xs
xsm
sm
md
lg

“หมอมนูญ” เผยผลข้างเคียง “ยาฟาวิพิราเวียร์” หลังใช้ในผู้ป่วยโควิด-19 ชี้ถ้าให้ช้าไปไม่ได้ผล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายแพทย์ มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ เผยผลข้างเคียง “ยาฟาวิพิราเวียร์” ไม่ช่วยลดการเสียชีวิตในคนไข้โรคโควิด-19 ต้องให้ตั้งแต่เริ่มมีอาการในคนป่วยที่มีความรุนแรงน้อยหรือปานกลาง ให้ช้าไปไม่ได้ผล

จากกรณีปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก จนรัฐบาลต้องปรับมาตรการให้ประชาชนรักษาตัวเองที่บ้าน ทั้งนี้ นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย จี้รัฐบาลส่ง “ยาฟาวิพิราเวียร์” ให้ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่กักตัวอยู่บ้านทันที ป้องกันและลดเหตุสลดเสียชีวิตคาที่พัก นอกจากนี้ยังพบว่า ดร.ณพพงศ์ ธีระวร ประธานกิตติมศักดิ์สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ปัจจุบันเป็นผู้ป่วยโควิด-19 รักษาตัวอยู่ในห้องความดันลบ รพ.รามาธิบดี เสนอภาครัฐบริหารยาฟิวิพิราเวียร์ ปรับแก้ กม.ให้สามารถเร่งผลิต เร่งกระจายไปตามร้านขายยาทั่วประเทศ เพราะนี่อาจเป็น Game Changer ตัวใหม่ในการควบคุมความรุนแรงของอาการในผู้ป่วยหนัก รวมถึงการลดอัตราการเสียชีวิตลง

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 19 ก.ค. นายแพทย์ มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์เฟซบุ๊ก “หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC” เกี่ยวกับผลข้างเคียงของ “ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir)” ที่ใช้ในผู้ป่วยโควิด-19 โดย “หมอมนูญ” ได้ระบุข้อความว่า

“ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) คิดค้นในประเทศญี่ปุ่นปี ค.ศ. 2002 เริ่มใช้ในประเทศญี่ปุ่นสำหรับรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ปี ค.ศ. 2014 นำมารักษาโรคโควิด-19 ในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย ข้อมูลจากการศึกษาพบว่า ยาฟาวิพิราเวียร์มีประสิทธิภาพช่วยให้อาการดีขึ้น ลดความรุนแรงของโรค ลดจำนวนไวรัสในร่างกาย ลดการใช้ออกซิเจนได้ แต่ช่วยได้น้อยไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ยาฟาวิพิราเวียร์ไม่ช่วยลดการเสียชีวิตในคนไข้โรคโควิด-19 (ดูรูป)

คำแนะนำ ถ้าจะใช้ฟาวิพิราเวียร์ต้องรีบให้ตั้งแต่เริ่มมีอาการในคนป่วยที่มีความรุนแรงน้อยหรือปานกลาง ให้ช้าไปไม่ได้ผล องค์การอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐอเมริกาไม่อนุมัติให้ใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ในการรักษาโรคโควิด-19 เพราะมีความเห็นว่ายานี้ยังมีประสิทธิภาพดีไม่เพียงพอ

ผลข้างเคียงของฟาวิพิราเวียร์พบได้แต่ไม่บ่อย มีคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ทำให้ค่าเอนไซม์ตับ และกรดยูริกในเลือดสูง และมีรายงานทำให้หัวใจเต้นช้า ผู้ป่วยหญิงอายุ 53 ปีติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จากสามี เข้านอนรักษาใน รพ.ด้วยอาการเหนื่อย ไข้ ไม่ไอ เอกซเรย์ปอดมีปอดอักเสบเล็กน้อยสองข้าง เจาะเลือดค่าเอนไซม์ตับวันแรกปกติ แพทย์เริ่มให้การรักษาด้วยยาฟาวิพิราเวียร์ตั้งแต่วันแรกที่เข้านอนในรพ. ให้ทั้งหมด 10 วัน ผู้ป่วยมีถ่ายเหลวบ้างแต่ไม่คลื่นไส้ ไม่อาเจียน

วันที่ 5 หลังเริ่มยาฟาวิพิราเวียร์ ชีพจรช้าลง 40 กว่าครั้ง/นาที ช้าที่สุด 38 ครั้ง/นาทีในวันที่ 7 ที่ได้รับยา หลังหยุดยาฟาวิพิราเวียร์ 3 วัน ชีพจรกลับมาเป็นปกติ ตรวจเลือดค่าเอนไซม์ตับวันที่หยุดยาฟาวิพิราเวียร์ ค่าเอนไซม์ตับขึ้นสูงผิดปกติ SGOT 197 SGPT 626 Alkaline phosphatase 359 แต่ค่า bilirubin ปกติ ตรวจไม่พบไวรัสตับอักเสบ A, B, C อัลตราซาวนด์ตับปกติ อาการทางปอดดีขึ้น ต้องใช้เวลา 1 เดือนครึ่งกว่าค่าเอนไซม์ตับจะค่อยๆ กลับมาเป็นปกติ

สรุป ผู้ป่วยรายนี้ดีขึ้น แต่มีผลข้างเคียงจากยาฟาวิพิราเวียร์ ทำให้หัวใจเต้นช้าและมีตับอักเสบ หายได้เองหลังหยุดยา”

กำลังโหลดความคิดเห็น