xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ฉะกลับ! “ธนาธร” ลั่นกรมหม่อนไหม คือ “โอกาส” มิใช่ภาระของชาติอย่างที่ถากถาง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายศักดา แสงกันหา ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ โต้กลับกรณี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า อ้าง “กรมหม่อนไหม” มีงบประมาณ 560 ล้าน และตั้งคำถามทำไมต้องให้งบประมาณมากขนาดนี้ ลั่นหม่อนไหม คือ โอกาสของประเทศ ย้ำใครที่จะมาเป็นนักการเมือง หรือผู้บริหารประเทศไทย ยิ่งต้องมองเป็น “โอกาส” หาใช่การผลักไสวิถีชีวิตของพวกเราไปเป็นเรื่องตลก หรือมองเป็น “ภาระ”

จากกรณี ดรามาวงการผ้าไหมไฟลุก หลัง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า อ้าง “กรมหม่อนไหม” มีงบประมาณ 560 ล้าน และตั้งคำถามทำไมต้องให้งบประมาณมากขนาดนี้ พร้อมระบุว่า “คนทำงานตัวจริงโต้กลับ งบถูกตัดทุกปี คนทำงานกัดฟันดูแลเกษตรกร” ชี้ อาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ไม่ใช่ได้แค่ผ้าไหม แต่ยังมีทั้ง​อาหาร​ ยารักษาโรค​ เครื่องสำอา​ง แถมช่วยชีวิตคนในห้องผ่าตัดยื้อจากความตาย ตามที่เคยนำเสนอข่าวไปแล้วนั้น

วันนี้ (15 ก.ค.) เพจ “ศักดา แสงกันหา มิสเตอร์ผ้าไหม-โคราช” หรือนายศักดา แสงกันหา กรรมการผู้จัดการ บริษัท มะลิกู๊ด จำกัด ทายาทวัย 30 ปี ของ “วันเพ็ญ แสงกันหา” ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรคึมมะอุ-สวนหม่อน จ.นครราชสีมา ได้ออกมาโพสต์ตอบโต้ถึงกรณีดังกล่าว โดยระบุข้อความว่า “กรมหม่อนไหม คือ “โอกาส” มิใช่ภาระของชาติ อย่างที่เขาถากถาง จากกรณีมีคนตั้งถามทำร้ายหัวใจพวกเราชาวอีสาน ชาวเหนือผู้ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และได้รับโอกาสในการทำงานร่วมกับ “กรมหม่อนไหม” มายาวนานนับชั่วคน กับคำถามที่ว่าทำไมต้องมีกรมหม่อนไหม ไปส่งเสริมปศุสัตว์ประมง ดีกว่ามั้ย คำถามคำนี้ใจร้ายมาก เปี่ยมไปด้วยอคติ ความตื้นเขินทางความคิด และขาดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อ วิถีชีวิตของคนไทยโดยเฉพาะพี่น้องของผมที่ภาคอีสาน และภาคเหนือ ผม “ศักดา แสงกันหา” ผมโตมากับต้นหม่อนและตัวไหม ผมกับแม่ เราเป็นเกษตรกร เราปลูกหม่อน เลี้ยงตัวไหม ทอผ้าขาย นี่คือชีวิตของเรา นี่คือวิถีชีวิตของครอบครัวอีกหลายครอบครัว และนี่คือคำดูถูกที่พวกเรา รับไม่ได้!

ผ้าไหมกับวิถีชาวบ้าน ผมเกิดและเติบโตมาในภาคอีสาน ตั้งแต่เล็กจนโตเห็นการใช้ผ้าไหมในวิถีชีวิตต่างๆ โดยในสมัยก่อนผ้าไหมไม่ได้เป็นสินค้าในการจำหน่ายซะทีเดียว แต่การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมจะเป็นอาชีพเสริมที่ผู้หญิง จะต้องทำผ้าไหม หรือผ้าฝ้าย เพื่อใช้ในพิธีการต่างๆ เช่น งานแต่งงาน ใช้เป็นเครื่องไหว้ต้อนรับ ผู้ใหญ่ของอีกฝ่าย และ ตัดชุดซึ่งคิดว่าเป็นชุดที่สวยที่สุดในวันสำคัญของชีวิต ต่อมาหากมีลูกเป็นผู้ชาย ก็จะนำผ้าไหม ให้ลูกใช้ใส่เป็นนาคก่อนบวช หรือ นำไปตัดเป็นผ้าไตรให้ลูกสำหรับใช้บวช นอกจากสองพิธีที่กล่าวมาข้างต้น ในงานมงคลต่างๆ ทางศาสนา ก็จะมีผ้าไหมเป็นองค์ประกอบอยู่เสมอๆ เพื่อสื่อว่า “ผ้าไหมคือผ้าที่ดีที่สุด มงคลที่สุด” และเมื่อถึงวาระสุดท้าย คุณค่าอันสูงสุดของวิถีชีวิตของพวกเรา ผ้าไหมใช้ห่ออัฐิของบิดามารดาเพื่อเก็บไว้ประกอบพิธีทางศาสนาต่อไป

ผ้าไหมกับการสร้างรายได้และอาชีพ การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในปัจจุบัน ในหมู่บ้านของผมนั้น ผ้าไหมแทบจะกลายเป็นรายได้หลักในยามที่มีวิกฤต โรคระบาดเช่นนี้ การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมสามารถสร้างรายได้ได้ตั้งแต่ ใบหม่อน ราคารับซื้อในปัจจุบันตอนนี้อยู่ที่กิโลกรัมละ 10-30 บาท โดย 1 ไร่สามารถผลิตใบหม่อนได้เกือบ 5,000 กิโลกรัมในตลอดทั้งปี ต่อมาคือการเลี้ยงไหม

ชาวบ้านเริ่มด้วยการ ซื้อไข่ไหมราคาเป็นธรรมจากกรมหม่อนไหมมาในราคา 15-20 บาท หรือบางครั้งมีการแจกให้ฟรี ไข่ไหมหนึ่งแผ่น (ขนาดเท่ากระดาษเอสี่) สามารถเลี้ยงและสาวเป็นเส้นไหมได้ 4-6 กิโลกรัม เส้นไหมราคาปัจจุบันอยู่ที่ กิโลกรัมละ 1,400-1,600 บาท นอกจากเส้นไหมที่ขายได้แล้วดักแด้ ซึ่งเป็นของเสียจากกระบวนการผลิตเส้นไหมยังสามารถนำมาประกอบเป็นอาหารได้ สามารถขายได้ในราคากิโลกรัมละ 80-120 บาท ไข่ไหม 1 แผ่น จะสามารถได้ดักแด้ประมาณ 10-20 กิโลกรัม หลังจากเราได้เส้นไหมมาแล้วเราจะนำเส้นไหมไปผ่านกระบวนการต่างๆ เช่น การฟอกกาวไหม ย้อมไหม มัดหมี่ และสุดท้ายทอออกมาเป็นผ้าไหม ซึ่งสามารถขายได้ ตั้งแต่ราคา เมตรละ 400 บาทจนถึงราคาเมตรละหลายหมื่นบาทไปจนถึงเมตรละเป็นแสนก็มี

ภูมิปัญหาท้องถิ่น คือโอกาสที่ต้องส่งเสริม เทคนิคที่พูดถึงนั้น ก็หมายถึงภูมิปัญญาของชาวบ้านที่ตกทอดมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ที่เป็นสิ่งล้ำค่า สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมทอผ้า แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากขาด พระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นของพระราชินีในรัชกาลที่ ๙ ที่พระองค์ท่านได้นำภูมิปัญญาการทอผ้าไหมของไทยไปตัดเป็นชุดฉลองพระองค์และเผยแพร่ให้กับคนทั่วโลกได้รับรู้ถึงความงามของผ้าไหมไทยและภูมิปัญญาในการทอผ้าของไทย การทำงานร่วมกับ กรมหม่อนไหม “กรมหม่อนไหม” ได้มีส่วนสำคัญในการเข้ามาพัฒนาสายพันธุ์ของไหมไทย เพื่อให้เกษตรกรสามารถเลี้ยงไหมให้ได้ผลผลิตที่มากขึ้น และยังสนับสนุนส่งเสริมด้านต่างๆ อีกมากมาย เช่นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้มีคุณภาพและมาตฐานให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล รวมไปถึงการประสานงานช่วยหาตลาดร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ อีกด้วย

หม่อนไหม คือ โอกาสของประเทศผมเคยอ่านเจอวิสัยทัศน์หนึ่งของผู้บริหารประเทศเมื่อ 10 ปีก่อน ที่พูดถึง “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” ผมอยากจะบอกว่า นี่คือโอกาสของประเทศ ไหมไทย คือโอกาสของเกษตร ของคนไทย เราสร้างมูลค่าเพิ่มมากมายได้จากอุตสาหกรรมสิ่งทอ และโดยเฉพาะจากผ้าไหม

เทียบงบประมาณปีล่าสุด กรมหม่อนไหม ได้รับงบ 560 ล้านบาท เพื่อดูแลเรื่องนี้ทั้งระบบ แต่รายได้ของการขายผ้าไหม และผลิตภัณฑ์ต่างไหมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ยา หรือเครื่องนุ่งห่ม เราสร้างรายได้รวมเข้าประเทศได้หลักหมื่นล้าน ใครที่จะมาเป็นนักการเมือง หรือเป็นผู้บริหารประเทศไทยต่อไป ยิ่งต้องมองเป็น “โอกาส” หาใช่การผลักไสวิถีชีวิตของพวกเราไปเป็นเรื่องตลก หรือมองเป็น “ภาระ” และท่านจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากเสียงของพวกเราอีกเลย”



กำลังโหลดความคิดเห็น