คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”
วันนี้คุณชูสง่า ซดโอเลี้ยงแทนโอยั๊วที่เคยจิบเป็นประจำทุกเช้า สาเหตุเพราะเครื่องปรับอากาศดันมาเสียเอาช่วงนี้ เพราะถูกใช้งานหนัก เอาไม่อยู่กับอุณหภูมิเฉียด 40 องศา ส่วนเจ้าเก่งปลดกระดุมเสื้อนั่งจ่อพัดลม ตามปรือเหมือนกราฟิวด์ พี่หมอเองเพิ่งเข้ามาในห้องก็เหงื่อตกและเสื้อชุ่มเหงื่อเหมือนกัน
“สวัสดีครับเฮีย... ผมมีสเปรย์น้ำแร่ฉีดใบหน้า ฉีดแขน ระบายความร้อนมาฝากครับ”
“ขอผมด้วยนะครับพี่หมอ”
“เออมีอยู่แล้วไอ้เก่งไม่ลืมหรอก มีผ้าเย็นให้ด้วยนะ... แต่มึงส่ายพัดลมหน่อย อย่าฟิกส์ไว้คนเดียว เผื่อคนอื่นบ้าง”
• เคล็ดลับ “คลายร้อน” ช่วงอุณหภูมิเฉลี่ย เกือบ 40 องศา
อากาศร้อน ๆ ที่เกือบจะทอดไข่สุกในบ้านเราตอนนี้ ทำให้หลายคนแทบไม่อยากก้าวท้าวออกนอก ห้องแอร์ แต่คนเราก็ต้องเดินทางไปไหนมาไหน ออกไปทำงาน ทำธุระ หรืออาจต้องทำงานกลางแจ้งหลายชั่วโมง แม้กระทั่งนั่งอยู่เฉย ๆ ในบ้านยังร้อนจนเหงื่อซึมหลังได้ เราจะอยู่อย่างไรให้รอดจากอากาศร้อน ๆ แบบนี้มีเคล็ดลับนำมาฝาก
1. พกน้ำดื่มติดตัว ช่วงนี้คุณอาจจะต้องใช้กระเป๋าใบใหญ่หน่อย เพราะต้องจุไอเท็มลดร้อนหลายชิ้น แต่ไม่มีชิ้นไหนก็ไม่แย่เท่าชิ้นนี้ นั่นคือ “น้ำดื่ม” ร่างกายที่สูญเสียเหงื่อไปมากมักขาดน้ำได้ง่าย ทั้งความเหนื่อย ความร้อน และความกระหายน้ำ ทำให้คนป่วยเป็นลมหมดสติไปหลายราย และยังเสี่ยงต่อภาวะขาดน้ำอีกด้วย โดยเฉพาะผู้ที่ต้องอยู่กลางแจ้งนาน ๆ ดังนั้น เหลือพื้นที่ในกระเป๋าไว้ให้น้ำดื่มขนาดพกพาสักขวดด้วย หรือเครื่องดื่มอื่น ๆ ก็ได้ แต่แนะนะน้ำเปล่านี่แหละดีที่สุด
2. ผ้าเย็น + พัดลมมือถือ เมื่อไรก็ตามที่อยู่นอกบ้าน ต้องทำกิจกรรมด้านนอกอาคารนาน ๆ การมีผ้าเย็นหรือทิชชูเปียกสักผืน เช็ดให้ทั่วใบหน้า และลำคอ ก่อนจะเปิดพัดลมมือถือใส่หน้า เท่านี้ก็ได้ความเย็นสบายไปอีกพักใหญ่ หรือจะใช้สเปรย์น้ำแร่ หรือมีสต์ (MIST) นำมาฉีดใบหน้าก็ได้เช่นกัน
3. เลือกสวมเสื้อผ้าโปร่ง ๆ เนื้อผ้าระบายความร้อนได้ดี แค่เนื้อผ้าบาง ๆ ยังไม่พอ เพราะไม่ได้หมายความว่า ผ้าบางจะระบายความร้อนได้ดี ควรเลือกผ้า ที่ทำมาจากผ้าฝ้าย ผ้าลินิน ผ้าฝ้ายลายคลื่น (Seersucker) ผ้าแชมเบรย์หรือเดนิม นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงเสื้อผ้ารัดรูป และเลือกสีอ่อนมากกว่าสีเข้ม โดยเฉพาะสีดำ เพราะจะยิ่งดูดความร้อนให้รู้สึกร้อนยิ่งขึ้น
4. น้ำแข็งประคบตรงชีพจร วิธีนี้อาจแปลกสักหน่อย แต่ได้ผลจริง หากรู้สึกร้อนมาก ๆ ลอกเอาของเย็น ๆ เช่น น้ำแข็งหรือขวดเครื่องดื่มที่มีความเย็น มาวางตรงจุดที่สามารถวัดชีพจรได้ เช่น เส้นเลือดบริเวณข้อมือ ข้อพับ ข้อศอก ข้อเท้า ขาหนีบ ฯลฯ จะทำให้ร่างกายรู้สึกเย็นขึ้นได้อย่างน่าอัศจรรย์
5. สวมหมวก กางร่มกันยูวี กันแดดทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน วิธีสุดท้าย คือ การปกป้องตัวเองจากแสงแดด ที่เป็นสาเหตุสำคัญทำให้อากาศร้อน นอกจากจะช่วยลดอุณหภูมิความร้อนจากแสงแดดถึงผิวของเราแล้ว ยังช่วยป้องกันไม่ให้ผิวหนังของเราได้รับอันตรายจากแสงยูวี ตัวการสำคัญที่ทำให้ผิวแห้งเสีย หมองคล้ำ มีริ้วรอยก่อนวัย และที่สำคัญยังช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็งผิวหนังอีกด้วย หากจำเป็นต้องทำงานกลางแดดเป็นเวลานาน ๆ อย่าลืมสวมหมวก สวมชุดแขนยาว ขายาว ปกป้องผิวไม่ให้สัมผัสกับแสงแดดโดยตรงจะดีที่สุด