เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๒๑ ได้เกิดรัฐประหารขึ้นในประเทศไทยอีกรั้งหนึ่ง เป็นการปฏิวัติแบบไม่เสียเลือดเสียเนื้อ แต่ทำให้คนงงกันไปทั้งเมือง เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร ยึดอำนาจจากจอมพลถนอม กิตติขจร ลูกน้องคนสนิทที่ตั้งขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเอง และความสัมพันธ์ก็ยังแนบแน่นไม่แปรเปลี่ยน
ทั้งนี้หลังจากยึดอำนาจจากจอมพล ป.พิบูลสงครามในวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๐๐ แล้ว จอมพลสฤษดิ์ยังไม่กล้าขึ้นครองอำนาจเอง เพราะเกรงจะไม่ได้รับการรับรองจากต่างประเทศ จึงเชิญนายพจน์ สารสิน เลขาธิการองค์การ สปอ. หรือซีโต้ มารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะนายพจน์ได้รับความเชื่อถือจากต่างประเทศมาก
รัฐบาลนายพจน์ สารสินจัดให้มีการเลือกตั้งขึ้นในวันที่ ๑๕ ธันวาคมนั้น ปรากฏว่า พรรคสหภูมิในการสนับสนุนของจอมพลสฤษดิ์ได้ ๔๕ ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ได้ ๓๙ ที่นั่ง พรรคเศรษฐกรได้ ๖ ที่นั่ง นอกนั้นเป็นผู้ไม่สังกัดพรรคอีก ๕๘ ที่นั่ง พรรคสหภูมิมีเสียงไม่พอจัดตั้งรัฐบาล จอมพลสฤษดิ์จึงได้ส่งคนไปทาบทามพรรคประชาธิปัตย์ให้มาร่วม แต่ได้รับการปฏิเสธ จึงได้ตั้งพรรคใหม่ชื่อ “ชาติสังคม” ขึ้น โดยเป็นหัวหน้าพรรคเอง มี พลโทประภาส จารุเสถียร เป็นเลขาธิการพรรค รวม ส.ส.จากพรรคสหภูมิกับพรรคเสรีมนังคศิลาของจอมพล ป. และ ส.ส.ประเภท ๒ ที่ตั้งเองอีก ๒๐๒ คน ควบคุมสภาได้โดยเด็ดขาด ให้พลโทถนอม กิตติขจร รองหัวหน้าพรรค ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะจอมพลสฤษดิ์มีปัญหาเรื่องสุขภาพ แต่ยังมีอำนาจเหนือรัฐบาล บงการอยู่เบื้องหลัง
ในระหว่างที่จอมพลสฤษดิ์ไปรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลวอลเตอร์รีด สหรัฐอเมริกา พลโทถนอมซึ่งบารมีไม่ถึงที่จะควบคุม ส.ส.ในสังกัดไว้ได้ จึงประสบปัญหาอย่างมาก ส.ส.ที่ไปกว้านมาจากพรรคเสรีมนังคศิลาได้ย้ายออกไปตั้งพรรคใหม่ชื่อ พรรคประชาราษฎร์ และสมาชิกพรรคชาติสังคมเองก็คัดค้านการตัดงบประมาณการศึกษาไปเพิ่มงบด้านการทหาร
ที่สำคัญคือ ส.ส.รัฐบาลเองบีบให้รัฐบาลออกกฎหมายเกี่ยวกับการใช้เงินของกองสลากกินแบ่ง หลังจากที่มีข่าวว่ากองสลากได้จ่ายเงินเป็นค่ารักษาตัวให้จอมพลสฤษดิ์ถึง ๓ ล้านบาท
การแตะต้องกองสลากถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก ที่แตกหักกับจอมพล ป.มาก็เพราะเรื่องนี้ พูดกันทั่วไปว่ามีการออกสลาก ๒ ชุดด้วย อีกชุดหนึ่งไม่ปรากฏในบัญชี และจอมพลสฤษดิ์ใช้เงินกองสลากเหมือนเป็นธุรกิจส่วนตัว จอมพล ป.เคยให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ทางเพรสคอนเฟอร์เรนซ์ เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๔๙๙ว่าจะเลิกกองสลาก ทั้งยังมีข่าวออกมาว่าจะสอบสวนจอมพลสฤษดิ์เรื่องทุจริตในกองสลาก ซึ่งทำให้จอมพลสฤษดิ์โกรธมาก
เมื่อถูกจอมพล ป.บีบจะให้ถอนตัวจากการค้าอีกจึงได้แตกหักกัน อีกทั้งศรัทธาของประชาชนที่มีต่อทหารก็เสื่อมทรามลงทุกวัน การเลือกตั้งซ่อม ๕ จังหวัดในวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๐๑ ฝ่ายรัฐบาลแพ้ยับเยิน พลอากาศเอกเฉลิมเกียรติ วัฒนางกูร ซึ่งเข้ามาเป็นเลขาธิการพรรคชาติสังคม บินไปรายงานการเคลื่อนไหวทางการเมืองให้จอมพลสฤษดิ์ขณะพักรักษาตัวอยู่เป็นประจำ ว่าลูกพรรคของท่านหิวกันไม่หยุดหย่อน หนังสือพิมพ์ก็ด่ากันป่นปี้ทุกวัน จอมพลสฤษดิ์จึงตัดสินใจที่จะต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่งก่อนที่สถานการณ์จะสุกงอม
ในวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๐๑ จอมพลสฤษดิ์ได้บินกลับมาอย่างเงียบๆ และพักอยู่ที่บ้านพักผู้บัญชาการทหารอากาศ รุ่งขึ้นวันที่ ๒๐ ได้เรียกประชุมเหล่าขุนศึกที่หอประชุมกองทัพบก และกักตัวไม่ให้ทุกคนออกไปจากห้องประชุม นักข่าววิ่งกันพล่านเมื่อรู้ว่าจอมพลสฤษดิ์แอบกลับมา แต่ก็ไม่มีใครได้ข่าวคืบหน้าใดๆ ทุกอย่างถูกปิดเป็นความลับ
๒๐.๐๐ น.คืนนั้น วิทยุกรมประชาสัมพันธ์ก็ประกาศว่า
“ขอให้ประชาชนคอยฟังข่าวสำคัญของทางราชการ จะประกาศให้ทราบในเวลา ๒๐.๔๕ น.”
ประชาชนต่างคาดว่าจะต้องมีเรื่องทางการเมืองเกิดขึ้นแน่นอน บรรดานักการเมืองต่างอกสั่นขวัญแขวนไปตามกัน
จนกระทั่ง ๒๐.๔๕ น. โฆษกของกรมประชาสัมพันธ์ก็อ่านข่าวสำคัญนั้นว่า
“วันนี้เวลาประมาณ ๑๔.๐๐ น. พลเอกถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระที่นั่งตำหนักจิตรลดารโหฐาน พร้อมกับน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมกราบบังคมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี...”
การลาออกครั้งนี้ พลเอกถนอมได้ให้เหตุผลว่า
“...แต่บัดนี้ ข้าพระพุทธเจ้าพิจารณาเห็นว่าการบริหารราชการแผ่นดินไม่อาจดำเนินให้บรรลุผลตามปรารถนา ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานกรุณากราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป...”
ต่อมาก็มีการอ่านแถลงการณ์ฉบับที่ ๑ ของคณะปฏิวัติ
“...ด้วยคณะปฏิวัติ ซึ่งประกอบด้วยทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และพลเรือน ได้ทำการยึดอำนาจปกครองประเทศไทยในนามปวงชนชาวไทย ตั้งแต่เวลา ๒๑ นาฬิกาของวันที่ ๒๐ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๐๑ เป็นต้นไป และสถานการณ์ทั้งหลายตกอยู่ใต้ความควบคุมของคณะปฏิวัติแล้ว ขอให้ประชาชนพลเมืองทั้งหลายปฏิบัติงานในหน้าที่ตามปกติ และให้ทุกคนตั้งอยู่ในความสงบ มิพึงกระทำการใดๆ ที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในประเทศ ห้ามเคลื่อนย้ายกำลังทหาร นอกจากคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติ และให้ผู้บังคับบัญชาหน่วยต่างๆ ของประเทศ ฟังและปฏิบัติตามคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติแต่ผู้เดียว...”
จากนั้นก็มีแถลงการณ์ของคณะปฏิวัติตามออกมาอีกหลายสิบฉบับ รวมทั้งประกาศกฎอัยการศึก ยกเลิกรัฐธรรมนูญ ยุบสภา ยกเลิกพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พระราชบัญญัติอื่นๆ อีกบางฉบับ
คณะปฏิวัติได้อ้างเหตุผลที่ต้องทำปฏิวัติไว้ในแถลงการณ์ฉบับที่ ๒ อย่างคร่าวๆ ว่า
“เพราะเหตุที่สถานการณ์ทั้งหลายภายนอกภายในรัดรึงตรึงเครียดขึ้นทุกที โดยเฉพาะอย่างยิ่งภัยคอมมิวนิสต์ได้คุกคามประเทศไทยอย่างรุนแรง ไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงไปใช้วิธีใดนอกจากยึดอำนาจและดำเนินการปฏิวัติในทางที่เหมาะสม”
รุ่งขึ้นจากวันยึดอำนาจ คือในวันที่ ๒๑ ตุลาคม คณะปฏิวัติได้สั่งให้ตรวจค้นโรงพิมพ์ราว ๕๐ แห่ง จับกุมนักหนังสือพิมพ์ นักเขียน ผู้นำกรรมกร และนักการเมืองมากมาย โดยไม่มีการสอบสวนหรือส่งฟ้องศาลแต่อย่างใด นำไปคุมขังไว้ด้วยข้อหาต่างๆ กัน ๓ ข้อหาคือ
มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์มีวัตถุประสงค์จะล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เพื่อจะนำระบอบคอมมิวนิสต์มาใช้
มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ทางรัฐสภา โดยเสนอให้ยกเลิกกฎหมายป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์
ซึ่งล้วนแต่เป็นคอมมิวนิสต์ทั้งสิ้น มีการยึดทำลายหนังสือที่ถือว่าเป็นฝ่ายซ้ายเช่น “ไปสหภาพโซเวียต” โดย กุหลาบ สายประดิษฐ์ “ความเป็นอนิจจังของสังคม” โดย ปรีดี พนมยงค์ ต่อมาได้ปิดสหภาพแรงงาน ๔ แห่ง โดยข้อหาว่าเป็นต้นเหตุให้เกิดการแบ่งแยกระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง และพ่วงท้ายด้วยข้อหายอดฮิตในยุคจอมพลสฤษดิ์ครองอำนาจ คือ “เป็นเครื่องมือของลัทธิคอมมิวนิสต์”
จอมพลสฤษดิ์ได้รวบอำนาจการปกครองเข้ามาอยู่ในกำมืออย่างสิ้นเชิง ด้วยการประกาศกฎอัยการศึกโดยไม่มีกำหนดเวลาและขอบเขตพื้นที่แน่นอน ยกเลิกสถาบันทางการเมืองทั้งหมด ปราบปรามนักการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์ และกำจัดเสรีภาพทางการแสดงความคิดเห็นของประชาชน โดยห้ามมิให้มีการชุมนุมในทางการเมืองมีจำนวนตั้งแต่ ๕ คนขึ้นไป
เมื่อนักข่าวถามจอมพลสฤษดิ์ว่า จะเลิกกฎอัยการศึกเมื่อใด จอมพลสฤษดิ์ก็จะตอบอย่างที่ทำให้คนถามและคนที่ได้ยินไม่กล้าถามต่อไปอีกว่า
“แล้วลื้อเดือดร้อนอะไรด้วย ล่ะ อั๊วไม่เห็นมันน่าจะเดือดร้อนอะไรนี่หว่า”
ในที่สุดก็ปรากฏเด่นชัดว่า คนที่ถูกคณะปฏิวัติยึดอำนาจไม่ใช่จอมพลถนอม แต่เป็นประชาชน