xs
xsm
sm
md
lg

อัยการสะเทือน! ตำหนิละคร “ให้รักพิพากษา” ชี้นำเสนอบทบาทหน้าที่บิดเบือน หวั่นประชาชนเข้าใจผิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) โพสต์เฟซบุ๊กตำหนิบทละคร “ให้รักพิพากษา” ชี้มีการนำเสนอหน้าที่อัยการบิดเบือน หวั่นสังคมจะเข้าใจผิด ด้านรองอธิบดีอัยการสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายอัยการสำนักงานอัยการสูงสุดส่งเมลไปหาผู้จัด ชี้บทละครส่อทำให้ประชาชนเข้าใจผิดในวิชาชีพพนักงานอัยการ และอาจทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม

จากกรณีละคร “ให้รักพิพากษา” ที่ออกอากาศทางช่อง 3 มีการเสนอเนื้อหาบางช่วงบางตอนเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของอัยการ เช่น ให้พนักงานอัยการไปไล่จีบผู้หญิงพร้อมเสนอให้มาเป็นพนักงานอัยการ

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 12 ส.ค. นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว “Prayuth Pecharakun” เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวว่า

“ให้รักพิพากษา” ละครช่อง 3 เป็นละครที่มีการนำเสนอที่บิดเบือนการทำงานของอัยการที่เสียหายมาก เช่น คดีไม่สำคัญมอบอัยการผู้ช่วยทำ หรือชวนทนายมาเป็นอัยการเพราะกำลังขาดคนหรือการทำงานโดยเลือกเอาเอกสารออกจากสำนวน ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดทำให้สังคมเข้าใจบทบาทอัยการที่ไม่ถูกต้องอย่างรุนแรง กระทบต่อความรู้สึกของอัยการทั่วประเทศ

สักครู่ผมในนามทีมโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดได้ประสานไปยัง คุณหนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย ในฐานะผู้ประกาศข่าวช่อง 3 เพื่อประสานผู้จัดละครให้ทราบข้อเท็จจริงและหาทางแก้ไขโดยด่วนแล้วครับ

นอกจากนี้ ยังพบว่า นายอดิศร ไชยคุปต์ รองอธิบดีอัยการสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายอัยการสำนักงานอัยการสูงสุด ได้ส่งเมลไปยังผู้จัดละครเรื่องดังกล่าว โดยมีข้อความว่า

“เรียนผู้จัดละครเรื่อง “ให้รักพิพากษา” และผู้บริหารช่อง 3

ด้วยบทละครผู้เล่นบทพนักงานอัยการ มีการส่อถึงการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการที่ไม่ชอบขัดต่อความเป็นจริง และไม่ตรงต่อหลักการดำเนินคดีของพนักงานอัยการที่ต้องมุ่งค้นหาความจริงให้ปรากฏในศาลเพื่อความยุติธรรม

พนักงานอัยการไม่ใช่คู่แพ้ชนะกับผู้ต้องหาและจำเลย และการเข้าสู่ตำแหน่งพนักงานอัยการต้องมีการสอบเข้าโดยมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับการสอบเข้าเป็นผู้พิพากษา อันเป็นบทบัญญัติตามกฎหมาย

บทละครดังกล่าวทำให้ประชาชนเข้าใจผิดในวิชาชีพพนักงานอัยการ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อพนักงานอัยการและองค์กรอัยการ และทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมเป็นการไม่สร้างสรรค์และเกิดประโยชน์ต่อสังคม”





กำลังโหลดความคิดเห็น