xs
xsm
sm
md
lg

“สิทธิสภาพนอกอาณเขต” สัญญาที่ “เสียเปรียบ ดีกว่าเสียเมือง”! เสีย “๔ รัฐมาลัย”ไปไถ่ก็คืนอย่างมีเล่ห์!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



“สิทธิสภาพนอกอาณาเขต” เป็นสิทธิพิเศษทางกฎหมาย ที่ประเทศหนึ่งสามารถจะใช้กฎหมายของตนเอง ไปบังคับใช้กับบุคคลของตนที่ไปอยู่ในประเทศอื่นได้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเสียอธิปไตยทางกฎหมายของประเทศที่ยอมเซ็นสัญญาด้วย ไทยเราก็เคยต้องรับมาแล้วในการทำ “สนธิสัญญาเบาว์ริ่ง” กับอังกฤษ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ที่ตอนนั้นเราตกอยู่ในสถานการณ์ “เสียเปรียบ ดีกว่าเสียเมือง” เช่นเดียวกับที่จีนต้องยอมทำ “สนธิสัญญานานกิง” กับอังกฤษภายหลังสงครามฝิ่น และญี่ปุ่นต้องทำ “สนธิสัญญาคะนะงะวะ” กับสหรัฐอเมริกาเมื่อถูกบังคับให้เปิดประเทศ ทำให้มีอีกกว่า ๑๐ ประเทศขอทำสัญญากับไทยแบบอังกฤษบ้าง รวมทั้งญี่ปุ่นซึ่งเป็นชาติเดียวในเอเซีย และบางประเทศยังมีวิธีการเจ้าเล่ห์ เดินแจกใบสมัครรับคนเข้าเป็นคนในบังคับของตัว ที่เรียกว่า “สับเยก” เช่น คนอินเดียเป็นสับเยกของอังกฤษ คนญวนคนเขมรเป็นสับเยกของฝรั่งเศส ทำให้คนเหล่านี้ได้เป็นอภิชนเหมือนฝรั่ง ไม่ต้องขึ้นศาลไทย ไปขึ้นศาลกงสุลซึ่งตัดสินช่วยกันได้

ความขมขื่นในเรื่องนี้ ทำให้เกิดการปฏิรูปแบบพลิกแผ่นดินในสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นการปฏิรูปประเทศในทุกด้านไปสู่ความเป็นอารยะ โดยเฉพาะทางกฎหมายที่อาศัยจารีตประเพณีเก่าและคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ของอินเดียเป็นหลัก ซึ่งทำให้ชาวตะวันตกเกิดความรู้สึกว่าไม่สอดคล้องกับระดับสากล ทรงมอบให้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระราชโอรสที่สำเร็จวิชากฎหมายเกียรตินิยมมาจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ทรงเป็นประธานคณะกรรมการการที่ประกอบด้วยนักกฎหมายหลายชาติ จนประกาศใช้เป็น “กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.๑๒๗” ในวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๔๕๑ เป็นประมวลกฎหมายฉบับแรกของไทย ซึ่งเป็นกฎหมายอาญาที่ทันสมัยมากในขณะนั้น ทั้งนี้ก็เพื่อมุ่งไปสู่การยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรป ๒ ครั้ง ทำให้กระแส “หมาป่ากับลูกแกะ” กระพือขึ้นในยุโรป อังกฤษกับฝรั่งเศสมีท่าทีอ่อนลงบ้าง นายเอ็ดเวิร์ด สโตรเบล ที่ปรึกษาราชการชาวอเมริกัน จึงเสนอให้ไทยนำรัฐไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปลิส ในมลายู ที่เรียกว่า “รัฐมาลัย” อยู่ในอารักขาของไทย ซึ่งอังกฤษอยากได้มาก และเป็นรัฐที่มีปัญหาอยู่เสมอ คงไม่พ้นมืออังกฤษแน่เพราะแผ่อิทธิพลเข้าครอบคลุมไว้แล้ว ยอมยกให้อังกฤษไปเสียเลย เพื่อขอเลิกสัญญาสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ดีกว่าจะถูกอังกฤษหาเรื่องยึดเอาไปเฉยๆ ซึ่งอังกฤษก็ยอมตกลงยกเลิกศาลกงสุล แต่ยังมีเงื่อนไขให้ไทยตั้งศาลต่างประเทศขึ้นโดยเฉพาะ มีผู้พิพากษาส่วนใหญ่เป็นไทย ผู้พิพากษาส่วนน้อยเป็นอังกฤษ แต่แม้เป็นส่วนน้อยก็สามารถยับยั้งความเห็นของผู้พิพากษาไทยได้ และกงสุลอังกฤษยังมีสิทธิที่จะถอนคดีออกจากศาลไปพิจารณาเองก็ได้ด้วย โดยปลอบใจจะให้ไทยกู้เงิน ๕ ล้านปอนด์ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อสร้างทางรถไฟสายใต้ แต่มีข้อแม้อีกว่า ต้องให้คนอังกฤษเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง

ความพยายามของไทยที่จะยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตจึงยังไม่ประสบความสำเร็จแม้เสีย ๔ รัฐมาลัยไปแล้ว จนโอกาสมาถึงหลังจากที่ได้เข้าร่วมในสงรามโลกครั้งที่ ๑ ในสมัยรัชกาลที่ ๖ และอยู่ในฝ่ายผู้ชนะ ได้มีการเปิดประชุมเพื่อทำสัญญาสันติภาพขึ้นที่ห้องกระจกของพระราชวังแวร์วายส์ในกรุงปารีส เป็นที่รู้กันว่าในการประชุมครั้งนี้จะมีการก่อตั้งสมาคมสันนิบาติชาติขึ้นด้วย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงส่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงเทววงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศ พร้อมด้วยพระองค์เจ้าจรูญศักดิ์ กฤดากร ราชทูตประจำฝรั่งเศส พระยาพิฑัฒนโกษา ราชทูตประจำกรุงโรม เป็นราชทูตพิเศษผู้มีอำนาจเต็มเข้าร่วมประชุม ทรงกำชับให้หาโอกาสเจรจาเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตที่คนหลายชาติมีอภิสิทธิ์ไม่ต้องขึ้นศาลไทย และเมื่อโอกาสในที่ประชุมเปิด ผู้แทนไทยจึงฉวยโอกาสกล่าวต่อที่ประชุมว่า

“เราก็ได้ร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหลกับท่านเพื่อพิทักษ์สิทธิของประเทศเล็กๆ และเพื่อผดุงมนุษยธรรมไว้ หากว่าจะเป็นไปเหมือนที่เคยป่าวประกาศกันอยู่บ่อยๆแล้วไซร้ ก็เป็นที่ประจักษ์อยู่แล้วว่า เราได้ต่อสู้ปกป้องผู้อ่อนแอจากการข่มเหงรังแกของผู้ที่แข็งแรงกว่า และเพื่อขจัดความไม่ยุติธรรมทั้งหลายที่เป็นสาเหตุสู่สภาพสงคราม ดังนั้นย่อมเป็นการถูกต้องและเป็นธรรมพอหรือยังที่ประเทศสยามจะได้หลุดพ้นจากการบีบรัดของสนธิสัญญาอันเก่าก่อนที่มีมานานแล้วเสียที ซึ่งสนธิสัญญานั้นก็หมดความหมายทุกประการที่จะมีอยู่ต่อไป ในเมื่อสภาพการณ์ในประเทศสยามก็เปลี่ยนไปหมดแล้ว”

“ถูกของท่านแล้ว...”

ประธานาธิบดี วูดโรว์ วิลสัน แห่งสหรัฐอเมริกา ได้ขานรับทันที

“อเมริกาขอทำสัญญากับสยาม โดยยอมสละสิทธิสภาพนอกอาณาเขตซึ่งเก่าเกินอายุนั้นเสีย การให้สิทธิสัญญาใหม่เช่นนี้ เป็นการปฏิบัติไปตามทำนองคลองธรรมโดยไม่มีอะไรตอบแทนทั้งสิ้น”

ชัดเจนขนาดนี้แล้ว หลังจากอเมริกายกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตกับไทยเป็นชาติแรก ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส อังกฤษก็ตามมา จนถึงเบลเยี่ยมเป็นประเทศสุดท้ายในปี ๒๔๖๙ จึงถือได้ว่าไทยได้อธิปไตยทางศาลกลับคืนมาโดยสมบูรณ์

นี่ก็เป็นหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทยในยุคที่ต้องประคองตัวให้รอดจากการโหมกระหน่ำของลัทธิล่าอาณานิคม ซึ่งสร้างความขมขื่นยิ่งกว่าการต้องประคองตัวให้รอดจากสงครามกับโควิด ๑๙ ในขณะนี้เสียอีก แต่เราก็ผ่านพ้นมาได้ และจะผ่านพ้นไปได้อีกในวันนี้ด้วยความร่วมมือของคนไทยเราเอง ซึ่งจะดีกว่าวัคซีนทุกยี่ห้อ


กำลังโหลดความคิดเห็น