เมื่อพระเจ้าอู่ทองปฐมกษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยาสวรรคตใน พ.ศ.๑๙๑๒ พระราเมศวร พระราชโอรสได้ขึ้นครองราชย์ตามราชประเพณีขณะมีพระชนมายุ ๒๗ พรรษา แต่ครองราชย์บัลลังก์ได้ไม่ถึงปี สมเด็จพระบรมราชาธิราช หรือ ขุนหลวงพงั่ว ผู้เป็นพระเชษฐาของพระมารดา ซึ่งพระราชบิดาส่งไปครองเมืองสุพรรณบุรีก็นำกำลังมากรุงศรีอยุธยา พระราเมศวรตระหนักดีกว่าไม่อาจต้านทานพระเจ้าลุงผู้เข้มแข็งได้ จึงเสด็จออกไปต้อนรับอัญเชิญเข้าพระนคร แล้วถวายราชสมบัติให้ ขุนหลวงพงั่วก็เมตตาพระเจ้าหลานให้ไปครองเมืองลพบุรี
พระราเมศวรไปบ่มความแค้นอยู่ถึง ๑๘ ปี เมื่อขุนหลวงพงั่วสวรรคตในปี ๑๙๓๑ พระเจ้าทองลัน พระราชโอรส พระชนมายุ ๑๔ พรรษาขึ้นครองราชย์เป็นยุวกษัตริย์องค์แรกของกรุงศรีอยุธยา แต่ครองราชย์ได้เพียง ๗ วัน พระราเมศวรก็นำกำลังมาจากเมืองลพบุรี จับพระเจ้าทองลันสำเร็จโทษ แล้วขึ้นครองราชย์เป็นครั้งที่ ๒
ต่อมาอีก ๑๔๖ ปี ใน พ.ศ.๒๐๗๗ ยุวกษัตริย์องค์ที่ ๒ ของกรุงศรีอยุธยาก็ต้องตกเป็นเหยื่อของการช่วงชิงอำนาจอีก เมื่อสมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูรซึ่งครองราชย์ได้ ๔ ปีเศษสวรรคตด้วยไข้ทรพิษ ขุนนางข้าราชการได้อัญเชิญ พระรัษฏาธิราช พระราชโอรสพระชนม์เพียง ๕ พรรษาขึ้นครองราชย์ เมื่อครองราชย์ได้ ๕ เดือนเศษ พระไชยราชา พระอนุชาของสมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูรที่เกิดจากพระสนมและไปครองเมืองพิษณุโลก ก็ยกทัพมากรุงศรีอยุธยา จับยุวกษัตริย์ ๕ ขวบไปประหาร แล้วขึ้นครองราชย์แทน
สมเด็จพระไชยราชาธิราชครองราชย์ได้ ๑๓ ปี ก็ถูก เจ้าแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ พระมเหสีที่มีชู้ระหว่างพระราชสวามีไปราชการทัพจนมีครรภ์ จึงลอบวางยาพิษก่อนที่ความแตกและตัวจะได้รับโทษ ขุนนางข้าราชการได้อัญเชิญ พระยอดฟ้า ราชโอรสพระชนม์ ๑๑ พรรษาขึ้นครองราชย์ แต่อำนาจอยู่ในกำมือของเจ้าแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ แม้นางจะกำจัดข้าราชการที่เป็นปฏิปักษ์ไปมากแล้วก็ตาม แต่ก็ยังหวาดระแวงว่าวันข้างหน้าเมื่อพระยอดฟ้าโตขึ้น อาจจะไปสมคบกับข้าราชการฝ่ายที่ไม่ยอมจงรักภักดี อันเป็นภัยต่อนางและชายชู้ จึงสมคบกับขุนนางข้าราชการที่จงรักภักดีต่อนาง ถอดพระยอดฟ้าลงจากบัลลังก์ แล้วทำพิธีราชาภิเษกขุนวรวงศาธิราช ชายชู้ขึ้นครองราชย์แทน
นั่นก็คือจุดจบของยุวกษัตริย์องค์ที่ ๓ ถูกนำไปสำเร็จโทษที่วัดโคกพระยาตามระเบียบ
หลังจากนั้น กรุงศรีอยุธยาก็ว่างเว้นยุวกษัตริย์มา ๘๐ ปี จนใน พ.ศ.๒๑๗๑ จึงมียุวกษัตริย์องค์ที่ ๔ คือ สมเด็จพระเชษฐาธิราช ทั้งนี้เมื่อพระเจ้าทรงธรรมประชวรหนัก ได้รับสั่งให้เจ้าพระยาศรีวรวงศ์ โอรสลับของสมเด็จพระเอกาทศรถกับสาวชาวบ้านบางปะอินซึ่งเป็นคนสนิทเข้าเฝ้า ทรงปรึกษาให้ยกราชสมบัติให้แก่พระเชษฐาธิราช พระราชโอรสซึ่งมีพระชนม์ ๑๔ พรรษา แทนที่จะได้แก่พระศรีศิลป์ พระอนุราชตามราชประเพณี เจ้าพระยาศรีวรวงศ์ก็เห็นชอบด้วย จัดทหารเข้าล้อมวังเมื่อพระเจ้าทรงธรรมสวรรคต จึงอัญเชิญพระเชษฐาธิราชขึ้นครองราชย์ ซึ่งพระเชษฐาธิราชก็ทรงตอบแทนพระยาศรีสุริยวงศ์โดยโปรดเกล้าฯให้เลื่อนขึ้นเป็น พระยากลาโหมสุริยวงศ์
แต่แล้วสมเด็จพระเชษฐาธิราชก็ไม่พ้นชตากรรมของยุวกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาเมื่อครองราชย์ได้ปีเศษ
เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์จัดงานศพมารดาที่วัดตรงข้ามฟากแม่น้ำกับพระราชวัง เป็นธรรมดาของงานศพมารดาผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน จึงมีขุนนางข้าราชการไปร่วมกันเป็นจำนวนมากจนแทบไม่มีใครอยู่ในพระราชวังเลย เมื่อสมเด็จพระเชษฐาธิราชออกท้องพระโรงก็ไม่มีใครเฝ้า ยุวกษัตริย์ก็ไม่ได้ใคร่ครวญให้ถ่องแท้จึงทรงกริ้ว ซ้ำยังถูกยุยงให้ตื่นตกใจอีกว่าเจ้าพระยากลาโหมกำลังคิดกบฏ จึงรับสั่งให้ชาวป้อมล้อมวังขึ้นประจำป้อม แล้วดำรัสให้คนไปเรียกเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์เข้ามาเฝ้า
เมื่อเจ้าพระยากลาโหมฯได้ข่าวนี้ จึงร้องป่าวกับคนที่ไปร่วมงานศพว่า อุตส่าห์ยกราชสมบัติถวายก็ยังหามีความดีไม่ กลับหาว่ามาชุมนุมกันเป็นกบฏ พวกท่านทั้งหลายที่มานี้ก็มิต้องเป็นกบฏไปด้วยทั้งหมดหรือ ทุกอย่างจึงเข้าล็อค เมื่อเสร็จจากงานศพมารดาแล้วก็ยกกำลังทหาร ๓,๐๐๐ เข้าบุกวัง ยุวกษัตริย์ทรงเผ่นหนี แต่ก็ถูกตามจับมาได้ และนำไปประหารด้วยท่อนจันทน์ที่วัดโคกพระยา
เมื่อสำเร็จโทษยุวกษัตริย์ไปแล้ว เส้นทางที่วางแผนไว้ก็เปิดโล่ง บรรดาเสนาพฤฒามาตย์ราชปุโรหิตได้นำเครื่องราชกกุกภัณฑ์มาถวาย แต่เจ้าพระยากลาโหมฯฉลาดกว่านั้น ตอบว่า
“เราทำการครั้งนี้จะชิงราชสมบัติหามิได้ เพราะภัยมาถึงตัวแล้วก็จำเป็น พระอาทิตยวงศ์ซึ่งเป็นราชบุตรพระมหากษัตริย์นั้นยังมีอยู่ ควรจะยกพระอาทิตยวงศ์ขึ้นผ่านสมบัติโดยราชประเพณีจึงจะชอบ”
ด้วยเหตุนี้ พระอาทิตยวงศ์ โอรสของพระเจ้าทรงธรรมซึ่งมีพระชนมายุเพียง ๙ พรรษา จึงได้รับการอัญเชิญขึ้นครองราชย์เป็นยุวกษัตริย์องค์ที่ ๕ ของกรุงศรีอยุธยา
พระยากลาโหมสุริยวงศ์ปล่อยให้สมเด็จพระอาทิตยวงศ์เล่นจับแพะจับแกะไปตามประสาเด็ก มีมหาดเล็กตามป้อนข้าวป้อนน้ำได้เพียง ๓๖ วัน ขุนนางข้าราชการก็ทนดูไม่ไหว นำเครื่องราชกกุธภัณฑ์มาถวายเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ ขอให้เห็นแก่ประโยชน์สุขของอาณาประชาราษฎร์และสมณชีพราหมณ์เถิด เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์จึงยอมขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่าพระเจ้าปราสาททอง
พระเจ้าปราสาททองไม่ได้นำพระอาทิตย์วงศ์ไปประหารดังเช่นยุวกษัตริย์องค์อื่นๆ ยังคงให้อยู่ในพระราชวังต่อไปกับพระพี่เลี้ยง การที่ไม่ประหารพระอาทิตยวงศ์นี้นับว่าผิดประเพณีที่เคยทำกันมา ที่ต้องขุดหน่อถอนโคนให้สิ้นซาก เพื่อมิได้ก่อตัวสร้างปัญหาขึ้นในภายหลัง ซึ่งจะเห็นได้จากกรณีพระอาทิตยวงศ์นี้
เมื่อถูกปลดลงจากราชบัลลังก์ พระอาทิตยวงศ์ก็วางตัวไม่ถูก วันหนึ่งทำให้พระเจ้าปราสาททองทรงกริ้วหนัก ไล่ออกจากวังไปปลูกเรือนเสาไม้ไผ่สองห้องให้อยู่ข้างวัด มีคนแค่ตักน้ำหุงข้าวให้เท่านั้น พระอาทิตยวงศ์ทนความขมขื่นจนอายุ ๑๖ ก็คบคิดกับคนหัวอกเดียวกันที่ถูกไล่ออกจากราชการ ๒๐๐ คนชำระแค้น พอย่ำรุ่งประตู่วังเปิดก็ตรูกันโห่ร้องเข้าไป พระเจ้าปราสาททองตั้งหลักไม่ทันก็ทรงวิ่งไปลงเรือลอยลำอยู่กลางแม่น้ำ แล้วทรงบัญชาการให้จับพวกพระอาทิตยวงศ์ไปประหารชีวิตทั้งหมด
ในที่สุดพระอาทิตยวงศ์ก็ไม่แคล้วชะตากรรมเช่นเดียวกับยุวกษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยา เพียงแต่ตายช้ากว่า ลงจากราชบังลังก์แล้วยังมีโอกาสดูโลกได้อีก ๖-๗ ปี
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ก็มียุวกษัตริย์เหมือนกัน ๓ พระองค์ องค์แรกก็คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ซึ่งขึ้นครองราชย์เมื่อพระชนมายุ ๑๕ พรรษา ทั้งยังอยู่ในขณะประชวรด้วยไข้ป่าจากการตามเสด็จพระราชบิดาไปทอดพระเนตรสุริยปราคาที่หว้ากอ เมืองประจวบคีรีขันธ์ มีเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก่อนทรงบรรลุนิติภาวะ ทรงครองราชย์ยาวนานถึง ๔๒ ปี และทรงได้รับถวายพระราชสมัญญานามว่า “สมเด็จพระปิยมหาราช”
ยุวกษัตริย์องค์ต่อมาก็คือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ ครองราชย์ขณะพระชนมพรรษาเพียง ๘ พรรษา และยังประทับอยู่ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ทรงครองราชย์อยู่ ๑๒ ปี และยังต้องศึกษาอยู่ในต่างประเทศ จึงทรงมีโอกาศปฏิบัติพระราชภารกิจได้น้อยมาก ก่อนที่จะเสด็จสวรรคตด้วยอุปัติวเหตุจากพระแสงปืน
ส่วนรัชกาลที่ ๙ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงครองราชย์เมื่อพระชนมายุ ๑๙ พรรษา จึงต้องมีคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ประกอบด้วยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทรและพระยามานวราชเสวี และเมื่อทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว แต่ยังต้องทรงศึกษาอยู่ในต่างประเทศ ยังต้องแต่งตั้งกรมขุนชัยนาทฯเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อไป จนเสด็จนิวัติประเทศไทยรับพระราชภาระว่าราชการด้วยพระองค์เอง ทรงครองราชย์ถึง ๗๐ ปี ยาวนานกว่ากษัตริย์ทุกพระองค์ในโลก พระราชกรณียกิจของพระองค์เป็นที่แซ่ซ้องไปในนานาประเทศ ถวายพระราชสมัญญาว่า “King of Kings” ทรงเป็นมหาราชองค์ล่าสุดของชาวไทย
การที่ยุวกษัตริย์ของกรุงรัตนโกสินทร์ไม่มีชะตากรรมเช่นยุวกษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยา ก็เนื่องจากยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป แม้ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ที่อริราชศัตรูจะมุ่งมั่นไม่ให้ไทยได้ผุดได้เกิด แต่ความเข้มแข็งของกษัตริย์ในการรบก็ทรงปกป้องประเทศและความสงบสุขร่มเย็นของอาณาประชาราษฎร์ไว้ได้ และเมื่อทรงสร้างประเทศเป็นปึกแผ่นมั่นคงขึ้นแล้ว ศัตรูจากประเทศรอบด้านหมดไป ภัยจากตะวันตกคุกคามเข้ามา ซึ่งเราไม่สามารถจะต่อสู้ด้วยกำลังและอาวุธได้ ก็ทรงใช้วิเทโศบายนำชาติรอดปลอดภัยได้ตลอดมา
เมื่อประเทศก้าวเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย ทรงต้องลดพระราชอำนาจมาอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ การครองราชย์ จึงไม่ใช่การครองอำนาจ แต่ก็ยังทรงเป็นผู้นำทางจิตใจของประชาชนให้ดำเนินไปในทิศทางที่ถูกต้อง ทั้งในด้านการทำมาหากินให้เหมาะสมกับสภาพของตัวเอง การพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ให้สะดวกสบายในด้านต่างๆ รวมทั้งทางด้านวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมรอบตัว ฯลฯ จนยอมรับได้ว่า ถ้าไม่มีโครงการพระราชดำริทั้งหลายแล้ว ความผาสุกของประเทศจะเหลือน้อยกว่านี้อย่างแน่นอน
ด้วยเหตุนี้ ไม่แต่เพียงกองทัพเท่านั้นที่ปกป้องสถาบันกษัตริย์เช่นเดียวกับในอดีต ประชาชนซึ่งมีสิทธิมีเสียงในทางการเมืองมากขึ้น และตระหนักถึงความสำคัญของระบอบกษัตริย์ที่ทำให้ประเทศไทยเป็นเสมือนโอเอซิสแห่งความสุขจากประเทศรอบด้าน เป็นความภูมิใจของคนไทย และเป็นที่อิจฉาของชาวโลก จึงเป็นกำลังสำคัญที่จะปกป้องสถาบันอันเป็นที่รักและหวงแหน ให้คงอยู่คู่กับประเทศนี้ตลอดไป