xs
xsm
sm
md
lg

“สามารถ” ซัด ส.ส.ก้าวไกล ปมโพสต์ไม่มีชื่อ “ประวิตร” ถูกอภิปราย ชี้อย่าสร้างความวุ่นวาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อวันที่ 18 ส.ค.นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว กรณี นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า “ตอนที่ผมทราบว่า ไม่มีชื่อของ พลเอก ประวิตร ผมก็อยากถามเหมือนกันว่า สรุปที่ไม่ให้อภิปราย พลเอก ประวิตร เนี่ย ทำแบบนี้ #เพื่อใคร กันครับ?" การที่ นายรังสิมันต์ พยายามหยิบยกชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ขึ้นมาในช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นการสร้างกระแสสังคมให้เกิดความสับสนในตัว "บิ๊กป้อม"

ตนมองว่า ไม่ถูกต้อง เพราะเท่าที่สัมผัส พล.อ.ประวิตร เป็นผู้ใหญ่ที่มีจิตใจทำเพื่อประชาชน ไม่เคยเกรงกลัวต่อการอภิปราย ที่ผ่านมา เห็นได้ว่าตอบคำถาม และได้รับการไว้วางใจจาก ส.ส.อย่างท่วมท้นมาโดยตลอด นายรังสิมันต์ ต่างหากที่ไม่ยอมทำการบ้าน หรือทำแล้วแต่หาข้อมูลที่ พล.อ.ประวิตร. ทำผิดไม่เจอ ทั้งเปิดตู้ร้องทุกข์ก็แล้ว โพสต์ให้ชาวบ้านส่งข้อมูลมาก็แล้วก็หาไม่เจอ เพราะท่านเป็นคนดี ใสซื่อมือสะอาด ซื่อสัตย์สุจริต และจริงใจในการทำงานช่วยเหลือพ่อแม่พี่น้องประชาชน ซึ่งขณะเดียวกันปรากฏว่าพรรคก้าวไกลเองก็ไม่มีข้อมูลใหม่ หรือมีข้อมูลเพียงพอที่จะนำเสนอให้พรรคร่วมฝ่ายค้านลงชื่อได้ ตามที่ข่าวของพรรคร่วมฝ่ายค้่านได้แถลงข่าวไปแล้ว

ดังนั้น ตนคิดว่า ในช่วงสถานการณ์แบบนี้ นายริงสิมันต์ อย่าบิดเบือนข้อมูลโดยใช้ความมีอคติทั้ง 4 ที่มีต่อบิ๊กป้อม เพราะจะทำให้สังคมเกิดความวุ่นวาย ขออย่าให้ร้าย พล.อ.ประวิตร ตนอยากจะบอกคำโบราณไปถึงนายรังสิมันต์ที่ว่า "อย่าทำงานแบบสุกเอาเผากิน" ในการอภิปรายครั้งนี้ โดยการอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้นเป็นไปตามหลักการที่ว่า "ฝ่ายบริหารจะอยู่ได้ก็โดยความไว้วางใจของฝ่ายนิติบัญญัติ" ดังนั้น การอภิปรายไม่ไว้วางใจจะมีขึ้นก็ต่อเมื่อรัฐสภา เห็นว่า รัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีไม่ควรแก่การไว้วางใจให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ซึ่งอาจเกิดจากการตัดสินใจผิดพลาด การใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบ เป็นต้น

โดยการขออภิปรายครั้งนี้เป็นไป ตามมาตรา 151 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 การอภิปรายไม่ไว้วางใจสามารถจำแนกได้ เป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีทั้งคณะ โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ในสภา (โดยทั่วไปคือ 100 คน) มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะ โดยเมื่อได้มีการเสนอญัตติแล้ว นายกรัฐมนตรีจะยุบสภาผู้แทนราษฎรมิได้ ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้รัฐมนตรีหลีกหนีการถูกอภิปราย

การออกเสียงลงมติไม่ไว้วางใจ ห้ามมิให้กระทำในวันเดียวกันกับที่การอภิปรายสิ้นสุด ทั้งนี้ เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้มีเวลาไตร่ตรอง มติไม่ไว้วางใจจะต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร (โดยทั่วไปคือเท่ากับหรือเกินกว่า 251 เสียง) หากสภาลงมติไม่ไว้วางใจ รัฐมนตรีผู้นั้นจะต้องพ้นจากตำแหน่งทันทีตามมาตรา 170 นายกรัฐมนตรีมีสถานภาพเป็นรัฐมนตรีคนหนึ่งที่อาจถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ หากนายกรัฐมนตรีถูกลงมติไม่ไว้วางใจ คณะรัฐมนตรีทั้งคณะก็จะต้องพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 167

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นสิ่งที่สภาให้อำนาจกับ ส.ส.ในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ฉะนั้นประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ต้องการเห็นการทำงานที่เป็นประโยชน์ และเป็นข้อมูลจริงจากการทำงานของสภา ในเมื่อไม่มีข้อมูลเพียงพอ หรือไม่มีข้อมูลจริงก็ไม่อยากให้ นายรังสิมันต์ ทำงานแบบสุกเอาเผากิน เพื่อผลประโยชน์พ่อแม่พี่น้องประชาชน

"อยากให้อภิปรายประเด็นที่เป็นข้อมูลจริง ปีนี้เข้าสู่ปีที่ 3 แล้ว ควรกลับตัวกลับใจแล้วเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ ถ้าทำได้ก็จะส่งผลดีต่อตัวนายรังสิมันต์ เอง" อดีตผู้ช่วย รมว.ยุติธรรม ฝากถึง นายรังสิมันต์


กำลังโหลดความคิดเห็น