“ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์” เป็นเรื่องที่ถูกนำมาพูดกันมาก เพราะเป็นหัวข้อหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ในการ “ล้มเจ้า” แบบพูดมั่วๆไปตามที่ตัวคิดเอาเองโดยไม่สนใจความจริง จนมีการตกม้าตายคาจอเกิดขึ้นมาแล้ว
ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ที่พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ.๒๕๖๐ และ พ.ศ.๒๕๖๑ กำหนดให้สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เป็นผู้ดูแลนั้น มีทรัพย์สินอยู่ ๒ ส่วน คือ ทรัพย์สินส่วนพระองค์ ซึ่งเป็นพระราชมรดกของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้น อย่างทรัพย์สินส่วนพระองค์ในรัชกาลที่ ๙ และรัชกาลที่ ๑๐ เป็นมรดกตกทอดของราชสกุลมหิดล จากสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ย่าของในหลวงรัชกาลที่ ๙ กับอีกส่วนคือ ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นพระราชมรดกตกทอดของราชวงศ์จักรีที่สะสมมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ เป็นทรัพย์สินของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่จะตกทอดไปยังรัชกาลต่อๆไป ซึ่งทั้ง ๒ ส่วนนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินของแผ่นดิน ซึ่งดูแลโดยกระทรวงการคลัง
ราชวงศ์จักรีนั้น ความจริงก็คือตระกูลเก่าแก่ที่สะสมมรดกมายาวนาน และหลายพระองค์ก็มีธุรกิจส่วนพระองค์จนมั่งคั่ง อย่างในรัชกาลที่ ๓ ซึ่งทรงมีสำเภาค้าหลายลำก่อนขึ้นครองราชย์ ได้กำไรมาก็เก็บใส่ถุงวางไว้ข้างแท่นบรรทม ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ “เงินถุงแดง” และเป็นที่มาของคำว่า “พระคลังข้างที่”
เงินถุงแดงนี้ก็คือมรดกตกทอดที่เป็น “ทรัพย์สินส่วนพระองค์” แต่ทรงรับสั่งแสดงเจตนาไว้แต่แรกด้วยสายพระเนตรรัฐบุรุษว่า “เอาไว้ไถ่ประเทศ” และก็ได้ไถ่จริงๆใน ร.ศ.๑๑๒ ที่ฝรั่งเศสเอาเรือรบบุกฝ่าป้อมพระจุลฯเข้ามา แต่กลับเรียกค่าเสียหายจากไทยเป็นเงินถึง ๕,๐๐๐,๐๐๐ ฟรังก์กับดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง
๕,๐๐๐,๐๐๐ ฟรังก์ใน พ.ศ.๒๔๓๖ วันนี้จะมีค่าแค่ไหน ป่านนี้ก็ยังไม่ได้ชดใช้ทรัพย์สินส่วนพระองค์จำนวนนี้ที่ไถ่ประเทศให้
นอกจากจะรวยเงินทองแล้ว ทรัพย์สินส่วนพระองค์ยังมีที่ดินอีกจำนวนมาก
ในสมัยก่อน การทำนาเป็นงานหลักของคนไทย ไม่ว่าครอบครัวเล็กครอบครัวใหญ่ก็ต้องแสวงหาที่ดินเอาไว้ปลูกข้าวกิน โดยเฉพาะครอบครัวใหญ่ที่มีบริวารมาก ก็ต้องปลูกข้าวแปลงใหญ่ให้พอเลี้ยงดูกัน กองทัพก็ยังต้องปลูกข้าวเลี้ยงทหาร สมัยกรุงธนบุรี พระบาทสมเด็จพระพุทธยายอดฟ้าจุฬาโลกเมื่อครั้งยังเป็นพระยาจักรี ก็ยังต้องข้ามฟากมาคุมการทำนาที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ในสมัยรัชกาลที่ ๔ หลังจากเปิดตลาดการค้าด้วยสัญญาเบาริงแล้ว ข้าวไทยก็เป็นที่ต้องการของตลาดโลก รัฐบาลต้องอ้อนวอนประชาชนให้หักร้างถางทุ่งรอบกรุงทำนาปลูกข้าวส่งนอก ไม่ใช่ไล่จับเหมือนรุกป่าในสมัยนี้ แน่นอนว่าพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ก็มีนา มีโรงสี นาหลวงก็มีหลายแปลง ทั้งต่อมาการค้าที่ดินก็เป็นธุรกิจที่ทำเงินได้ไม่น้อย หมู่บ้านสัมมากรที่ถนนรามคำแหง ก็เป็นการจัดสรรที่ดินในแปลงนาของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี
ในสมัยโบราณถือกันว่า ที่ดินทั้งหมดในประเทศเป็นของพระมหากษัตริย์ จนถึงรัชกาลที่ ๕ ทรงปฏิรูประบบที่ดินในประเทศให้ราษฎรเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ โดยออกโฉนดที่ดินเป็นครั้งแรก และแยกทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ออกจากทรัพย์สินแผ่นดินโดยเด็ดขาด
รัชกาลต่อๆมาได้ทยอยพระราชทานที่ดินอันเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นี้ ให้เป็นประโยชน์แก่ราษฎรตลอดมา ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ได้ทอดพระเนตรที่ดินชายทะเลแห่งหนึ่งมีชัยภูมิเหมาะทางยุทธศาสตร์ จึงทรงจับจองกันไว้ รับสั่งว่าจะเอาไว้สร้างวัง แต่มีพระราชประสงค์จะใช้เป็นฐานทัพเรือ ซึ่งก็คือฐานทัพเรือสัตหีบในปัจจุบัน
ทุกรัชกาลจะสร้างวัดประจำรัชกาล ในสมัยรัชกาลที่ ๖ มีพระราชดำริว่าวัดมีอยู่มากแล้ว แต่เป็นยุคที่ต้องเร่งส่งเสริมด้านการศึกษาแก่เยาวชน จึงทรงสร้างโรงเรียนขึ้นแทนวัด พระราชทานที่ดินพร้อมพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้น นั่นก็คือที่มาของ “โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย” ในปัจจุบัน
ในด้านการศึกษานี้ ยังทรงให้กำเนิดมหาวิทยาลัยแห่งแรก ก็คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยพระราชทานที่ดินผืนใหญ่ถึง ๑,๓๐๙ ไร่ เพื่อให้ใช้หาผลประโยชน์เป็นค่าใช้จ่ายของมหาวิทยาลัยด้วย
ตอนหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ เกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้นทั่วโลก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริจะจัดงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศ ด้วยพระราชประสงค์จะเปิดหูเปิดตาประชาชนให้ได้เห็นสินค้าต่างๆ ที่ตนอาจจะทำเองได้บ้าง และโชว์สินค้าไทยให้ชาวต่างประเทศได้เห็น เมื่อมีการซื้อขายกันก็จะทำให้เกิดกระแสการเงินหมุนเวียน ช่วยแก้ปัญหาเศรฐกิจ แต่ตอนนั้นที่กว้างขวางสำหรับจัดงานใหญ่ขนาดนี้ยังไม่มี และรัฐบาลก็ไม่มีเงินจะซื้อ จึงพระราชทานที่ดินส่วนพระองค์ที่ทุ่งศาลาแดง ๓๓๖ ไร่ให้เป็นที่จัด อีกทั้งยังทรงมีพระราชประสงค์ว่า เมื่อเสร็จงานนี้แล้ว สถานที่นี้จะเป็นอุทยานที่สวยงาม จะได้เป็นรมณียสถานสำหรับประชาชนหย่อนใจต่อไป นั่นก็คือ “สวนลุมพินี”
ในสมัยรัชกาลที่ ๗ และรัชกาลที่ ๘ ทั้งสองพระองค์ครองราชย์ในระยะเวลาสั้นๆ จึงไม่มีบันทึกเรื่องนี้ไว้
ในรัชกาลที่ ๙ ทรงเห็นว่าการปฏิรูปที่ดินจะช่วยให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินเป็นของตัวเองได้ เช่นเดียวกับโครงการพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์หุบกะพงที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว จึงพระราชทานที่นาของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เนื้อที่ ๕๑,๙๖๗ ไร่ ๙๕ วา ใน ๘ จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา นครปฐม เพชรบุรี สุพรรณบุรี ปทุมธานี สระบุรี และนครนายก ให้แก่เกษตรกรจำนวน ๒,๙๗๖ ราย เมื่อวันที่ ๕ กันยายน ๒๕๑๘
นอกจากนี้ได้พระราชทานพระบรมราโชบายให้เกษตรกรผู้เช่าที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อยู่เดิม ได้ทำกินอยู่ในที่ดินนั้นตลอดไปชั่วลูกชั่วหลาน แต่จะไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้น
ในรัชกาลที่ ๑๐ เมื่อปี ๒๕๖๐ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานโฉนดที่ดินในพระปรมาภิไธยแก่ส่วนราชการต่างๆ เพื่อใช้ประโยชน์เป็นสถานที่ทำงาน และเพื่อเป็นประโยชน์ในทางราชการ เป็นการโอนทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ มาเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน คือ
พระราชทานที่ดินเขตวังทองหลาง กทม. ๗๙ ไร่ ๒ งาน ๖๐.๙ ตารางวา เป็นสถานที่ก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ไม้มีค่าของแผ่นดิน และที่ดินวังปารุสก์ เขตดุสิต กทม. ๔ ไร่ ๓ งาน ๑.๕ ตารางวา เป็นสถานที่ทำงานของกองบัญชาการกองพลที่ ๑ รักษาพระองค์
ที่ดินวังปารุสก์ เขตดุสิต กทม. ๙ ไร่ ๑๖.๕ ตารางวา เป็นที่ทำงานของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ
ที่ดินวังปารุสก์ เขตดุสิต กทม. ๑๙ ไร่ ๒ งาน ๕๒ ตารางวา เป็นสถานที่ทำงานของกองบัญชาการตำรวจนครบาล
ที่ดินพระรามราชนิเวศน์ (วังบ้านปืน) อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี ๒๑ ไร่ ๑ งาน ๔๘.๕ ตารางวา เป็นสถานที่ทำงานของกองบัญชาการมณฑลทหารบกที่ ๑๕ และพิพิธภัณฑ์ทางประวัติศาสตร์ของชาติ และศิลปะจังหวัดเพชรบุรี
ที่ดินค่ายนเรศวร อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ๕๘๔ ไร่ ๒ งาน ๙๙.๕ ตารางวา เพื่อเป็นสถานที่ทำงานของกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน
ที่ดินค่ายพระรามหก (พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน) อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ๑,๒๔๔ ไร่ ๒๔.๒ ตารางวา เพื่อเป็นสถานที่ทำงานของกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และพิพิธภัณฑ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ที่ดินพระราชวังสนามจันทร์ นครปฐม จังหวัดนครปฐม ๑๔๘ ไร่ ๒ งาน ๘๘.๘ ตารางวา เป็นสถานที่ทำงานของกระทรวงมหาดไทย และพิพิธภัณฑ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ที่ดินคลอง ๖ อำเภอธัญบุรี ปทุมธานี ๓๐๐ ไร่ เป็นสถานที่ก่อสร้างสวนสัตว์แห่งใหม่ และที่ทำงานขององค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
ที่ดินตำบลปทุมวัน อำเภอสามเพ็ง กทม. ๖๗ ไร่ ๖๗ ตารางวา เพื่อใช้ประโยชน์ในกิจการของโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย
ที่ดิน ๑๔ ไร่ ๑ งาน ๗๒.๗๐ ตารางวา เขตดุสิต กทม. เป็นสถานที่ทำงานของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และที่ดิน ๙ ไร่ ๓ งาน ๙๒.๓๐ ตารางวา เขตดุสิต กทม. เป็นที่ทำงานของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
ที่ดิน ๑๐ ไร่ ๒ งาน ๖๕.๗๐ ตารางวา เขตดุสิต กทม.เป็นที่ตั้งของโรงเรียนราชวินิต และที่ดิน ๖ ไร่ ๓ งาน ๒๒ ตารางวา เขตดุสิต กทม. เป็นที่ตั้งของโรงเรียนราชวินิต มัธยม
ที่ดิน ๑,๐๕๙ ไร่ ๑ งาน ๓๖.๗๐ ตารางวา จังหวัดปทุมธานี และ ๔๓๙ ไร่ ๑ งาน ๖๓ ตารางวา จังหวัดชลบุรี เพื่อประโยชน์ในทางราชการของกองทัพบก
ที่ดิน ๑๘๕ ไร่ ๑ งาน ๘๕.๒๐ ตารางวา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เป็นสถานที่ทำงานของกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ค่ายนเรศวร จังหวัดเพชรบุรี
ที่ดิน ๒๗๕ ไร่ ๓ งาน ๕๗.๒๐ ตารางวา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เป็นสถานที่ทำงานของกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ค่ายพระราม ๖ (พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน) จังหวัดเพชรบุรี เพิ่มเติมจากที่ได้พระราชทานเมื่อปี ๒๕๖๐
ที่ดิน ๑๗๓ ไร่ ๔๐.๘๐ ตารางวา อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี เพื่อประโยชน์ในทางราชการของมณฑลทหารบก ที่ ๑๕ พระรามราชนิเวศน์ (วังบ้านปืน) จังหวัดเพชรบุรี เพิ่มเติมจากที่ได้พระราชทานเมื่อปี ๒๕๖๐
ที่ดิน ๒๕ ไร่ ๘๔ ตารางวา บริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี เพื่อประโยชน์ในทางราชการของจังหวัดเพชรบุรี
ที่ดิน ๖๐ ไร่ ๑ งาน ๘๐ ตารางวา เขตดุสิต กทม. เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
ที่ดิน ๓๗ ไร่ ๑ งาน ๑๐ ตารางวา เขตดุสิต กทม. เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต
ที่ดินเนื้อที่มากมายเหล่านี้ไม่ทราบว่าจะมีราคารวมเท่าใด แต่กล่าวกันว่า ที่ดินซอยมหาดเล็กหลวง ๑, ๒ และ ๓ ที่พระราชทานให้โรงเรียนวชิราวุธนั้น ก็มีราคากว่าแสนล้านบาทแล้ว
นอกจากนี้ยังได้พระราชทานที่ดินเดิมของเขาดินให้เป็นโรงพยาบาลแห่งใหม่ของรัฐ และปรับปรุงสนามม้านางเลี้ยงเป็นสวนสาธารณะ บริจาคพระราชทรัพย์จัดหาอุปกรณ์การแพทย์เพื่อรับวิกฤติโควิด ๑๙ เป็นพันๆล้านบาท รวมทั้งพระราชทานพระราชทรัพย์ให้โรงพยาบาลต่างๆ แม้แต่โรงพยาบาลในทัณฑสถานเป็นพันล้านบาทอีกเช่นกัน
ยังไม่เคยได้ยินว่ามีเศรษฐีผู้ร่ำรวยติดอันดับโลกคนใด นำทรัพย์สินมรดกออกแจกจ่ายเพื่อเป็นประโยชน์แก่ประชาชนและสาธารณะเป็นจำนวนมากมายมหาศาลขนาดนี้
มีแต่กษัตริย์ของประเทศไทยเท่านั้น