Common School คลาสที่ 2 : “เสียดินแดน” หรือ จักรวรรดิสยามได้ดินแดน? “ไชยันต์” เปิดเวที “ทุ่นแดง-ทุ่นดำ” โต้ “ธงชัย” ละเอียดยิบ ยก “ผนวกดินแดน” คนละเรื่องกับ “ล่าอาณานิคม” ซัด เป็นการเชื่อมโยงอย่างผิดฝาผิดตัว
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง สืบเนื่องจาก เฟซบุ๊ก Chaiyan Chaiyaporn ของ ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อวิจารณ์ ของทุ่นดำ-ทุ่นแดง ต่อประเด็น Common School คลาสที่ 2 : “เสียดินแดน” หรือ จักรวรรดิสยามได้ดินแดน? โดย ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล
ประเด็นน่าคิดจากข้อโต้แย้งทางวิชาการดังกล่าวก็คือ การตีความ “จักรวรรดิสยาม” นั่นเอง
ที่สำคัญ ศ.ดร.ไชยันต์ พูดถึง “ทุ่นดำ-ทุ่นแดง” เอาไว้ว่า “มีนักศึกษาธรรมศาสตร์ และ นิสิตจุฬาฯ ใช้นามปากกาว่า “ทุ่นแดง” และ “ทุ่นดำ” ส่งข้อเขียนวิจารณ์โต้แย้งทรรศนะที่บอกว่า ประเทศไทยเคยเป็น “กึ่งอาณานิคม” มา ผมเห็นว่า ทั้งสองเขียนได้ดี มีความคิดเป็นของตัวเอง กล้าโต้แย้งนักวิชาการที่มีชื่อเสียง ซึ่งหายากในหมู่คนรุ่นใหม่ที่มักเชื่อตามกระแสขบถอย่างง่ายๆ
เลยขอนำมาเผยแพร่เพื่อให้เป็นประเด็นถกเถียงกันต่อไป (เปิดตัวครั้งแรก สยามรัฐออนไลน์ 11 มิ.ย. 64)
ส่วน Common School เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 64 ทีมสื่อคณะก้าวหน้า รายงานว่า “คอมมอน สคูล (Common school)” โดยคณะก้าวหน้า จัดกิจกรรมปฐมนิเทศเบิกโรงหลักสูตร “ประวัติศาสตร์นอกขนบ” ซึ่งเป็นหลักสูตรในโครงการ “ตลาดวิชาอนาคตใหม่” ซึ่งขณะนี้กำลังมีการเปิดรับสมัครผู้สนใจร่วมเรียน โดยรับจำนวน 30 คนเท่านั้น ฟังบรรยายผ่านระบบออนไลน์ที่สามารถพูดคุยซักถามกับวิทยากรได้โดยตรง แต่อย่างไรก็ตาม ผู้สนใจสามารถรับฟังการบรรยายทางไลฟ์เฟซบุ๊กได้เช่นเดียวกันแต่ไม่สามารถพูดคุยตอบโต้ได้
ทั้งนี้ ในการปฐมนิเทศ ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ได้พูดถึงความสำคัญของการจัดทำโครงการตลาดวิชาอนาคตใหม่ ขณะที่ ธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ Wisconsin Madison สหรัฐอเมริกา ได้พูดถึงความหมายและความสำคัญของวิชาประวัติศาสตร์ และชวนตั้งคำถามถึงประวัติศาสตร์กระแสหลักที่เป็นอุดมการณ์รับใช้รัฐ...
สำหรับข้อวิจารณ์ของ ทุ่นดำ-ทุ่นแดง ต่อ Common School คลาสที่ 2 : “เสียดินแดน” หรือ จักรวรรดิสยามได้ดินแดน? บรรยายเมื่อวันเสาร์ ที่ 12 มิถุนายน 2564
(ส่วนที่ 1)
1. สาระสำคัญ : ในการบรรยายคลาสที่ 2 นี้ ว่าด้วยประเด็น สยาม “ได้” หรือ “เสียดินแดน” กันแน่ ??
เรื่องเล่าในประวัติศาสตร์กระแสหลักหรือทางการได้อธิบายแกนสำคัญไว้ว่า
เมื่อชาติตะวันตก (โดยเฉพาะอังกฤษ และฝรั่งเศส) ได้ขยายดินแดนอาณานิคมเข้ามาในดินแดนรอบๆ สยามในขณะนั้นเป็นเพียงราชอาณาจักรขนาดเล็กที่ด้อยกว่าในด้านเทคโนโลยีและการป้องกันประเทศ ทำให้มิอาจต้านทานอิทธิพลดังกล่าวของชาติมหาอำนาจได้
ทำให้สยามต้อง “เสียดินแดนบางส่วน” ให้กับลัทธิล่าอาณานิคมทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสไป
โดยมีการบันทึกไว้ว่า สยามเสียดินแดนทั้งสิ้น 14 ครั้ง นับตั้งแต่รัชกาลที่ 1 เป็นต้นมา โดยภัยคุกคามจากประเทศอาณานิคม ได้ถึงจุดอันตรายสูงสุดในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112”
อย่างไรก็ตาม สยามก็สามารถผ่านพ้นการเสียอธิปไตยและอยู่รอดอย่างเป็นชาติที่มีเอกราชมาได้ ก็เพราะพระปรีชาสามารถของพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะรัชกาลที่ 5 เรื่องเล่าดังกล่าวจึงมี “ฝ่ายผู้คุกคาม” คือ ชาติตะวันตก (โดยเฉพาะฝรั่งเศส)
และ “ฝ่ายที่โดนคุกคาม” คือ สยาม
อันปรากฏในภาพจำที่ว่า “หมาป่าฝรั่งเศสกับลูกแกะสยาม” อันโด่งดัง
ทั้งนี้ ประวัติศาสตร์กระแสหลักเช่นนี้ได้ถูกท้าทายจากงานวิชาการ โดยเฉพาะชิ้นงานอันเป็นหมุดหมายอันสำคัญ คือ กำเนิดสยามจากแผนที่ : ประวัติศาสตร์ภูมิกายาของชาติ หรือ Siam Mapped โดย ธงชัย วินิจจะกูล
ซึ่ง ธงชัย ได้โต้แย้งเรื่องเล่าของประวัติศาสตร์กระแสหลักใน 2 ประเด็นสำคัญ ดังนี้
1. ประวัติศาสตร์ฉบับทางการมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน โดยการจินตนาการไปเองว่า สยามเป็นชาติเก่าแก่มีขอบเขตดินแดนที่ชัดเจนมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว
แต่ในแง่ความเป็นจริง ธงชัย เสนอว่า เขตแดนที่ชัดเจนของ “ชาติไทย” นั้น แท้จริงแล้วเริ่มปรากฏ “ภูมิกายา - Geo-Body” ผ่านการทำ “แผนที่ฉบับทางการ” ครั้งแรกของสยามในสมัยรัชกาลที่ 5 นี่เอง (แผนที่ฉบับพระวิภาคภูวดล - McCarthy) จากการที่สยามมีแผนที่ฉบับทางการ เป็นผลให้สยามมี “ภูมิกายาที่ชัดเจน” มาตั้งแต่บัดนั้น
ทั้งนี้ แผนที่ฉบับทางการที่เพิ่งทำขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 นี้ได้ถูกนำไปใช้ในการอธิบายย้อนกลับไปในยุคโบราณ ทำให้ดูราวกับว่า สยาม “สูญเสีย” ดินแดนไป
ทั้งที่ก่อนหน้านี้ สยามเองก็ไม่ได้มีจิตสำนึกเรื่องดินแดน เขตแดน การเสียดินแดน (หรือจิตสำนึกรูปร่างของชาติ-ประเทศไทยที่เป็นภาพของขวานทอง) อยู่เลย
ธงชัย อธิบายต่อไปว่า ภูมิกายาของสยามที่แผ่ขยายไปไกลถึงฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงในเขตลาวและกัมพูชา หรือทางใต้ที่แผ่ไกลสุดไปยังแดนมลายูในไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปะลิส ล้วนแล้วแต่เป็นการทึกทักกันเอาเองของสยามฝ่ายเดียว โดยที่เจ้าท้องถิ่นและชาติมหาอำนาจตะวันตก ไม่ได้เห็นชอบหรือรับรู้ด้วย
(แต่จะจริงหรือไม่นั้น ขอให้ท่านๆ ตัดสินใจเองหลังจากที่อ่านบทความนี้จบ)
ดังนั้น ดินแดนของชาติไทยบนแผนที่ในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงเกิดขึ้นจากผลลัพธ์ของการปะทะจิตสำนึกเรื่องเขตแดนและอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนกับชาติมหาอำนาจตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก “วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112”
ในที่สุด ทำให้ไปสู่ข้อสรุปที่ย้อนแย้งกับประวัติศาสตร์กระแสหลัก ว่า การล่าอาณานิคมจากตะวันตก เป็นผลดีแก่สยามมากกว่าเป็นภัยคุกคาม เพราะช่วยให้สยามเรียนรู้วิธีการต่างๆ ของเจ้าอาณานิคมตะวันตก และเร่งให้สยามขยับขยายเขตแดนและสยายอำนาจรัฐจากกรุงเทพฯ ไปสู่ดินแดนชายขอบผ่านการสำรวจและจัดทำแผนที่เข่งขัน/ร่วมมือกับชาติตะวันตกเหล่านั้น
2. ข้อวิจารณ์ : ประเด็นที่ 1 สยามได้หรือเสียดินแดน ?
จากบทความตอนที่แล้ว ก่อนจะตัดสินว่า สยามได้หรือเสียดินแดนในสมัย ร.5 ควรต้องกล่าวเสียแต่ต้นว่า
ผู้เขียนมองว่า ธงชัย กำลังเข้าใจสับสน ระหว่าง การผนวกดินแดน (Annexation) กับ การล่าอาณานิคม (Colonization) เพราะทั้ง 2 สิ่งนี้ เป็นคนละเรื่องกัน
กล่าวคือ การผนวกดินแดน เป็นการที่รัฐหรือศูนย์กลางอำนาจแห่งใดแห่งหนึ่ง ได้แผ่ขยายอิทธิพลไปยังรัฐหรือดินแดนอื่น “ในแถบใกล้เคียง” ซึ่ง การผนวกดินแดนนี้ไม่ได้สนใจ “เขตแดน” หรือ “ดินแดน” ที่ตายตัว แต่ประสงค์จะ “รวมดินแดน” ให้อยู่ภายใต้อำนาจอย่าง “เด็ดขาด” เมื่อกระบวนการรัฐสมัยใหม่เกิดขึ้นแล้วในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17-18 ต่อมาบรรดาเมืองที่เคยถูกผนวกก็จะกลายสภาพเป็นเขตๆ หนึ่ง เช่น จังหวัด หรือ แคว้นหนึ่งๆ ไปโดยปริยาย
ในยุโรปเองก็เผชิญหน้ากับการผนวกดินแดนจนเป็นเรื่องปกติ ซึ่งเห็นตัวอย่างได้ชัดเจนมากที่สุดในสมัยสนธิสัญญาเวสต์ฟาเลีย (Westphalia)
ทั้งนี้ การขยับขยาย การผนวก การต้องเสียดินแดน หรือต้อง “ยินยอมยกดินแดน” ในการปกครองให้แก่ผู้อื่นที่ชอบธรรม หรือมีอำนาจมากกว่านั้น เป็นเรื่องที่พบเจอได้ปกติในยุโรปภาคพื้นทวีป (โดยเฉพาะกรณีดินแดนมรดกตกทอดของเจ้าตระกูลต่างๆ ที่มักสัมพันธ์ไปกับการครองราชย์)
และสำหรับในสหราชอาณาจักรเอง การผนวกรวมดินแดนของอังกฤษ-สกอตแลนด์นั้น เป็นตัวอย่างที่ประจักษ์ที่สุด อังกฤษได้ขยายอิทธิพลของตนไปในที่ราบสูงสกอตแลนต์ตลอดหลายร้อยปี
กรณีรัฐเท็คซัสในสหรัฐอเมริกา หรือ ในกรณีรัฐเดี่ยวก็พบเช่นกัน เช่น การที่ญี่ปุ่นผนวกรวมหมู่เกาะริวกิว หรือ การที่ไทยผนวกรวมล้านนา ดินแดนลาวบางส่วน และมลายูตอนบนบางส่วน เป็นต้น
ดังนั้น การผนวกดินแดน จึงต่างกับการล่าอาณานิคมตรงที่ดินแดนที่ผนวกกัน (โดยใจสมัคร) หรือโดนใช้กำลังผนวกเข้ามานั้น มัก “มีภูมิศาสตร์หรือภูมิหลังที่ใกล้ชิด” กัน
จุดประสงค์คือเป็นการ “รวมดินแดน” มาอยู่ใต้ปึกแผ่นเดียวกัน “สุวรรณปฐพี/ทองแผ่นเดียวกัน” และ “เมืองอันเป็นศูนย์กลาง” จะมีอำนาจมากกว่าการปกครองในลักษณะประเทศราชทั่วไป
ส่วนการล่าอาณานิคม ตามแนวคิดจักรวรรดินิยม (Empire/Imperialism) นั้น จุดประสงค์หลัก ไม่ใช่การหาที่อยู่ใหม่เพื่อตั้งถิ่นฐานถาวร
แต่เป็นการตั้งอาณานิคมเพื่อสรรหาหรือระบายสินค้าโดยยึดถือผลประโยชน์ของประเทศแม่
คนขาวมักอธิบายว่า ที่พวกเขาต้องยึดครองดินแดนพวกนี้ ก็เพื่อต้องการทำให้ “ชนพื้นเมือง” ที่มักถูกมองว่า “โหดร้าย/ป่าเถื่อน/ครึ่งสัตว์” นั้น ยกระดับเป็น “คนศิวิไลซ์” (แต่ไม่มีวันเทียบเท่าคนขาว)
นอกจากนี้ บรรดาเจ้าอาณานิคมก็ไม่ได้ต้องการที่จะปักหลักอย่างถาวรอยู่ในดินแดนที่ตนยึดมาได้แห่งนั้นเป็นเวลานาน เพราะพวกเขาต่างมองว่า ดินแดนต่างถิ่นเหล่านี้ “ไม่เหมาะที่จะลงหลักปักฐาน”...
และเมื่อกลับมาพินิจกรณีที่สยามกระทำต่อเมืองประเทศราช จึงดูเข้ารูปกับการผนวกดินแดน (Annexation) มากกว่าจะเป็นการล่าอาณานิคม (หรืออาณานิคมภายใน) ตามที่ ธงชัย เสนอ
เพราะ
1. การผนวกดินแดนเป็นการยึดและผนวกดินแดนใกล้เคียงที่มองว่ามีลักษณะร่วมคล้ายกับตน เช่น กรณีที่สยามผนวกรวมดินแดนลาวล้านช้าง ล้านนา และปัตตานีโดยเด็ดขาดมาตั้งแต่สมัยต้นกรุงฯ
กรณีนี้ชัดเจนว่า กษัตริย์สยามทรงมีอำนาจสูงสุดกว่าบรรดาเจ้านายฝ่ายเหนือ ฝ่ายลาวล้านช้าง หรือสุลต่านและรายามลายู
หลายครั้งสยามได้แสดงให้เห็นว่า สามารถถอดถอนเจ้านายท้องถิ่นพวกนี้ได้เอง เช่น กรณีที่รัชกาลที่ 3 ทรงถอดสุลต่านแห่งกลันตันออกจากตำแหน่ง แล้วตั้งผู้อื่นขึ้นมาแทน แล้วโยกเอาสุลต่านองค์เก่ามาไว้ที่ปัตตานีแทน
ต่างกับช่วงกรุงศรีอยุธยาที่อำนาจขุนนางท้องถิ่นยังสามารถคัดง้างกับสยามได้มากกว่า
ดังนั้น ผู้เขียน จึงเห็นแย้งกับ ธงชัย ว่า สยามได้เริ่มกระบวนการ “ผนวกดินแดน” มาตั้งแต่ก่อนเกิดรัฐชาติสมัยใหม่ในรัชกาลที่ 5
หรือพูดให้ชัด คือ สยามเริ่มตัดสินใจเชิงนโยบายในด้านดินแดนก่อนที่สยามจะเริ่มมีสำนึกความเป็น “ภูมิกายา” (Geo-Body) เสียอีก....
การยอมรับอำนาจสยามเหนือดินแดนพวกนี้ สอดคล้องกับเจ้าหน้าที่อาณานิคมอังกฤษอีกด้วย จากหลักฐานที่พบจาก “เอกสารเบอร์นี่” ในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่พูดถึงอำนาจของสยามเหนือดินแดนมลายู
เบอร์นี่ซึ่งเป็นชาวอังกฤษและนักการทูตได้ศึกษาพงศาวดารมลายูจนแตกฉาน จนกระทั่งเขาเองยอมรับว่า สยามมีอำนาจ “เหนือ” ดินแดนมลายูมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะ ปัตตานี ไทรบุรี ตรังกานู กลันตัน สำหรับ “ปัตตานี” นั้น เบอร์นี่ยืนยันชัดในหลายจุดว่า เป็นของสยามโดยตรงอย่างมิพักต้องสงสัย
แม้แต่ในปลายรัชกาลที่ 5 (ค.ศ.1898) ชาวตะวันตกก็ยังเข้าใจว่า สยามเคยปกครองเปรัคมาก่อนตั้งแต่ในช่วงคริสต์วรรษที่ 12
ขอยืนยันหนักแน่นว่า เรื่องการผนวกดินแดน (Annexation) นี้ ผู้เขียนไม่ได้ “สมาทานไปเอง” เพราะเป็นที่ประจักษ์ในเอกสารชั้นต้นของไทย คือ จดหมายทูลกรมหมื่นดำรงฯ ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2441 โดย พระยาสุขุมนัยวินิต (ปั้น สุขุม) ว่า
“…ไทยไม่ถือเป็นเมืองประเทศราช.....(แต่)…ถือเป็นอเนดส์ หรือ province ”
ซึ่ง อเนดส์ ในที่นี้ก็คือ annexes หรือดินแดนที่ได้รับการผนวกมานั่นเอง ไม่ใช่การจากล่าอาณานิคมหรือการประดิษฐ์วาทกรรมว่า เป็น “อาณานิคมภายใน”
2. สยามไม่เพียงแต่ยึดครองและปกครองดินแดนที่ได้ผนวกมา แต่ก็ได้มีการยักย้ายถ่ายเทหรือเทครัวข้างสยามหรือชาติพันธุ์อื่นๆ ไปในดินแดนพวกนั้นด้วย
แต่ก็เป็นการอพยพคนเข้าไปดังกล่าว ไม่ได้วางอยู่บรรทัดฐานของความแตกต่างระหว่างชาติพันธุ์ เช่น ที่พบในดินแดนอาณานิคม (Empire) หรือโคโลนี (Colony) อาทิ การแบ่งแยกเชื้อชาติ
หรือ ลัทธิคนขาวเป็นใหญ่ (White Supremacy) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการ “กดปราบและปกครอง” ของนักล่าอาณานิคมตะวันตก
แต่ในสยามนั้นเหตุการณ์กลับตาลปัตร กล่าวคือ เมื่อสยามไปตีเอาเมืองพวกนั้นมาได้ เป็นสยามเองที่นำเอาคนในดินแดนที่ตีพ่ายแล้วผนวกมานั้นกลับสู่ส่วนกลางที่กรุงเทพฯ เช่น กรณีเชลยลาว ชาวปัตตานี หรือไทรบุรี
บางครั้งกษัตริย์สยามได้พระราชทานที่ดินทำกินให้ตั้งบ้านเรือนไว้ไม่ไกลจาก “พระราชวัง” อันเป็นศูนย์กลางอำนาจด้วย
พวกสยามกรุงเทพฯที่ได้ไปอาศัยในดินแดนตามหัวเมืองชั้นนอก ต่างก็ได้รับการปฏิบัติในฐานะ “ราษฎรของพระเจ้าแผ่นดิน” โดยเสมอหน้า (เช่นเดียวกับโอกาสในการเข้ารับราชการของพวกเจ๊ก ลาว ญวน แขก มอญ รัฐบาลสยามไม่กีดกัน)
แต่การณ์กลับกันกับในอาณานิคมตะวันตก อาทิ อังกฤษไม่เคยมีแนวคิดจะเอาพวกชาวบ้านตะวันออกกลับกรุงลอนดอนมาเป็นราษฎรทั่วไปอย่างแน่ๆ มีแต่จะส่งไปยังดินแดนอาณานิคมไกลโพ้น เช่น ส่งคนอินเดียไปยังดินแดนมลายา หรือแอฟริกาใต้ หรือส่งคนผิวดำไปทำไร่อ้อยที่หมู่เกาะคาริบเบียน
3. การผนวกดินแดน มีลักษณะของการ “ผสานกลมกลืน” แต่การล่าอาณานิคม “ไม่กลมกลืน”
ของเช่นนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการกลืนกลาย (assimilation) แบบที่นักวิชาการหลายคนสมาทานกันไปเอง
การกลืนกลายนั้นเป็นการวางแผนอย่างเป็นขั้นตอนที่จะ “กลืน/ทำให้สูญสลาย” ซึ่งสิ่งบางอย่างภายในเวลาที่กำหนด
แต่การค่อยๆ “กลมกลืน” ไปเองตามธรรมชาติโดยไม่ได้มีการบงการ/ใจสมัครนั้น เป็นของธรรมชาติ เช่น ที่ลูกจีน ลูกลาว มลายูครั้งต้นกรุงเทพฯ เมื่อผ่านไป 2 รุ่นก็เริ่มกลายเป็น “คนสยามบางกอก” โดยที่รัฐบาลสยามในสมัยนั้นยังไม่รู้จักการกลืนชาติอะไรทั้งสิ้น (ต่างกับสมัยรัฐนิยมของจอมพล ป.)...
เมื่อมาถึงจุดนี้ จึงสรุปได้ว่า “การผนวกดินแดน” นั้น เริ่มมาก่อน ไม่ใช่เพิ่งมา “Integration” ในสมัยรัชกาลที่ 5 แบบที่ ธงชัย เสนอ ซึ่งผู้เขียนได้ตั้งข้อสังเกตว่า “annex-ผนวก” กับ “integrate-บูรณาการ” นั้น เป็นสิ่งเดียวกัน แต่ทั้งนี้ผู้เขียนไม่เข้าใจว่า เหตุใด ธงชัย จึงเลี่ยงไม่ใช้คำว่าการผนวกดินแดน (Annexation) ซึ่งตรงตามหลักวิชาการมากกว่าคำว่า “integrate-บูรณาการ” ซึ่งความหมายของ “integrate-บูรณาการ” ไม่ชี้ชัดอะไรเลย
และเมื่อมีการผนวกดินแดนเกิดขึ้นแล้ว โดยผลของกฎหมายและการปกครอง สยามจึงต้องรับผิดชอบต่อดินแดนเหล่านั้น และเมื่อได้มีการทำสัญญาในเชิงยกดินแดนให้แก่ชาติอื่น
นั่นก็ย่อมยืนยันได้ว่า “สยามเสียดินแดนจริง”
และถ้าหากยึดตามกรอบหรือวิธีวิทยาของธงชัย. อย่างเคร่งครัดในเรื่อง การเกิด “ภูมิกายา” การจัดทำแผนที่ฉบับทางการของพระวิภาคภูวดลฉบับ พ.ศ. 2431 เรื่อยมาจนถึงการทำแผนที่ทางการของสยามอีกครั้งในปี พ.ศ. 2440 ซึ่งก็ยังพบว่าสยามยังต้องเผชิญการแก้ไขพื้นที่/เขตแดนอีกหลังจากนั้น
นี่ทำให้เรากล่าวได้เต็มปากว่า ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ปรากฏเหตุการณ์ “เสียดินแดน” ในสำนึกของรัฐสมัยใหม่เกิดขึ้นจริงๆ เพราะบางพื้นที่ก็ได้จัดตั้งเป็นมณฑลเทศาภิบาล เป็นการปกครองโดยรัฐบาลสยามผ่านรัฐราชการสมัยใหม่ไปแล้ว และเหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดแค่ครั้งเดียว แต่อย่างน้อย 4 ครั้ง ดังนี้
1. การยกดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงในปี พ.ศ. 2436 (ร.ศ. 112) ให้แก่ฝรั่งเศส
2. การยกดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขง ให้แก่ฝรั่งเศส พ.ศ. 2446
3. การยกมณฑลบูรพาทั้งหมดให้แก่ฝรั่งเศส พ.ศ. 2449
4. การยกดินแดนไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปะลิสในแก่อังกฤษ พ.ศ. 2451
นี่คือข้อสรุปเบื้องต้นของผู้เขียน ที่ได้พยายามใช้วิธีวิทยาของ ธงชัย ในการมองกลับไปสำรวจตรวจสอบปรากฏการณ์ดังกล่าว
ผู้เขียนเห็นว่า ไม่มีความจำเป็นต้องกลับไปนับว่า ไทย (สยาม) เสียดินแดนมาแล้วกี่ครั้ง เพราะนี่ไม่ใช่สิ่งที่เจ้ากรุงเทพฯ ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 พูดถึงแต่อย่างใด
การนำประเด็นเรื่อง ราชาชาตินิยม มาผูกโยงกับประวัติศาสตร์การเสียดินแดน เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นหลังจากจบสิ้นยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปแล้ว (กล่าวสั้นๆ ว่า เกิดขึ้นในยุคประชาธิปไตย)
นี่จึงเป็นการเชื่อมโยงกันอย่างผิดฝาผิดตัว
ล่าสุด วันนี้ (17 มิ.ย. 64) เฟซบุ๊ก Chaiyan Chaiyaporn ยังโพสต์ ข้อวิจารณ์ของ ทุ่นดำ-ทุ่นแดง ต่อประเด็นใน ส่วนที่ 2 เรื่อง “อาณานิคมภายใน”
โดยมีการร่ายยาว ลักษณะการปกครองสยามโดยละเอียด ก่อนที่จะ สรุปว่า “อาณานิคมภายใน” จึงเป็นวาทกรรมที่ต้องได้รับการสำรวจตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์อย่างละเอียดและเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายต่อไปในอนาคต
เพราะแม้แต่คำว่า “เจ้าอาณานิคมสยาม” หรือการมองสยามเป็นเจ้าอาณานิคม ก็เป็นการสร้างความเข้าใจทางประวัติศาสตร์ขึ้นมาใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา เพื่อสร้างความเป็นชาตินิยมในขบวนการสร้างชาติหลังการปลดแอกเจ้าอาณานิคม
ดังนั้น การมุ่งแค่ด้านปลุก emotional (ถืออารมณ์เป็นใหญ่) โดยไม่สำรวจตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ชัด นี่ย่อมไม่ใช่การศึกษาประวัติศาสตร์แบบ “หลังสมัยใหม่นิยม” เอาเสียเลย
แน่นอน, นี่คือ ประเด็นโต้แย้งด้วยเหตุผลทางวิชาการ ของนักวิชาการ ต่อนักวิชาการด้วยกัน ส่วนผู้อ่านคือคนที่ได้ประโยชน์และความรู้ที่กว้างขวางและรอบด้านยิ่งขึ้น ส่วนว่า การศึกษาประวัติศาสตร์ที่น่าเชื่อถือ เป็นของใครนั้น ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณ ซึ่งถ้าใจเป็นกลางก็จะเข้าใจเรื่องทั้งหมดเป็นอย่างดี ด้วยตัวเอง มิใช่จากการมอมเมาของใคร