xs
xsm
sm
md
lg

ไม่มีอะไรที่ทำให้ ร.๕ สุขใจยิ่งกว่าขยายทางรถไฟ! ในรัชกาลเดินรถได้ ๙๓๒ กม. สร้างค้างอีก ๖๙๐!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



รถไฟ ไม่ได้เป็นแค่การคมนาคม แต่ในสมัยที่การล่าอาณานิคมล้อมเข้ามารอบบ้าน และพยายามหว่านล้อมให้คนที่อยู่ชายขอบเห็นดีเห็นชอบกับการตกเป็นอาณานิคม รถไฟจึงเป็นสายใยที่โยงคนที่อยู่ห่างไกลเข้ามาใกล้ชิดเมืองหลวง การสร้างทางรถไฟไปถึงจึงเป็นการแสดงว่ารัฐบาลไม่ทอดทิ้งคนที่อยู่ห่างไกล ด้วยเหตุนี้ในสมัยรัชกาลที่ ๕ จึงทรงเริ่มการสร้างทางรถไฟขึ้น และถือเป็นพระบรมราโชบายหลักอย่างหนึ่ง นอกจะสร้างสร้างเศรษฐกิจ สร้างความเจริญ และความสุขของประชาชนแล้ว ยังเป็นความมั่นคงของประเทศ

ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงทำพิธีเปิดทางรถไฟช่วงปากน้ำโพถึงพิษณุโลก เมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๔๕๐ ทรงมีพราชดำรัสตอนหนึ่งว่า

“...ไม่มีสิ่งไรที่จะถูกใจฉันยิ่งขึ้นไปกว่าที่ได้เห็นความเจริญที่ได้มีขึ้นในการขยายทางรถไฟของเมืองเรา ทางรถไฟย่อมเป็นพยานแห่งความรุ่งเรืองของบ้านเมือง กับทั้งยังเป็นหนทางที่จะช่วยให้เกิดความเจริญเช่นนี้ได้อย่างยิ่ง รถไฟทำให้เกิดยานพาหนะอย่างสะดวกแลรวดเร็วด้วย แลชักนำให้ตำบลต่างๆที่อยู่ห่างไกลเข้าใกล้ชิดติดถึงกัน เหตุฉะนั้น จึงทำให้เกิดความสุขแลความเจริญของประชาชนพลเมืองยิ่งขึ้น รถไฟสามารถทำให้รัฐบาลสามารถที่จะจัดการและเอาใจใส่ดูแลให้ยิ่งขึ้นได้อย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นการจำเป็นของการรักษาบ้านเมืองที่จะเป็นผลดีได้...”

ในปี ๒๔๓๐ จึงโปรดให้บริษัทของชาวอังกฤษดำเนินการสำรวจเพื่อสร้างทางรถไฟจากกรุงเทพฯไปเชียงใหม่ มีทางแยกจากเมืองสระบุรีไปนครราชสีมาสายหนึ่ง จากเมืองอุตรดิตถ์ไปตำบลท่าเดื่อ ริมฝั่งโขงสายหนึ่ง และจากเชียงใหม่ไปเชียงราย เชียงแสนอีกสายหนึ่ง หลังจากสำรวจแล้วทรงพิจารณาเห็นว่า สายแรกให้สร้างจากกรุงเทพฯไปนครราชสีมาก่อน ในเดือนตุลาคม ๒๔๓๓ จึงโปรดเกล้าฯให้ตั้งกรมรถไฟหลวงขึ้นสังกัดกระทรวงโยธาธิการ และเริ่มลงมือก่อสร้างจากสถานีกรุงเทพ ที่หัวลำโพง ในวันที่ ๙ มีนาคม ๒๔๓๔ เป็นทางขนาดกว้าง ๑,๔๓๕ เมตร

เมื่อสร้างไปถึงอยุธยา เป็นระยะทาง ๗๑ กิโลเมตร พอจะเปิดเดินรถได้แล้ว ในวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๔๓๙ จึงเสด็จพระราชดำเนินประกอบพระราชพิธีเดินรถไฟระหว่างกรุงเทพ-อยุธยา และเปิดให้บริการประชาชนตั้งแต่วันที่ ๒๘ มีนาคมนั้น ซึ่งการรถไฟฯได้ถือเอาวันที่ ๒๖ มีนาคม เป็นวันสถาปนากิจการรถไฟไทย จากนั้นก็เปิดเดินรถต่อไปเป็นระยะ ถึงแก่งคอย มวกเหล็ก ปากช่อง จนกระทั่งในปี ๒๔๔๓ จึงถึงนครราชสีมา เป็นระยะทาง ๒๖๕ กิโลเมตร สิ้นเงินในการก่อสร้าง ๑๗,๕๘๕,๐๐๐ บาท และขณะที่สายนครราชสีมาได้สร้างไปแล้ว ก็โปรดให้เริ่มขึ้นเหนือมุ่งเชียงใหม่ต่อไป

ส่วนสายใต้ที่ต้องใช้ระบบรางต่างขนาดกว้างเพียง ๑ เมตร เพื่อให้สามารถเชื่อมต่อกับรถไฟในแหลมมลายูของอังกฤษได้ ทรงให้สัมปทานแก่บริษัทเอกชนที่เสนอขอสร้างช่วงแรกจากกรุงเทพไปเพชรบุรี เป็นระยะทาง ๑๕๑ กิโลเมตร แต่เมื่อให้สัมปทานไปแล้วก็มีปัญหาไม่สามารถสร้างได้ ต้องขายสัมปทานเปลี่ยนมือไปหลายราย บางรายก็มาขอให้รัฐบาลค้ำประกันเงินกู้ให้ ในที่สุดรัฐบาลจึงรับซื้อสัมปทานกลับมาสร้างเองในราคา ๒๕,๐๐๐ บาท และเมื่อสายนครราชสีมาใกล้เสร็จแล้ว สายเหนือไปถึงลพบุรี จึงลงมือสร้างสายใต้โดยเริ่มจากสถานีธนบุรีที่ปากคลองบางกอกน้อย ข้ามแม่น้ำสำคัญ ๒ สายคือแม่น้ำท่าจีนที่นครไชยศรี ต้องใช้สะพานยาว ๑๓๒ เมตร และแม่น้ำแม่กลองที่ราชบุรี สะพานยาว ๑๕๐ เมตร เริ่มลงมือสร้างในวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๔๔๒ เริ่มเปิดใช้ในวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๔๔๖ โดยเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดด้วยพระองค์เอง จากนั้นก็ต่อลงไปเป็นระยะ แต่เดิมกำหนดจะไปถึงเมืองไทรบุรีซึ่งอยู่ครอบครองของไทย แต่ต้องเสียดินแดนให้อังกฤษไป เส้นทางนี้จึงไปได้แค่จังหวัดนราธิวาส เป็นระยะทาง ๑,๑๔๔.๒๙ กิโลเมตร แต่ก็เป็นเส้นทางรถไฟสายยาวที่สุดในประเทศไทย และทำให้สายอื่นต้องเปลี่ยนระบบรางมากว้างเพียง ๑ เมตรในปี ๒๔๖๒ ในสมัยรัชกาลที่ ๖ เพื่อให้เชื่อมต่อถึงกันได้ทั่วประเทศ และเชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบได้อีกด้วย แต่ตอนนี้กำลังจะต้องเปลี่ยนเป็นระรบรางกว้าง ๑,๔๓๕ เมตรอีกแล้ว เพื่อมเชื่อมต่อกับรถไฟจีน ซึ่งเพื่อนบ้านก็เปลี่ยนเป็นระบบนี้กันแล้ว

การเริ่มสร้างรถไฟในสมัยรัชกาลที่ ๕ ตั้งแต่ปี ๒๔๓๔ จนสิ้นรัชกาลในปี ๒๔๕๓ เปิดเดินรถได้ ๙๓๒ กิโลเมตร และยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จอีก ๖๙๐ กิโลเมตร รัชกาลต่อๆมาก็ขยายเส้นทางรถไฟเพิ่มขึ้นเรื่อมา ในสมัยรัชกลที่ ๖ เพิ่มเส้นทางเดินรถเพิ่มขึ้นอีก ๑,๖๔๙ กิโลเมตร เป็น ๒,๕๘๑ กิโลเมตร และยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จอีก ๔๙๗ กิโลเมตร ในสมัยรัชกาลที่ ๗ ซึ่งเศรษฐกิจย่ำแย่มาก ขนาดต้องดุลข้าราชการออกเพราะไม่มีเงินจ่ายเงินเดือน ก็ยังมีทางรถไฟเพิ่มขึ้นอีก ๔๑๘ กิโลเมตร สมัยรัชกาลที่ ๘ ประเทศต้องเผชิญกับสงครามโลกครั้งที่ ๒ นอกจากประสบปัญหาเศรษฐกิจแล้วยังต้องเผชิญภัยสงคราม ทั้งยังต้องคอยซ่อมทางที่ถูกทำลาย แต่ก็มีการสร้างทางรถไฟเพิ่มขึ้นอีก ๒๕๙ กิโลเมตร ส่วนในสมัยรัชกาลที่ ๙ ตั้งแต่หลังสงครามโลกยุติ กิจการรถไฟบอบช้ำหนัก ต้องซ่อมทั้งอาคาร รถจักรและล้อเลื่อนต่างๆ รัฐบาลจึงต้องกู้เงินจากธนาคารโลกมาสมทบ ธนาคารโลกได้เสนอให้ปรับปรุงองค์กรของกรมรถไฟหลวงให้บริหารในเชิงธุรกิจ รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามจึงเสนอร่างพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.๒๔๙๔ ต่อรัฐสภา ทำให้กรมรถไฟหลวงเปลี่ยนฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจสาธารณูปการ ภายใต้ชื่อ “การรถไฟแห่งประเทศไทย” ตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๔๙๑ เป็นต้นมา

ในขณะนี้การเดินรถไฟที่เริ่มวางรากฐานมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ กำลังมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ มีรถไฟระบบรางคู่แล้ว อีกไม่นานก็จะมีรถไฟความเร็วสูง และโยงใยไปถึงจีนที่มีรถไฟไปถึงใจกลางยุโรปแล้วตามเส้นทางสายไหม ต่อไปรถไฟก็จะโยงใยตะวันตกตะวันออกให้เข้ามาใกล้ชิดกัน ไปมาหาสู่กันกัน สร้างความสุขให้คนทั้งสองซีกโลก...ถ้าไม่รบราฆ่าฟันทำสงครามกันเสียก่อน










กำลังโหลดความคิดเห็น