xs
xsm
sm
md
lg

“หมอแก้ว” ยกบทเรียนอิสราเอล ต่อให้ฉีดวัคซีนที่คิดว่าดี ก็ไม่มีทางป้องกันติดเชื้อได้ 100%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เฟซบุ๊กส่วนตัวผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ชี้ กระแสเรียกร้องให้นำเข้าวัคซีน mRNA มาใช้เป็นเกราะอย่างหนา ยกบทเรียนอิสราเอล เจอสายพันธุ์อินเดีย พวกฉีดไฟเซอร์ ครบ 2 เข็มไปไม่เป็น ระบุ ต่อให้เราฉีดวัคซีนที่เราคิดว่าดี มันก็ไม่มีทางที่จะป้องกันการติดเชื้อได้ 100%

เมื่อวันที่ 7 ก.ค. เฟซบุ๊ก “หมอแก้ว ผลิพัฒน์” ของ นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข โพสต์ข้อความระบุว่า “กรณีที่มีข้อเรียกร้องให้มีการนำวัคซีนชนิด mRNA มาใช้เพื่อเป็นเกราะ “อย่างหนา” ในการป้องกันการ “ติดเชื้อ” โควิด โดยเฉพาะสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่กำลังเข้ามา เช่น สายพันธุ์อินเดีย

พวกเราจำอิสราเอลได้ไหม? อิสราเอลเริ่มฉีดวัคซีนซึ่งเกือบทั้งหมดเป็น mRNA vaccine ของไฟเซอร์เมื่อวันที่ 20 ธันวาคมปีที่แล้ว และได้ทำการล็อกดาวน์ (lockdown) ด้วยเมื่อต้นเดือนมกราคม จำนวนเคสก็ลดลง ตามลำดับ จนจำนวนผู้ป่วยเริ่มราบเรียบ (flattened) ใช้เวลาประมาณ 3 เดือนครึ่ง พอถึงปลายเดือนเมษายนจำนวนผู้ติดเชื้อก็เป็นศูนย์ครั้งแรกใน 10 เดือน ตอนนั้นอิสราเอลฉีดวัคซีนชาวบ้านได้ร้อยละ 61 อิสราเอลดีใจประกาศเลิกใส่หน้ากากอนามัย เมื่อวันที่ 15 มิถุนายนกลางเดือนที่ผ่านมา

แต่มาเมื่อประมาณอาทิตย์ที่แล้ว จากจำนวนผู้ติดเชื้อที่แบนราบในระดับต่ำ จำนวนเคสต่อวันที่เป็นเลขหลักเดียวก็เพิ่มเป็นประมาณ 300 คนต่อวันมาได้ประมาณอาทิตย์นึง ทำท่าจะเป็นแบบเดียวกับอังกฤษ ซึ่งถึงเมื่อวานนี้ (วันที่ 1 กรกฎาคม 2564) อิสราเอลฉีดวัคซีนชาวบ้าน ได้ 64 เปอร์เซ็นต์

เกิดอะไรขึ้นกับอิสราเอล? ปรากฏว่า สายพันธุ์ที่ระบาดใหม่นี้เป็นสายพันธุ์อินเดียครับ และที่สำคัญก็คือ ครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยที่เป็นสายพันธุ์อินเดียนี้เคยได้รับวัคซีนซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นวัคซีนของไฟเซอร์ ครบ 2 เข็ม จนตอนนี้อิสราเอลก็กำลังพยายามอย่างเต็มที่ที่จะควบคุมการระบาดนี้ โดยประกาศสั่งให้กลับมาใส่หน้ากากอนามัยกันใหม่อีกครั้ง

ทำไมอิสราเอลถึงมีการระบาด? อิสราเอลมีผู้ติดเชื้อนำเชื้อเข้ามาแพร่ในกลุ่มนักเรียนอายุต่ำกว่า 16 ปีก่อน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยังไม่ได้รับวัคซีนอะไรเลย และเกิดการระบาดต่อไปในกลุ่มชาวบ้านทั่วไป

นิทานเรื่องนี้สอนอะไรเราบ้าง? ก็แบบเดิมที่ผมเคยบอกแล้ว ว่า

1. ตราบใดที่เรามีคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนอยู่พอสมควร และเป็นกลุ่มคนที่มีโอกาสที่จะติดเชื้อได้ (susceptible) เช่น เด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี (ในตัวอย่างนี้) พอมีเชื้อหลุดเข้ามา ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นของการระบาดรอบใหม่ได้ และยังสามารถแพร่ไปยังกลุ่มประชากรที่มีความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนครบแล้วในระดับที่สูงได้ ดังเช่น กรณีที่เกิดขึ้นในอิสราเอล เมือง Kudus และโรงพยาบาลเชียงราย

2. ต่อให้เราฉีดวัคซีนที่เราคิดว่าดี มันก็ไม่มีทางที่จะป้องกันการติดเชื้อได้ 100% อย่างกรณีของอิสราเอลซึ่งเกิดเหตุการณ์แบบเดียวกับการระบาดของสายพันธุ์อินเดียที่เมือง Kudus ของอินโดนีเซีย หรือของไทยที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ทั้งๆ ที่ได้รับวัคซีน Sinovac ครบ 2 เข็ม

3. ดังนั้น ความหวังที่จะไม่ให้ติดเชื้อเลยและไม่ให้มีการระบาดคงจะเป็นเรื่องยาก และระดับของ neutralizing antibody ว่าของใครจะมีมากกว่าใคร น่าจะมีความสำคัญน้อยกว่า ข้อเท็จจริงที่ว่าวัคซีนตัวไหนจะป้องกันการตายหรือป่วยรุนแรงได้ดีกว่ากัน

ผมลอกของอาจารย์ขจรศักดิ์มาปรับนิดหน่อยครับ ด้วยความหวังว่าจะเข้าใจได้ง่ายขึ้น

ปล.1: เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีข่าวจากหนังสือพิมพ์รายงานออกมาว่า วัคซีนของไฟเซอร์ในอิสราเอลมีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาในภาพรวม (ทั้งติดเชื้อที่มีอาการและไม่มีอาการ) อยู่ที่ประมาณร้อยละ 64 และมีประสิทธิภาพในการป้องกันการป่วยรุนแรงจากสายพันธุ์เดลตาอยู่ที่ร้อยละ 93

ปล.2: ส่วนตัวผมเองก็ไม่ค่อยเข้าใจว่าเกราะอย่างหนาคืออะไรนะครับ

#เราจะชนะไปด้วยกัน #พวกเราทีมไทย
#แด่มดงานเพื่อนร่วมอุดมการณ์ #NeverNeverNeverGiveUp
#ความหวังเป็นสิ่งดี #ศิษย์มีวันนี้เพราะมีครู
#สำหรับประเทศไทยน้อยกว่านี้ได้ยังไง
#TPWork #TPlife #I_Love_What_I_Do
#ชีวิตคือการเรียนรู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุด #บทเรียนไว้เรียนรู้”



กำลังโหลดความคิดเห็น