ใครจะคาดคิดว่า พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงมีคุณูปการแก่ประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง ทรงได้รับถวายพระราชสมัญญานามว่า “สมเด็จพระปิยมหาราช” แต่เมื่อทรงนำประเทศรอดจากเหยี่ยวปากกาของการล่าอาณานิคมมาได้ พอเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย พระราชโอรสองค์หนึ่งของพระองค์ก็ต้องตกเป็นจำเลยในคดีการเมือง ถูกลงโทษถึงขั้นประหารชีวิต แต่ศาลได้ปราณีลดโทษให้เหลือจำคุกตลอดชีวิต ต้องถูกขังอยู่ในห้องขังโรงพักที่อบอ้าวสกปรกโสโครกกับถังอุจาระก่อนจะขึ้นศาล
พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯพระองค์นี้ ก็คือ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ประสูติจากเจ้าจอมมารดา ม.ร.ว.เนื่อง สนิทวงศ์ พระธิดาพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ ผู้บุกเบิกขุดคลองเพื่อขยายพื้นที่ทำนาที่ทุ่งหลวงด้านเหนือของกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯจึงพระราชทานชื่อคลองนี้ตามพระนามพระราชโอรสที่เพิ่งประสูติว่า “คลองรังสิตประยูรศักดิ์” ซึ่งรู้จักกันในชื่อ “คลองรังสิต” ในปัจจุบัน
เมื่อพระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ประสูติได้ ๑๒ วันพระมารดาก็ถึงอนิจกรรม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงอุ้มพระองค์เจ้ารังสิตฯมาพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี พร้อมกับรับสั่งว่า “...ให้มาเป็นลูกแม่กลาง...” สมเด็จพระบรมราชเทวีทรงเลี้ยงดูพระองค์เจ้ารังสิตฯ ซึ่งมีพระชันษาใกล้เคียงกับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช พระบรมราชชนกในรัชกาลที่ ๘ รัชกาลที่ ๙ เหมือนกับพระราชโอรสของพระองค์เอง
ทรงสำเร็จการศึกษาในวิชาการการศึกษา จากมหาวิทยาลัยไฮเดนเบิร์ก ประเทศเยอรมัน และในฐานะที่พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ พระบิดาของพระมารดา เป็นผู้เชี่ยวชาญแพทย์แผนไทยพระองค์หนึ่ง จึงทรงเข้ารับการศึกษาวิชาแพทย์กับอาจารย์ของมหาวิทยาลัยนั้นเป็นการส่วนพระองค์ด้วย
เมื่อเสด็จกลับประเทศไทยใน พ.ศ.๒๔๕๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯให้เป็นเจ้าต่างกรมที่ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นชัยนาทนเรนทร รับราชการในตำแหน่งผู้ช่วยปลัดทูลฉลองกระทรวงศึกษาธิการ และใน พ.ศ.๒๔๕๘ ก็ทรงเข้ารับตำแหน่งผู้บัญชาการโรงเรียนแพทยาลัยด้วย ทรงปรับปรุงหลักสูตรการเรียนให้ทันสมัย โดยเฉพาะวิชาผดุงครรภ์ ทั้งยังเป็นผู้โน้มน้าวให้สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชให้ทรงสนพระทัยในวิชาแพทย์ด้วย
ในปี ๒๔๕๔ ทรงดำรงตำแหน่งองคมนตรีในรัชกาลที่ ๖ และทรงตำรงตำแหน่งอธิบดีกรมมหาวิทยาลัย และอธิบดีกรมสาธารณสุข
ต่อมาในรัชกาลที่ ๗ ในปี ๒๔๖๕ ทรงดำรงตำแหน่งองคมนตรี จนถึงวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๔๗๕ จึงลาออกจากราชการเนื่องจากพระอนามัยไม่สมบูรณ์
ในวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๔๘๑ หลังจาก พ.อ.หลวงพิบูลสงครามได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกได้เดือนเศษ ก็มีการกวาดล้างศัตรูทางการเมืองครั้งใหญ่ เป้าหมายคือ พ.อ.พระยาทรงสุรเดช ทหารเสือคณะราษฎรที่แตกกลุ่มออกไป และถูกนำมาเสนอเป็นคู่แข่งนายกรัฐมนตรีในสภาด้วย มีผู้ถูกจับเกือบ ๑๐๐ คน ถูกส่งฟ้องศาลพิเศษที่ตั้งขึ้นพิจารณาคดีนี้โดยเฉพาะ ๕๐ คนในจำนวนนี้กลับไม่มีชื่อ พ.อ.พระทรงสุรเดชถูกฟ้องด้วย เนื่องจากมีความดีความชอบมาก่อน จึงได้รับการเสนอเงื่อนไขให้เดินทางออกนอกประเทศ
๕๐ คนที่ถูกฟ้อง ศาลได้ตัดสินให้ประหารชีวิต ๒๑ คน แต่ ๓ คนในจำนวนนี้คือ พล.ท.พระยาเทพหัสดิน แม่ทัพไทยที่ไปร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ ๑ ที่ยุโรป พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร และ พ.อ.หลวงชำนาญยุทธศิลป์ หนึ่งในคณะราษฎรที่ร่วมยึดอำนาจ และอดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา ๒ สมัย ได้รับการลดโทษเนื่องจากมีความดีความชอบมาก่อน ให้เหลือจำคุกตลอดชีวิตร่วมกับอีก ๒๒ คน นอกนั้นพ้นข้อหา
ข้อกล่าวหาที่กรมขุนชัยนาทฯได้รับก็คือ เสด็จไปต่างจังหวัดและต่างประเทศบ่อย เพื่อประสานงานกับผู้ร่วมก่อการกบฏ เช่นไปชวาเพื่อขอทุนก่อการจากเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งทรงลี้ภัยไปอยู่ที่เมืองบันดุง ไปอังกฤษเพื่อกราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกลับมาเป็นพระมหากษัตริย์ และไปเชียงใหม่เพื่อเชิญ พ.อ.พระยาทรงสุรเดช มาเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นข้อหาที่เลือนลอย ทรงถูกจับที่ลำปางคุมตัวมากรุงเทพฯ
กรมขุนชัยนาทฯถูกคุมขังที่สถานีตำรวจพระราชวังก่อนขึ้นศาล ซึ่งเรืออากาศเอก หม่อมราชวงศ์นิมิตรมงคล นวรัตน์ ซึ่งถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตด้วย ได้เล่าถึงสภาพของห้องขังของโรงพักแห่งนี้ไว้ว่า
“ห้องขังนั้นกว้างเพียง ๒ วา (๑ วาเท่ากับ ๒ เมตร) ที่มุมห้องมีถังอุจจาระซึ่งไม่ได้ทำความสะอาดมาหลายวันแล้ว ผนังห้องเต็มไปด้วยเสมหะและน้ำลาย ที่พื้นเต็มไปด้วยฝุ่นละออง และในซอกกระดานเต็มไปด้วยเรือด ห้องเล็กซึ่งอับ อากาศร้อนอบอ้าวเหม็นสกปรกนี้แหละ จะต้องเป็นที่อยู่ที่กินที่นอนของข้าพเจ้าต่อไปอีก ๓ เดือน แต่ถ้ากรมขุนชัยนาทนเรนทรทรงอดทนสิ่งเหล่านี้ได้ คนอย่างเราก็ไม่ควรบ่นเลย ข้าพเจ้าคิด...นี่เมืองไทยมาถึงยุคทมิฬจริงแล้วหรือ”
เมื่อความทราบถึงสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวสาอัยยิกาเจ้า ทรงมีพระราชเสาวนีย์กับเจ้าพระยาพิชเยนทร์โยธิน หนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการว่า
“เธอกับฉันก็เห็นกันมาตั้งแต่ไหนๆ ครั้งนี้ทุกข์ของฉันเป็นที่สุด ขอให้เธอช่วยไปบอกหลวงพิบูลทีว่า อย่าจับกรมชัยนาทเข้าห้องขัง มีผิดอะไรส่งมาให้ฉัน ฉันจะขังไว้เอง ให้มาอยู่ที่บ้านนี้ ข้างห้องฉันนี่ เพราะฉันเลี้ยงของฉันมาตั้งแต่ ๑๒ วัน พระพุทธเจ้าหลวงอุ้มมาพระราชทานเอง ถ้ากรมชัยนาทหนีหาย ฉันขอประกันด้วยทรัพย์สินที่ฉันมีอยู่ ถ้าหนีหายฉันก็ยอมเป็นขอทาน”
เมื่อเจ้าพระยาพิชเยนทร์ฯไปปฏิบัติตามพระราชเสาวนีย์แล้ว กลับมากราบทูลว่ารัฐบาลไม่ยอม ทรงรับสั่งด้วยความโทมนัสว่า
“เขาจะแกล้งฉันให้ตาย ฉันไม่รู้ว่าจะอยู่ไปทำไม ลูกตายไม่ได้น้อยใจ ช้ำใจเหมือนครั้งนี้เลย เพราะมีเรื่องหักได้ว่าเป็นธรรมดาโลก ครั้งนี้ทุกข์สุดที่จะทุกข์แล้ว”
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ทรงปรารถเมื่อครั้งถูกจองจำอยู่ที่บางขวางว่า พระองค์ถูกกลั่นแกล้งใส่ความด้วยข้อหาที่ร้ายแรง โดยไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านั้นเลย
“ถ้าฉันเป็นคนเห่อเหิม ต้องการอำนาจ ธุระอะไรฉันจะไปเชิญพระปกเกล้าฯมาเป็นกษัตริย์อีก คิดกบฏต่อหลานของฉันซึ่งฉันได้เลี้ยงดูมา เอาไปคืนพระปกเกล้าฯซึ่งทรงเบื่อหน่ายเพราะรักษาไม่ได้จนต้องสละ เช่นนี้น่ะ เห็นเหมาะงามได้อย่างไร”
“ทำไมหนอ รัฐบาลหลายรัฐบาลมาแล้วจึงไม่ยอมที่จะเข้าใจว่า ฉันไม่มีความทะเยอทะยานในเรื่องอำนาจวาสนา...ฉันต้องการอยู่ลำพังอย่างคนสามัญทั้งหลาย”
กรมขุนชัยนาทนเรนทรทรงถูกถอดถอนพระอิสริยศ เป็น “นักโทษชายรังสิตประยูรศักดิ์ รังสิต ณ อยุธยา” ถูกคุมขังจนถึงวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๔๘๗ เมื่อนายควง อภัยวงศ์เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลจึงได้ขอพระราชทานอภัยโทษเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
ต่อมาในวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๔๘๘ จึงทรงสถาปนาให้ นายรังสิตประยูรศักดิ์ รังสิต ณ อยุธยา กลับสู่ฐานะและฐานันดรศักดิ์ตามเดิม พร้อมทั้งพระราชอิสริยยศ และพระราชทานพระยศ เครื่องอิสริยาภรณ์ที่เคยพระราชทานอยู่เดิมทุกประการ
ในวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๔๙๓ ได้รับโปรดเกล้าฯให้เป็นประธานองคมนตรีในรัชกาลที่ ๘ พระราชทานยศพลเอกนายทหารพิเศษประจำกองพันที่ ๑ รักษาพระองค์
วันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๔๙๓ ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ สถาปนาพระยศเป็น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระชัยนาทนเรนทร
เมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๔๙๔ กรมพระชัยนาทนเรนทรได้สิ้นพระชนม์ด้วยโรคหืดและพระหทัยวาย พระชันษาได้ ๖๖ ปี ๔ เดือน ต่อมาในวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๔๙๕ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เลื่อนกรมสมเด็จพระชัยนาทนเรนทร เป็น สมเด็จพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร
นี่ก็เป็นชีวิตผกผันของพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่มีพระชันษายืนยาวที่สุด ดำรงพระชนมชีพอยู่เป็นพระองค์สุดท้าย