xs
xsm
sm
md
lg

อาจารย์ นิติฯ มช.แนะรองโฆษก อสส.อยู่ในโลกแห่งความจริงติดตามคดีที่ล่าช้า ดีกว่าไปของขึ้นกับละครที่บิดเบือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ออกมาโพสต์ข้อความวิจารณ์ กรณี อัยการ ออกอาการเดือดร้อนกับละคร “ให้รักพิพากษา” ที่มีการนำเสนอเกี่ยวกับอัยการที่บิดเบือน ชี้ ควรใส่ใจกับโลกแห่งความจริง ติดตามคดีที่เคลือบแคลงใจประชาชน ดีกว่ามาเดือดกับละครบิดเบือน

จากกรณี นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) โพสต์เฟซบุ๊กตำหนิบทละคร “ให้รักพิพากษา” ชี้มีการนำเสนอหน้าที่อัยการบิดเบือน หวั่นสังคมจะเข้าใจผิด ด้านรองอธิบดีอัยการสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายอัยการสำนักงานอัยการสูงสุด ส่งเมลไปหาผู้จัด ชี้บทละครส่อทำให้ประชาชนเข้าใจผิดในวิชาชีพพนักงานอัยการ และอาจทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม ตามที่ได้เสนอไปแล้วนั้น

อ่านข่าวประกอบ - อัยการสะเทือน! ตำหนิละคร “ให้รักพิพากษา” ชี้นำเสนอบทบาทหน้าที่บิดเบือน หวั่นประชาชนเข้าใจผิด

อ่านข่าวประกอบ - “ทนายนิด้า” แจงปมดรามาละคร “ให้รักพิพากษา” เสนอเนื้อหาบิดเบือน ชี้ละครก็คือละคร ไม่ใช่สารคดี

ล่าสุด วันนี้ (13 ส.ค.) รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ออกมาโพสต์ข้อความเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวผ่านเพจ “ศูนย์วิจัยฯ มหาวิทยาลัยหน้าบางแห่งหนึ่ง” โดยได้ระบุว่า

“ถึง คุณอัยการ ผู้เดือดร้อนกับละครทีวี

เห็นข่าว “อัยการเดือด ละคร ‘ให้รักพิพากษา’ เนื้อหาบิดเบือน” (ดูรายละเอียดใน https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_6560393) ผมก็รู้สึกละเหี่ยใจอย่างไรก็ไม่รู้

แน่นอนว่า คงมีส่วนที่มีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการทำงาน การคัดคน ให้เข้าสู่อาชีพนี้ในหลายจุด แต่ก็ไม่เห็นมีอะไรมาก หน่วยงานรับผิดชอบก็ชี้แจงกลับไปทางผู้จัดให้เข้าใจถึงข้อเท็จจริง เชื่อว่า ทางผู้จัดคงปรับแก้หรือมีคำอธิบายกลับมาแน่นอน แวดวงบันเทิงถ้าไม่จำเป็นจริงๆ เขาคงไม่อยากมายุ่งกับแวดวงกฎหมายหรอก

แต่ขณะที่เป็นเดือดเป็นร้อนกับละครที่ไม่เป็นความจริง แต่กับ “ความจริง” ที่สังคมตั้งคำถามมาอย่างต่อเนื่อง กับการทำหน้าที่ของอัยการ ว่า ไม่ได้เป็นตามหลักวิชาชีพ เฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่ห้วงเวลาภายหลังรัฐประหารเป็นต้นมา มีคดีเป็นจำนวนมากที่ประชาชนถูกฟ้องร้องกล่าวหาต่อศาล ทั้งที่พยานหลักฐานหรือการกระทำไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความผิดอย่างชัดเจน แต่กลับไม่ปรากฏการทำหน้าที่ในการ “อำนวยความยุติธรรม” มากเท่าไหร่

อัยการในหลายคดี ยิ่งเป็นความขัดแย้งทางการเมืองก็จะทำหน้าที่สั่งฟ้องไปเป็นด้านหลัก หรือก็เป็นการสั่งฟ้องที่ดูจะเกินข้อเท็จจริงไปอย่างมาก บุคคลที่ต้องเป็นผู้ต้องหาในคดี 116 จำนวนมาก ไม่ได้ทำอะไรไปมากกว่าการวิพากษ์วิจารณ์หรือการชุมนุมประท้วงรัฐบาล (คดีเกี่ยวกับชุมนุมสาธารณะดูได้ใน “บทเรียนและสภาพปัญหาเกี่ยวกับเสรีภาพในการชุมนุมเพื่อการปรับปรุงพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558”, https://kpi-lib.com/library/books/kpibook-27380)

หรือในหลายคดีที่มีความล่าช้าและสร้างความเคลือบแคลงกับประชาชนอย่างมาก เช่น กรณีบอส กระทิงแดง ให้ตายเถอะ ตอนนี้ผ่านไปจะสิบปีแล้ว นอกจากคดีไม่คืบแล้ว การสอบสวนอัยการที่มีข่าวว่าอาจปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบก็ยังไม่จบสิ้น ไม่รู้ว่าต้องดำเนินการกันอีกยาวนานเท่าไหร่ จำสุภาษิตกฎหมายที่ว่ากันว่า “ความยุติธรรมที่ล่าช้า คือความอยุติธรรม” ไม่ได้หรือ (ดูตัวอย่างจดหมายถึงอาจารย์คณิต https://www.facebook.com/lawlawcmcm/posts/2469362396646651)

กรณีต่างๆ เหล่านี้แหละครับ ที่คุณอัยการทั้งหลายควรจะ “เดือด” แต่สิ่งที่ปรากฏขึ้น ก็คือ ความเงียบเชียบที่ครอบคลุมไปทั่ว

มีตัวอย่างอีกเยอะ ทั้งที่ผมได้เข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรงและที่ได้ทำการศึกษา แต่ไม่อยากจะอธิบายทั้งหมดในที่นี้ ถ้าอัยการคนไหนสนใจอยากฟังก็ยินดี แต่คิดว่าคงต้องเตรียมเวลามามากหน่อย ถ้าเล่าให้ฟังก็คงหลายวันหลายคืนหรืออาจเป็นเดือน เอาแค่การสั่งฟ้องคดี 112 ก็มีปัญหาเป็นอย่างมาก

ผมมีความเห็นว่า คุณอัยการทั้งหลาย ควรจะรู้สึก “เดือด” ในเรื่องที่ควรเป็นเดือดเป็นร้อนให้มากกว่านี้ครับ ไหนๆ ก็กินเงินเดือน เงินตำแหน่ง ค่ารถ ไม่น้อยกว่าบุคลากรอื่นในกระบวนการยุติธรรม”

กำลังโหลดความคิดเห็น