1.ศาลฎีกายกฟ้อง “หมอนิ่ม” คดีจ้างวานฆ่า “เอ็กซ์-จักรกฤษณ์” ส่วน "แม่" ได้ลดโทษเหลือจำคุก 25 ปี ชี้ ทำผิดเพราะทุกข์อย่างสาหัส!
เมื่อวันที่ 8 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2564 ที่ผ่านมา ศาลอาญามีนบุรีได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีฆ่า เอ็กซ์ จักรกฤษณ์ พณิชย์ผาติกรรม อายุ 40 ปี อดีตนักกีฬายิงปืนทีมชาติไทย ที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายจิรศักดิ์ หรือ จี กลิ่นคล้าย อายุ 50 ปี มือปืน, นางสุรางค์ ดวงจินดา อายุ 79 ปี มารดาหมอนิ่ม, พญ.นิธิวดี หรือ หมอนิ่ม ภู่เจริญยศ อายุ 45 ปี อดีตภรรยาของ เอ็กซ์ จักรกฤษณ์, นายสันติ หรือ อี๊ด ทองเสม อายุ 35 ปี ทนายความ และนายธวัชชัย หรือ อ้น เพชรโชติ อายุ 38 ปี คนขี่จักรยานยนต์ เป็นจำเลย 1-5 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, จ้างวานใช้ ยุยงส่งเสริมให้ฆ่า, มีและพกพาอาวุธปืน ยิงอาวุธปืนในที่ทางสาธารณะ โดยคดีนี้ นางบุญคิด พณิชย์ผาติกรรม มารดาผู้ตาย ได้ยื่นคำร้องขอให้จำเลยร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งเป็นเงิน 4.4 ล้านบาทด้วย
ทั้งนี้ คำฟ้องระบุพฤติการณ์ว่า ระหว่างเดือน ส.ค.-19 ต.ค.2556 จำเลยที่ 2-4 ร่วมกันจ้างวานให้ จำเลย 1 กับพวกที่หลบหนี ใช้อาวุธปืนยี่ห้อลูเกอร์ รุ่นโตโกเรฟ ขนาด 7.62 มม. ฆ่านายจักรกฤษณ์ ตามร่างกายหลายนัด ขณะอยู่บนรถยนต์หรูยี่ห้อปอร์เช่ สีดำ ทะเบียน บส 223 กรุงเทพ จนถึงแก่ความตาย บริเวณหน้าวัดบางเพ็งใต้ ซอยรามคำแหง 166 แขวง - เขตมีนบุรี ก่อนพากันหลบหนีไป
โดยระหว่างการพิจารณาคดี นางสุรางค์ มารดาของหมอนิ่ม รวมทั้งหมอนิ่ม และนายสันติ หรือทนายอี๊ด จำเลยที่ 2-4 ได้ประกันตัว
คดีนี้ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2559 โดยเห็นว่า คดีมีมูลจากความขัดแย้งในครอบครัว โดยตำรวจจับจำเลยที่ 1 ซึ่งรับว่า รับงานมาจากจำเลยที่ 4 แล้วแบ่งเงินค่าจ้างกับจำเลยที่ 5 คนละหนึ่งแสนบาท พยานโจทก์มีหลักฐานสัญญาณการใช้โทรศัพท์ติดต่อกันอย่างผิดสังเกตจากกลุ่มจำเลย และเป็นบริเวณใกล้ที่เกิดเหตุ ฟังว่า จำเลยที่ 3 บงการฆ่าผู้ตาย จึงพิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิต จำเลยที่ 1 กับ 5 ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 แต่ให้ประหารชีวิตจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 4 และให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3-5 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 2.5 ล้านบาทแก่ผู้ร้องด้วย หลังจากนั้น ทั้งโจทก์และจำเลยทั้งห้าได้ยื่นอุทธรณ์ โดย พญ.นิธิวดี ได้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์
ต่อมา ศาลอุทธรณ์มีพิพากษาเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2561 ว่า พยานให้การว่า พญ.นิธิวดี ยังคงมีความรักความผูกพันกับจำเลย และลูก ไม่มีเหตุฟังว่า จำเลยที่ 3 จะบงการฆ่าผู้ตาย ให้ยกฟ้อง พญ.นิธิวดี จำเลยที่ 3 แต่ให้ลงโทษประหารชีวิต น.ส.สุรางค์ (มารดา) ฐานใช้จ้างวานให้ฆ่าผู้ตาย จำเลยที่ 2 เนื่องจากศาลเห็นว่า น.ส.สุรางค์ ยังโกรธแค้นที่ผู้ตายมักทำร้ายร่างกาย พญ.นิธิวดี ซึ่งเป็นบุตรสาวคนเดียว และทำร้ายหลานสาวได้รับบาดเจ็บหลายครั้งหลายหน และเชื่อว่า ผู้ตายไม่สามารถแก้ไขพฤติกรรมได้ ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษากลับ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 และให้ประหารชีวิตจำเลยที่ 2 แต่คำให้การเป็นประโยชน์ คงลดโทษเหลือจำคุกจำเลยที่ 2 ตลอดชีวิต และให้จำเลยที่ 1, 2, 4 (หนี) และ 5 ร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 2.5 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีให้กับโจทก์ร่วมและผู้ร้องด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
หลังจากนั้น โจทก์ และจำเลย คือ นายจิรศักดิ์ จำเลยที่ 1 และ น.ส.สุรางค์ จำเลยที่ 2 ยื่นฎีกา ทั้งนี้ ศาลอนุญาตให้ น.ส.สุรางค์ จำเลยที่ 2 ประกันตัวระหว่างฎีกา
กระทั่งเมื่อวันที่ 12 พ.ค. ที่ผ่านมา ศาลฎีกาได้อ่านคำพิพากษา โดยเห็นว่า ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ต่อสู้ในประเด็นการร่วมจำเลยที่ 4 และที่ 5 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 2.5 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยจนกว่าจะชำระเสร็จให้กับโจทก์ร่วมและผู้ร้องนั้น ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมชดใช้ตามจำนวนดังกล่าวนั้นชอบด้วยเหตุผลแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ส่วนฎีกาข้ออื่นที่ต่อสู้ประเด็นการรับฟังคำให้การพยานที่มาลงโทษจำเลย ก็ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ศาลฎีกาเห็นว่า ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อย่างไรก็ตาม ในส่วนของพฤติการณ์การกระทำผิดของ น.ส.สุรางค์ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นแม่ยายผู้ตาย ศาลฎีกาเห็นว่า เกิดจากการที่ผู้ตายกระทำต่อ พญ.นิธิวดี จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรคนเดียวของจำเลยที่ 2 ครั้งแล้วครั้งเล่า และบางครั้งยังกระทำต่อหน้าหลานเล็กๆ ของจำเลยที่ 2 อีก อันเนื่องมาจากปัญหาการควบคุมอารมณ์ของผู้ตาย
โดยก่อนเกิดเหตุมีความไม่แน่นอนว่า ผู้ตายซึ่งเป็นนักกีฬายิงปืน มีอาวุธปืน อาจใช้อาวุธปืนของตนกระทำต่อจำเลยที่ 3 และครอบครัวในขณะควบคุมอารมณ์ไม่ได้ก็เป็นได้ เพราะก่อนเกิดเหตุเพียง 2 เดือน ผู้ตายยังใช้อาวุธปืนยิงไปทางคนรับใช้และบุตรคนเล็ก จนผู้ตายถูกจับ และถูกควบคุมตัวที่เรือนจำ และเพิ่งได้รับการประกันตัวมาไม่นาน
ศาลฎีกาเห็นว่า การกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 ที่ขณะเกิดเหตุเป็นหญิงมีอายุถึง 72 ปี และบัดนี้มีอายุเกือบ 80 ปีแล้ว และไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน จึงเข้าลักษณะของผู้กระทำความผิดที่ตกอยู่ในความทุกข์อย่างสาหัส มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ที่ศาลอาจลดโทษได้ให้ไม่เกินกึ่งหนึ่ง และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 52 ในการลดโทษประหารชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการลดมาตราส่วนโทษหรือลดโทษที่จะลง ให้ลดดังต่อไปนี้ โดยถ้าจะลดกึ่งหนึ่ง ให้ลดเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือโทษจำคุกตั้งแต่ 25 ปีถึง 50 ปี
ที่ศาลอุทธรณ์ลดโทษให้ น.ส.สุรางค์ จำเลยที่ 2 เพียงหนึ่งในสาม และคงจำคุกจำเลยที่ 2 ตลอดชีวิต ด้วยเหตุเพียงคำให้การชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ศาลฎีกายังไม่เห็นพ้องด้วย เห็นควรลดโทษให้จำเลยที่ 2 อีก จึงพิพากษาแก้เป็นว่า คำให้การชั้นสอบสวนของ น.ส.สุรางค์ จำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา และกระทำความผิด เพราะตกอยู่ในความทุกข์อย่างสาหัส มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (2) คงลงโทษจำคุกจำเลยไว้ 25 ปี นอกจากที่แก้ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
2.อัยการกลับคำสั่ง ไม่ฟ้อง “อดีตเลขาฯ หญิงอ้อ" พร้อมสามี คดีฟอกเงินปล่อยกู้แบงก์กรุงไทย พบ ตอนศาลยกฟ้อง "โอ๊ค" อัยการไม่อุทธรณ์!
เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ที่สำนักงานอัยการสูงสุด นายอิทธิพร แก้วทิพย์ อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด พร้อมด้วยนายประยุทธ เพชรคุณ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ ในฐานะรองโฆษกฯ ได้ร่วมกันแถลงข่าวกรณีพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องนางกาญจนาภา หงษ์เหิน อดีตเลขานุการส่วนตัวของคุณหญิง พจมาน ณ ป้อมเพชร และนายวันชัย หงษ์เหิน สามีนางกาญจนาภา คดีร่วมกันฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงิน กรณีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้ให้บริษัท กฤษดานครมหานคร จำกัด (มหาชน)
โดยชี้แจงว่า คดีนี้ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 4 ได้รับสำนวนจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เมื่อวันที่ 26 ก.ค 2561 คดีระหว่างสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน โดยนายสุนทรา พลไตร ผู้กล่าวหา นางเกศินี จิปิภพ, นางกาญจนาภา หงษ์เหิน, นายวันชัย หงษ์เหิน และนายพานทองแท้ ชินวัตร ผู้ต้องหาที่ 1-4 ข้อหาร่วมกันฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงินช่วงระหว่างวันที่ 30 ธ.ค. 2546 ถึงวันที่ 17 พ.ค. 2547 ต่อเนื่องกัน
โดยมีมูลเหตุเกี่ยวพันกับคดีที่อัยการสูงสุดฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร เป็นจำเลยที่ 1 พร้อมกับพวกอีกหลายคน ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการยักยอก ความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ ความผิดต่อ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สืบเนื่องจากธนาคารกรุงไทยปล่อยเงินกู้ให้กับบริษัท กฤษดานครมหานคร จำกัด (มหาชน) นายวิชัย กฤษดาธานนท์ และนายรัชฎา กฤษดาธานนท์ บุตรชาย กับพวก
โดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาเมื่อวันที่ 30 ส.ค.2562 ยกฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร จำเลยที่ 1 โดยวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานของโจทก์ที่ไต่สวนมายังไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ว่า นายทักษิณกระทำความผิด
สำหรับคดีที่กล่าวหานางกาญจนาภา หงษ์เหิน และนายวันชัย หงษ์เหิน สามี พนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 4 พิจารณาแล้ว มีคำสั่งไม่ฟ้องนางเกศินี จิปิภพ ผู้ต้องหาที่ 1 ซึ่งอธิบดีดีเอสไอเห็นพ้องกับการสั่งไม่ฟ้องของอัยการดังกล่าว คดีในส่วนนางเกศินีจึงเสร็จเด็ดขาดแล้ว
ส่วนนางกาญจนาภา นายวันชัย และนายพานทองแท้ ชินวัตร พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องข้อหาร่วมกันฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงินตามข้อกล่าวหา แต่ยังไม่ได้ยื่นฟ้องนางกาญจนาและนายวันชัย เพราะหลบหนี
สำหรับนายพานทองแท้ พนักงานอัยการสำนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 ได้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ข้อหาร่วมกันฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงินเรียบร้อยแล้ว ต่อมา ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องนายพานทองแท้ พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่อุทธรณ์ อธิบดีดีเอสไอเห็นพ้องด้วย คดีจึงถึงที่สุดแล้ว
ต่อมา วันที่ 30 ก.ค.2563 นางกาญจนาภาและนายวันชัย สามี ได้ร้องขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 4 เพื่อขอให้ทบทวนคำสั่งฟ้องนางกาญจนาภาและนายวันชัย สามี โดยอ้างว่า ข้อเท็จจริงรูปแบบพฤติการณ์ที่กล่าวหา เป็นกรณีเดียวกันกับที่กล่าวหานายพานทองแท้ ซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดยกฟ้องไปแล้ว อีกทั้งมูลเหตุก็เป็นกรณีสืบเนื่องจากการกล่าวหานายทักษิณ ชินวัตร และเป็นเหตุให้ถูกฟ้องที่ศาลฎีกาฯ พิพากษายกฟ้อง และคดีถึงที่สุดแล้วเช่นกัน
นอกจากนี้ ยังมีการกล่าวอ้างว่า เช็คที่นายวิชัย กฤษดาธานนท์ สั่งจ่ายเงิน 26 ล้านบาท ที่เป็นเหตุให้ผู้ต้องหาทั้งสองถูกกล่าวหาคดีนี้ เป็นเรื่องธุรกรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นของบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ในตลาดหลักทรัพย์ ผ่านบริษัทหลักทรัพย์ ธนชาติ จำกัด และต่อมา มีการขายหุ้นและได้คืนเงินลงทุนพร้อมกำไรรวมแล้วประมาณ 27 ล้านบาทเศษไปแล้ว โดยมีทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสารสนับสนุน
ทั้งนี้ พนักงานอัยการได้พิจารณาข้อเท็จจริงที่ได้จากการร้องขอความเป็นธรรม เห็นว่า คดีมีข้อเท็จจริงใหม่ตามที่ผู้ต้องหาทั้งสองร้องขอความเป็นธรรม เพราะคดีที่ฟ้องนายทักษิณและนายพานทองแท้ ซึ่งศาลต่างยกฟ้องและคดีถึงที่สุดแล้ว อีกทั้งตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2547 (ซึ่งเป็นระเบียบที่บังคับใช้ในขณะนั้น) ข้อ 58 ก็วางหลักเกณฑ์ให้เป็นแนวทางปฏิบัติของพนักงานอัยการทั่วประเทศในการดำเนินคดีอาญาไว้ด้วยว่า ในคดีที่มีผู้ต้องหาหลายคนกระทำความผิดในคดีเดียวกัน และได้ฟ้องผู้ต้องหาบางคนไว้แล้ว แต่ต่อมาศาลยกฟ้องในเหตุลักษณะคดีและคดีเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ฟ้องแล้ว ให้พนักงานอัยการทบทวนความเห็นหรือคำสั่งสำหรับผู้ต้องหาที่สั่งฟ้องและยังจับตัวไม่ได้ไว้ด้วย
โดยพนักงานอัยการยังเห็นว่า คดีไม่มีพยานหรือข้อเท็จจริงใดๆ ว่า ผู้ต้องหาทั้งสองเข้าไปเกี่ยวข้องกับการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทย หรือมีบทบาทหรืออำนาจใดๆ ในการบีบบังคับธนาคาร ตลอดจนไม่มีส่วนรู้เห็นถึงกระบวนการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทยให้กับกลุ่มนายวิชัย กฤษดาธานนท์ กับพวกดังกล่าว จึงมีคำสั่งกลับความเห็นเดิมที่สั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งสอง เป็นสั่งไม่ฟ้องนางกาญจนาภาและนายวันชัย สามี ข้อหาร่วมกันฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงิน ขณะนี้สำนวนคดีพร้อมความเห็นและคำสั่งดังกล่าวได้ส่งไปยังอธิบดีดีเอสไอ เพื่อพิจารณาตามขั้นตอนของกฎหมายว่า จะเห็นพ้องหรือแย้งคำสั่งของพนักงานอัยการ หากอธิบดีดีเอสไอเห็นพ้อง คำสั่งไม่ฟ้องเป็นอันเสร็จเด็ดขาด แต่ถ้าอธิบดีดีเอสไอเห็นแย้ง ก็จะนำเสนออัยการสูงสุด เพื่อพิจารณาชี้ขาดตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามว่า ผู้ต้องหาทั้งสองคนอยู่ต่างประเทศ การร้องขอความเป็นธรรมนั้น มีการรับรองจากสถานกงศุลหรือสถานทูต ถูกต้องหรือไม่ว่าเป็นตัวผู้ต้องหาจริง นายประยุทธ กล่าวว่า ขณะนั้นผู้ต้องหาทั้งสองร้องขอความเป็นธรรมเข้ามาตามระเบียบการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2547 ข้อ 48 ว่าด้วยการร้องขอความเป็นธรรม ซึ่งในระเบียบระบุไว้ว่า สามารถยื่นขอความเป็นธรรมผ่านทนายความของผู้ต้องหาหรือผู้เเทนก็ได้ จึงถูกต้องตามระเบียบ เเต่อย่างไรก็ตามทางสำนักงานอัยการสูงสุด เล็งเห็นว่า ระเบียบนี้มีข้อบกพร่องที่ต้องเเก้ไขปรับปรุงให้รัดกุมมากขึ้น ฉะนั้น ระเบียบในปัจจุบันนี้ จึงได้เเก้ไขใหม่ว่า การยื่นขอความเป็นธรรม ผู้ต้องหาจะต้องมาเเสดงตัวต่อพนักงานอัยการ ถ้าไม่มายื่นด้วยตัวเอง อัยการก็ไม่รับหนังสือร้องขอความเป็นธรรม
เมื่อถามถึงพฤติการณ์ของผู้ต้องหาทั้งสองรายนี้เหมือนกับนายพานทองแท้ทุกอย่างใช่หรือไม่ นายอิทธิพร กล่าวว่า พฤติการณ์ไม่ได้เหมือนกันทุกอย่าง เเต่ข้อเท็จจริงพัวพันกัน ลักษณะการกระทำแตกต่างกัน เเต่อยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงและหลักการเดียวกัน สำหรับคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการคดีนี้ เป็นคำสั่งของ ร้อยโท ไชยา เปรมประเสริฐ รองอัยการสูงสุด ซึ่งเป็นการสั่งตามระเบียบที่ให้อำนาจใช้ดุลพินิจในการสั่งคดี โดยไม่จำเป็นที่จะต้องปรึกษาผู้บังคับบัญชา เเละไม่เกี่ยวกับอดีตอัยการสูงสุด ที่เพียงแต่สั่งให้สำนักคดีกิจการอัยการสูงสุดไปตรวจดูรายละเอียดคดี
เมื่อถามว่า คดีนี้พนักงานอัยการที่ร่วมพิจารณา มีความเห็นไปในแนวทางเดียวกันหมดหรือไม่ ในการกลับคำสั่ง นายประยุทธ กล่าวว่า ใช่ มีการกลั่นกรองจากพนักงานอัยการหลายขั้นตอน ซึ่งแต่ละคนมีความเห็นแนวทางเดียวกันหมด ตั้งแต่อธิบดีอัยการคดีพิเศษผ่านไปยังสำนักงานกิจการคดีอัยการสูงสุด เเละไปถึงรองอัยการสูงสุดในการพิจารณากลับคำสั่ง โดยยืนยันว่า เเม้คดีนี้เกี่ยวข้องกับนักการเมือง แต่การสั่งคดีของพนักงานอัยการ มีความเป็นอิสระตามกฎหมาย ยืนยัน ไม่มีการล็อบบี้หรือถูกแทรกแซงจากฝ่ายนักการเมืองแต่อย่างใด
3. ส่อล็อกดาวน์ 4 จังหวัดใต้ หากคุมโควิดไม่อยู่ / สธ.ให้เด็กชายฉีดไฟเซอร์เข็มเดียวก่อน รอประเมินผลข้างเคียง!
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทยในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังทรงๆ แม้จะดูเหมือนมีแนวโน้มลดลงก็ตาม โดยเมื่อวันที่ 3 ต.ค. พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 10,828 ราย มีผู้เสียชีวิต 77 ราย, วันที่ 4 ต.ค. พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 9,930 ราย มีผู้เสียชีวิต 97 ราย, วันที่ 5 ต.ค. พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 9,869 ราย มีผู้เสียชีวิต 92 ราย, วันที่ 6 ต.ค. พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 9,866 ราย มีผู้เสียชีวิต 102 ราย, วันที่ 7 ต.ค. พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 11,200 ราย มีผู้เสียชีวิต 113 ราย, วันที่ 8 ต.ค. พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 11,140 ราย มีผู้เสียชีวิต 116 ราย, วันที่ 9 ต.ค. พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 10,630 ราย มีผู้เสียชีวิต 73 ราย
ส่วนการฉีดวัคซีนต้านโควิดให้กับประชาชนนั้น สัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากการเดินหน้าฉีดให้ประชาชนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็ม 1 และการฉีดวัคซีนเข็ม 2 ให้กับผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็ม 1 ครบกำหนดแล้ว ยังมีการฉีดวัคซีนเข็ม 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้กับผู้ที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มไปหลายเดือนแล้ว นอกจากนี้ยังเริ่มฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กับนักเรียนนักศึกษา อายุ 12-18 ปี แบบสมัครใจอีกด้วย
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการฉีดวัคซีนในเด็กอายุ 12-18 ปีว่า สำหรับเด็กผู้หญิง ข้อมูลส่วนใหญ่เชื่อว่าปลอดภัย ให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม ส่วนเด็กชายให้ฉีดก่อน 1 เข็ม และประเมินข้อมูลในอีก 2 สัปดาห์ถัดไปว่า จะฉีดเข็มที่ 2 ต่อหรือไม่ และจะรวบรวมข้อมูลทั่วโลกมาประเมินอีกครั้ง
นพ.โอภาส เผยภาพรวมการฉีดวัคซีนต้านโควิดด้วยว่า เกินเป้าที่ตั้งไว้ ซึ่งตามแผนการฉีดสิ้นเดือน ก.ย.2564 จะฉีดให้ได้อย่างน้อย 40 ล้านโดส ขณะที่การรายงานการฉีดถึงวันที่ 3 ต.ค. รวมทั้งสิ้น 55.158 ล้านโดส มีการฉีดได้มากกว่าแผนค่อนข้างมาก ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของประชาชน โดยเข็มที่ 1 ฉีดแล้ว 32.9 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 46 ของประชากร เข็ม 2 ฉีดแล้ว 20.6 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 28.7 แผนการฉีดวัคซีนในปี 2564 เดิมกำหนดไว้ที่ 70 ล้านโดส ได้ปรับเป้าหมายใหม่ที่ 120 ล้านโดส คาดว่าจะเป็นเข็มที่ 1 ได้ 60 ล้านโดส เข็มที่ 2 ที่ 52 ล้านโดส และเข็มที่ 3 อีก 7 ล้านโดส รวม 119 ล้านโดส
เป็นที่น่าสังเกตว่า ขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่โดยรวมทั้งประเทศลดลง กลับปรากฏว่า 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จ.ยะลา, ปัตตานี, นราธิวาส, สงขลา ตัวเลขผู้ติดเชื้อกลับเพิ่มสูงขึ้น หลักหลายร้อยต่อวัน ส่งผลให้กระทรวงสาธารณสุขเตรียมนำโมเดล กทม.ไปใช้เพื่อคุมโควิดใน 4 จังหวัดชายแดนใต้ โดย นพ.โอภาส กล่าวว่า ภาคใต้ส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อในชุมชน เป็นหย่อมๆ คล้ายกับกรุงเทพฯ ดังนั้น กรมควบคุมโรคจะต้องอาศัยทีมงานที่คุ้นเคยกับพื้นที่ นอกจากนี้ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ.ได้สั่งการให้ นพ.สุเทพ เพชรมาก ผู้ตรวจราชการ สธ.ไปประจำที่ภาคใต้ เพื่อรวบรวมบูรณาการประสานข้อมูล จะนำทีมเคลื่อนที่เร็ว CCRT เร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 เร่งมาตรการบับเบิล แอนด์ ซีล เคร่งมาตรการสังคม อาจต้องลดกิจกรรมบางอย่าง ผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องประเมินอีกครั้ง
ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์โควิดใน 4 จังหวัดชายแดนใต้เมื่อวันที่ 8 ต.ค.ว่า พบการติดเชื้อใน 4 จังหวัดเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่มาจาก 3 สายพันธุ์หลัก คือ เบตา เดลตา และอัลฟา และว่า หากมาตรการที่ใช้ไม่เพียงพอ อาจพิจารณาล็อกดาวน์ในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. แต่เชื่อว่า 2 เดือนนี้การติดเชื้อจะลดลง เพราะมีการระดมฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น เบื้องต้น สธ.จะเร่งกระจายวัคซีน โดยส่งวัคซีน 100,000 โดส ไปในพื้นที่ รวมถึงเร่งกระจายชุดตรวจ ATK และยาฟาวิพิราเวียร์ 1 ล้านเม็ด ทั้งนี้ พบว่าในพื้นที่ยังใช้ยาน้อยแค่ 30% ทำให้มีผู้เสียชีวิตสูง และการฉีดวัคซีนน้อย เพราะมีเรื่องความเชื่อมาเกี่ยวข้อง จึงขอความร่วมมือผู้นำศาสนาให้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น
ส่วนความคืบหน้ากรณีมีกระแสเรียกร้องให้มีชุดตรวจ ATK ราคาถูก เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถซื้อหามาตรวจเองได้ในราคาไม่แพงนั้น ภญ.ศิริกุล เมธีรังสรรค์ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เผยว่า อภ.ได้จัดทำโครงการ ATK คุณภาพ เพื่อสังคมไทย เพื่อหั้คนไทยเข้าถึง ATK คุณภาพตามมาตรฐาน อย.ในราคาที่เหมาะสม ตามนโยบายรัฐบาล ที่ต้องการให้ตรวจหาเชื้อโควิดให้ครอบคลุมที่สุด
“จะจำหน่ายผ่านร้านขายยาของ อภ.ทั้ง 8 สาขาทั่ว กทม.ในระยะแรก จัดหามา 2 ล้านชุด คาดว่าจะจำหน่ายได้ในวันที่ 18 ต.ค.นี้ ราคาชุดละ 40 บาท ต่ำกว่าท้องตลาดในขณะนี้ค่อนข้างมาก หลังจากนี้หากมีความต้องการเพิ่มขึ้น อภงจะจัดหาเพิ่ม เพื่อนำมาจำหน่ายต่อไป อีกทั้งในอนาคตจะจำหน่ายทางออนไลน์ด้วย”
สำหรับร้านขายยาของ อภ.ทั้ง 8 สาขา ประกอบด้วย 1.สาขาราชเทวี (สำนักงานใหญ่) ตรงข้าม รพ.รามาธิบดี 2.สาขายศเส ด้านข้าง รพ.หัวเฉียว 3.สาขาจรัญสนิทวงศ์ 4.สาขาเทเวศร์ เยื้องธนาคารแห่งประเทสไทย 5.สาขารังสิต ใกล้ตลาดสี่มุมเมือง 6.สาขากระทรวงสาธารณสุข ตึกกรมการแพทย์ 7.สาขาเวชศาสตร์เขตร้อน ข้างธนาคารไทยพาณิชย์ 8.สาขาศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา หากประชาชนมีข้อสงสัย ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร 1648
4. วงการสงฆ์ระส่ำ หลัง มส.ถอดถอน 3 เจ้าคณะจังหวัด ยังไม่ชัด มีการสอดไส้ให้ มส.ปลดหรือไม่!
จากกรณีที่ประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) เมื่อวันที่ 30 ก.ย. ได้มีมติถอดถอนพระสังฆาธิการจำนวน 3 รูป ออกจากตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัด ประกอบด้วย 1.พระราชปริยัติสุนทร (อมรภิรักษ์ ปัสนฺโน) ออกจากตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา 2.พระธรรมรัตนาภรณ์ (สมศักดิ์ โชตินฺธโร) ออกจากตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี และ 3.พระเทพสารเมธี (บัวศรี ชุตินฺธโร) ออกจากตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ (ธรรมยุติ) และแต่งตั้งพระสังฆาธิการจำนวน 3 รูป ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดแทน ประกอบด้วย 1.แต่งตั้งพระราชภาวนาพิธาน (ศิริวัฒน์ สิริวฑฺฒโน) ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา 2.แต่งตั้งพระราชสุทธิธรรมาจารย์ (สำอาง ตานทินฺโน) ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี และ 3.แต่งตั้งพระครูสุทธิญาณโสภณ (เล็ก สุทฺธิญาโณ) ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ (ธรรมยุติ)
ปรากฏว่า ได้เกิดกระแสคัดค้านการถอดถอนพระสังฆาธิการดังกล่าว โดยที่วัดประชานิยม จ.กาฬสินธุ์ ได้มีพุทธศาสนิกชนจาก 18 อำเภอ ทยอยเดินทางมาลงชื่อเพื่อคัดค้านการปลดพระเทพสารเมธีออกจากตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ ขณะที่นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ไม่มีใครเชื่อว่า มส.จะมีคำสั่งปลดพระเทพสารเมธี เพราะท่านเป็นพระที่มีปฏิปทางดงาม สร้างประโยชน์ให้กับชาวกาฬสินธุ์อย่างมาก เป็นพระสายกรรมฐานที่ปฏิบัติดีงาม ไม่มีข้อครหาใดๆ จึงเห็นด้วยกับพี่น้องชาวกาฬสินธุ์ที่จะปกป้อง เพราะคำสั่งนี้ถือเป็นการทำลายความดีงามของเจ้าคุณบัวศรี และทำลายความศรัทธาของชาวกาฬสินธุ์ จึงต้องการให้ มส.แก้ไขในสิ่งที่ถูกต้อง
ส่วนที่วัดเขียนเขต อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ได้มีชาวชุมชนวัดเขียนเขตจำนวนหนึ่ง รวมตัวกันให้กำลังใจ พร้อมขอความเป็นธรรมให้พระธรรมรัตนาภรณ์ ที่ มส.ถอดถอนพ้นจากเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี
ด้านนายนิยม เวชกามา ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กำลังรวบรวมเอกสารหลักฐานการประชุม มส.และคำสั่งปลดที่ไม่เป็นธรรม เพื่อตั้งกระทู้สดในสภา เพื่อถามฝ่ายการเมืองที่รับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ เนื่องจากพบว่า การประชุม มส.เมื่อวันที่ 30 ก.ย. เป็นการประชุม มส.ผ่านระบบซูม ไม่มีวาระเรื่องการถอดถอนเจ้าคณะจังหวัด แต่มีการสอดไส้ให้พิจารณาเพื่อทราบ “ในวาระการประชุมไม่มีเรื่องให้ปลดพระสังฆาธิการทั้ง 3 รูป แต่มีพระบางรูปนำเอกสารปลดให้ มส.พิจารณา และทราบว่า มีการทักท้วงจากคณะกรรมการ มส.หลายรูป เพราะสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งในคณะสงฆ์ แต่ในที่ประชุมก็ปล่อยให้ผ่านไป”
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 5 ต.ค. ได้มีตัวแทนชาวบ้านชุมชนซอยวัดเขียนเขต เข้ายื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอความเป็นธรรมให้กับพระธรรมรัตนาภรณ์ ที่ถูกถอดถอนจากเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี
ต่อมา เมื่อวันที่ 7 ต.ค. นายนิยม เวชกามา ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ได้นำผู้แทนเจ้าคณะจังหวัดที่ถูกมติ มส.ถอดถอนออกจากตำแหน่ง ทั้ง จ.กาฬสินธุ์ และ จ.ฉะเชิงเทรา เข้ายื่นหนังสือถึงคณะอนุกรรมาธิการ พิจารณาศึกษาด้านพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอความเป็นธรรมกรณีถูกถอดถอน
วันเดียวกัน นายบุญเลิศ ไพรินทร์ อดีต ส.ว.และ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคประชาธิปัตย์ ได้ยื่นหนังสือให้นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธาน กมธ.การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอความเป็นธรรมให้กับเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทราที่ถูกปลดเช่นกัน
นอกจากนี้ ช่วงบ่ายวันเดียวกัน นายนิยม เวชกามา ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ยังได้นำผู้แทนเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ถูก มส.ถอดถอนออกจากตำแหน่ง รวมทั้งศิษยานุศิษย์ เข้ายื่นหนังสือถวายฎีกาที่บริเวณด้านหน้าประตูสถิตย์พงษ์ พระที่นั่งอัมพรสถาน โดยมีเจ้าหน้าที่จากกรมราชเลขานุการในพระองค์ มารับมอบหนังสือและจดหมายเปิดผนึก พร้อมกับรายชื่อศิษยานุศิษย์และประชาชนจำนวน 6 หมื่นรายชื่อ
ส่วนที่ จ.ปทุมธานี พระมหาสุริยันต์ ธมมทสสี เจ้าอาวาสวัดบุญบางสิงห์ อ.เมือง จ.ปทุมธานี ตัวแทนคณะศิษยานุศิษย์พร้อมด้วยคณะสงฆ์ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อเจ้าคณะภาค 1 เพื่อขอความเป็นธรรมให้กับพระธรรมรัตนาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี ที่ถูก มส.ถอดถอนออกจากตำแหน่ง
5. ศาลแพ่งไม่คุ้มครองชั่วคราว "ม็อบราษฎร" หลังขอให้เพิกถอน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชี้จำเป็นต้องบังคับใช้ ป้องกันโควิดระบาดในวงกว้าง!
เมื่อวันที่ 8 ต.ค. ศาลแพ่ง รัชดาภิเษก ได้มีคำสั่งในคดีที่นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) กับพวก ผู้ต้องหาคดีชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวม 3 คน ยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กับพวกรวม 6 คน ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 15) ข้อ 3 และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง ฉบับที่ 3 ข้อ 2-4 ฉบับที่ 5 และฉบับที่ 11 และให้ไม่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้น
และขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสาม พร้อมขอให้ศาลไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวในกรณีฉุกเฉิน โดยขอให้ศาลมีคำสั่งให้ระงับการบังคับใช้ข้อกำหนดและประกาศดังกล่าว และห้ามมิให้นำมาตรการ คำสั่ง หรือการกระทำใดๆ ที่สั่งการตามประกาศดังกล่าวมาใช้กับโจทก์ทั้งสาม และประชาชน จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด
ทั้งนี้ ศาลแพ่งได้ไต่สวนพยานหลักฐาน และมีคำสั่งสรุปใจความได้ว่า จำเลยที่ 1 ออกข้อกำหนดตังกล่าวห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ในสถานที่แออัด หรือกระทำการดังกล่าว อันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย เพื่อป้องกันและระงับยับยั้งการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยปัจจุบันยังพบการติดเชื้อไวรัสดังกล่าวของบุคคลกลุ่มต่างๆ ภายในประเทศ อีกทั้งสถานการณ์ยังคงมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
จำเลยที่ 2 จึงออกประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบดังกล่าวมาบังคับใช้มาตรการด้านสาธารณสุขในการเว้นระยะห่าง และการป้องกันการสัมผัสของบุคคลอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง เพื่อป้องกันมิให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อดังกล่าวในลักษณะกลุ่มก้อน (Cluster) ภายในประเทศกระจายไปในวงกว้างและสร้างความเสียหายให้แก่ระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ แต่ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อดังกล่าวยังพบว่า มียอดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิต
แม้โจทก์ทั้งสามจะอ้างว่า ไม่มีหลักฐานใดชี้ให้เห็นว่า การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อดังกล่าวมาจากการชุมนุมสาธารณะ แต่การรวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมของบุคคลจำนวนมากย่อมเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อดังกล่าวได้ง่าย เจือสมกับที่โจทก์ที่ 2 เบิกความว่า รู้สึกกลัวการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อดังกล่าว จึงต้องใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือและหน้ากากอนามัยในการมาชุมนุม ยิ่งแสดงให้เห็นว่า ยังมีความจำเป็นต้องบังคับใช้มาตรการด้านสาธารณสุขในการเว้นระยะห่าง เพื่อป้องกันมิให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อดังกล่าวในลักษณะกลุ่มก้อน (Cluster) ภายในประเทศกระจายไปในวงกว้าง
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า คำร้องของโจทก์ทั้งสามยังไม่มีเหตุผลเพียงพอ และยังไม่มีความจำเป็นต้องคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา จึงมียกคำร้องของโจทก์ทั้งสาม