xs
xsm
sm
md
lg

เมืองไทยปลูกข้าวสาลี มีโสม มาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์! คนฝรั่งเศสรายงานหลุยส์ที่ ๑๔!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



นิโกลาส์ แชร์แวส ชาวฝรั่งเศสที่ติดตามคณะเผยแพร่ศาสนาเข้ามาสยามในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และอยู่ในเมืองไทยถึง ๔ ปี ได้รับคำขอร้องจากมิตรสหายให้ลำดับความทรงจำของเขาขึ้น เขาได้ทำตามใจของมิตรสหาย และเห็นว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อพระเจ้าหลุยส์ที่ ๔ ซึ่งกำลังมีสัมพันธไมตรีอันล้ำลึกกับพระเจ้ากรุงสยาม จึงได้นำเรื่องราวจากความทรงจำนี้ ถวายเป็นรายงานต่อพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ซึ่งได้ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้นำไปพิมพ์เผยแพร่จัดจำหน่ายทั่วราชอาณาจักรด้วย

ในหนังสือเล่มนี้ นิโกลาส์ แชร์แวสได้พรรณนาให้เห็นภาพกรุงศรีอยุธยาอย่างกว้างขวาง โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็น ๔ ส่วน คือ

ภาคที่ ๑ ว่าด้วยที่ตั้งและสภาพของประเทศ พฤกษศาสตร์ รุกขชาติ ผลไม้ บ่อแร่ สัตว์ ฯลฯ
ภาคที่ ๒ ว่าด้วยขนบธรรมเนียมของราษฎร กฎหมาย ประเพณี และส่วนที่เกี่ยวกับรัฐบาล
ภาคที่ ๓ ว่าด้วยศาสนาของชาวสยาม
ภาคที่ ๔ ว่าด้วยพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงครองราชย์อยู่ในปัจจุบัน พระบรมวงศานุวงศ์ และสิ่งที่เกี่ยวกับราชสำนักแห่งราชอาณาจักรนี้

ซึ่ง สันต์ ท. โกมลบุตร ได้แปลเป็นภาษาไทยในชื่อ “ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม (ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์)” และบริษัท สำนักพิมพ์ศรีปัญญา จำกัด ได้จัดพิมพ์เผยแพร่
ในบทที่สี่ของภาคที่หนึ่ง ว่าด้วยบุปผชาติและรุกขชาติที่ขึ้นอยู่ในราชอาณาจักรสยาม นิโกลาส์ แชร์แวส ได้พรรณนาไว้ว่า

“ประเทศนี้มีพื้นที่ดินอันอุดมสมบูรณ์ และไม่จำเป็นที่จะต้องเอาใจใส่พลิกฟื้นมันเท่าไรนัก เมื่อปลูกอะไรลงไปก็ดูงอกงามดี ดอกไม้นั้นงามและมีปริมาณมากชนิด มีทั้งดอกกุหลาบและดาวเรือง และตลอดปีมีดอกซ่อนกลิ่นอันหอมเย็นกว่าของเรามาก ที่ลางชนิดก็ไม่มีในทวีปยุโรป เช่นดอกมะลิกับดอกพุดซ้อน เป็นต้น

ดอกมะลิ (munguery) นั้นสีขาว รูปพรรณละม้ายดอกจุ้ยเซียน (narcisse) มีทั้งกลีบซ้อนและกลีบธรรมดา ทั้งสองชนิดมีกลิ่นหอมยิ่งกว่าดอกไม้ใดๆของเราทั้งมวลสิ้น เป็นพรรณไม้พุ่มคล้ายกับต้นเซอแร็งก้า (seringua)
ดอกพุดซ้อน (poussone) สีขาว และกว้างขนาดดอกกุหลาบใหญ่ๆของเรา กลิ่นใกล้เคียงกับดอก jonquille (จำพวกจุ้ยเซียน) ของเรา ออกในพรรณไม้พุ่มอันมีใบสีเขียวสดตลอดปี ใบคล้าย filaria แต่กว้างกว่าสักเล็กน้อย พอลมเหนือเริ่มพัด จะเห็นดอกไม้บานสะพรั่งไปทั่วทุกหนทุกแห่ง โดยเฉพาะดอกเบญจมาศขาว, แดง, เหลือง และสอดสลับสี พิศแล้วไม่น่าเบื่อที่จะชมดอกไม้นานาพรรณนี้เลย

แม้ว่าเพิ่งจะได้มีการเริ่มปลูกพันธุ์ข้าวสาลี (ble) กันในราชอาณาจักรสยามเมื่อประมาณ ๑๒ ถึง ๑๕ ปีมานี้เอง แต่เห็นว่ามีไร่ข้าวสาลีอยู่ไม่น้อย ขึ้นงอกงามได้ดีมากทางภาคเหนือ เข้าใจว่าไม่ช้าก็จะมีบริโภคกันทั่วไป แต่ก็คงไม่มากเท่าข้าวเจ้า (riz) ซึ่งปลูกกันทั่วราชอาณาจักรเป็นอันมากอย่างล้นเหลือ จนพลเมืองในประเทศเพื่อนบ้านมาหาซื้อไปใช้บริโภคทุกปี ข้าวมีอยู่ ๓ ชนิดด้วยกัน ชนิดหนึ่งไม่ต้องทำการปักดำ ขึ้นเองในที่ชื้นและลุ่ม ชนิดนี้ราคาถูก แต่ก็มีรสชาติดีพอใช้ อีกสองชนิดนั้นต้องปักดำ ชนิดหนึ่งเรียกว่า ปูโล (poulo) นั้นขาวราวกับหิมะ ย่อยง่ายกว่าชนิดอื่น เพราะขึ้นตามภูเขาจึงเบาและแห้งสนิท และมีราคาแพงมาก มีแต่เศรษฐีกับเจ้านายเท่านั้นที่จะซื้อบริโภค ข้าวสองชนิดหลังนี้เริ่มปลูกตามปกติในเดือนกรกฎาคม และเก็บเกี่ยวราวปลายเดือนพฤศจิกายนเมื่อน้ำลดลงแล้ว เพื่อให้การเก็บเกี่ยวรวดเร็วขึ้นชาวบ้านใช้วิธีลงแขกช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตอนกลางวันไปขนฟ่อนข้าวจากนากลับมาบ้าน ตกกลางคืนก็ใช้งัวเหยียบวนไปเวียนมาให้เมล็ดข้าวหลุดอออกจากรวง เป็นที่น่าเพลิดเพลินมากเมื่อได้เห็นเขาทำงานกันในฤดูเก็บเกี่ยว เขาฟ้อนรำ, ดื่มและกินร่วมกัน แล้วรื่นเริงกลางแจ้งด้วยการร้องรำทำเพลง และจุดไฟสว่างไสวที่กลางทุ่งหรือหน้าบ้าน

ข้าวฟ่าง, ข้าวเดือยและข้าวอื่นๆ มีอยู่เหมือนกันในราชอาณาจักรสยาม เว้นแต่ข้าวถั่ว (pois) เท่านั้นที่ไม่เห็นมี
พริกไทยขึ้นง่าย ภายในเวลาไม่กี่ปีก็สามารถทำเป็นสินค้าใหญ่ได้ ชอบขึ้นในที่แห้ง ใบคล้ายใบเถาวัลย์และเกาะเกี่ยวกิ่งไม้ทำนองเดียวกันนั้น

พลูมีรูปพรรณเกือบคล้ายกัน แต่มีดกดื่นกว่า เป็นพรรณไม้เลื้อยเกาะไปกับค้างหรือกิ่งไม้เหมือนกัน คนสยามเคี้ยวพลูอยู่เสมอเช่นที่คนชาติอื่นเคี้ยวใบยาสูบ กล่าวกันว่าทำให้ธาตุในท้องดี, รักษาฟันและกันปากเหม็น และคนสยามยังเชื่อว่าเป็นอาหารประเภทกินอิ่มด้วย ถึงแก่กล่าวว่า แม้ไม่ได้กินข้าวก็ขอให้ได้กินพลูกับหมากก็แล้วกัน

หมากเป็นพรรณไม้ผลที่มีเปลือกแข็งประเภทจันทน์เทศ ต้นสูงตรง ออกจั่นจากลำต้นเหมือนพวงองุ่น ต้นไม้ชนิดนี้ให้ผลโดยปกติเพียงปีละทะลายเดียวเท่านั้น เพราะฉะนั้นหมากจึงแพงกว่าพลูนิดหน่อย แต่ในประเทศไม่มีอะไรจะราคาถูกเท่ากับน้ำตาลแดง (cassonnade) ถูกกว่าในประเทศเราตั้งครึ่ง เภสัชกรในประเทศฝรั่งเศสคงพอใจหามาใส่ร้านมาก เพราะใช้บำบัดโรคได้หลายชนิด ขี้เหล็ก, มะขาม, บัวเผื่อน และสมุนไพรหลายชนิดมีคุณสมบัติดีกว่าของเรา เกิดขึ้นเองโดยไม่ต้องเพาะปลูก และให้กันได้เปล่าๆโดยไม่ต้องซื้อขาย”

คำว่า “น้ำตาลแดง” ท่านผู้แปลก็มีความสงสัย และโนทท้ายหน้าไว้ว่า ไม่ทราบว่าเพราะเหตุใด น้ำตาลแดงจึงมารวมประเภทอยู่ในจำพวกผลไม้ต้นไม้ จะแปลเป็นอย่างอื่นก็ไม่มีทางจะทำได้ สงสัยเต็มทีว่าจะเป็นราชพฤกษ์ (Cassia fistula) เพราะใช้ทำยาได้ หรืออีกทีก็น่าจะเป็นน้ำตาลกรวด (casson)

ส่วนโสมนั้น นิโกลาส์ แชรแวส ไม่ได้กล่าวไว้ในข้อเขียน แต่ในภาพประกอบเรื่องนี้ซึ่งเป็นภาพเขียนผลหมากรากไม้ของประเทศสยาม มีต้นหมากกับผลหมาก, โสม และพลูด้วย

นับเป็นเรื่องแปลกพอควรที่คนตะวันตกกล่าวชื่นชมสิ่งต่างๆของคนตะวันออก ว่าดีกว่าของที่มีอยู่ในประเทศของตนเสียอีก และนิโกลาส์ แชรแวสดูจะชื่นชมวิถีชีวิตของคนไทยในฤดูเกี่ยวข้าวมาก พึ่งพาอาศัยและช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการทำมาหากิน ทั้งยังร้องรำทำเพลงขณะทำงานอย่างมีความสุข ยากจะหาวิถีชีวิตแบบนี้ได้ยากในประเทศตะวันตก ซึ่งยังด้อยพัฒนาทางด้านจิตใจอยู่มาก

กำลังโหลดความคิดเห็น