xs
xsm
sm
md
lg

เผยโฉม “ยักษ์เขียว Hulk” รถไฟจีน-ลาว ได้เห็นตัวจริงสิงหาคมนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


โฉมหน้าจริงของเจ้า “ยักษ์เขียว” CR200J Fuxing ในวันเปิดให้บริการเส้นทางคุนหมิง (ยูนนาน)-พานจือฮวา (เสฉวน) เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2563 (ภาพจาก China Daily)
MGR Online - ชาวลาวจะได้เห็นโฉมหน้าจริงของเจ้า “ยักษ์เขียว” ขบวนรถไฟ CR200J Fuxing ที่จะเริ่มทดลองวิ่งตามแนวทางรถไฟจากเวียงจันทน์ถึงบ่อเต็นในเดือนสิงหาคมนี้ ก่อนเปิดให้บริการจริงตอนฉลองวันชาติครบ 46 ปี ในเดือนธันวาคม

อีกประมาณ 2 เดือน หรือตั้งแต่เดือนสิงหาคมนี้เป็นต้นไป ประชาชนลาวที่อาศัยอยู่ 2 ข้างทางตามแนวรางรถไฟลาว-จีน ระยะทาง 422 กิโลเมตร ต้องได้มีโอกาสเห็นเจ้ายักษ์เขียว หรือ Hulk ที่จะเริ่มวิ่งขึ้น-ล่องตามเส้นทาง ตั้งแต่นครหลวงเวียงจันทน์ ถึงชายแดนจีนที่บ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา

Hulk เป็นฉายาที่สื่อมวลชนในจีนใช้เรียกขบวนรถไฟ Fuxing รุ่น CR200J ซึ่งบริษัททางรถไฟลาว-จีน ตัดสินใจนำรถไฟรุ่นนี้มาให้บริการ โดยได้สั่งซื้อจาก China Railway Corp ไปเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว 2 ขบวน มูลค่า 100 ล้านหยวน หรือประมาณ 14.2 ล้านดอลลาร์ หรือ 127 พันล้านกีบ




ตามกำหนดการ บริษัท CRRC ซึ่งเป็นโรงงานประกอบ จะส่งหัวรถจักรและตู้โดยสารมาถึงลาวในเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อนำมาใช้วิ่งทดสอบความพร้อมของรางและการบริหารจัดการ ก่อนถึงกำหนดเปิดให้บริการจริงในวันที่ 2 ธันวาคม 2564 ซึ่งเป็นวันชาติครบรอบ 46 ปี การก่อตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

China Railway Corp ได้เปิดตัวรถไฟรุ่น CR200J เมื่อเดือนมกราคม 2562 เป็นรถไฟความเร็วปานกลาง สามารถทำความเร็วได้ตั้งแต่ 160-210 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตู้โดยสารกว้าง 3.10 เมตร สูง 4.43 เมตร แบ่งความยาวของขบวนรถได้ 2 แบบ ขบวนยาวมีตู้โดยสารตั้งแต่ 11-20 ตู้ ยาวรวม 518 เมตร จุผู้โดยสารได้ 1,102 คน และขบวนสั้นมีตู้โดยสาร 9 ตู้ ยาวรวม 234 เมตร จุผู้โดยสารได้ 720 คน

เมื่อต้นเดือนมกราคม 2563 China Railway ได้เริ่มนำ CR200J มาวิ่งรับ-ส่งผู้โดยสารระหว่างเมืองคุนหมิง เมืองเอกของมณฑลยูนนาน กับเมืองพานจือฮวา มณฑลเสฉวน ที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 199 กิโลเมตร ขณะที่สื่อออนไลน์ในลาวเองได้เริ่มเผยแพร่ภาพของเจ้ายักษ์เขียว เพื่อเป็นการปูพื้นให้คนลาวได้รู้จัก และสร้างความคุ้นชินตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว

ทางรถไฟลาว-จีน เริ่มมีการสำรวจ-ออกแบบมาตั้งแต่ปี 2553 สภาแห่งชาติลาวได้ผ่านบทวิพากษ์ทางเศรษฐกิจโครงการนี้ในปี 2555

ภายในโบกี้โดยสารของ CR200J Fuxing (ภาพจาก AeroLaos)



 พิธีวางศิลาฤกษ์โครงการทางรถไฟลาวจีน ที่นครหลวงเวียงจันทน์เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2558 (ภาพจากสำนักข่าวสารประเทศลาว)
วันที่ 2 ธันวาคม 2558 ในวันชาติครบรอบ 40 ปี การก่อตั้ง สปป.ลาว พล.ท.จูมมาลี ไซยะสอน ประธานประเทศลาวขณะนั้น และจาง เต๋อเจียง ประธานสภาประชาชนแห่งชาติจีน ได้จัดพิธีวางศิลาฤกษ์โครงการทางรถไฟลาว-จีน ที่บ้านไซ เมืองไซทานี นครหลวงเวียงจันทน์ แต่การก่อสร้างจริงเริ่มอีก 1 ปีถัดมา ในวันที่ 25 ธันวาคม 2559 โดยนายทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้เป็นประธานพิธีเปิดการก่อสร้างทางรถไฟลาว-จีน อย่างเป็นทางการที่แขวงหลวงพระบาง

มูลค่าก่อสร้างทางรถไฟสายนี้สูง 37,400 ล้านหยวน หรือ 5,965 ล้านดอลลาร์ 60% ของเงินลงทุนเป็นเงินกู้ที่รัฐบาลจีนให้แก่ลาวภายใต้เงื่อนไขผ่อนปรน ที่เหลืออีก 40% เป็นเงินลงทุนของบริษัททางรถไฟลาว-จีน บริษัทร่วมทุนที่มีฝ่ายจีนถือหุ้น 70% อีก 30% ถือโดยรัฐบาลลาว



เส้นทางรถไฟจากสถานีต้นทางนครหลวงเวียงจันทน์ โดยมีปลายทางที่สถานีบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา (ภาพจากสำนักข่าวสารประเทศลาว)
ทางรถไฟสายนี้เป็นรางเดี่ยวขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า รางกว้าง 1.435 เมตร ใช้ร่วมกันทั้งขบวนขนส่งสินค้าที่กำหนดความเร็วไว้ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กับขบวนขนส่งผู้โดยสารที่กำหนดความเร็ว 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อย่างไรก็ตาม ระบบได้ออกแบบเผื่อไว้สำหรับช่วงพื้นราบ ตั้งแต่วังเวียงถึงเวียงจันทน์ ให้สามารถวิ่งได้ถึง 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

เนื่องจากพื้นที่ภาคเหนือของลาวเป็นเทือกเขาสูง ทำให้ 41% ของทางรถไฟต้องถูกสร้างเป็นทางยกระดับเป็นระยะทางรวมประมาณ 175 กิโลเมตร มีการสร้างสะพาน 167 แห่ง เป็นสะพานสูงข้ามหุบเหว 154 แห่ง ระยะทางรวม 67.15 กิโลเมตร หรือ 16% ของทางรถไฟทั้งหมด

มีการเจาะอุโมงค์ทะลุภูเขา 75 แห่ง ระยะทางเฉพาะที่เป็นอุโมงค์รวมมากกว่า 190 กิโลเมตร หรือ 45% ของทางรถไฟทั้งหมด ใน 75 แห่ง มีอุโมงค์ที่ยาวเกิน 7 กิโลเมตร 7 แห่ง อุโมงค์ที่ยาวที่สุด ยาว 9.5 กิโลเมตร

อุโมงค์แห่งแรกที่ได้มีการวางรางรถไฟลอดผ่านหลังเจาะทะลุสำเร็จ อยู่ในเมืองแสนขุม แขวงเวียงจันทน์ บริษัทวิศวกรรมทางรถไฟหมายเลข 2 เริ่มวางรางรถไฟเข้าไปในอุโมงค์แห่งนี้เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2563

วันที่ 29 กันยายน 2563 อุโมงค์ทั้ง 75 แห่งถูกเจาะทะลุครบทั้งหมด อุโมงค์สุดท้ายที่เจาะทะลุสำเร็จในวันนั้น คือ อุโมงค์เชียงเงินหมายเลข 3 แขวงหลวงพระบาง

พิธีเริ่มต้นการก่อสร้างสถานีรถไฟนครหลวงเวียงจันทน์ สถานีต้นทางรถไฟลาว-จีน เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 (ภาพจาก CRI-FM 93)



การเริ่มต้นวางรางจากยวี่ซีลงมายังบ่อหาน เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 (ภาพจาก CRI-FM 93)



การวางรางลอดอุโมงค์แห่งแรกของทางรถไฟลาว-จีน ที่เมืองแสนขุม แขวงเวียงจันทน์ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2563 (ภาพจากสำนักข่าว Xinhua)
ตลอดแนวเส้นทางรถไฟลาว-จีน ต้องใช้พื้นที่รวมทั้งสิ้น 3,058 เฮกตาร์ (19,112.5 ไร่) พื้นที่ริมข้างทางรถไฟด้านละ 50 เมตรได้ถูกล้อมรั้วไว้เพื่อความปลอดภัย

ทางรถไฟสายนี้มีสถานีทั้งสิ้น 32 แห่ง แบ่งเป็นสถานีขนส่งสินค้า 22 แห่ง สถานีสำหรับรับส่งผู้โดยสาร 10 แห่ง ได้แก่ นครหลวงเวียงจันทน์ โพนโฮง วังเวียง กะซิ หลวงพระบาง งา ไซ นาหม้อ นาเตย และบ่อเต็น ในนี้เป็นสถานีหลัก 5 แห่ง คือนครหลวงเวียงจันทน์ วังเวียง หลวงพระบาง นาเตย และบ่อเต็น

แม้ชื่อถูกเรียกเป็นทางรถไฟลาว-จีน แต่จุดตั้งต้นจริงๆ ของทางรถไฟสายนี้อยู่ที่นครคุนหมิง เมืองเอกของมณฑลยูนนาน โดยการรถไฟของจีนได้วางรางจากคุนหมิง มายังเมืองยวี่ซี ผ่านเมืองผูเอ่อร์ เชียงรุ่ง (สิบสองปันนา) ลงมาถึงชายแดนจีน-ลาวที่เมืองบ่อหาน (ตรงข้ามบ่อเต็น)

ยวี่ซีอยู่ทางใต้ของคุนหมิงประมาณ 90 กิโลเมตร นอกจากเป็นต้นทางของรถไฟจีน-ลาวแล้ว ยังเป็นต้นทางรถไฟจีน-เวียดนามอีกด้วย

เส้นทางจากยวี่ซีลงมาถึงบ่อหาน ยาว 508 กิโลเมตร การรถไฟของจีนเริ่มต้นวางรางจากยวี่ซีลงมาเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 ส่วนในลาว บริษัทวิศวกรรมทางรถไฟหมายเลข 2 เริ่มวางรางรถไฟจากนครหลวงเวียงจันทน์ขึ้นไปเมื่อวันที่ 27 มีนาคมปีเดียวกัน หรือก่อนหน้าเริ่มวางรางที่ยวี่ซี 10 วัน





อุโมงค์เชียงเงินหมายเลข 3 แขวงหลวงพระบาง อุโมงค์รถไฟที่เจาะทะลุสำเร็จเป็นลำดับท้ายสุด เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563 (ภาพจาก CRI-FM 93)
วันที่ 30 พฤษภาคม 2564 รางรถไฟทั้ง 2 เส้น ได้เชื่อมต่อกันที่ชายแดนลาว-จีน บ่อเต็น (แขวงหลวงน้ำทา)-บ่อหาน (สิบสองปันนา) โดยจุดบรรจบของรางรถไฟจาก 2 ประเทศ เป็นอุโมงค์ลอดภูเขายาว 9.68 กิโลเมตร ปากอุโมงค์อยู่ที่เมืองบ่อหานในฝั่งจีน ลอดทะลุภูเขามาออกยังเมืองบ่อเต็นในฝั่งลาว เส้นทางในอุโมงค์อยู่ทางฝั่งจีน 7.17 กิโลเมตร ฝั่งลาว 2.51 กิโลเมตร ถูกตั้งชื่อว่า “อุโมงค์มิตรภาพ”

จีนเริ่มระเบิดภูเขาเพื่อเจาะอุโมงค์มิตรภาพเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2559 สามารถเจาะทะลุตลอดแนวได้สำเร็จในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2561.



พิธีฉลองความสำเร็จในการเจาะอุโมงค์รถไฟทะลุครบทั้งหมด 75 แห่ง ที่เมืองหลวงพระบาง เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563 (ภาพจาก CRI-FM 93)


กำลังโหลดความคิดเห็น