เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้นในประวัติศาสตร์ชาติไทย ไม่ว่าจะเรียกว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครอง การปฏิวัติ การยึดพระราชอำนาจ หรือการปล้นพระราชอำนาจก็ตาม แต่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบราชาธิปไตยที่มีตั้งแต่สร้างประเทศนี้ มาเป็นระบอบที่ว่าเป็นประชาธิปไตย จากความคิดที่ไปบ่มเพาะกันมาจากฝรั่งเศส แต่ยึดตามแบบอย่างอังกฤษ
ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้ จะส่งผลดีขึ้นหรือเลวลงกับประเทศนี้ ก็ย่อมจะซึมทราบกันดี ซึ่งก็เป็นธรรมดาของสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในโลก ย่อมมีทั้งดีทั้งเลว ขึ้นกับว่าดีกับเลวอะไรจะมากกว่ากัน และดีกับใครเท่านั้น
แต่อย่างไรก็ตาม ผลจากเหตุการณ์ในวันนี้ เป็นเหตุให้เกิดหลายสิ่งหลายอย่างตามมา อย่างเช่น
ในปี ๒๔๘๒ หลังจากได้นายกรัฐมนตรีคนที่ ๓ คือจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งถือได้ว่าใช้ระบบเผด็จการเต็มรูปด้วยคำขวัญยอดฮิท “เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย” ได้ปลุกเร้าลัทธิชาตินิยมเพื่อเตรียมตัวรับสงครามซึ่งมีกลิ่นไอโชยเข้ามา และจะเร่งนำประเทศไปสู่อารยะแบบพลิกฝ่ามือ โดยมีประกาศของสำนักนายกรัฐมนตรีที่เรียกว่า “รัฐนิยม” เป็นกฎหมายที่ทุกคนจะต้องปฏิบัติตาม
เริ่มด้วยรัฐนิยมฉบับที่ ๑ “ว่าด้วยรัฐนิยมใช้ชื่อประเทศ ประชาชน และสัญชาติ” ซึ่งยุคนั้นประเทศไทยยังมีชื่อเป็นทางการว่า “สยาม” รัฐนิยมฉบับนี้จึงประกาศด้วยข้อความว่า
“โดยที่ชื่อของประเทศนี้มีเรียกกันเป็นสองอย่าง คือ “ไทย” และ “สยาม” แต่ประชาชนนิยมเรียกว่า “ไทย” รัฐบาลเห็นสมควรถือเป็นรัฐนิยมใช้ชื่อประเทศให้ต้องตามชื่อเชื้อชาติและความนิยมของประชาชนชาวไทย ดั่งต่อไปนี้
ก.ในภาษาไทย
ชื่อประเทศ ประชาชน และสัญชาติ ให้ใช้ว่า “ไทย”
ข.ในภาษาอังกฤษ
๑. ชื่อประเทศ ให้ใช้ว่า Thailand
๒. ชื่อประชาชนและสัญชาติ ให้ใช้ว่า Thai
แต่ทั้งนี้ไม่กระทบถึงกรณีที่มีบทกฎหมายบัญญัติคำว่า “สยาม” ไว้
ประกาศมา ณ วันที่ ๒๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๒ เป็นต้นไป”
ประเทศนี้ซึ่งมีชื่อว่า “ประเทศสยาม” อย่างเป็นทางการมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ จึงได้เปลี่ยนมาเป็น “ประเทศไทย” ตั้งแต่วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๘๒ เป็นต้นมา
ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๘๓ ได้มีพิธีเปิดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ถนนราชดำเนิน สืบเนื่องมาจากวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เช่นกัน โดยนายกรัฐมนตรีได้ดำริว่า เมื่อสหรัฐอเมริกาเขาได้เสรีภาพมา เขาก็สร้างอนุสาวรีย์เสรีภาพขึ้นเป็นอนุสรณ์ เราคนไทยได้การปกครองระบอบประชาธิปไตยมา น่าจะสร้างอนุสาวรีย์ไว้เป็นอนุสรณ์บ้าง และได้มอบให้กรมศิลปากรเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ โดยมี ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง เริ่มงานตั้งแต่วันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ แล้วเสร็จในวันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๓ ใช้ค่าก่อสร้างทั้งหมด ๒๕๐,๐๐๐ บาท
ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๘๓ นี้ ยังมีประกาศรัฐนิยมฉบับที่ ๙ “เรื่องภาษาและหนังสือไทยกับหน้าที่พลเมืองดี” แต่ที่น่าเวียนหัวก็คือเรื่องภาษาและหนังสือ รัฐบาลได้แต่งตั้งนักปราชญ์ราชบัณฑิตสาขาอักษรศาสตร์ ปรับปรุงตัดทอนภาษาไทยครั้งใหญ่ ด้วยเหตุผลที่จะให้รัดกุมยิ่งขึ้นและเรียบง่าย แต่กลายเป็นสับสนและยุ่งยาก อย่างเช่น ใ ฤ ฤา ฦ ฦา ถูกตัดออกไป คำที่ใช้ ใ ให้ใช้แทนด้วย ไ และคำที่เคยใช้ ฤ ฤา ฦ ฦา ให้ใช้ ร แทน เป็นต้น ฉะนั้นเมื่อจอมพล ป.หมดอำนาจ ผู้คนก็พากันหันกลับไปใช้แบบเดิมอีก ภาษาไทยในแบบฉบับของ “ท่านผู้นำ” จึงเหลืออยู่แต่ในประวัติศาสตร์
ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๘๕ ได้มีการเปิดอนุสาวรีย์ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง คืออนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เป็นอนุสรณ์ในชัยชนะที่ไทยมีต่อฝรั่งเศสในสงครามอินโดจีนปี ๒๔๘๔ โดยมอบให้ ม.ล.ปุ่ม มาลากุล เป็นผู้ออกแบบ จารึกชื่อและบรรจุอัฐิของผู้เสียชีวิตในสงครามครั้งนี้และในสงครามโลกครั้งที่ ๒ รวมทั้งในสงครามเกาหลีด้วย พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) เป็นผู้วางศิลาฤกษ์ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๘๔ และจอมพล ป.พิบูลสงคราม ทำพิธีเปิดในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๘๕
ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๙๗ ยังได้รับการบันทึกว่า ประเทศไทยได้มีสถานีโทรทัศน์เป็นสถานีแรกของเอเชียอาคเนย์ ซึ่งในขณะนั้นออสเตรเลียก็ยังไม่มีสถานีโทรทัศน์ ซึ่งความคิดริเริ่มในเรื่องนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี ๒๔๗๕ แล้ว โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ผู้ให้กำเนิดสถานีวิทยุขึ้นในประเทศไทย แต่ไม่ทันดำเนินการก็เกิดเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้น
ต่อมาในปี ๒๔๙๓ รัฐบาลได้สั่งการให้กรมโฆษณาการนำเรื่องนี้มาพิจารณา แต่มีความเห็นกันว่าโทรทัศน์เป็นกิจการเพื่อความบันเทิงเท่านั้น และมีราคาแพง ยังไม่ควรตั้งขึ้นในขณะที่ประเทศชาติยังมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ
จนในปี ๒๔๙๕ จึงมีการจัดตั้งบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัดขึ้น คณะผู้ก่อตั้งจดทะเบียน ๗ คน ประกอบด้วยบุคคลในวงการรัฐบาลทั้งนั้น โดยมีกรมประชาสัมพันธ์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ๑๑ ล้านบาท และหน่วยงานภาครัฐอีก ๘ แห่งถือหุ้นมูลค่า ๙ ล้านบาท รวมเป็น ๒๐ ล้านบาท เริ่มออกอากาศได้ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๙๘เป็นทีวีขาว-ดำ ในระบบ NTSC เช่นเดียวกับอเมริกา ตั้งสถานีที่วังบางขุนพรหม ด้านถนนวิสุทธิ์กษัตริย์ เรียกกันว่า “วิกบางขุนพรหม”
บริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด มีชื่อย่อว่า ท.ท.ท. ได้ดำเนินกิจการมาจนถึง พ.ศ.๒๕๒๐ จึงได้ยุบเลิก และจัดตั้งเป็นองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย มีชื่อย่อว่า อสมท.
๒๔ มิถุนายนก็เคยเป็นวันชาติมาแล้ว ในวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๔๘๑ ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง “วันชาติ” ลงนามโดย พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี กำหนดให้วันที่ ๒๔ มิถุนายนซึ่งเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นวันชาติ และเป็นวันหยุดราชการ ซึ่งได้มีการฉลองวันชาติ ๒๔ มิถุนายนเป็นครั้งแรกในปี ๒๔๘๒ สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี
ต่อมาในวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๐๗ สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี จึงมีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีมีความว่า
“ด้วยคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นว่า ตามที่ได้กำหนดให้มีการเฉลิมฉลองวันชาติไทยในวันที่ ๒๔ มิถุนายน นั้น ได้ปรากฏในภายหลังว่า มีข้อที่ไม่เหมาะสมหลายประการ ในด้านประชาชนและหนังสือพิมพ์ก็ได้เสนอแนะให้พิจารณาในเรื่องนี้หลายครั้งหลายคราว คณะรัฐมนตรีจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณา โดยมีพลตรีพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
คณะกรรมการนี้ได้พิจารณาแล้วเสนอความเห็นว่า ประเทศต่างๆได้เลือกถือวันใดวันหนึ่งที่มีความสำคัญเกี่ยวเนื่องกับชนในชาติ ต่างๆกัน โดยถือเอาวันประกาศเอกราช วันอิสรภาพ วันตั้งถิ่นฐาน วันสาธารณรัฐ วันสถาปนาพระราชวงศ์บ้าง ซึ่งไม่เหมือนกัน แต่ประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของชาติโดยทั่วไปนั้น ได้ถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติ เช่น ประเทศอังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน ญี่ปุ่น ฯลฯ เป็นต้น แม้ประเทศไทยเราเองก็ได้ถือเอาวันพระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทยมาแล้ว เพิ่งจะมากำหนดเอาวันที่ ๒๔ มิถุนายน เป็นวันชาติ เพิ่มขึ้นอีกวันหนึ่งในระยะหลังนี้เอง
คณะกรรมการจึงมีความเห็นว่า เพื่อให้เป็นไปตามขนบประเพณีของประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเป็นหลักการสมัครสมานสามัคคีรวมจิตใจของบุคคลในชาติโดยทั่วกัน จึงสมควรจะถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย ต่อไป โดยยกเลิกวันชาติในวันที่ ๒๔ มิถุนายนเสีย”
ดังนั้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๓ เป็นต้นมา
ประเทศไทยจึงได้ถือเอาวันพระราชสมภพของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งตรงกับวันที่ ๕ ธันวาคม เป็น “วันชาติ” และต่อมาใน พ.ศ.๒๕๒๓ ได้กำหนดให้วันนี้เป็น “วันพ่อแห่งชาติ” ด้วย
นี่ก็เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ซึ่งถือได้ว่าเป็นวันสำคัญในประวัติศาสตร์วันหนึ่ง