xs
xsm
sm
md
lg

“เกาะเต่า” สวรรค์นักท่องเที่ยว นรกของนักโทษการเมือง! ถูกส่งไปหวังจะให้ตายคาเกาะ!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



เกาะเต่า เป็นเกาะที่มีธรรมชาติสวยงามของอ่าวไทย อยู่ในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี รอบเกาะมีปะการังที่งดงามจนโด่งดังไปทั่วโลก เป็นแหล่งดำน้ำติดอันดับโลก เป็นสวรรค์ของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศที่หลั่งไหลมาปีละหลายแสนคน

เนื่องจากเป็นเกาะใหญ่มีเนื้อที่ราว ๒๑ ตารางกิโลเมตร อยู่ไกลจากแผ่นดินใหญ่มาก คือห่างจากปากน้ำชุมพร ๘๕ กิโลเมตร และอยู่ห่างจากเกาะพงันเกาะอยู่ใกล้ที่สุดถึง ๔๕ กิโลเมตร ในสมัยก่อนจึงเป็นเกาะที่เงียบสงบ มีเต่าทะเลมาวางไข่ตามชายหาดเป็นจำนวนมาก ในฤดูที่ลูกเต่าออกจากไข่จึงมีลูกเต่าดำไปทั้งหาด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จไปประพาสในปี ๒๔๔๒ และทรงจารึกพระปรมาภิไธยย่อไว้บนหินที่แหลม จ.ป.ร. ปัจจุบันหินสลักพระปรมาภิไธยและพระบรมรูปของพระองค์ เป็นที่สักการะของคนเกาะเต่าและนักท่องเที่ยวชาวไทย

ด้วยความที่เป็นเกาะที่ห่างไกล มีทะเลกว้างล้อมรอบ ในระหว่างปี ๒๔๘๖-๒๔๘๗ จึงถูกเลือกให้เป็นที่คุมขังนักโทษในคดี “กบฏวรเดช” เดิมนักโทษกลุ่มนี้ซึ่งมีจำนวน ๕๔ คนถูกส่งไปคุมขังที่เกาะตะรุเตาในจังหวัดสตูลตั้งแต่ปี ๒๔๗๖ แล้ว แต่เมื่อสงครามมหาเอเชียบูรพาเกิดขึ้น เกาะตะรุเตาอยู่ใกล้กับเกาะลังกาวีของมาเลเซีย ซึ่งเป็นเขตอิทธิพลของอังกฤษ เกรงว่าอังกฤษจะมาชิงตัวนักโทษเหล่านี้ไป จึงได้ย้ายข้ามไปอยู่ฝั่งอ่าวไทยที่เกาะเต่า โดยบุกเบิกพื้นที่ ๓๕ ไร่ เป็นบ้านพักผู้อำนวยการ เจ้าหน้าที่เรือนจำและเจ้าหน้าที่ตำรวจ กับโรงขังนักโทษที่มีรั้วรอบอย่างแข็งแรง มีนักโทษสามัญอีก ๕๐ คน มารับใช้เจ้าหน้าที่ หุงต้มอาหารในครัวและทำความสะอาด มีถังเก็บน้ำจืด ๓,๐๐๐ แกลลอน

ในเดือนแรกที่นักโทษกลุ่มนี้ไปอยู่เกาะเต่า ถังน้ำจืดที่มีอยู่ถังเดียวนี้เกิดพังลงมา ทางเรือนจำได้ขุดบ่อเล็กๆขึ้นแทน แต่น้ำที่ซึมออกมาก็ไม่พอใช้กับจำนวนคน จึงมีปัญหาขาดแคลนน้ำ แต่ผู้อำนวยการเรือนจำก็ให้เกียรติและปฏิบัติต่อนักโทษอย่างดี เพราะเห็นว่าเป็นนักโทษการเมือง ในเวลากลางวันให้ออกจากรั้วที่คุมขังไปหาผักหอยปูปลากินกันได้ กลางคืนจึงกลับเข้าในรั้วที่คุมขัง

แต่ไม่นานความดีของผู้อำนวยการเกาะก็ร่ำลือมาถึงกรุงเทพฯ กรมราชทัณฑ์จึงสั่งย้ายทันที ส่งผู้อำนวยการคนใหม่มาพร้อมผู้ช่วยและนโยบายใหม่ที่เคร่งครัด ไม่ปล่อยให้นักโทษออกจากเขตคุมขังทั้งกลางวันกลางคืน ทำให้หมดโอกาสไปหาอาหารทะเล จำต้องกินแต่อาหารอันแร้นแค้นของเรือนจำ จนร่างกายผ่ายผอมไม่มีภูมิต้านทานไข้ป่าที่ชุกชุมบนเกาะ ทั้งบางคนยังติดเชื้อมาก่อนจากตะรุเตา จึงเป็นไข้จับสั่นกันทุกคน

ยาที่ใช้รักษาในยุคนั้นก็คือควินินและอีเมติน หลายคนจึงเตรียมไว้พร้อม แต่หลายคนก็ไม่มีปัญญาที่จะมีได้ คนที่มีก็ไม่อาจทนดูเพื่อนร่วมชะตากรรมตายไปต่อหน้า จึงต้องแบ่งปันของหายากช่วยเหลือ เพราะทางเรือนจำไม่มีการจ่ายยาหรือดูแลรักษาแต่อย่างใด

เรือส่งเสบียงจะมาเกาะเต่าเพียงเดือนละครั้ง นักโทษจึงต่างคอยความหวังจากเรือลำนี้ที่ทางบ้านจะส่งของกินของใช้และจดหมายมา ที่สำคัญคือยา แต่ส่วนใหญ่ก็ต้องผิดหวัง ทางพัศดีอ้างว่าต้องผ่านการตรวจตราของเจ้าหน้าที่เรือนจำก่อน ความขาดแคลนยาจึงเกิดขึ้น จะหายาได้ก็ต้องซื้อจากเจ้าหน้าที่ของเรือนจำในราคาที่แพงลิบลิ่ว ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นยาที่ทางบ้านของนักโทษส่งไปให้นั่นเอง

อีกทั้งต่อมาอธิบดีกรมราชทัณฑ์ยังมีคำสั่งให้นักโทษการเมืองที่อายุต่ำกว่า ๖๐ ปี ต้องไปทำงานกรรมกรเช่นเดียวกับนักโทษสามัญ ซึ่งเป็นการผิดกฎของเรือนจำที่ให้ถือว่านักโทษการเมืองได้รับการยกเว้นไม่ต้องทำงานกรรมกร ให้ช่วยเจ้าหน้าที่ควบคุมงาน หรือทำงานเกี่ยวกับหนังสือและบัญชีเท่านั้น ทำให้นักโทษการเมืองต้องไปทำถนน โค่นต้นไม้ ขุดดิน ฟันหญ้า ปรับพื้นที่ทำไร่ถั่วและมันสำปะหลัง อันเป็นผลประโยชน์ของเรือนจำ

จากการต้องไปกรำแดดกรำฝนในช่วงฤดูฝนของปี ๒๔๘๖ นั้น ทำให้นักโทษที่ไม่เคยกับงานเช่นนี้มาก่อน อีกทั้งสภาพร่างกายก็ไม่พร้อมจากการเจ็บป่วยและขาดอาหาร ทำให้ต้องสิ้นชีวิตไปในช่วง ๖ สัปดาห์นี้ถึง ๖ คน คนแรกคือ ร.อ.หลวงจักรโยธิน (ม.ล.บุษ อิศรางกูร ณ อยุธยา) จากโรคมาเลเรียขึ้นสมอง ขณะไข้ขึ้นสูงทุรนทุรายพร่ำเพ้อถึงลูกเมีย พระยาจินดาจักรรักษ์ได้สละยาฉีดแอตตาบรินให้ ๑ หลอด เมื่อไม่ดีขึ้น ม.จ.สิทธิพร กฤดากร ประทานยาแคมเฟอร์ให้อีก ๑ หลอด แต่ก็ไม่สามารถช่วยชีวิตไว้ได้

คนที่ตามไปคือ นายอ่ำ บุญไทย นักหนังสือพิมพ์เจ้าของนามปากกา “แม่น้ำโขง” รายนี้ป่วยด้วยโรคท้องมาน ต้องทนทุกข์ทรมานมานาน เมื่อเดือนกรกฎาคมนั้น นายแพทย์ซึ่งต้องคดีฆ่าภรรยาได้เดินทางไปที่เกาะกับเรือส่งเสบียง เพื่อช่วยเจาะท้องเอาน้ำออกให้ จนท้องยุบเป็นปกติ แต่ไม่กี่วันหลังจากที่หมอกลับไป ท้องก็ป่องขึ้นมาอีก ด้วยสุดจะทนความทรมานได้ นายอ่ำจึงฝนตะปูจนแหลมแล้วเจาะท้องตัวเองให้น้ำไหลออกมา และใช้วิธินี้หลายครั้งจนสิ้นความทรมานเพราะเสียชีวิต

สภาพของนักโทษการเมืองบนเกาะเต่าในยามนั้น ไม่ต่างจากเชลยศึกที่ถูกญี่ปุ่นต้อนไปสร้างทางรถไฟสายมรณะนัก ม.ร.ว.นิมิตรมงคล เนาวรัตน์ อดีตเรืออากาศเอกที่เคยต้องโทษคดีกบฏบวรเดชในปี ๒๔๗๖ แต่ได้พ้นโทษไปในปี ๒๔๘๐ ต่อมาก็ถูกจับในคดีกบฏปี ๒๔๘๑ อีก ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต และถูกส่งไปเกาะเต่าพร้อมกับ ดร.โชติ คุ้มพันธ์ ด็อกเตอร์เศรษฐศาสตร์จากเยอรมัน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มสร้างธนาคารชาติ ที่ต้องคดีเดียวกัน เมื่อไปถึงเกาะเต่าเห็นสภาพนักโทษการเมืองที่ถูกคุมขังอยู่ก่อน ก็ตกใจแทบสิ้นสติ เป็นภาพของนรกชัดๆ แทบทุกคนมีแต่หนังหุ้มกระดูก หน้าตาซีดเซียว แววตาอิดโรย บางคนนั่งกอดเข่าห่มผ้าตัวสั่นสะท้าน บางคนดิ้นทุรนทุรายผ้าผ่อนหลุดลุ่ย ปากก็พร่ำเพ้อตะโกนโวยวายด้วยพิษไข้ขึ้นสมอง บางคนก็อาเจียนเปรอะบริเวณที่นอน ผู้มาใหม่ทั้ง ๒ ก็รู้ตัวทันทีว่าถูกส่งมาในนรกแห่งความตายแล้ว

สันนิษฐานกันว่า นักโทษการเมืองกลุ่มนี้ที่ถูกศาลพิเศษตัดสินจำคุกตลอดชีวิตนั้น ได้ถูกจำคุกมาตั้งแต่ปี ๒๔๗๖ แล้วที่ตะรุเตา และได้รับหย่อนผ่อนโทษตามระเบียบมาตลอด เมื่อมาอยู่เกาะเต่าก็เหลือโทษอีกเพียง ๒ ปีเศษเท่านั้น หากพ้นโทษกลับไปก็อาจจะเป็นเสี้ยนหนามรัฐบาลอีก จึงต้องการให้ตายเสียที่เกาะเต่าก่อนจะพ้นโทษ จะได้หมดเสี้ยนหนามกลุ่มนี้ไป

ในช่วงท้ายของสงครามโลกครั้งที่ ๒ น้ำมันขาดแคลนหนัก เรือเชวงศักดิ์สงคราม ซึ่งเป็นเรือส่งเสบียงจากสุราษฎร์ต้องหยุดเดิน เปลี่ยนไปใช้เรือไชโย ซึ่งใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง จึงเป็นภาระของนักโทษการเมืองอีกที่ต้องไปตัดฟืนป้อนเรือเสบียง นักโทษกลุ่มนี้มีหลวงมหาสิทธิโวหาร (สอ เสถบุตร) วิศวกรจากอังกฤษ ร่วมด้วย ต้องปีนขึ้นไปตัดไม้บนเขา แล้วงัดให้กลิ้งลงมาถึงชายทะเล จากนั้นจึงผ่าออกเป็นดุ้นฟืน

ในช่วงต้นเดือนตุลาคม ๒๔๘๗ ในช่วงเวลาของความยากแค้นแสนสาหัสนั้น มีเครื่องบินลำหนึ่งมาบินวนเหนือแดนนรกเกาะเต่า นักบินโบกมือให้นักโทษการเมืองเหมือนจะเป็นสัญญาณอะไรสักอย่าง แต่ก็ไม่มีใครแปลความหมายได้ ครุ่นคิดกันอยู่ราว ๓ สัปดาห์จึงรู้ข่าวที่นักบินมาบอกนั้น คือรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามได้ลาออกเพราะแพ้มติโหวต พ.ร.บ.พุทธมณฑลบุรี นายควง อภัยวงศ์ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน และ ครม.ชุดใหม่ได้มีมติกราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษนักโทษในคดีกบฏบวรเดชและกบฏ ๒๔๘๑ ทำให้ทางการกำหนดนำนักโทษจากเกาะเต่าไปปลดปล่อยที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีในวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๔๘๗

ทันทีที่คำสั่งนี้ไปถึง บรรยากาศของเกาะเต่าก็เปลี่ยนไปทันที แววตาที่เหี่ยวละห้อยก็แวววาวด้วยความสุขขึ้นมาทันที อาการเจ็บไข้ไม่รู้หายไปไหน อีกทั้งกิริยาของเจ้าหน้าที่เรือนจำก็เปลี่ยนเป็นตรงกันข้าม คำเสียดสี เกรี้ยวกราด เปลี่ยนเป็นประจบประแจง คำเรียกขานเปลี่ยนเป็น คุณหลวง คุณพระ ท่านเจ้าคุณ ขอรับกระผม ดังระงม

ในวันที่ ๒๐ ตุลาคมนั้น หน้าเรือนจำสุราษฎร์ธานีก็คึกคักไปด้วย นักโทษที่ถูกนำมาปล่อยต่างอยู่ในชุดขาดกะรุ่งกะริ่งตั้งแต่หมวกจนถึงรองเท้า คนที่พอมีเงินติดตัวก็ซื้อเสื้อผ้าใหม่ใส่ คนที่มีสมบัติพอจะขายได้ เช่นสร้อย มุ้ง ผ้าห่ม ซึ่งเป็นของขาดแลนยามสงคราม ก็ขายหาเงินใช้ ประชาชนบางคนที่เห็นสภาพของผู้สู่อิสรภาพแล้วก็สังเวชซื้อเสื้อผ้าให้ และตลอดเส้นทางที่รถไฟผ่านขณะกลับเข้ากรุงเทพฯ ประชาชนที่รู้ข่าวมารอรับที่สถานี นำข้าวปลาอาหารและขนมมาให้ โดยเฉพาะที่สถานีเพชรบุรีได้กินขนมหม้อแกงกันหลายถาด

เมื่อรถไฟมาถึงสถานีธนบุรี ลูกเมียมิตรสหายต่างมารอรับกันด้วยความดีใจ สอ เสถบุตร เป็นคนแรกที่ได้รับตำแหน่งใหม่ที่สถานีธนบุรีนั้นเลย โดยนายมานิต วสุวัต เจ้าของหนังสือพิมพ์ “ศรีกรุง” เสนอตำแหน่งผู้อำนวยการศรีกรุงให้

ส่วนคนอื่นๆที่ต้องคดีกบฏครั้งนี้ เมื่อยังไม่เข็ดการเมืองก็ได้เข้ารับตำแหน่งสำคัญในการเมืองอีก อย่าง ม.จ.สิทธิพร กฤดากร ทรงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ใน พ.ศ.๒๔๙๑ ครม.นายควง อภัยวงศ์

ดร.โชติ คุ้มพันธุ์ อดีตทหารอาสาในสงครามโลกครั้งที่ ๑ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ ๑ ในปี ๒๔๗๕ ได้เข้าร่วมเป็นผู้ก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ในปี ๒๔๘๙ และลงสมัครรับเลือกตั้งได้เป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร โดยเป็นผู้ริเริ่มใช้โทรโข่งเ ขี่รถสามล้อหาเสียง ได้ฉายาว่า “ผู้แทนคนยาก”

นาวาเอก พระยาศราภัยพิพัฒน์ (เลื่อน ศราภัยวานิช) ซึ่งพาเพื่อนนักโทษอีก ๓ คน ลงเรือพายลอบหนีออกจากเกาะตะรุเตา ฝ่าดงฉลามไปยังเกาะลังกาวีของมลายู เมื่อได้รับอภัยโทษก็กลับมารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในปี ๒๔๙๐ ครม.นายควง อภัยวงศ์อีกเช่นกัน

พระยาสุรพันธ์เสนี (อิ้น บุนนาค) อดีตสมุหเทศาภิบาลมณฑลราชบุรี หนึ่งในผู้ฝ่าดงฉลามกับพระยาศราภัยฯ หลังจากถูกคุมขังอยู่ที่ตะรุเตา ๖ ปี หนีไปอยู่เมืองอลอสตาร์ ไทรบุรี และสิงคโปร์อีก ๖ ปี กลับมาได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนจังหวัดราชบุรี และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร

นี่คือชีวิตผกผันของนักการเมือง ซึ่งสวรรค์และนรกก็อยู่ไม่ไกลกันนัก ชีวิตจึงอาจพลิกผันในวันหนึ่งวันใดได้ง่ายๆ คนที่เล่นเกมอยู่ในวันนี้จึงต่างกอบโกยกันเพื่อเอาไว้ซื้ออำนาจต่อ หรือซื้อความสุขเมื่อหมดอำนาจ และปัจจุบันก็ยากที่จะหาคนยอมให้คุมขังชดใช้กรรมแล้ว เมื่อดูทีหนีทีไล่เห็นว่าหลักฐานที่ทำไว้ไม่อาจรอดพ้นศาลได้ ก็ใช้วิธีหนีออกไปต่างประเทศ เมื่อถึงวันนั้นก็จะได้รู้ว่า แม้มีเงินมากเท่าไหร่ ก็ไม่อาจหาความสุขได้เหมือนตอนจนอยู่ในแผ่นดินบ้านเกิดเมืองนอน






กำลังโหลดความคิดเห็น