การนำขยะมาปั่นไฟฟ้า เป็นการบริหารจัดการขยะที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอย่างได้ผล ทั้งลดปริมาณขยะและผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยผลักดันในเรื่องนี้มาตลอดหลายปี โดยมีการวางกฎระเบียบต่างๆ มารองรับ ให้โครงการเดินหน้าอย่างถูกต้องตามขั้นตอน และบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ
นับตั้งแต่การออก พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2560 และจัดตั้งคณะกรรมการกลางจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย เพื่อคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนกับรัฐ มีหน่วยงานที่ดูแลกิจการพลังงานของประเทศเข้ามาร่วมทำงานด้วย ทั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ,สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน, กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
นอกจากนี้ โครงการนี้ก็ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 ให้รับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ ฟีด-อิน-ทารีฟ (FIT) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ปั่นไฟไม่เกิน 50 เมกะวัตต์ ในอัตรา 3.66 บาทต่อหน่วย โดยมีเอกชนผ่านกระบวนการคัดเลือกเข้า “โครงการกำจัดขยะเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” รวม 23 โครงการ กำลังผลิตรวม 234.7 เมกะวัตต์
แต่จนถึงบัดนี้เข้าไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 โครงการไม่สามารถเดินหน้าได้ โดย กกพ.ยังไม่มีการออกระเบียบรับซื้อไฟฟ้า และประกาศรับซื้อไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน ตามมติ กพช. 31 พฤษภาคม 2560 และที่สำคัญ กระทรวงพลังงานยังเตรียมรื้อกฎเกณฑ์ใหม่ทั้งหมด รวมถึงทบทวนราคารับซื้อใหม่
ส่งผลให้เจ้าภาพหลักของโครงการและภาคเอกชนแคลงใจหนัก เพราะโครงการนี้ได้ผ่านขั้นตอนการคัดเลือกมาแล้ว เพราะในการประกวดราคาดังกล่าว เอกชนทุกรายได้ใช้อัตรารับซื้อจำนวน 3.66 บาท บวกอัตราเงินเฟ้อเป็นฐานในการคำนวณแผนการลงทุนสำหรับใช้ประกวดราคา จนทำให้ได้รับการพิจารณา และเข้าทำสัญญากับกรุงเทพมหานครแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนต่างๆ ก่อนเริ่มงานก่อสร้าง
การปรับอัตราการรับซื้อใหม่ จึงสร้างความไม่เป็นธรรมให้กับเอกชนที่ได้รับการคัดเลือก เพราะการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ใดๆ โดยเฉพาะการปรับลดอัตรารับซื้อไฟฟ้า ควรนำมาใช้กับโครงการที่เกิดภายหลัง ซึ่งยังไม่ผ่านกระบวนการคัดเลือกเอกชนเข้ามาดำเนินการ
นอกจากนี้ เอกชนยังสงสัยอีกประการ ในเรื่องอัตราการรับซื้อไฟฟ้าที่ 3.66 บาทต่อหน่วย ที่ประกาศออกมานั้น ก็มาจากผลการศึกษาต้นทุนของสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่กระทรวงพลังงานให้ดำเนินการเอง ซึ่งได้นำอัตราการเก็บ และขนมูลฝอย รวมถึงกำจัดมูลฝอย ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ และประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการจัดการขยะมูลฝอย พ.ศ. 2560 มาประกอบการพิจารณา เป็นอัตราที่ทำให้การปั่นไฟฟ้าจากขยะ ไม่สร้างภาระเพิ่มเรื่องค่าจัดการขยะกับประชาชน จึงเป็นที่มาของการอุดหนุนค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนในขณะเดียวกันก็ไม่ผลักภาระค่ากำจัดขยะให้กับประชาชนด้วย จึงกำหนดอัตราการรับซื้อไฟฟ้าในอัตรา 3.66 บาท ซึ่งเป็นราคาที่เหมาะสมทั้งในส่วนของรายจ่ายการจัดเก็บขยะที่ประชาชนต้องจ่ายและความคุ้มค่าของการลงทุนของภาคเอกชนที่เข้ามาลงทุนรับจ้างดำเนินโครงการ
ขณะที่แนวทางการปรับราคารับซื้อไฟฟ้าใหม่ กระทรวงพลังงาน โดย สนพ.ได้ทำการศึกษาเองเป็นการภายใน โดยไม่มีการประกาศข้อมูลการศึกษาอย่างเปิดเผยต่อสาธารณะ
ความล่าช้าจนมาถึงการรื้อกฎเกณฑ์ต่างๆ ทั้งที่โครงการได้ผ่านขั้นตอน จนถึงเตรียมงานก่อสร้างนั้น ทำให้หลายหน่วยงาน และภาคเอกชน กำลังจับตาโครงการปั่นไฟฟ้าจากขยะ ว่าจะเดินหน้าอย่างไรต่อไป กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการผลักดัน และขับเคลื่อนโครงการมาโดยตลอด เพื่อลดปริมาณขยะล้นเมือง จะผลักดันสำเร็จหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ทุกภาคส่วนได้แต่หวังว่าทุกอุปสรรคจะถูกปลดล็อกโดยเร็ว และเห็นภาพกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงพลังงานจับมือเดินหน้าโครงการอย่างลุล่วง