xs
xsm
sm
md
lg

“กล่องปลุกชีพ”/ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ที่มีตัวเลขผู้เสียชีวิตและผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ คำว่านิวไฮดูเหมือนจะได้ยินบ่อยขึ้นเรื่อยๆ เป็นเหตุให้เจ้าลูกชายคนโต “สรวง สิทธิสมาน” ลุกขึ้นมาร่วมเป็นจิตอาสากับกลุ่มเยาวชน Seed Thailand ในโครงการ Save Thai Fight Covid ลงพื้นที่ด่านหน้าช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด และด้วยระยะเวลาไม่กี่วัน แต่สิ่งที่เขาพบเห็นและเรียนรู้จากประสบการณ์จริงทำให้เกิดความสะเทือนใจ และก็เกิดแรงบันดาลใจบางอย่างเล่าผ่านข้อความนี้

....................................…

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีเหตุการณ์มากมายเกิดขึ้นในชีวิตผม ความรู้สึกมากมายที่ยากอธิบายวนเวียนตัดสลับกันอยู่ในหัวใจดวงเดียวของผม ทั้งความภาคภูมิใจ เศร้าโศก สลด สงสาร สงสัย ซาบซึ้ง รวมทั้งอารมณ์โกรธ จิตตก และขมขื่น ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างนั้นเริ่มต้นขึ้นในโครงการที่มีชื่อว่า...

“Save Thai Fight Covid”

เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงมหาวิกฤติ ทั้งวิกฤติโควิด วิกฤติเศรษฐกิจ และวิกฤติทางด้านจิตใจ ตัวผมเองที่เกิดมาในฐานะชนชั้นกลางคนหนึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤตินี้โดยตรง กลับไปเรียนที่จีนไม่ได้มาปีครึ่งแล้วและยังไม่มีวี่แววว่าจะได้กลับไปเมื่อไร ต้องเรียนออนไลน์ และต้อง Work From Home เหมือนกับหลาย ๆ ท่านที่กำลังอ่านบทความนี้ ไม่รู้ว่าชีวิตการเรียนการทำงานข้างหน้าจะพลิกผันไปแค่ไหนอย่างไร ทำให้รู้สึกเดือดร้อนเองบ้าง เดือดร้อนแทนคนอื่นบ้าง แต่ความเดือดร้อนที่ผมได้เห็นได้สัมผัสอยู่ก่อนหน้านี้ แทบจะไม่มีความหมายอะไรเลย หากเทียบกับประสบการณ์ที่ผมได้ซึมซับในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ในโครงการที่ผมกล่าวถึงข้างต้น




โอเคครับ ต้องเล่าคร่าว ๆ ก่อนละว่า โครงการ Save Thai Fight Covid คืออะไร และตัวผมต้องทำอะไรในโครงการนี้บ้าง…

โครงการ Save Thai Fight Covid คือโครงการเฉพาะกิจที่จัดขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่อยู่ในขั้นตอนของการดูแลรักษาตัวเองที่บ้านหรือชุมชนที่เรียกว่า Home Isolation หรือ Community Isolation โดยจะมีการวางระบบแบ่งเป็นงานส่วนหน้าบ้านและหลังบ้าน

มีทีม Call Center และทีมแอดมิน Line Official เป็นตัวกลางในการประสานรับเคสผู้ป่วยเพื่อระบุตำแหน่งที่อยู่ เมื่อได้ตำแหน่งมาแล้ว ก็จะมีทีมลงพื้นที่นำ “กล่องยังชีพ” ของโครงการไปส่งถึงหน้าบ้านหรือชุมชน โดยภายในกล่องก็จะบรรจุอาหารแห้งสำหรับประทังชีวิต 7 วัน ยา สมุนไพร และอาหารเสริมต่าง ๆ

ตัวผมและทีมทำงานเยาวชนจากกลุ่ม SEED Thailand เป็นทีมงานส่วนหน้าบ้าน ลงพื้นที่ใส่ชุด PPE นำส่งกล่องยังชีพให้กับผู้ป่วย ญาติ และคนใกล้ชิดกับผู้ป่วย ส่วนน้องชายผม ในช่วงแรกเป็นทีมงานส่วนหลังบ้านทำหน้าที่ Call Center ครับ

เอาล่ะ จะเข้าเรื่องแล้ว...

ตั้งแต่วันแรกที่ผมเริ่มลงพื้นที่ก็เจอเคสที่ทำให้รู้สึกแน่นอกอย่างบอกไม่ถูกเลยละครับ

ผู้ป่วยมีคำนำหน้าชื่อเป็น ด.ช. และ ด.ญ. ตอนเอากล่องยังชีพไปให้นั้น พ่อของน้อง ๆ เป็นผู้ออกมารับของแทน เขาเดินเท้าเปล่าออกมาจากบ้าน ทำให้ผมเริ่มรับรู้ถึงสภาพทางเศรษฐกิจของครอบครัวนี้…

“ลูกชายและลูกสาวของผมติดโควิด ผมเลยเป็นคนออกมารับของแทนครับ”

คุณพ่อวัยกลางคนว่าอย่างนั้น ก่อนที่เพื่อนร่วมทีมของผมจะตอบกลับไปว่า

“คุณพ่อก็ต้องรักษาสุขภาพดี ๆ เอาไว้นะครับ ปฏิบัติตามคู่มือดูแลตัวเองอย่างเคร่งครัด เพราะถ้าหากติดโควิดจากลูกขึ้นมา เดี๋ยวลูก ๆ จะไม่มีคนคอยดูแล...”

คุณพ่อฝืนยิ้ม และตอบกลับมาว่า

“ไม่ทันแล้วล่ะครับ เมื่อเช้านี้ผมเพิ่งไปตรวจที่โรงพยาบาลมา พบว่าผลเป็นบวก ผมติดโควิดจากลูกแล้วครับ”

“......”

“ตอนนี้แฟนของผมกำลังไปตรวจและรอผลอยู่ ถ้าแฟนผมติดขึ้นมา ผมคงไม่รู้จะทำยังไงจริง ๆ เหมือนกันครับ”

ชายวัยกลางคนตอบประหนึ่งว่าแฟนของเขาเป็นความหวังสุดท้ายของบ้าน


ทีมของเราได้แต่มองหน้ากันเอง โดยที่ไม่รู้จะตอบกลับไปอย่างไร นอกจากบอกท่านตามภารกิจเฉพาะของทีมงานที่จะสามารถช่วยบรรเทาทุกข์เป็นส่วนเสริมว่าถ้าพบว่าผลเป็นบวกก็สามารถลงทะเบียนเข้ามาขอรับกล่องยังชีพทาง Line Official Account (ID: @savethai) ได้

เรียกได้ว่าจุกกันไปเลยสำหรับเคสแรกของวัน

ตลอดทั้งวันยังมีเคสอื่น ๆ ที่ให้ความรู้สึกขมขื่นไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นเคสในชุมชนคลองเตยที่อยู่ในซอยแคบ ๆ เข้าไปแล้วมีทั้งรถพยาบาลติดไซเรน และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ใส่ชุด PPE เดินตรวจเชิงรุก และหามผู้ป่วยบางคนที่ไม่มีแรงจะเดินไปขึ้นรถพยาบาล เราเห็นเช่นนั้นจึงรีบแจกของ รีบขึ้นรถกลับ เพราะกลัวจะไปเกะกะการทำงานของหน่วยงานรัฐ

บางเคสที่เราเข้าไปเป็นคลัสเตอร์ตลาดที่เพิ่งมีคนติดกันระนาวเมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา เมื่อส่งของถึงมือผู้รับ เขาก็เล่าให้ฟังว่าคนข้างบ้านเพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อวานนี้ ส่วนคนหน้าปากซอยเพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อสัปดาห์ก่อน โดยครอบครัวของผู้เสียชีวิตต่างกำลังอยู่ในขั้นตอนรอเตียง ทางเราก็เหมือนเดิม ทำอะไรไม่ได้นอกจากบอกให้ท่านไปบอกคนในชุมชนให้ลงทะเบียนกันเข้ามารับกล่องยังชีพ

ซึ่งก็น่าเศร้าที่กล่องยังชีพที่เรามีให้มันทำได้แค่ “ยังชีพ” ชั่วขณะ แต่ไม่สามารถ “คืนชีพ” ให้กับผู้เสียชีวิตได้เลย...

ผมและทีมงานเป็นวัยรุ่นอายุ 23-24 ปี รู้สึกว่าอยู่ใกล้ชิดกับคำว่า “ความตาย” ที่สุดก็ตอนนี้แหละครับ

แต่ก็ไม่ได้ใกล้ไปกว่าตอนที่ได้ก้าวเท้าเข้าไปในวอร์ดโควิดของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ทำให้เห็นภาพของผู้ป่วยสีแดงที่นอนนิ่ง พยายามอ้าปากเพื่อหายใจอยู่บนเตียงพร้อมด้วยสายระโยงระยาง และกราฟบนเครื่องวัดชีพจรก็บ่งบอกถึงความอ่อนแอของลมหายใจ เป็นภาพติดตาที่ทำให้นอนแทบไม่หลับในค่ำคืนนั้น

ก่อนเข้ามารับหน้าที่ในโครงการนี้ ผมติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโควิด-19 มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลที่แชร์กันตามโซเชียล เรื่องราวปากต่อปาก ภาพคนเสียชีวิตภายในบ้านหรือหมดสติข้างถนน ภาพความยากลำบากของผู้คน ทั้งยังมีคนที่เคยรู้จักกันที่เสียชีวิตไปเมื่อเร็ว ๆ นี้เนื่องจากโควิด-19 ทั้งฟัง อ่าน วิเคราะห์ จนพอทราบว่าปัญหาในภาพรวมเป็นอย่างไร

แค่พอทราบว่าปัญหาในภาพรวมเป็นอย่างไรจากการฟัง อ่าน วิเคราะห์ ซึ่งล้วนเป็นข้อมูลชั้นสอง หลายขณะผมก็ได้รับความเครียดขึ้นมาไม่น้อย

แต่นั่นก็คือความเครียดในขณะที่ก้นของผมนั่งติดอยู่บนเบาะและหลังของผมพิงอยู่บนพนักโซฟา

ซึ่งเทียบไม่ได้กับการไปเห็นด้วยตาได้ยินกับหูได้กลิ่นด้วยจมูกเลย เป็นข้อมูลชั้นต้นที่ผสมผสานเป็นบรรยากาศสลดหดหู่ตลบอบอวลอยู่รอบตัว


เมื่อเข้าร่วมโครงการ Save Thai Fight Covid ผมเห็นหลายสิ่งที่คิดว่าคนรุ่นราวคราวเดียวกันอาจไม่ได้มีโอกาสอย่างผมง่าย ๆ จนต้องเก็บมาครุ่นคิดวนเวียนอยู่กับมัน

จะว่าหดหู่ก็หดหู่ครับ แต่อีกด้านหนึ่งมันก็ทำให้ผมและคนในทีมยิ่งรู้สึกว่าในยามวิกฤติเช่นนี้ ยิ่งต้องมีผู้กล้าออกมา “ลงมือทำ” ช่วยอะไรได้ก็ต้องช่วย ทำอะไรได้ก็ต้องทำ ความรู้สึกเช่นนี้ทำให้เกิดพลังขึ้นมาได้

ซึ่งก็ต้องขอบคุณผู้ใหญ่ที่ช่วยกันประสาน ทั้งทางกรรมาธิการของวุฒิสภา และมูลนิธินักศึกษาสถาบันพระปกเกล้าเพื่อสังคม ที่เข้ามาเป็นแม่งาน ร่วมกับกลุ่มบริษัทในเครือ RBS ที่เข้ามาดูแลเรื่องกำลังคนและระบบ และเพื่อน ๆ เยาวชน SEED Thailand ที่ทำงานกันอย่างหนัก ทำให้ผมได้มีบทบาทเข้ามามีส่วนร่วมในการ “ลงมือทำ” ในครั้งนี้ ในลักษณะของการเป็นจิตอาสา

สุดท้ายนี้ที่ต้องกราบขอบพระคุณจากก้นบึ้งหัวใจของผม ก็คือครอบครัวของผม ทั้งคุณพ่อและคุณแม่ที่ทั้งเข้าใจและเคารพในการตัดสินใจของผม ปล่อยให้ผมได้ออกจาก Comfort Zone ไปทำในสิ่งที่เชื่อ ซึ่งก็คงเป็นประโยชน์ต่อทั้งตัวโครงการ และต่อสังคมอยู่บ้าง ไม่มากก็น้อย

แต่ที่สำคัญที่สุด มันทำให้ผมได้รับรู้ เรียนรู้ และใฝ่รู้ มากขึ้นถึงปัญหาสังคมต่าง ๆ ที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบันก็ดี หรือสืบเนื่องมาจากอดีตก็ดี

ประสบการณ์อันล้ำค่านี้ จะเป็นบทเรียนและแรงบันดาลใจให้ผมในการแสวงหาหนทางในการทำประโยชน์ให้กับสังคม เพื่อเป็นอนาคตที่ดีต่อแผ่นดินบ้านเกิดเมืองนอนเมื่อผมเติบโตเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวในวันข้างหน้า

แม้กล่องยังชีพจะไม่สามารถคืนชีพให้กับผู้สูญเสียได้ แต่มันได้ “ปลุกชีพใหม่” ขึ้นมาในตัวของเยาวชนกลุ่มหนึ่งแล้ว...

ขอบคุณทุกคนจากใจจริงครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น