xs
xsm
sm
md
lg

จากหมอพร้อมเป็นหมอพัง มีปัญหาตั้งแต่ต้นทาง สธ.จ้างบริษัทไม่เคยรับงานระดับประเทศดูแล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ระบบจองวัคซีนจากหมอพร้อมเป็นหมอพัง เพจ Gossipสาสุขฯ แฉเบื้องหลัง กระทรวงสาธารณสุขจ้างบริษัทไม่เคยรับงานระดับประเทศไปพัฒนาระบบ แถมเกิดปัญหาปั่นป่วนไม่หยุด ยอดไม่กระเตื้อง ทำเอาแต่ละจังหวัดทำระบบเป็นเอกเทศ สุดท้ายกลายเป็นหมาเรียบร้อย แนะนายกฯ-ศบค.สื่อสารทางเดียว ไม่อย่างนั้นความเชื่อมั่นต่ำ ไม่มีใครเชื่อถืออีกต่อไปแล้ว

วันนี้ (27 พ.ค.) เฟซบุ๊ก “Gossipสาสุข” โพสต์ข้อความหัวข้อ “การเมืองเบื้องหลัง “หมอพร้อม” เมื่อประยุทธ์ขอให้ชะลอแอปฯ และให้จังหวัดจัดการกันเอง” ระบุว่า “ท่าทีล่าสุดจาก นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ที่ให้ชะลอการลงทะเบียนฉีดวัคซีนผ่านแอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” นั้น แม้จะ “ช็อก” ความรู้สึกคนทั่วไป แต่สำหรับคนวงการสาธารณสุขไม่ได้รู้สึกแปลกใจเท่าไหร่นัก เพราะรู้ดีว่าแอปพลิเคชันนี้มีปัญหาตั้งแต่ต้นทาง

ตอนแรก เมื่อมีข่าวว่าจะเริ่มต้นพัฒนาระบบจองวัคซีนนั้น มีผู้ “เสนอตัว” หลายทาง ไม่ว่าจะเป็นบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ระดับโลก หรือผู้ที่พัฒนาแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ให้แก่รัฐบาลเพื่อทำโครงการ “เรารักกัน” ตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ไม่ทราบว่าด้วยสาเหตุใด ความร่วมมือแบบ “public private partnership” นี้จึงไม่เกิดขึ้น

ต้องบอกก่อนว่า “หมอพร้อม” นั้นกำเนิดภายใต้คณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) ที่ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รมว.สาธารณสุข เซ็นคำสั่งแต่งตั้ง “นพ.โสภณ เมฆธน” อดีตปลัด สธ. อดีตประธานบอร์ดองค์การเภสัชกรรม และปัจจุบันเป็นผู้ช่วย รมต.สธ. ให้เป็นประธานอนุกรรมการชุดนี้เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา

โดยตั้งใจจะพัฒนาแอปพลิเคชันของตัวเองให้เป็นระบบใหม่ และเป็นหมุดหมายสำคัญที่จะมาช่วยเรื่องการจองและกระจายวัคซีนโควิด-19 ให้ประชาชนทั้งประเทศ โดยจ้างบริษัทซึ่งไม่เคยรับงานระดับประเทศ แต่อาจจะเคยรับงานระดับโรงพยาบาลใหญ่ เนื่องจากตัวแอปฯ หมอพร้อมในแอปสโตร์มีชื่อโรงพยาบาลชลบุรีขึ้นด้วย (ซึ่งช่วงแรกที่ให้ประชาชนดาวน์โหลดนั้นก็เกิดความสับสนกันว่าใช่แอปฯ หมอพร้อมของจริงหรือไม่ เพราะมีชื่อ รพ.ชลบุรีอยู่ด้วย) ให้เป็นผู้พัฒนาระบบ ตอนแรก ตั้งมั่นว่าจะเป็นไลน์ออฟฟิเชียล แอ็กเคานต์ หรือ LINE OA เท่านั้น โดยเปลี่ยนชื่อ LINE OA กระทรวงสาธารณสุข เป็น LINE OA หมอพร้อม แต่ในเวลาต่อมาก็ขยายตัวเป็นแอปพลิเคชันของตัวเอง

ความแปลกของ “หมอพร้อม” อีกข้อที่สังคมตั้งข้อสงสัยคือ ทำไมกระทรวงดิจิทัลฯ จึงไม่เข้ามาช่วยจัดการในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านนี้โดยตรง ทำไมปล่อยให้กระทรวงสาธารณสุขที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องไอทีน้อยกว่า มารับหน้าที่ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญและเร่งด่วนระดับชาติไปเพียงลำพัง
หมอพร้อมเริ่มเปิดลงทะเบียนช่วงต้นเดือน พ.ค. โดยให้ 7 กลุ่มเสี่ยงและผู้สูงอายุลงทะเบียนล่วงหน้า เป้าหมาย เพื่อให้ผู้สูงอายุ และกลุ่มเสี่ยงลงทะเบียนไว้ก่อนล่วงหน้า ภายใต้เงื่อนไขสำคัญ นั่นคือคนกลุ่มนี้ต้อง “พร้อมฉีดวัคซีน” ทันทีในเดือน มิ.ย. ซึ่งก็ค่อนข้างแปลกประหลาดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในยุโรป หรือในสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะเปิดลงทะเบียนก็ต่อเมื่อ “มีของ” ในมือเท่านั้น ไม่ใช่ลงทะเบียนตั้งแต่บริษัทผู้ผลิตยังไม่พร้อมแบบบ้านเรา

นอกจากนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นจริงก็คือมีความปั่นป่วนตั้งแต่เริ่มแรก ไม่ว่าจะเป็นชื่อคนไปปรากฏในโรงพยาบาลที่ตัวเองไม่เคยเกี่ยวข้อง, ชื่อกลุ่มเสี่ยงบางคนหลุดจากระบบ ไม่สามารถจองได้ ต้องให้โรงพยาบาลช่วยจองให้ หรือการที่โรงพยาบาลหลายแห่งประกาศว่าไม่เคยได้รับชื่อคนไข้ที่จองฉีดวัคซีนผ่านระบบหมอพร้อม ทำให้โรงพยาบาลต้องเปิดระบบการจองฉีดวัคซีนขึ้นมาใหม่เป็นของตัวเอง ขณะเดียวกัน ในตอนแรกยังมีคนลงทะเบียนแบบกะปริบกะปรอย ทำเอารัฐมนตรีสาธารณสุข และรัฐบาลเสียหน้า บางจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดต้องให้ อสม.ไปล่ารายชื่อชาวบ้านมาลงทะเบียนไว้ก่อนค่อยไปเคลียร์ทีหลัง จนทำให้ยอดหมอพร้อมกระเตื้องขึ้นมาได้บ้าง

แต่ปัญหาของแอปฯ นี้ก็ไม่จบ เพราะจากความเชื่อเดิมที่คิดว่ากระทรวงสาธารณสุขคุม “สถานพยาบาล” ทั่วประเทศนั้นก็ไม่เป็นความจริง ยกตัวอย่างในกรุงเทพฯ นั้น Gossipสาสุข เคยบอกไว้แล้วว่าเป็นเบี้ยหัวแตก เพราะกระทรวงฯ มีโรงพยาบาลเป็นของตัวเองอยู่น้อยนิด และกระทรวงสาธารณสุข เจ้าของอำนาจ “สั่งการ” ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เลยมีประชาชนตกหล่นอีกจำนวนมาก ขณะที่จังหวัดแต่ละจังหวัดก็อยากมีระบบจัดการวัคซีนของตัวเองเป็นเอกเทศ เลยมีทั้งระบบภูเก็ตต้องชนะ ระบบนนท์พร้อม และล่าสุดของกรุงเทพมหานครก็มีระบบ “ไทยร่วมใจ” เพื่อจองคิวฉีดวัคซีนขึ้นมาอีก กลายเป็นประชาชนต้องโหลดสารพัดแอปฯ เพื่อจะจัดการจองคิววัคซีน

ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อวัคซีน “แอสตร้าเซนเนก้า” ล็อตใหญ่ที่คิดว่าจะมากลับไม่ได้มาตามนัด เรื่องก็มั่วเข้าไปใหญ่ เพราะโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเองแท้ๆ คิดว่าจะมีวัคซีน “ในมือ” ตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคมเพื่อเตรียมความพร้อม เตรียมระบบฉีดได้ทันที ในวันเริ่มปูพรมฉีดต้นเดือน มิ.ย. ก็ไม่ได้มาอย่างที่คิด อีกทั้งวัคซีนที่คิดว่าจะเกลี่ยตามแต่ละจังหวัดให้ได้ตามที่มีผู้ลงทะเบียนไว้ก็ไม่ได้ การจัดลำดับความสำคัญเปลี่ยนใหม่ ให้มาลงที่ กทม.ก่อน “หมอพร้อม” ก็เลยกลายเป็น “สุนัข” ไปเป็นที่เรียบร้อย หลายโรงพยาบาลต้องโทร.นัดคิว เลื่อนคิวกันใหม่เอง โดยที่หมอพร้อมไม่สามารถทำอะไรได้เลย

นั่นทำให้ระบบที่ต้องการ “รวมศูนย์” กลับไปใหม่ เปลี่ยนไปเป็นให้แต่ละจังหวัดจัดการกันเอง ซึ่งจนถึงวันนี้ก็ยังจัดการไม่ได้ เพราะวันนี้ 2 สัปดาห์ก่อนยุทธศาสตร์ปูพรมวัคซีนก็ยังคงไม่มีแผนชัดเจนจาก ศบค.ว่าจะกระจายแต่ละจังหวัดอย่างไร จะให้กลุ่มไหนฉีดก่อน และแต่ละจังหวัดจะได้วัคซีนเท่าไหร่ แม้แต่ผู้อำนวยการ ศบค.อย่าง พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังไม่รู้

ความจริงเรื่องนี้แก้ไม่ยาก เมื่อนายกรัฐมนตรี เมื่อ ศบค.รวบอำนาจไว้ที่ตัวเองแล้วทุกอย่าง ก็ควรมาจาก ศบค.อย่างเดียว ไม่ว่าจะจัดหาวัคซีน ไม่ว่าจะเป็นการเกลี่ยวัคซีน หรือระบบการจอง ไม่ควรจะมีแอปพลิเคชันหลายแอปฯ ให้ยุ่งยาก และไม่ควรจะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา สื่อสารทางเดียว ก็ควรจะจบ
แต่เมื่อทุกอย่างเป็นการเมือง มีการแบ่งพวก เรื่องก็เลย “เละ” ตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง และกลายเป็นภาระของทั้ง “โรงพยาบาล” ที่ทุกวันนี้ก็งานหนักอยู่แล้ว ต้องคอยตามวัคซีนว่าจะมาหรือไม่ และก็เป็นภาระของประชาชน ที่ต้องนั่งเปิดแอปฯ ลุ้นทุกวันว่าจะถูกเลื่อนหรือไม่ ถูกเทหรือไม่ เพราะวัคซีนไม่ได้มาตามนัด

ทางที่ดี ศบค.ควรเคลียร์เรื่องนี้ให้จบโดยเร็ว เพราะเมื่อโหมโปรโมตไว้มากว่า “วัคซีน” ที่มีในมือนั้นมีคุณภาพ และ “วัคซีน” เป็นทางเดียวที่จะจบปัญหา แต่ถ้าประชาชนไม่สามารถจองได้ ไม่สามารถฉีดได้ ก็ไร้ประโยชน์ และความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลก็จะตกต่ำลงไปเรื่อยๆ

หากยังเป็นแบบนี้ต่อไปอีก เมื่อพูดอะไรอีกหลังจากนี้ ก็คงไม่มีใครเชื่อถืออีกต่อไปแล้ว #COVID19 #โควิด19 #หมอพร้อม”


กำลังโหลดความคิดเห็น