xs
xsm
sm
md
lg

“หมอบุญ” รพ.ธนบุรี เดินหน้าชน! แฉรัฐบาลไม่ยอมเซ็นสัญญาซื้อไฟเซอร์-โมเดอร์นา / เปรียบ “ซิโนแวค” วัคซีนเกรดซี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สรยุทธ สุทัศนะจินดา” เปิดพื้นที่ “หมอบุญ” เจ้าของเครือ รพ.ธนบุรี แฉรัฐบาลไม่ยอมเซ็นสัญญาสั่งซื้อวัคซีน ทั้งไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา อ้างประเทศในเอเชียได้กันเกือบทุกประเทศ ยกเว้นไทย อ้างวัคซีน mRNA ดีที่สุด เหยียดซิโนแวควัคซีนเกรดซี ภูมิขึ้นน้อย ฉีดแล้วภูมิลด จี้ขอความชัดเจน งานนี้โซเชียลฯ ลุกเป็นไฟ

วันนี้ (2 ก.ค.) รายการเรื่องเล่าเช้านี้ ทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง 3 ดำเนินรายการโดย นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ได้นำเสนอข่าว นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการบริษัท ธนบุรี เฮลแคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เจ้าของโรงพยาบาลธนบุรี กล่าวว่า ตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 โรงพยาบาลของบริษัท ธนบุรี เฮลแคร์ หรือ เครือโรงพยาบาลธนบุรี วางแผนตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 เพื่อซื้อวัคซีน 4-5 ชนิด จำนวน 50 ล้านโดส แต่รัฐบาลออกมาบอกว่าสั่งไม่ได้ เพราะเป็นการใช้ฉุกเฉิน ต้องซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ และห้ามซื้อวัคซีน 5 ชนิดที่รัฐบาลจะสั่งซื้อ ดังนั้น จะเหลือวัคซีนที่เอกชนสามารถซื้อได้ เพียง 3 ยี่ห้อ คือ วัคซีนโมเดอร์นา, ไบโอเอ็นเทคของไฟเซอร์ และโนวาแวคซ์ แต่ต้องซื้อผ่านองค์การเภสัชกรรม

สอบถามไปยังผู้ผลิตวัคซีนทั้งโมเดอร์นา และไฟเซอร์ ระบุว่า ไทม์ไลน์การสั่งซื้อวัคซีน ภายหลังเซ็นสัญญาซื้อขายแล้ว ทางบริษัทผู้ผลิตจะต้องใช้เวลา อีก 4 เดือน ถึงจะส่งวัคซีนไปยังประเทศที่สั่งซื้อวัคซีนได้ หากไม่ติดเงื่อนไขจากรัฐบาล บริษัท ธนบุรี เฮลแคร์ กรุ๊ป จำกัด เตรียมพร้อมทำการสั่งซื้อ ทั้งโมเดอร์นา และ ไฟเซอร์ ไปจำนวน 50 ล้านโดส ตั้งแต่เดือนตุลาคม 63 เพราะคาดว่าจะได้วัคซีนทางเลือก ที่ผลิตโดยเทคโนโลยีใหม่ mRNA มาฉีดให้ประชาชนในเดือนกุมภาพันธ์ 64 ซึ่งโรงพยาบาลเอกชนดำเนินการทุกอย่างเสร็จเรียบร้อย ติดเพียงภาครัฐไม่ยอมเซ็นให้ โดยให้เหตุผลว่าต้องเป็นการซื้อแบบรัฐต่อรัฐ ทำให้เอกชนไม่สามารถสั่งซื้อวัคซีนทางเลือกได้และรอวัคซีนมาจนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ ในเดือนเมษายน มีการยืนยันจากทั่วโลก ว่า วัคซีนแบบ mRNA คือ วัคซีนที่ดีที่สุด โดยเฉพาะไฟเซอร์และโมเดอร์นา เช่น การศึกษาของสหรัฐอเมริกา ยืนยันแล้วว่า วัคซีนที่ผลิตเทคโนโลยีใหม่ mRNA อย่าง โมเดอร์นา และ ไฟเซอร์ มีประสิทธิผลดีที่สุด คุ้มกันไม่ให้เกิดโรคได้ ไม่ใช่เพียงแค่ป้องกันการเสียชีวิต หรือ อาการหนักเท่านั้น โดยมีประสิทธิภาพสามารถป้องกันได้ทั้ง โควิด-19 สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) สายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) และสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) ขณะที่หลายประเทศที่ฉีดซิโนแวค การติดเชื้อโควิดยังเยอะ ล้มตายจำนวนมาก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่ใช้ mRNA ก็ยืนยันชัดเจนว่าป้องกันไวรัสได้ดี ดังนั้น หากจัดเกรดวัคซีน ซิโนแวกจัดเป็นวัคซีนเกรด C ถ้าวัคซีนที่ดีที่สุดต้องเป็น วัคซีนที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีใหม่ mRNA รองลงมาคือวัคซีนเชื้อเป็น แต่วัคซีนเชื้อตายภูมิขึ้นน้อย และยังพบว่า เมื่อฉีดเข็ม 2 ไปแล้ว ผ่านไป 4-5 สัปดาห์ภูมิจะลดลง ต้องกระตุ้นด้วยการฉีดเข็ม 3 แอสตราเซเนกาก็เหมือนกัน ต้องฉีดกระตุ้นเพิ่ม แต่ถ้าใช้วัคซีนชนิด mRNA ภูมิจะขึ้นมามากถึง 20-100 เท่า

ล่าสุด บริษัทฯ ได้ตรวจสอบไปยังไฟเซอรและโมเดอร์นา พบว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการเซ็นสัญญาสั่งซื้อ ทั้งวัคซีนของไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา จึงอยากได้ความกระจ่างว่าทำไมถึงช้า เพราะขณะนี้ประเทศในเอเชียได้กันเกือบทุกประเทศ อย่าง ฟิลิปปินส์ ได้ไฟเซอร์รอบที่ 3 แล้ว รวม 40 ล้านโดส อินโดนีเซียได้วัคซีน mRNA 3 รอบ สิงคโปร์ มาเลย์เซีย ได้แล้วเหมือนกัน เหลือแค่ประเทศไทย ยังไม่ได้วัคซีน mRNA ซักโดสเลย เมื่อโทร.ไปสอบถามผู้ผลิตไฟเซอร์และโมเดอร์นา ซึ่งสนิทเป็นการส่วนตัวกับโรงพยาบาลเอกชนในไทยอยู่แล้ว มองไทยเป็นอะไร ทำไมได้วัคซีนช้า ได้คำตอบว่า ไทยไม่ยอมเซ็นสัญญา นอกจากนั้น ทางโรงพยาบาลเอกชน ยังมองว่า ไทยตรวจเชิงรุกน้อยมาก เราตรวจได้เพียงร้อยละ 5 ซึ่งตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ควรตรวจอย่างน้อยร้อยละ 15 ในต่างประเทศอย่างจีน ไต้หวันหรือเกาหลีใต้ ตรวจเชิกรุกกันมากกว่าร้อยละ 30-40

สำหรับการฉีดวัคซีน หมอบุญ มองว่า ไม่เพียงคนชรา หรือ กลุ่มเสี่ยงที่ต้องฉีดก่อนเท่านั้น กลุ่มคนหนุ่มสาว วัยทำงาน ควรได้รับวัคซีนก่อน เพราะกลุ่มนี้ต้องออกไปทำงานทุกวัน ต้องเจอคน แม้องค์การเภสัชฯ จะกำหนดราคาวัคซีนโมเดอร์มา มาที่ 1,100 บาท แต่กลุ่มโรงพยาบาลเอกชน ได้ตกลงกันแล้ว ว่าราคาที่เหมาะสมคือ 1,700 บาท เพราะ 1,100 คือ ราคาวัคซีน ยังไม่รวมค่าบริการ ค่าจัดเก็บ รวมทั้งเงินดอกเบี้ยที่ภาคเอกชนไปกู้เงินมา เพื่อซื้อวัคซีนผ่านทางองค์การเภสัชฯ อย่างเช่น เครือโรงพยาบาลธนบุรี กู้เงินมากว่า 15,000 ล้านบาท เพื่อซื้อวัคซีนผ่านทางองค์การเภสัชฯ แต่ความล่าช้าของรัฐบาล เอกชนก็ต้องเสียดอกเบี้ยตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ดังนั้น ราคาที่เหมาะสมสำหรับวัคซีนโมเดอร์นา คือโดสละ 1,700 บาท

สำหรับ THG มีตัวเลขประชาชนเข้ามาแล้วกว่า 2 ล้านโดส จริงๆ มีมากกว่านี้ แต่โรงพยาบาลปิดการจองที่ 2 ล้านโดส และยังมีบริษัทประกันจองเข้ามา เพื่อฉีดให้ลูกค้าอีก 1 ล้านโดส เท่ากับว่า ยอดจองวัคซีนโมเดอร์นาของประชาชน ผ่านโรงพยาบาลในเครือธนบุรี ขณะนี้มีทั้งหมด 3 ล้านโดส โดยทางทางบริษัทฯ ได้จองวัคซีนโมเดอร์นาผ่านองค์การเภสัชฯไปจำนวน 5 ล้านโดส ประเทศไทยอยู่ในภาวะวิกฤต มาตั้งแต่เดือนก่อน เพราะ ICU ทั่วประเทศที่มีกว่า 500 เตียง ผู้ป่วยสีเหลือง สีแดง ล้นมาตั้งแต่เดือนที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทฯ จะเข้าไปช่วยเหลือภาครัฐด้วยการเพิ่มห้องความดันลบ ที่สามารถรองรับผู้ป่วยหนักได้อีก 110 เตียง ภายใน 1 สัปดาห์ นอกจากนั้น จะเพิ่มเตียงผู้ป่วยสีเหลืองอีก 500 เตียง และเตียงสีเขียวเพิ่มอีกประมาณ 3,000 เตียง

สุดท้ายที่อยากฟังความชัดเจนจากรัฐบาล คือ คำตอบว่าทำไมการสั่งวัคซีน mRNA ถึงได้ช้า ทำไมจนถึงขณะนี้ยังไม่ได้วัคซีน ทั้งที่วัคซีนแบบ mRNA ทั้งไฟเซอร์และโมเดอร์นา ได้ผลดีที่สุด ผลข้างเคียงน้อยสุด ในมุมมองโรงพยาบาลเอกชน มองว่า การระบาดที่ผ่านมารัฐบาลประมาทเกินไป ทั้งที่นักวิชาการก็บอกว่าไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์เร็วมาก รัฐบาลรอวัคซีนเพียงชนิดเดียว คือ แอสตราเซเนก้า แต่เมื่อแอสตราเซเนก้า ผลิตไม่ทัน สถานการณ์ที่มีการระบาดเกิดขึ้น ก็เลือกซื้อวัคซีนซิโนแวคมาแทน ซึ่งต้องยอมรับคุณภาพไม่สามารถเทียบวัคซีน ที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีใหม่ mRNA ได้

ข่าวนี้ทำให้ในโลกโซเชียลฯ ต่างออกมาโจมตีการบริหารจัดการวัคซีนของรัฐบาลจำนวนมาก



อนึ่ง ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา นพ.บุญ ออกมาให้สัมภาษณ์กรณีนำเข้าวัคซีนทางเลือกสำหรับโรงพยาบาลเอกชน โดยพาดพิงองค์การเภสัชกรรมคิดค่าบริหาร 10% ทำให้ขณะนั้น นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ชี้แจงว่า ยังอยู่ระหว่างการรวบรวมความต้องการวัคซีนจากโรงพยาบาลเอกชนต่างๆ เพื่อที่จะได้ยืนยันคำสั่งซื้อแจ้งจำนวนความต้องการไปยังบริษัทผู้นำเข้าและเป็นผู้ได้รับอนุญาตทะเบียนยา ยังไม่ได้มีการคิดเรื่องต้นทุนและราคาที่จะขาย องค์การเภสัชฯ เป็นเพียงหน่วยงานอำนวยความสะดวกในการซื้อวัคซีนให้แก่โรงพยาบาลเอกชน ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่างๆ อาทิ ค่าจัดเก็บ ค่าจัดส่ง ค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการ ประมาณ 3-5% รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% กรณีที่การเผยแพร่ข่าวถึงองค์การเภสัชกรรมจัดซื้อวัคซีนให้กับเอกชน และกล่าวว่าการจัดซื้อวัคซีนดังกล่าวทางเอกชนจะต้องเสียภาษีถึง 2 ครั้ง และจะชาร์จค่าบริหารจัดการ 5% ถึง 10% นั้น ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

ภายหลัง นพ.ธนาธิป ศุภประดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ นลิน วนาสิน กรรมการบริหาร ทำหนังสือชี้แจงกรณี นพ.บุญ วนาสิน กล่าวให้สัมภาษณ์กรณีนำเข้าวัคซีนทางเลือกสำหรับโรงพยาบาลเอกชน ทางบริษัทฯ รู้สึกเสียใจที่ข้อความดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงขององค์การเภสัชกรรม จึงกราบขออภัยมา ณ ที่นี้ และขอเรียนว่า มิได้มีเจตนาที่จะทำให้เกิดผลกระทบต่อภาพลักษณ์ขององค์การเภสัชกรรม แต่อย่างใด

อ่านประกอบ : รพ.ธนบุรี ขอโทษ องค์การเภสัชกรรม หลัง นพ.บุญ วนาสิน ทำให้เสียหาย ด้าน “อนุทิน” กางปีกป้ององค์การเภสัชฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น