xs
xsm
sm
md
lg

ไม่ฟังรัฐบาลแล้ว! “ช่อ พรรณิการ์” หนุนร้านอาหาร “กูจะเปิดมึงจะทำไม” ค้านคำสั่งห้ามนั่งรับประทานในร้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พบผู้ประกอบการร้านเครื่องดื่มที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่ง ศบค. ออกแคมเปญ #กูจะเปิดมึงจะทำไม ชวนร้านกาแฟ ร้านอาหาร ร้านลาบ ร้านคราฟต์เบียร์ ร้านเหล้า เริ่มจัดเวทีก่อน จากนั้นเปิดร้านเลย ถ้าไม่เกิดผลจัดม็อบลงถนน ขายอาหารไปด้วย ชี้ถ้าโดนจับก็แค่ปรับ อีกด้าน “ช่อ พรรณิการ์” หนุนสุดตัว อ้าง เซเว่นฯ ยังเปิดได้ ทำไมร้านอาหารจะเปิดไม่ได้

เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. รายงานข่าวแจ้งว่าได้มีผู้ใช้เฟซบุ๊ก Bamee Prapavee Ht ซึ่งเป็นผู้ประกอบการร้านจำหน่ายเครื่องดื่ม โพสต์ข้อความเปิดตัวแคมเปญ “#กูจะเปิดมึงจะทำไม” เพื่อคัดค้านมาตรการของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ที่ห้ามร้านอาหารและเครื่องดื่มให้ลูกค้านั่งรับประทานในร้าน รวมทั้งก่อนหน้านี้ได้สั่งปิดผับ บาร์ คาราโอเกะ มาอย่างยาวนาน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยระบุว่า

“ร้านไหนอยากร่วมแคมเปญ #กูจะเปิดมึงจะทำไม มาค่ะ จะร้านกาแฟ ร้านอาหาร ร้านลาบ ร้านคราฟต์เบียร์ ร้านเหล้า ลงชื่อกันไว้ก่อนได้เลยค่ะ

กิจกรรมระยะแรก : Flashmob ดาวกระจาย ช่วงแรกเราจะเป็นเด็กดีกันก่อนค่ะ เราจะชวนคุณเปิดขายอาหาร+เครื่องดื่มกลับบ้าน และจัด event เปิดเวทีปราศรัย เล่นดนตรี unplugged ในร้าน ให้เข้าฟังร้านละ 20 คน จัดทีละเขต (ถ้าดูในฟอร์มจะเห็นว่าเราให้ระบุพื้นที่ สน.ไว้) เขตละ 5-10 ร้านในวันเดียวกัน ใครใคร่ไปร้านไหนไป แล้วก็เปลี่ยนไปจัดเขตอื่นต่อ ไอเดียมาจากงานกลางคืนของศิลปิน ปชต. กับร้าน Junk House Music Bar ค่ะ

กิจกรรมระยะสอง : Open! ส่งเสียงขนาดนี้แล้วไม่ฟัง เราก็อย่าฟังมัน เปิดร้านค่ะ เปิดให้นั่ง ขายเหล้าเบียร์ เล่นดนตรีสด แบบมีมาตรการ รักษาระยะห่าง ไม่ต้องประชาสัมพันธ์ ไม่ต้องเอิกเกริก แต่เปิดโอกาสให้ลูกค้าประจำและเพื่อนฝูงได้มาสนับสนุนคุณ ถ้ามีการมาจับกุม เราก็รวมพลังกันด่าและสู้ ถึงตอนนั้น เครือข่ายเราก็จะแข็งแรงแล้ว

กิจกรรมระยะสาม : Market Place + Mob ถ้าทำขนาดนี้แล้วยังไม่เกิดอะไร ลงถนนกันเถอะ ออกร้านขายอาหารบนถนนกันค่ะ เปิดลานเบียร์ ตั้งเวทีเล่นดนตรี แล้วก็ปราศรัยใหญ่ด่าพวกมัน เชื่อว่าคนเอาแน่ ลูกค้าคุณจะตามมาซื้อ มวลชนจะมากินมา support แน่ๆ เริ่มต้นจากการกรอกฟอร์มค่ะ

ข้อมูลนี้จะไม่เปิดเผยที่ไหน เราจะเก็บไว้ติดต่อส่วนตัวและสร้างเครือข่ายแนวร่วมสำหรับการทำงานระยะต่างๆ

ตอนนี้เท่าที่ศึกษามา ถ้าฝ่าฝืน พ.ร.ก.แล้วโดนจับ อาจจะโดนค่าปรับ 40,000 บาท (เจ้าหน้าที่ปรับเองไม่ได้ ต้องขึ้นศาล) หรือให้ตำรวจช่วยก็จ่ายน้อยกว่า ร้ายแรงสุดคืออาจโดนสั่งปิดได้ อย่างไรก็ตาม เรามีทนายคอยช่วย มีทีมเจรจาเจ้าหน้าที่ มีคนรอสนับสนุนร้านที่จะเปิด และมีคนรอร่วมด่ามากมาย เพราะฉะนั้น อย่ากลัวเลย

ทั้งหมดนี้เป็นไอเดียเบื้องต้นจากการปรึกษาหลายๆ คนนะคะ ซึ่งเราเข้าใจค่ะว่ามันมีความเสี่ยงหลายอย่าง แต่จุดนี้ถ้าจะสร้างเครือข่ายและเกราะป้องกันช่วยเหลือกัน คุณต้องแสดงความกล้าหาญและประกาศตัวแล้วล่ะ

นั่นแหละ เริ่มจากการกรอกฟอร์ม หรือไปชวนร้านโปรดของคุณให้มาลงชื่อกัน”


ด้าน น.ส.พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า อดีตพรรคอนาคตใหม่ ยังได้โพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ @pannika_fwp ระบุว่า “เซเว่นยังเปิดได้ทำไมร้านอาหารจะเปิดไม่ได้! เมื่อกฎหมายอยุติธรรม เป็นหน้าที่พลเมืองที่จะต่อต้าน ใครอยากร่วมแคมเปญเชิญกดลิงก์เข้าไปร่วมลงชื่อได้เลยค่ะ #กูจะเปิดมึงจะทําไม”


ขณะที่ในทวิตเตอร์ได้มีการเปิดประเด็นด้วยแฮชแท็ก #กูจะเปิดมึงจะทําไม อย่างกว้างขวาง 

ก่อนหน้านี้ นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า ทาง ศบค.ก่อนหน้านี้ได้ผ่อนคลายให้นั่งรับประทานในร้านได้ แต่จากการสอบสวนโรคที่ผ่านมาพบผู้ติดเชื้อจากการรับประทานอาหารในร้านพอสมควร และนำเชื้อไปแพร่สู่ครอบครัวที่บ้าน จากสถิติตรงนี้ทางคณะที่ปรึกษาด้านสาธารณสุขจึงเสนอมาตรการที่เข้มงวดห้ามนั่งรับประทานใน 6 จังหวัด เมื่อถามว่า มาตรการช่วยเหลือศิลปิน ฟรีแลนซ์ ลูกจ้าง พนักงาน ผู้ประกอบการสถานบันเทิง มีการช่วยเหลืออย่างไร และจะดำเนินการเยียวยาหรือไม่ เพราะถูกสั่งปิดมาก่อนหน้านี้หลายเดือนแล้ว โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า นายกฯ ได้มีการพูดคุยกับทีมเศรษฐกิจ นอกเหนือจากเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากระเบียบล่าสุดที่ออกมาแล้ว ในส่วนผู้ประกอบการอื่นๆ นายกฯ ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณามาตรการเยียวยาให้เร็วที่สุดด้วยเช่นกัน

อีกด้านหนึ่ง พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) กล่าวขออภัยร้านอาหารที่ออกคำสั่งช้า ทำให้เตรียมตัวไม่ทัน โดยมาตรการเยียวยาจะอยู่ในความรับผิดชอบของ ศบศ.ที่ได้ประชุมและมีมาตรการไปแล้ว ขณะเดียวกันได้แจ้งไปยังนายกสมาคมภัตตาคารไทย แต่การสื่อสารอาจจะไม่ทั่วถึง ก็ต้องขออภัยที่ทำให้เกิดความเดือดร้อน และประชาชนได้รับผลกระทบไปบ้าง ขณะเดียวกันก็ต้องขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการเหล่านี้ เพราะเราไม่อยากใช้มาตรการที่เข้มข้น ไม่อยากให้ประชาชนเดือดร้อน แต่ในเมื่อคณาจารย์แพทย์อาวุโส และเป็นระดับคณบดีแพทย์ศิริราช และมหาวิทยาลัยต่างๆ มาเสนอแนะด้วยตนเอง ศบค.ก็ต้องรับฟัง และปรับตามมาตรการที่เสนอ โดยจะพยายามดูให้ดีที่สุด ยืนยันว่าเราทำให้ดีที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น