุดา สินชวาลวัฒน์ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จําหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) กล่าวว่า “รู้สึกยินดีที่ได้เห็นประเทศไทยและไต้หวันร่วมมือกัน และเชื่อว่า โครงการสนับสนุนการตีพิมพ์ผลงานแปลของไต้หวันนี้ จะมีส่วนช่วยทำให้ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์พัฒนาขึ้นเป็นอย่างมาก”
ในช่วงแบ่งปันประสบการณ์ได้เชิญตัวแทนจากสำนักพิมพ์แมงมุม คัลเจอร์ และสำนักพิมพ์บิบลิโอมาพูดคุยบอกเล่าประสบการณ์และผลลัพธ์ที่ได้จากโครงการ ทั้งนี้ ภายในงานสัมมนายังมีโซนจัดแสดงผลงานวรรณกรรมไต้หวันที่เคยเข้าร่วมและได้รับเงินสนับสนุนจากโครงการ พร้อมได้ตีพิมพ์ในประเทศไทยในแต่ละปี อาทิ “จักรยานที่หายไป”
นิยายเรื่องยาวของอู๋หมิงอี้ ที่เข้ารอบ Longlisted รางวัล The Man Booker International Prize 2018 “ผีเสื้อของตั๋วตั่ว” หนังสือนิทานภาพของซิ่งเจียฮุ่ย ที่ช่วยสอนเด็กๆ ได้รู้จักสิทธิทางร่างกายตนเอง และป้องกันตัวจากภัยล่วงละเมิดทางเพศ “หากโลกนี้ไม่มีหนังสือ” หนังสือภาพของจิมมี่ เลี่ยว ที่ได้รับความนิยมในไทยเป็นอย่างมาก เป็นต้น
“โครงการสนับสนุนการตีพิมพ์ผลงานแปลของไต้หวัน” ของกระทรวงวัฒนธรรมไต้หวัน จะเปิดรับสมัครทุกเดือนเมษายนและเดือนตุลาคมของทุกปี โครงการที่ผ่านการพิจารณาอนุมัติจะได้รับทุนสนับสนุนสูงสุดทุนละ 600,000 ดอลลาร์ไต้หวัน หรือประมาณมากกว่า 600,000 บาท สำหรับค่าลิขสิทธิ์ ค่าแปล และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยกระทรวงวัฒนธรรมไต้หวันหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการนี้จะช่วยส่งเสริมให้ผลงานเขียนของไต้หวันได้รับการตีพิมพ์ในต่างประเทศมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ กระทรวงวัฒนธรรมไต้หวันยังได้ร่วมกับสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) และ VISION THAI สื่อภาษาจีนในไทย จัดกิจกรรมพูดคุยแลกเปลี่ยน และประชาสัมพันธ์ให้สำนักพิมพ์ไทยได้เข้าใจในจุดประสงค์ของโครงการ รวมถึงวิธีการเข้าร่วมโครงการนี้ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะมีส่วนช่วยยกระดับผลงานเขียนของไต้หวันให้มีส่วนร่วมในเวทีสากลมากยิ่งขึ้น