นักเขียนซีไรต์วิเคราะห์ “ว่าด้วยการเทศน์นอกขนบ” ชี้ไม่ว่าขนบเดิมหรือทางใหม่ ก็ถึงจุดดีเลิศได้ทั้งคู่ เพราะการเทศน์คือศิลปะ ไม่ใช่สูตรเคมี แนะฝ่ายที่เทศน์แบบเก่าควรเรียนรู้ ส่วนคนคิดจะออกจากกรอบระวังอย่ายึดมั่นถือมั่นกับมุกเทศน์ ข่มสาระจนมองไม่เห็น ชี้เป้าหมายให้สังคมมีคุณธรรมและคุณค่า ไม่ใช่ความบันเทิง
วันนี้ (7 ก.ย.) เฟซบุ๊ก “วินทร์ เลียววาริณ” ของ วินทร์ เลียววาริณ นักเขียนชื่อดัง เจ้าของรางวัลซีไรต์ และศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2556 โพสต์ข้อความหัวข้อ “ว่าด้วยการเทศน์นอกขนบ” จากกรณีที่ พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ พระประจำวัดสร้อยทอง กรุงเทพมหานคร ได้ไลฟ์สนทนาธรรมกับ พระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต พระนักเทศน์ชื่อดัง โดยมีผู้ชมพร้อมกันกว่า 2 แสนคน ระบุว่า
“(บทความนี้จะคุยเฉพาะในมุมของศิลปะการนำเสนอเท่านั้น ไม่คุยประเด็นอื่นๆ นอกจากนี้)
ช่วงนี้สังคมถกเถียงประเด็นความเหมาะสมของกลวิธีการเทศน์ที่แตกต่างจากขนบเดิม ทำให้นึกถึงครั้งที่ผมทำงานเขียนเรื่องสั้นแบบผิดขนบ
ผมเริ่มต้นชีวิตนักเขียนด้วยการทำงานนอกกรอบ ที่เรียกว่าเรื่องสั้น “แนวทดลอง” เวลานั้นผมอยากเล่นกับสิ่งใหม่ๆ ผมอยากหลุดจากกรอบ ผมเล่นกับกลวิธีการเล่าเรื่อง หรือที่คนในวงการใช้คำว่า “เทคนิค” ยกตัวอย่าง เช่น เล่าเรื่องโดยใช้คำนามอย่างเดียว เล่าเรื่องโดยใช้คำถามอย่างเดียว เล่าเรื่องโดยใช้ชื่อเพลง เล่าเรื่องโดยใช้ข่าวหนังสือพิมพ์ เล่าเรื่องโดยใช้ภาพประกอบ ฯลฯ
หลังจากเผยแพร่งานระยะหนึ่ง วงการหนังสือก็เกิดกระแสการถกคล้ายๆ กับการถกเรื่องพระในตอนนี้ คำวิจารณ์หนึ่งที่ผมได้ยินบ่อยๆ คือ ผมใช้เทคนิคมากเกินสาระ
แต่ความจริงไม่ใช่เช่นนั้น เพราะผมตั้งโจทย์ในการทำงานเหมือนเดิมเสมอมาคือ หนึ่ง สาระต้องดี สอง วิธีการนำเสนอต้องโดดเด่น ฉีกแนว และแตกต่าง
พูดง่ายๆ คือ สาระ : เทคนิค = 50 : 50
ทว่า บทเรียนหนึ่งที่ผมเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง คือ เมื่อเทคนิคการนำเสนอโดดเด่น ฉีกแนว และแตกต่างมากๆ มันจะข่มสาระจนมองไม่เห็น ต่อให้สาระนั้นจะดีมากแค่ไหน
บทเรียนที่สองที่ผมเรียนรู้ คือ ไม่มีใครในโลกนี้สามารถคิดหาเทคนิคการนำเสนอที่โดดเด่น ฉีกแนว และแตกต่างได้ตลอด ไม่ช้าไม่นานก็จะตัน
ผมเองก็ตัน และเริ่มไม่สนุก เพราะเริ่มใช้พลังงานในการคิดมุขนานกว่าคิดสาระของเรื่อง
ทันใดนั้นผมก็เรียนรู้ว่า การพยายามหนีจากกรอบก็คือกรอบอย่างหนึ่ง
ผมจำไม่ได้ว่าสภาวะ “ซาโตริ” ทางวรรณกรรมนี้เกิดขึ้นเมื่อไร แต่วันหนึ่งผมก็ละทิ้งการแสวงหาความแตกต่างไปใช้หลัก “ไร้กระบวนท่า” ก้าวสู่พรมแดนของ “อะไรก็ได้”
แปลว่า หากเขียนเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งใช้เทคนิคหวือหวาแล้วเรื่องทรงพลังขึ้น ขับเน้นเรื่องขึ้น ก็ใช้ หากเล่าเรื่องแบบธรรมดาได้ ก็เล่าแบบธรรมดา
แล้วประวัติศาสตร์ก็ย้อนรอยเดิมอีกครั้งในอีกวงการหนึ่ง ในประเด็นวิธีการเทศน์ธรรมนอกขนบ คนสองฝั่งต่างก็เชื่อความคิดของตนว่าถูกต้อง
ที่น่าขันเล็กๆ ก็คือ ทั้งสองฝั่งต่างก็เป็นคนในร่มเงาพุทธซึ่งหัวใจ คือ การลดความยึดมั่นถือมั่น
การยึดมั่นถือมั่นในกรอบเดิมกับการดิ้นรนแสวงหาความแตกต่างจากกรอบเดิมก็คือสุดโต่งทั้งคู่
จุดหนึ่งที่ผมรู้สึกประหลาดใจก็คือทั้งสองฝั่งถกเถียงกันเฉพาะในประเด็นถูก-ผิด เหมาะสม-ไม่เหมาะสม ไม่มีใครเห็นแย้งกันในประเด็นว่า “การใช้มุขตลกและลูกเล่นเป็นวิธีเทศน์ที่ดีกว่าการเทศน์แบบเดิมๆ ที่น่าเบื่อ”
หากทั้งสองฝั่งเห็นว่ามันจริง ก็แสดงว่าเราอาจกำลังมีปัญหาใหญ่หลวงเรื่องทัศนคติของการนำเสนอ
การที่คนส่วนมากเห็นว่าการเทศน์แบบเก่าน่าเบื่อ ก็เพราะการเทศน์แบบเก่าจำนวนมากมายน่าเบื่อจริงๆ
แต่ความจริงคือในโลกนี้ก็มีการเทศน์แบบเก่าที่สนุกและไม่น่าเบื่อเช่นกัน และไม่ต้องพึ่ง “เทคนิค”
ระวังอย่าด่วนสรุปว่าโลกมีทางเดินสายเดียว “ที่ดีที่สุด” มันเป็นกับดักอันตรายที่สุดโดยเฉพาะคนที่ทำงานสายที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์
ผมทำงานในวงการสร้างสรรค์มาตลอดชีวิต ทำงานด้วยกลวิธีของขนบเดิมและเทคนิคใหม่ จึงสามารถพูดได้จากประสบการณ์ตรงว่า ไม่ว่าจะเป็นขนบเดิมหรือทางใหม่ ก็สามารถไปถึงจุดดีเลิศได้ทั้งคู่
เพราะอะไร? ก็เพราะการเล่าเรื่องหรือการเทศน์คือศิลปะ ไม่ใช่สูตรเคมี
ดังนั้น ฝ่ายที่เทศน์แบบเก่าซึ่งน่าเบื่อก็ควรเรียนรู้ และปรับปรุงแก้ไขไม่ให้น่าเบื่อ (มันทำได้จริงๆ) ส่วนฝ่ายที่คิดแต่จะออกจากกรอบ และเห็นว่าทุกอย่างที่เป็นของเดิมเลวร้าย ก็ควรระวังอย่าสร้างกับดักทางความคิดขึ้นมาล้อมตัวเองเช่นที่ผมเคยทำมาแล้ว อย่ายึดมั่นถือมั่นกับมุขเทศน์จนถึงจุดที่ต้องใช้พลังงานในการคิดมุขมากกว่าคิดสาระ และพึงระวังว่า “เมื่อเทคนิคการนำเสนอโดดเด่น ฉีกแนว และแตกต่างมากๆ มันจะข่มสาระจนมองไม่เห็น”
เพราะท้ายที่สุดแล้ว เราวัดผลของการเทศน์ที่คนในสังคมมีคุณธรรมและคุณค่ามากขึ้น ไม่ใช่มีความสุขจากความบันเทิงมากขึ้น”