xs
xsm
sm
md
lg

‘ดร.ปนัดดา วงศ์ผู้ดี’ และอาสาสมัครองค์กรทำดี ผู้มุ่งหวังเยียวยาผู้ป่วยโควิด-19

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นับแต่วิกฤติโควิด-19 ระลอกแรก ถึงระลอกสี่ บุ๋ม ‘ดร.ปนัดดา วงศ์ผู้ดี’นางสาวไทยปี 2543 นักแสดงมากความสามารถ ร่วมด้วยทีมอาสาสมัคร ‘องค์กรทำดี’ ได้ร่วมกันให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยโควิดและบุคลากรทางการแพทย์มาอย่างต่อเนื่อง โดยที่เธอไม่เคยโอ้อวดแต่เพราะถามไถ่จึงได้รู้ว่า ในระลอกแรกเธอทุ่มเงินไปไม่น้อยกว่า 2,400,000 บาท เพื่อซื้อชุด PPE ให้บุคลากรทางการแพทย์ กระทั่งปัจจุบัน ยังทุ่มงบประมาณเพื่อรถพยาบาลรับส่งผู้ป่วยซึ่งเป็นรถพยาบาลแบบแรงดันลบ และใช้เงินอีกนับแสนเพื่อซื้อชุดตรวจ ATK ( Antigen Test Kit ) สำหรับผู้ป่วยยากไร้


ขณะที่ทีมของเธอ มีความพร้อมและมีศักยภาพ ด้วยรถพยาบาล 3 คัน รถกู้ภัย 3 คัน มีผู้บริจาคเครื่องผลิตอ๊อกซิเจนสำหรับผู้ป่วย นอกจากนี้ ยังขยายเครือข่ายการให้ความช่วยเหลือไปยังจังหวัดใกล้เคียงและปริมณฑล มีบริการรับส่งผู้ป่วยและประประชาชนที่ต้องการกลับภูมิลำเนาโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย รับส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ทั้งนำข้าวสารอาหารแห้ง ข้าวของเครื่องใช้จากผู้บริจาคไปมอบให้แก่ผู้ป่วยที่ยังต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน ขณะเดียวกันก็ยังต้องคอยผสานหาเตียงให้ผู้ป่วย อีกทั้งปัจจุบัน กำลังอยู่ระหว่างการสร้างศูนย์พักคอย ณ ชุมชนแห่งหนึ่ง

ระยะเวลายาวนานไม่น้อยกว่า 2 ปี ที่บุ๋มและทีมอาสาสมัครองค์กรทำดีลงพื้นที่ เผชิญหน้าอย่างกล้าหาญกับวิกฤติโควิด-19 ได้เห็นและรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้นจริง ทรรศนะ ความเห็น คำบอกเล่า และมุมมองของบุ๋ม จึงสะท้อนภาพทั้งองค์รวมและรายละเอียดปลีกย่อยของวิกฤติที่เกิดขึ้นได้อย่างน่าสนใจ ผ่านบริบทต่างๆ ทั้งการทำงานในฐานะอาสาสมัคร การพบเจอเคสที่ฝังใจ การเผชิญกับระบบต่างๆ ที่ก่อให้เกิดคำถาม

สำคัญที่สุด คือ มุมมองที่บุ๋มมีต่อโรคโควิด-19 ที่เธอมองอย่างตรงไปตรงมาว่า มันอาจอยู่กับเราไปตลอดชีวิต เพราะฉะนั้น เราทุกคน ต้องอยู่ให้ได้ และอยู่ให้รอด

‘ผู้จัดการออนไลน์’ สัมภาษณ์พิเศษ บุ๋ม ‘ดร.ปนัดดา วงศ์ผู้ดี’ นางสาวไทยปี 2543 และนักแสดงมากความสามารถ อีกทั้งเป็นผู้ก่อตั้งองค์กรทำดี ถึงทุกประเด็นที่กล่าวมา

>>> นับแต่เมื่อครั้งวิกฤติโควิด-19 ระลอกแรก

เมื่อขอให้เล่าถึงความเป็นมาในการช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 ว่าช่วยมานับแต่ช่วงระลอกแรกเลยหรือไม่

บุ๋มตอบชัดถ้อยชัดคำว่า “ใช่ค่ะ เริ่มช่วยตั้งแต่ ระลอกแรกเลย แล้วก็ในช่วงแรกเราแค่มองว่าแนวหลังอย่างพวกเรา ทำอะไรได้บ้าง แล้วในช่วงนั้น หน้ากากอนามัยมีราคาขึ้นไปแพงมาก บุ๋มก็เลยมาดูที่ชุด PPE เพราะถามเพื่อนที่เป็นหมอ ว่าต้องการอะไรบ้าง เขาก็บอกว่า ขาดชุด PPE ซึ่งตอนนั้น คำว่า PPE เรายังไม่รู้จักเลย แต่ด้วยความที่บุ๋มรู้มาเร็ว ก็เลยไปติดต่อโรงงานที่เขาผลิต ครั้งนั้นก็ลงทุนไปสองล้านสี่แสนบาท เพราะต้องเหมาล็อตใหญ่มา เพราะเราคิดว่าเราจะเอาไปแจก ก็กลายเป็นว่า วันนั้น แฟนคลับก็อยากร่วมบุญด้วยแฟนคลับร่วมช่วยคนละร้อยบ้าง สองร้อยบ้าง แต่ตัวแม่อย่างบุ๋มออกไปก่อนสองล้านกว่าบาท อะไรอย่างนี้ก็ไม่เป็นไรค่ะ

“แต่หลังจากนั้นคนก็มาร่วมบุญไม่ใช่แค่เป็นเงินอย่างเดียว แต่เป็นของด้วย เป็นตู้อบ UV บ้าง ข้าวสารอาหารแห้ง เต็มไปหมดเลย บุ๋มก็เลยเป็นหน่วยงานส่งในโรงพยาบาล ในรพ.สต.(โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล) ใน อสม. ต่างๆ รวมถึง โรงเรียนด้วย กู้ภัยด้วย จำได้ว่าระลอกแรกเราทำไป 400 กว่าแห่งเลย แล้วก็จากนั้นก็เริ่มเป็นภาพการช่วยเหลือผู้ป่วยโควิดที่ยาวมาจนถึงตอนนี้” บุ๋มระบุอย่างเห็นภาพ

>>> โควิดระลอกสอง ยังต่อเนื่อง

นอกจากนี้ บุ๋มกล่าวย้อนไปยังวิกฤติโควิดระลอกสองด้วยว่า เธอและทีมอาสาสมัครองค์กรทำดี นำข้าวสารอาหารแห้ง ไปแจกตามจุดต่างๆ ทำตู้ปันสุขตามจุดต่างๆ รวมถึงแจกตามโรงเรียน แจกเจลแอลกอฮอล์

“ช่วงกรกฎาคมปีที่แล้ว โรงเรียนเปิด เราก็ไปแจกแอลกอฮอล์กับหน้ากากผ้าให้กับทุกคน แล้วก็แจกหน้ากากให้พระสงฆ์ตามวัดต่างๆ แจกกระจายออกไปให้ได้เยอะๆ หลังโควิดซาลง หลังระลอกสอง เราก็เตรียมแผนงานไว้ก่อน เกี่ยวกับโรงพยาบาลต่างๆ และกู้ภัย เพราะกู้ภัยจะเป็นด่านหน้าในการเจอผู้ป่วยก่อน บุ๋มก็เริ่มกระจาย PPE แล้ว เพราะตอนนั้น PPE เริ่มถูกลง เมื่อแจก PPE ทำหน้ากาก ถุงมือ ทุกอย่าง และเตีรยมของให้กับหมอๆ ทั้งหลายตามชนบท ขนส่งห่างไกล เช่น บนดอย ที่ จ. น่าน เราก็ต้องเตรียมของให้เขาเรียบร้อย เผื่อมีผู้ป่วย เขาจะได้ใช้ได้ทันที เราก็เตรียมแผนการล่วงหน้าอย่างนี้ค่ะ

“แล้วเมื่อมาถึงระลอกสาม มือเป็นระวิงเลยค่ะ คืออะไรทำได้ ทำให้หมด เช่น สิ่งที่เราทำระลอกสาม คือ ทำตั้งแต่การรับรายชื่อผู้ป่วยในวันที่ยังพอหาเตียงได้ แต่วันนี้คือยากมาก แต่เราก็สามารถเอาชื่อเข้าระบบได้ เพื่อรอดูสิทธิ์ตามคิว ตามพื้นที่ ว่าตรงไหนบ้าง แต่ถ้าได้เตียง ได้โรงพยาบาลแล้ว เราก็จะมีรถรับจากบ้านไปสู่โรงพยาบาล โดยที่ไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น เป็นรถพยาบาลแรงดันลบที่ทำขึ้นมา เพื่อที่จะรับส่งผู้ป่วยโควิด เพราะเขาไม่ควรขึ้นรถสาธารณะไปแพร่กระจายเชื้อต่อไป หลายๆ คน เมื่อได้เข้าสู่โรงพยาบาลครบ 14 วัน ในการรักษาตัว รายได้เขาไม่มี เขาก็ไม่มีเงินค่ารถกลับบ้าน บุ๋มก็จะรับจากโรงพยาบาลกลับบ้านเช่นเดียวกัน” บุ๋มระบุ



>>> ความรุนแรงของวิกฤติโควิด-19 ระลอกสามและสี่

ทว่า ในช่วงนี้ ซึ่งเป็น ช่วงที่มีการระบาดหนักๆ ผู้ป่วยต้องทำ Home Isolation ช่วงที่รอเตียงบ้าง หยุดอยู่บ้านบ้าง ทีมงานอาสาสมัครของเธอก็จะมีทีมใส่ชุด PPE นำเอาข้าวสารอาหารแห้งไปให้ถึงบ้าน รวมทั้งยาสามัญประจำบ้านเบื้องต้น เช่น ยาพาราเซตามอล ยาแก้ไอต่างๆ ก็จะนำเอาไปไว้ที่บ้านให้เขา

“รวมถึงตอนนี้ หากลมหายใจเริ่มปริ่ม ออกซิเจนเริ่มต่ำ เราก็มีออกซิเจนไปให้เขาถึงบ้านอีก จนกว่าจะได้เตียงหรือจนกว่าจะตายจากกันไปเลย กรณีที่เขาตายเราก็ช่วยเก็บศพอีก ตอนนี้โรงพยาบาลก็ใช้งานเราแล้วนะ โรงพยาบาลเรียกใช้บริการของปนัดดา คือ ทุกคนตั้งสโลแกน ‘หายใจไม่ออกให้บอกบุ๋ม’ เพราะเราก็มีเครื่องผลิตออกซิเจน กรณีหายใจไม่ได้ มีกระทั่งบริการก็เก็บศพ ซึ่งศพผู้ป่วยโควิด ค่อนข้างอันตราย ก็ต้องใช้ทีมที่เชี่ยวชาญทำ ก็มีแต่เตาเผาศพเท่านั้นค่ะที่เราไม่ได้ทำ นอกนั้นทำหมด” บุ๋มกล่าวถึงการทำงานแบบครบวงจรในท่ามกลางวิกฤติโควิดระลอกที่สี่ และกล่าวเพิ่มเติมว่า ในห้วงยามนี้ น้องๆ ในทีมอาสาสมัครทุกคน พยายามจะเซฟบุ๋ม ห้ามไม่ให้เธอลงพื้นที่ เพราะอันตราย “ถ้าบุ๋มร่วง ทีมงานก็ร่วงตาม สายงานทุกอย่างพังไปหมด” บุ๋มระบุ

>>> การทำงานของแม่น้ำ 8 สาย

เมื่อสอบถามถึงรายละเอียดในเนื้องาน บุ๋มเล่าว่า ณ ตอนนี้ องค์กรทำดีมีสายงานทั้งสิ้นแปดสาย ทุกวันนี้ เมื่อมีของบริจาคเข้ามาก็จะมีแปดสายงานวิ่งมารับของแล้วนำออกไปส่งมอบผู้ป่วย

“ทีมงานจะมารับของแล้วออกไป เดิมทีเราทำแค่กรุงเทพฯ แต่ตอนนี้ เราไปปริมณฑล และจังหวัดข้างเคียงด้วย ขยายสายงานไปจังหวัดอื่น เช่น มี จ.นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร สมุทรปราการ อยุทธยา และลามไปถึงฉะเชิงเทรา นครนายก ที่ตอนนี้เราวิ่งเอาของไปมอบให้ ล่าสุด เครือข่ายที่ จ.ร้อยเอ็ด จใเชียงใหม่ ก็ทำเช่นเดียวกัน คือแพ็ค ข้าวสารอาหารแห้งตามโมเดลที่บุ๋มวางไว้ บุ๋มวางต้นแบบ เป็นโมเดลไว้ว่าต้องเขียนขอบคุณอย่างนี้ ทำภาพอย่างนี้นะ คนให้เขาจะได้มีกำลังใจ แต่ทีมงานไหนจะลงไปค่อยมาว่ากัน คือสอนงานเขาหมด ด้วยสถานการณ์โควิดที่เราลงไปเองไม่ได้ ก็ต้องวางเครือข่ายการทำความดีไปยังพื้นที่ต่างๆ ค่ะ” บุ๋มบอกเล่าการทำงานของเครือข่ายในจังหวัดต่างๆ

เมื่อถามว่า นอกจากการบริหารจัดการที่ค่อนข้างเป็นระบบแล้ว นับแต่การให้ความช่วยเหลือด้วยชุด PPE

ล็อตแรกเริ่มที่บุ๋มมอบเงินขวัญถุง 2 ล้านกว่าบาทแล้ว นับจากนั้น จนบัดนี้ การให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยโควิดทั้งหมดที่ขับเคลื่อนโดยองค์กรทำดี ทำด้วยอะไร ด้วยเงินบริจาคหรือจิตศรัทธาของประชาชนหรือไม่

บุ๋มตอบว่า “เงินก้อนแรก สองล้านสี่แสนบาทเป็นของบุ๋มก็จริง ช่วงหลัง ๆ มา เงินสมทบก็ยังเป็นของบุ๋มเสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะบุ๋มรู้สึกว่า ไม่อยากใช้เงินคนอื่น เรารู้สึกว่าเราเกรงใจ และเราไม่อยากให้ใครมาว่าเราลับหลังได้ว่า ‘ปนัดดา เธอ ขอเงินชาวบ้านเหรอ’ แต่ใครอยากส่งเท่าไหร่ อยากบริจาคเท่าไหร่ก็ส่งกันมาได้เลย แต่อย่าลืมว่า แปดสายงานในแต่ละวัน เราต้องมีค่าน้ำมัน ค่าชุด PPE หรือแม้กระทั่งค่าทางด่วน ค่าอาหารน้องๆ ในทีม เวลาใครเจ็บป่วย หรือแม้แต่ค่าชุดตรวจ ATK เพราะถ้ามีหนึ่งคนติด แล้วที่เหลือในบ้านยังไม่ได้ตรวจ เขาก็จะไม่สามารถเอาชื่อเข้าสู่ระบบได้ เราก็ต้องซื้อชุดตรวจไปตรวจพวกเขาให้ครบอีก ซึ่งคนที่เป็นแรงงาน ไม่มีทางที่เขาจะซื้อชุดตรวจ 300-400 บาท ได้ บุ๋มก็ต้องควักตรงนี้อีกแสนกว่าบาทเพื่อซื้อชุดตรวจ ATK ล่าสุด ก็เช่นเดียวกัน

“ดังนั้น ถามว่าเงินที่หมุนตรงนี้มาจากไหน ก็มีทั้งเงินบุ๋ม และเงินบริจาค สองส่วนด้วยกันค่ะ แต่ของบุ๋มเป็นหลัก ซึ่งบุ๋มโชคดีตรงที่บุ๋มมีงานพรีเซ็นเตอร์เยอะ อันนี้ พูดตรงๆ มันก็เลยกลายเป็นรายได้หลักของบุ๋มที่มีรายได้สิบกว่าล้านต่อปีที่บุ๋มได้ ซึ่งทางบ้านบุ๋มเขาก็เข้าใจที่บุ๋มชอบช่วยเหลือคน ส่วนเครื่องผลิตออกซิเจน มีคนเอามาให้ ในช่วงหลังๆ”

บุ๋มระบุ และกล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วงหลังๆ มีผู้นำมาให้ทางองค์กรทำดี เพราะเขามั่นใจว่าถึงมือของคนป่วย เพราะบุ๋มเขียนความชัดเจนไว้หมด น้องๆ อาสาสมัครในทีมที่นำเอาข้าวสารอาหารแห้งไปให้บ้านผู้ป่วยโควิด ต้องถ่ายบัตรประชาชนเขามาว่าบ้านเลขที่นี้ได้สิ่งนี้ บ้านนี้ได้สิ่งนี้ เพื่อให้คนที่เขาให้มาเขาสบายใจ ว่าของที่เขาให้ถูกนำไปมอบถึงผู้ป่วยจริงๆ

เมื่อถามว่า วิกฤติโควิดในระลอกล่าสุด มีสิ่งใดที่บุ๋มกังวลที่สุด

บุ๋มตอบว่า “ระลอกนี้ บุ๋มกังวลที่ตัวเลขมันสูงยาวมากเลย บุ๋มบอกทุกคนเลยนะ บุ๋มทำงานเหมือนแบบว่า เราพยายามว่ายน้ำไปทางคลื่นที่มันซัดเข้ามาทางเรา ทั้งๆ ที่เราพยายามว่ายน้ำเข้าหาฝั่ง แต่ฝั่งมันไกลมือเราไปเรื่อยๆ ณ ตอนนี้ ไม่รู้เหมือนกันว่าบุ๋มต้องสู้ไปอีกนานแค่ไหน ณ ตอนนี้ ไม่รู้เหมือนกัน ว่าเราต้องสู้ไปอีกนานแค่ไหน คือมันมองไม่เห็นเลยว่าเราทำอะไรกันอยู่บ้าง แต่ขอให้ทำตอนนี้ให้ดีที่สุด ทำวันนี้ ให้ดีที่สุด

นี่คือสิ่งที่บอกตัวเอง และบอกน้องๆ ทุกคน เพราะน้องๆ ของบุ๋ม ที่เป็นด่านหน้าทุกคน เกิน 50% ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน แล้วก็ไม่มีใครได้เงินจากการทำงานนี้ ทุกคนมาด้วยใจ มาด้วยจิตศรัทธา แล้วเราก็ต้องเป็นแบบอย่างให้เขา เราต้องเป็นผู้ให้ที่จริงใจ เพราะทุกวันนี้ ลมหายใจและชีวิตสำคัญขนาดไหน ต้องใช้ใจกันค่ะงานนี้” บุ๋มระบุอย่างชัดเจน และเล่าเพิ่มเติมด้วยว่า ทีมงานของเธอมีบริการรับ-ส่ง ผู้ป่วยข้ามจังหวัด เพื่อให้เขาได้กลับไปรักษาที่ภูมิลำเนาของเขา เพื่อที่ว่าเขาจะได้มีเตียง เราก็ช่วยขนส่งแบบนี้ด้วย อย่างที่เห็นข่าวว่าเกิดอุบัติเหตุกันระหว่างทาง


>>> สร้างศูนย์พักคอย ทุกอย่างถูกต้อง ทำประชามติ รับฟังความเห็นชุมชน

ถามว่า เท่าที่ทราบ ในช่วงนี้ ทีมงานของบุ๋มกำลังเตรียมทำศูนย์พักคอย บุ๋มกล่าวถึงความจำเป็นที่ต้องสร้างศูนย์พักคอยว่า มีเคสหลายเคสที่น่าเป็นห่วงมาก เช่นบางคนอยู่บ้านเช่า หรือหอพัก แล้วเมื่อเจ้าของหอรู้ว่าเป็นโควิดก็ขอให้ออกทันทีในคืนนั้นเลย เราจึงต้องมีที่สำรองให้กับพวกเขา หรือยกตัวอย่างบางบ้าน บางครอบครัว พ่อเป็นคนขับรถรับจ้าง ไปติดโควิดมา แล้วในบ้านมีตายายที่แก่ชรา เราก็ต้องแยกพ่อออกมา เป็นที่มาของการสร้างศูนย์พักคอย

“เราก็ต้องมีศูนย์พักคอยแบบนี้ให้ คือ เพื่อให้คนอื่นๆ ปลอดภัยกันมากขึ้น แล้วเราก็จะได้จัดเป็นสัดเป็นส่วน ดูแลกันได้ง่ายขึ้น หลังจากที่บุ๋มทำคดี ทำเคสเอง ก็ไม่ต่างกันค่ะ เราก็เห็นความจำเป็นว่าต้องมีศูนย์พักคอยอย่างไรบ้าง ซึ่งตอนนี้ที่ทำ จุดแรกคือชุมชนชาวฟ้า เป็นจุดแรกที่เรากำลังทำอยู่ แต่ทุกอย่างบุ๋มต้องทำให้ถูกต้อง ย้ำกับทีมงาน ว่าต้องมีใบอนุญาตนะ ต้องทำประชามตินะ มีทำเรียบร้อยแล้ว ใครเห็นด้วย ใครไม่เห็นด้วย เพราะอะไร ต้องรับฟังความเห็นของทุกคน มันอาจจะช้าหน่อย แต่บุ๋มอยากทำให้ชัวร์ น่าจะแล้วเสร็จไม่เกินเดือนนี้ รอเซ็นต์ใบอนุญาต ถ้าเรียบร้อยก็ทำได้เลยค่ะ เป็นโมเดลแรกของทีมบุ๋ม ซึ่งเครื่องช่วยหายใจ ทุกอย่าง สแตนบายรอ ครบถ้วนค่ะ” บุ๋มยืนยันถึงความพร้อมและความใส่ใจในการสร้างศูนย์พักคอยเพื่อผู้ป่วยโควิด

>>> ‘ระบบ’ ต้องชัดเจน ภาครัฐและภาคเอกชนควรผสานความร่วมมือ

เมื่อถามว่า ในมุมมองของบุ๋ม มีอุปสรรคอะไร หรือมีสิ่งใดที่ยังขาด และอยากส่งเสียงถึงสังคมส่วนใหญ่รวมทั้งผู้มีอำนาจในสังคม

บุ๋มตอบว่า “ผู้ใหญ่ต้องวางระบบให้ชัดเจนกว่านี้ หลังจากได้ทำงานตรงนี้มา คือ มันถึงเวลาแล้วที่ทุกคนต้องร่วมมือกัน เช่น กระทรวงไอทีของเราก็น่าจะเข้ามาช่วยดูเรื่องระบบการฉีดวัคซีน ไม่ใช่คนลงทะเบียนไปก็เว็บล่ม เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ แล้วก็ควรจะมีระบบที่ทำให้รู้ว่าผู้ป่วยอยู่ตรงไหนบ้าง ขนาดโทรศัพท์มือถือเรา แค่เราเดินเข้าห้าง ระบบก็ยิงส่วนลดมาให้เราแล้ว แล้วเรื่องแบบนี้ทำไมรัฐบาลทำไม่ได้ ต้องสามารถรู้ได้เช่นเดียวกัน

สิ่งสำคัญ นอกจากนั้นคือเรื่องชื่อผู้ป่วย ที่ยังเข้าระบบกันไม่ครบเลย เตียงรองรับไม่พอ หรืออาจเป็นโฮม ไอโซเลชั่น บุ๋มก็ได้รับเรื่องร้องเรียนมาว่าเขาได้แต่ยา แต่ไม่ได้ข้าวมากินเลย ไม่มีข้าวมาสักนิดแล้วเขาจะอยู่ยังไง จะให้เขาเดินไปซื้อของมันก็ยิ่งแพร่กระจายเชื้อถูกไหม ดังนั้น ระบบการเยียวยาต้องชัดเจน จริงจัง รวดเร็ว และเห็นภาพได้ชัดกว่านี้

อันนี้ พูดรวมๆ หลังจากที่ลงพื้นที่นะคะ เพราะบุ๋มไม่เห็นสักคนที่เขาได้ข้าว มีแต่ให้ยา และปัญหาที่ให้ยาไม่ครบก็มี นอกจากนี้ ยังมีอีกปัญหาหนึ่ง คือผู้ป่วยที่อายุเกิน 60 หรือเป็นผู้ป่วยติดเตียง เขาไม่รับเข้าสู่ระบบ เพราะเขาบอกว่าไม่มีเตียงหรือผู้ดูแล คือเราเข้าใจว่าการไม่มีผู้ดูแลไปคอยเช็ดฉี่เช็ดอึที่เตียงนั้นอาจจะยาก แต่แล้วให้คนป่วยอยู่บ้านคือหมายความว่ายังไง คือโดนทิ้งเหรอ คือ มันกลายเป็นระบบที่วนลูปกันอยู่อย่างนี้ แล้วพวกเขาก็ยิ่งป่วยอยู่แล้ว เมื่อเป็นโควิดก็หนักกว่าเดิม

ณ วันนี้ ถึงเวลาที่ต้องร่วมมือกันแล้ว ทางภาครัฐอาจขอบริษัทเอกชนใหญ่ๆ ที่ไหนบ้างที่ทำอาหาร วันนี้มีระบบรายชื่อเข้ามาแบบนี้นะ กรุ๊ปนี้ต้องการข้าวที่บ้าน แต่กรุ๊ปนี้ยังรอเอาเข้าโรงพยาบาล กรุ๊ปนี้ยังพอช่วยเหลือตัวเองได้นะ แล้วกรุ๊ปนี้ พวกหน้าด่านจริงๆ ก็ควรต้องได้วัคซีนนะ คือมันถึงเวลาแล้วจริงๆ ที่มันต้องทำงานผสานกัน แต่บุ๋มไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ที่ผ่านมาสังเกตได้ว่า ปนัดดาไม่เคยออกมาตั้งคำถามนะว่าคุณทำได้ไหม ใครทำได้ ไม่ได้ ใครทำอะไรทำ เพราะเราถือว่า ณ วันนี้ เราทำของเราอย่างเต็มที่ดีกว่า” บุ๋มระบุถึงภาพรวมของความร่วมมือที่อยากเห็นจากทุกภาคส่วน



>>> จากบ้าน สู่วัด สู่การฌาปนกิจและภารกิจพาคนกลับบ้าน

ถามว่า ทุกวันนี้ ผู้เสียชีวิต เท่าที่ทีมอาสาสมัครองค์กรทำดีของบุ๋มให้ความช่วยเหลือ กระทั่งผู้ป่วยเสียชีวิต และนำไปส่งถึงวัดเพื่อประกอบพิธีฌาปนกิจ มีจำนวนเท่าไหร่

บุ๋มตอบว่า ระลอกแรกๆ มีไม่กี่คน แต่เมื่อมาถึงวิกฤติโควิดระลอกหลัง อย่างน้อยมีผู้เสียชีวิตวันละคน แต่กระทั่งมาถึง ณ วันนี้ ภายใต้การทำงานอาสาสมัครขององค์กรทำดีพบว่าสถิติโดยเฉลี่ยมีผู้เสียชีวิตสามคนต่อวัน แต่อาจเป็นเพราะบางทีบุ๋มก็รับผู้เสียชีวิตจากโรงพยาบาลด้วย เนื่องจากโรงพยาบาลขอความช่วยเหลือมายังบุ๋ม ดังนั้น ตัวเลขผู้เสียชีวิตต่อวันก็อาจจะดูเยอะเพราะรับจากโรงพยาบาลด้วย นอกเหนือไปจากการทำงานของทีมอาสาสมัครองค์กรทำดี

บุ๋มกล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์พักคอย รพ.สต ( โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ) หรือแม้กระทั่งโรงพยาบาลเอง ก็ขอเครื่องผลิตออกซิเจนจากบุ๋มไปสี่เครื่อง องค์กรทำดีจึงเปรียบเสมือนกลายเป็นศูนย์กระจายของ ขณะที่สิ่งจำเป็นอย่างยานพาหนะ บุ๋มเล่าว่า มีรถพยาบาลที่มีมูลค่าถึงสองล้านสองแสนบาท ติดตั้งเครื่องแรงดันลบอีกหนึ่งแสนสองหมื่นห้าพันบาท ชุดตรวจโควิด หรือ ATK อีก มูลค่าแสนกล่าบาท

บุ๋มเล่าว่า รถพยาบาลคันแรกบุ๋มซื้อเอง แต่คันหลังๆ ในทีมจะมีรถของเขาอยู่แล้ว แต่เราต้องตกแต่งเพิ่ม เช่น ทำเครื่องแรงดันลบเพิ่ม

ถามว่าทีมอาสาสมัครของบุ๋ม มีรถโรงพยาบาลกี่คัน

บุ๋มตอบว่า ถ้าเป็นรถพยาบาลแรงดันลบ มีสามคัน แต่พังไป 1 คัน กำลังอยู่ระหว่างซ่อมแซมใหม่ แล้วก็มีรถกู้ภัยที่ทำไว้สำหรับรับส่งผู้ป่วย ที่น้องๆ ในทีมทำมาอีก 2 คัน ล่าสุด เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มาเพิ่มอีก 1 คัน รวมทั้งสิ้น เป็น 6 คันค่ะ รถกู้ภัยสามคัน รถพยาบาลสามคัน

ถามว่าเพียงพอไหม

บุ๋มตอบว่า “ไม่พอค่ะ ไม่พอเลย เพราะมีคนขอความช่วยเหลือทุกวัน เรากลายเป็นสายงานหลักสายงานหนึ่งในการช่วยเหลือผู้ป่วย ทำได้เท่าที่ทำ แต่ทุกวันนี้บอกได้เลยว่า ตั้งแต่เข้าวงการมา 20 ปีนะคะ ทุกวันนี้ เหนื่อยที่สุด เมื่อไม่กี่วันก่อนตุ๊กกี้ถามบุ๋มว่าสิ่งแรกที่พี่บุ๋มอยากทำคืออะไร บุ๋มตอบว่าขอนอน ไม่อยากทำอะไรเลย อยากนอนพักมาก แต่ทำไม่ได้ เพราะทุกคนในทีมต้องรายงานเรา แล้วเราต้องชัดเจน ทำอะไรที่ไหน บางทีตีสอง น้องในทีมโทร.มาถามว่าคนป่วยหายใจไม่ออก เราก็ต้องมานั่งบริหารจัดการช่วยเขา คอยถามว่าตอนนี้โมดูลาร์อัดอยู่กี่ลิตร” บุ๋มระบุ และกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ทีมอาสาสมัครองค์กรทำดีมีบริการส่งผู้ป่วยกลับภูมิลำเนาด้วยเช่นกัน

“การส่งผู้ป่วยไปต่างจังหวัด ทีมเรามีส่งกันอยู่ค่ะ อย่างช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา เราก็จัดเป็นรถบัสเลยนะคะ จัดรถกลับ จ.ร้อยเอ็ด แต่เพราะจ.ร้อยเอ็ดเรามีฐานเครือข่ายของเราอยู่ที่นั่น ก็เลยทำได้ เพราะการรับผู้ป่วยมันต้องมีที่ลงที่รับตัว ไม่ใช่ให้เขาลง บขส. เราต้องมีจุดที่รับตัวเขา ว่าจากนี้ ไปลงจุดไหน แล้ว อสม. มารับตรงจุดไหน

ถ้าโควิดยังยาวอยู่อย่างนี้นะ บุ๋มอยากให้ใครที่มีบ้านอยู่ต่างจังหวัดหรือป่วย อาจจะช่วยกลับบ้านกันไปก่อน แล้วแต่ละจังหวัดอาจจะประสานมากับองค์กรทำดีก็ได้ ว่าจะให้กลับวันไหน จะให้เราไปส่งที่จุดไหน แต่รายบุคคลเราทำไม่ได้นะคะ ทำทั้งทีต้องให้คุ้ม หลายๆ คน เป็นรถบัส และเราไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ เลย

การส่งผู้ป่วยที่เป็นโควิดหรือไม่เป็นโควิดก็ตาม กลับคืนภูมิลำเนา สิ่งที่เราทำก็กลายเป็นโมเดล ก็ได้เห็นหลายภาคส่วนกระตือรือร้นกันในการรับคนกลับบ้าน หลังๆ พอจุดไหนเขาทำแล้ว เราก็เริ่มถอยไปทำอย่างอื่น” บุ๋มระบุถึงการรับส่งผู้คนกลับภูมิลำเนาซึ่งองค์กรทำดีนับเป็นอีกหนึ่งองค์กรอาสาสมัครที่ริเริ่มทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ



เมื่อถามว่า เครื่องช่วยหายใจ เครื่องผลิตออกซิเจน ทุกวันนี้ต้องการเพิ่มไหม

บุ๋มตอบว่า “ต้องการค่ะ เพราะอย่าลืมว่าแต่ละคนใช้กันเป็นวัน เช่น บางราย ใช้มา 5 วันแล้ว เพราะยังไม่ได้เตียง พอได้เตียงเขาก็โทรมาบอกให้เราไปเก็บเครื่องได้เลย ทีมอื่น เท่าที่ฟังมา มีเอาเครื่องไปแล้วไม่คืน แต่ของบุ๋มไม่มีปัญหานั้นเลย เขาคงกลัวบุ๋มมั้ง ไม่รู้ ( หัวเราะ ) หรือเขาอาจเห็นความตั้งใจจริงของเรา เขาก็จะโทรมาบอกว่ามาเอาเครื่องไปได้เลยนะครับ”

ถามว่า รู้สึกอย่างไรกับตัวเลขผู้เสียชีวิตสามคนต่อวัน ที่เสียชีวิตไป ที่ทีมของบุ๋มต้องเผชิญ

บุ๋มตอบว่า จริงๆ ในมือของคนอื่นก็คงเป็นร้อย แต่การสูญเสียใครสักคนที่เป็นคนในครอบครัวของเราก็น่าเสียใจและน่าเห็นใจอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วงโควิดแบบนี้ที่จะไปกอดไปร่ำลายังทำไม่ได้เลย มันเป็นอะไรที่สะท้อนความเป็นจริง ณ ตอนนี้

“ดังนั้น ตัวเลขที่เกิดขึ้นบุ๋มเชื่อว่าคุณหมอทำงานกันเต็มที่แล้ว แต่เราทำงานกันช้าไป ไม่รู้ทำไมเหมือนกัน แต่ในความรู้สึกบุ๋มมันช้าไป วัคซีนช้าไปไหม หรือแม้แต่ระบบการเปิดเตียงสนามช้าไหม การเอาผู้ป่วยออกมาจากบ้าน ช้าไหม ถ้าแยกเขาได้เร็วกว่านี้ มันจะดีกว่านี้ไหม อะไรอย่างนี้ มันกลายเป็นว่า ณ ตอนนี้ มันช้าไปแล้ว” บุ๋มตั้งคำถามต่อสถานการณ์ที่เผชิญอยู่

>>> ความลำบากของผู้ป่วยที่ไม่อาจลืมได้

ถามว่าการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยในจังหวัดใกล้เคียงและปริมณฑล มีความแตกต่างจากกรุงเทพฯ อย่างไรบ้าง

บุ๋มตอบว่า จำนวนโรงพยาบาลน้อยกว่า แต่ความหนาแน่นของประชากร โดยเฉพาะคนต่างด้าวไม่ได้น้อยเลย รวมไปถึงคนที่มาจากต่างจังหวัดที่มาอาศัยและทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ ก็มีเยอะมาก ที่สิทธิ์การรักษาไปอยู่ต่างจังหวัด จึงเป็นการทำงานที่ยากมาก เพราะบางทีเขาต้องการสิทธิ์การรักษาของเขา แต่โรงพยาบาลก็เตียงเต็ม หรือบางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสิทธิ์การรักษาของตัวเองอยู่ไหน บางคนยังไม่รู้กระทั่งว่าบัตรประชาชนของตัวเองอยู่ตรงไหน

“การทำงานในเขตปริมณฑล บางบ้าน บ้านเขาเล็กมาก บางบ้านมี 5 คน ยกตัวอย่าง มีบ้านหลังหนึ่งที่บุ๋มไปเจออยู่กัน 11 คน แล้วเขาจะกักตัวยังไง มีห้องน้ำเดียว จึงอยากให้ผู้ใหญ่ของบ้านเมืองไปเดินดูตามซอกตามตรอก มันไม่มีทางที่จะแยกคนได้ในบ้านแบบนั้น บอกให้กักตัวอยู่บ้าน แล้วมีข้าวที่ไหนให้เขากินล่ะ แล้วผู้ป่วยอยู่ตรงไหน ล่าสุด ที่เราไปเจอ ผู้ป่วยเขาต้องไปอยู่ที่ดาดฟ้า เพราะมีเด็กเล็ก เราก็ต้องรีบเอาเตียงไปให้เขา เดี๋ยวตาย คือต่างจังหวัด ภาพยิ่งหดหู่และน่าเห็นใจมาก ผู้ป่วยรายนี้เขาขึ้นไปอยู่บนดาดฟ้าเพื่อหลีกเลี่ยงการอยู่กับคนในครอบครัวที่มีทั้งคนแก่ และเด็กเล็กค่ะ”

บุ๋มเล่าว่า นอกจากนี้ ยังมีอีกเคสหนึ่ง คุณแม่หายใจรวยรินแล้ว อาศัยอยู่แฟลตชั้นห้า ทีมงานของบุ๋มก็แบกเครื่องผลิตออกซิเจนกันขึ้นไป แล้วก็ถามลูกเขาว่าป่วยด้วยใช่ไหม เขาบอกใช่ ทีมงานเราก็ถามว่าทำไมเขาไม่แจ้งชื่อ เขาบอกว่าเขาไม่กล้าแจ้งชื่อ เพราะเดี๋ยวหมอเอาตัวเขาไปแล้วไม่มีใครดูแลแม่ เราฟังแบบนี้ เราก็สะท้อนใจมาก

“ยังมีอีกหลายเคสมากที่น่าเห็นใจ มีเคสหนึ่ง คุณยายอยู่กลางทุ่งนา เราก็แบกเครื่องผลิตออกซิเจนฝ่ากลางทุ่งนาเข้าไป เมื่อคุณยายได้ออกซิเจน คุณยายก็ยกมือขอบคุณที่เอาออกซิเจนมาให้ยาย คุณยายนอนป่วยอยู่หลายวัน แล้วไม่มีความหวังอะไรเลย เมื่อเราเอาไปให้ก็ยกมือขอบคุณ แต่สุดท้ายเราก็เสียคุณยายไป เพราะหาเตียงไม่ได้จนหยดสุดท้ายค่ะ” บุ๋มระบุถึงความจริงอันแสนเศร้า


>>> ‘น้ำใจ’ สิ่งที่เห็นจากสังคมไทย ในวิกฤติทั้งสี่ระลอก

ถามว่า เห็นอะไรในสังคมไทย จากวิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั้งสี่ระลอก

บุ๋มตอบว่า “เห็นพลังน้ำใจ คือคนไทยเป็นคนน่ารักค่ะ ประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าอยู่มาก บุ๋มพูดในฐานะที่บุ๋มเป็นนักเรียนนอกนะ แล้วบุ๋มอยู่มาหลายประเทศแล้วด้วย แต่เมื่อเกิดวิกฤติอะไรก็ตาม คนไทยไม่เคยทิ้งกัน ความช่วยเหลือที่บุ๋มได้รับ บุ๋มเห็นสิ่งดีๆ ตรงนี้ บุ๋มดีใจมาก อย่างเช่น ตอนน้ำท่วม บุ๋มก็ทำ หรือแม้แต่เรื่องของคดีความต่างๆ ที่บุ๋มทำก็อาจใช้ระยะเวลาในการสู้ แต่เราก็ยังเห็นน้ำใจ นี่คือความน่าอยู่ของคนไทย คนไทยน่ารัก แล้วบุ๋มว่าคนไทยเป็นคนที่ไม่เห็นแก่ตัว เรายังคงเผื่อแผ่ เรายังมีน้ำใจ มีคนส่งขนมมาให้ทีมงานบุ๋ม ส่งข้าวมาให้ทีมงานบุ๋มทุกวัน จนเราไม่รู้จะขอบคุณยังไง น้องๆ ก็ทำงานด้วยใจ เขาไม่มีรายได้ ไม่เอาอะไรจากบุ๋มสักบาทเลย เขาแค่เบิกตามจริง โอนเข้ากลุ่ม คนนี้เอาไปเท่าไหร่ คนนี้เอาไปเท่าไหร่ เป็นเหมือนพลังใจให้เราชื่นใจ ยอมรับว่าบางทีเราก็มีเหนื่อยมีท้อนะ จนถามตัวเองว่า ‘เฮ้ย! เราต้องเหนื่อยขนาดนี้เลยเหรอวะ’ เราก็ดาราคนนึงเองนะ แต่ ณ วันนี้ มันถอยไม่ได้แล้ว”

บุ๋มกล่าวว่า เพราะทีมงานอาสาสมัครทุกคนที่เขาอยากทำสิ่งดีๆ เขาอยากให้บุ๋มออกคำสั่ง ‘แม่บอกมาเลยจะให้ผมทำยังไง ไปที่ไหน’ ทุกคนมาโดยคำพูดแบบนี้ ทำให้บุ๋มรู้สึกว่า เรายังต้องอยู่นะ แล้วคำพูดที่แต่ละคนส่งกันเข้ามา คนที่ได้รับความช่วยเหลือ คนที่ได้เตียง ‘ตอนนี้ผมหายแล้วนะ’ ส่งมาเป็นคลิปไหว้ขอบคุณเลย บางคนก็อายุมากกว่าเรา แล้วส่งคลิปไหว้มาให้เรา เราไม่รู้จะพูดยังไง แต่เราดีใจที่ความเป็นครอบครัวของเขากลับคืนมา

บุ๋มเล่าว่า ก่อนหน้านี้ เธอลงพื้นที่แทบทุกวัน ไม่ไล่ไม่เลิก (หัวเราะ) แต่ ณ ตอนนี้ น้องๆ ในทีมอาสาสมัครเขาเห็นว่า เชื้อติดง่าย “เขาก็เลยบอกว่า ‘คุณแม่อยู่เฉยๆ คอยประสานงานดีกว่า’ เพราะน้องๆ ก็ทำไม่ได้เหมือนที่บุ๋มทำ ‘คุณแม่ ไปช่วยยืนบริหารงานสวยๆ’ แล้วพวกเขาไปพบผู้ป่วยเอง” บุ๋มบอกกล่าวถึงสรรพนามที่เธอและน้องๆ ในทีมสื่อสารกันอย่างเคารพรักใคร่



>>> สิ่งที่อยากเห็น


เมื่อถามว่า มีสิ่งใดอยากเสนอต่อผู้ใหญ่ในบ้านเมือง หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานด้านสาธารณสุข

บุ๋มตอบว่า “อยากให้เขาคุยกันให้ชัดเจนดีกว่า บางทีบอก ATK ใช้ได้ แต่บางโรงพยาบาล ก็ไม่รับอยู่ดี อะไรอย่างนี้ เป็นต้น และอยากให้เมืองไทยช่วยทำให้ ATKราคาถูกกว่านี้ เพราะคนหาเช้ากินค่ำเขาก็ไม่มีเงินซื้อตรวจได้ทั้งครอบครัวแน่นอน และระบบการรักษา ช่วยคุยกันหน่อย ว่าไปตรงนี้ไม่ได้ ให้ไปตรงไหน หรือระบบการรักษาที่บ้านเป็นยังไง อยากให้วางระบบให้ชัดเจน เพราะถ้าระบบชัดเจน เราก็ช่วยกันได้ชัดเจนเหมือนกัน แต่ตอนนี้ ไปไหนมาไหน ติดคำว่าระบบ เมื่อเร็วๆ นี้ ทีมบุ๋มจะส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาล เขาบอกว่า เขาไม่ให้ทีมบุ๋มส่ง เขาจะส่งรถโรงพยาบาลไปรับ เพราะมันเป็นระบบ บุ๋มถามว่ารออะไร แล้วต้องรอไปอีกชั่วโมง รออะไร ทั้งที่เราส่งให้ฟรีนะ ทำไมส่งไม่ได้ รออะไร งงนะ กับคำว่าระบบ ระบบที่มีอยู่ถ้ามันทำให้เกิดปัญหา ตัดออกเถอะค่ะ” บุ๋มกล่าวอย่างตรงไปตรงมา

>>> หาก ‘โควิด’ อาจอยู่กับเราไปตลอดชีวิต

ถามว่าในมุมมองของบุ๋ม คิดว่าวิกฤติโควิดจะอยู่กับเราไปอีกนานแค่ไหน

บุ๋มตอบว่า “บุ๋มว่าโควิดอยู่กับเราไปตลอดชีวิตนะ มันคือเชื้อโรคประเภทหนึ่งที่จะอยู่กับเรา เหมือนอีสุกอีใส เหมือนบาดทะยัก เหมือนไข้เลือดออก อะไรพวกนี้ เราต่างหากที่ต้องรู้ว่าเราจะอยู่กับมันยังไง คือจะให้คนเรามานั่งกลัว ความกลัวไม่ทำให้สิ่งดีๆ เกิดขึ้น แต่เราต้องรู้จักพัฒนาตนเอง อยู่ให้ได้ อยู่ให้เป็น อยู่ให้รอด เอาตัวเองให้รอดกับสิ่งที่มันจะอยู่กับเราไปตลอดชีวิต แล้วบุ๋มเชื่อว่า อีกหน่อย มนุษย์เราเก่งมาก เขาจะพัฒนายาขึ้นมาได้อย่างดีในอนาคตแน่นอนค่ะ”

คำถามสุดท้าย ถ้าโควิดอยู่กับเราไปตลอดชีวิต บุ๋มและองค์กรทำดีจะยังคงทำหน้าที่อาสาสมัครช่วยเหลือผู้ป่วยไปตลอดหรือไม่

บุ๋มตอบทันทีว่า “ทำค่ะ ทำ เพราะทุกวันนี้ แม้แต่เรื่องคดีความบุ๋มก็ยังทำ ทำมันทุกอย่างที่เราทำมา ทำจนกว่าบุ๋มจะไม่มีแรง ทำจนกว่าบุ๋มจะไม่มีลมหายใจ บุ๋มจะยังคงทำแบบนี้ต่อไปค่ะ” คือคำตอบชัดถ้อยชัดคำจากผู้หญิงหัวใจแกร่งคนนี้


..........................................
Text by รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
ภาพประกอบ จาก Facebook ดร.ปนัดดา วงศ์ผู้ดี


กำลังโหลดความคิดเห็น