วันที่ 1 ต.ค. ที่จะถึงนี้ กระทรวงการคลัง มีกำหนดจะเริ่มใช้โครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่ใหม่ แทนโครงสร้างปัจจุบันที่ใช้มาตั้งแต่ 16 ก.ย. 2560 และมีกระแสข่าวว่า เครือข่ายรณรงค์ต่อต้านยาสูบกำลังกดดันกระทรวงการคลังอย่างหนักให้ขึ้นภาษีบุหรี่ในอัตราสูง เพื่อลดการสูบบุหรี่และเพิ่มรายได้ภาษีให้รัฐ โดยปฏิเสธว่า การขึ้นภาษีเป็นตัวทำให้เกิดปัญหาบุหรี่เถื่อน
นายสุเทพ ทิมศิลป์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจยาสูบ ให้ความเห็นว่า รัฐมีบทเรียนจากการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่รอบที่แล้วเมื่อปี 2560 ซึ่งทำให้บุหรี่ยี่ห้อหลักๆ ของการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) ต้องขึ้นราคา 10-30 บาทต่อซอง หรือราว 20-50% เพราะภาระภาษีเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในชั่วข้ามคืน จึงเกิดปัญหาบุหรี่เถื่อนทะลักเข้ามามากขึ้นถึง 29% ในที่สุดกำไรของ ยสท. ลดลงไป 94% จาก 9.3 พันล้านบาท เมื่อปี 2560 เหลือเพียง 550 ล้านบาท ในปี 2563 ทำให้ ยสท. เองก็ไม่มีกำลังและความต้องการซื้อใบยาสูบมากเหมือนเมื่อก่อน
“ท่านรัฐมนตรีอาคมไม่ควรอ่อนไหวไปกับกระแสกดกันของกลุ่มเอ็นจีโอ ถ้าคิดกันเพียงว่าการขึ้นภาษีสูงๆ จะช่วยดูแลสูขภาพคนไทยและเพิ่มรายได้ภาษีให้รัฐ แต่ไม่ได้ประเมินสภาพความเป็นจริงในประเทศอย่างรอบด้านอย่างแท้จริง เป็นไปได้สูงว่าจะเกิดปัญหาซ้ำรอยปี 2560 ที่ทำให้บุหรี่ถูกกฎหมายต้องขึ้นราคาอย่างก้าวกระโดดจนบุหรี่เถื่อนเกลื่อนเมืองจะหวังการปราบปรามก็ทำได้ไม่ทั่วถึง ซึ่งเป็นปัญหากับอาชญากรรมอื่นๆ ด้วย ไม่ใช่เฉพาะเรื่องบุหรี่เถื่อนนี่คือเหตุผลว่าทำไมตอนนี้บุหรี่เถื่อนถึงทะลักเข้ามามากตอนนี้ไม่ใช่แค่กำไรของ ยสท. และรายได้ของชาวไร่ยาสูบเท่านั้นที่ลดลง แต่รายได้ภาษีสรรพสามิตยาสูบของรัฐบาลที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น ก็ลดลงทุกปีเช่นกัน”
นายสุเทพ กล่าวถึงผลกระทบในอุตสาหกรรมยาสูบจนถึงปัจจุบัน ว่า “เกษตรกรและเครือข่ายผู้ค้าบุหรี่ที่ขายบุหรี่ถูกกฎหมายอีกเกือบ 500,000 คน ทั้งต้นน้ำ-กลางน้ำ และปลายน้ำ ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนตลอดระยะเวลาเกือบ 82 ปี ที่ตั้งโรงงานยาสูบ จนมาถึงการเป็นการยาสูบแห่งประเทศไทย และทำให้เกษตรกรซึ่งปลูกยาสูบนั้นได้รับผลกระทบและต้องออกมาประท้วงกันอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนเช่นกัน และที่สำคัญ ก็คือ ผู้สูบบุหรี่ก็ไม่ได้ลดน้อยลงตามวัตถุประสงค์ที่เครือข่ายต่อต้านได้ตั้งความหวังไว้ ผลกำไรสุทธิ 88% ที่ ยสท. ต้องนำส่งเข้าคลัง ก็ไม่ได้มีการนำส่งมาตั้งแต่ปี 2560 เท่ากับเม็ดเงินในการบริหารประเทศหายไปถึง 34,000 ล้านบาท ภาษีก็เก็บได้น้อยลง แต่บุหรี่เถื่อนได้ประโยชน์มากขึ้น”
นายสุเทพ เสนอว่า “สำหรับการปรับโครงสร้างภาษีครั้งใหม่ที่จะใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2564 เป็นต้นไปนั้น อยากวิงวอนฝ่ายนโยบายและท่านพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เป็นนายกรัฐมนตรี มาตั้งแต่สมัยปี 2560 ว่า อย่าทำพลาดซ้ำสอง ขอให้ภาระภาษีใหม่นี้อยู่ในระดับที่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ ถ้าบุหรี่ถูกกฎหมายต้องขึ้นราคาอีก 6-8 บาทตามข่าวก็ถือว่ามากแล้ว ขอให้ ยสท. พร้อมพนักงานและลูกจ้างเกือบ 3 พันชีวิต ได้ลืมตาอ้าปากบ้าง”
นายสงกรานต์ ภักดีจิตร นายกสมาคมชาวไร่ยาสูบเบอร์เลย์ จังหวัดเพชรบูรณ์ หนึ่งในแกนนำภาคีชาวไร่ยาสูบแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตั้งแต่ที่ชาวไร่ยาสูบถูก ยสท. ตัดโควตารับซื้อในปี 2561 มาต่อเนื่อง 4 ปี หลังจากการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่เมื่อปี 2560 นั้น ที่ผ่านมา ชาวไร่ได้เงินชดเชยเพียงปีเดียว คือ ของปี 2561
“ตอนนี้พี่น้องชาวไร่ยาสูบกว่า 30,000 ครอบครัว ในจังหวัดภาคเหนือ อีสาน และภาคกลาง ต่างฝากความหวังไว้ที่ท่านนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายอาคม ว่า จะไม่ปล่อยให้โครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ซ้ำเติมปัญหาปากท้องซึ่งลำบากมากอยู่แล้วตอนนี้ หากบุหรี่ต้องขึ้นราคาไปถึง 8 บาทต่อซอง ไปขายที่ราคา 68 บาท ตามที่เป็นข่าวจริงๆ พวกเราคงต้องโดนการยาสูบฯ ลดโควตารับซื้อใบยาสูบลงอีกแน่ๆ อีกวันสองวันนี้เราจะเดินทางไปยื่นหนังสือที่กระทรวงการคลังเพื่อให้พิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ”
“สำหรับเรื่องเงินชดเชยพวกเราเรียกร้องมาต่อเนื่องทุกปี แต่ก็ยังไร้วี่แวว อยากฝากไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และท่านนายกรัฐมนตรี ว่า ในสถานการณ์เศรษฐกิจที่อ่อนแอแบบนี้ หวังว่า ท่านจะเห็นใจพวกเราบ้าง อย่าคิดแต่จะขึ้นภาษีมากๆ เป็นการซ้ำเติมชาวไร่ตามที่นักวิชาการเรียกร้อง เพราะเจ็บมาพอแล้วในปี 2560 ดังนั้น ในครั้งนี้ขอให้ท่านฟังเกษตรกรรากหญ้าอย่างพวกเราบ้าง ไม่ใช่ฟังแต่หมอหรือนักวิชาการที่เอาแต่เป้าหมายสุขภาพ โดยไม่สนใจความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวไร่ยาสูบ” นายสงกรานต์ กล่าว