xs
xsm
sm
md
lg

เปิดรายชื่อครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปี 2564 สุดยอดครู 11 ประเทศในอาเซียนและติมอร์-เลสเต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้ (22 พ.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า วันที่ 20 พ.ค. 64 ที่กระทรวงศึกษาธิการ ในงานแถลงข่าวครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปี 2564 บทบาทความเป็น “ครู” ในยุคโควิด-19 โดยมี น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และ นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ร่วมแสดงความยินดีแก่ครูผู้ได้รับรางวัล

ดร.กฤษณพงศ์ กล่าวว่า รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เป็นรางวัลเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติครูผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตลูกศิษย์ และมีคุณประโยชน์ต่อการศึกษาในประเทศอาเซียนและติมอร์-เลสเต รวม 11 ประเทศ ประเทศละ 1 รางวัล โดยจัดมอบรางวัลในทุก 2 ปี และเพื่อถวายเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เจ้าฟ้านักการศึกษา โดยความร่วมมือของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

สำหรับครูผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีมาจากการคัดเลือกของกระทรวงศึกษาธิการในอาเซียนและติมอร์-เลสเตทั้ง 11 ประเทศ โดยมีคุณสมบัติเป็นครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงแก่ชีวิตของลูกศิษย์และมีคุณูปการต่อวงการศึกษา ประเทศละ 1 คน ซึ่งจะมีการคัดเลือกสุดยอดครู 2 ปีครั้ง เพื่อเข้ารับพระราชทานรางวัล ประกอบด้วย เหรียญรางวัล ประกาศนียบัตร โล่ เข็มเชิดชูเกียรติทองคำ และเงินรางวัล รางวัลละ 10,000 เหรียญสหรัฐฯ โดยมีกำหนดพิธีพระราชทานรางวัลในวันที่ 29 ต.ค.นี้

ซึ่งครูผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี 11 ประเทศในอาเซียนและติมอร์-เลสเต ปี 2564 มีประวัติที่น่าสนใจดังนี้ 1.บรูไนดารุสซาลาม เปองีรัน ฮาจี โมฮัมหมัด วาฮับ บิน เปองีรัน ฮาจี อับดุลละฮ์ สอนวิชาศิลปะการประกอบอาหาร ที่ School of Hospitality and Tourism, IBTE Sultan Saiful Rijal Campus สายอาชีพ มีประสบการณ์และทักษะการสอนกว่า 20 ปีเป็นผู้นำในการจัดหลักสูตรการปรุงอาหารและการบริการแบบมืออาชีพ จัดทำหลักสูตรการบริหารจัดการอาหารแบบครบวงจร

2.กัมพูชา นายณอน ดารี สอนระดับประถมศึกษาที่โรงเรียน Quach Mengly Toulbeng, จังหวัดกำปงจาม เริ่มใช้การบูรณาการการเรียนการสอนด้วยคอมพิวเตอร์ เน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง และทำวิจัยในชั้นเรียนโดยให้ความสำคัญกับทักษะและการแก้ปัญหาของนักเรียนเป็นสำคัญ

3.อินโดนีเซีย น.ส.คอรีอิยะฮ์ สอนวิชาวิทยาศาสตร์ โรงเรียนประถมศึกษา SMP Negeri 32 Bandar Lampung จังหวัดลัมปุง นับเป็น “Resource Person” ในการเรียนการสอนโดยใช้โปรแกรม “Webinar” จากกระทรวงศึกษาธิการและวัฒนธรรม

4.สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว นางแสงเพ็ด คูนปะเสิด หัวหน้าวิชาฟิสิกส์ โรงเรียนมัธยมศึกษาอุดมไซ (Oudomxay) สอนวิชาฟิสิกส์และพัฒนาหลักสูตรการสอนในระดับ ม.ปลาย และเผยแพร่ให้กับโรงเรียนอีก 14 แห่งที่เมืองไซ เป็นวิทยากรระดับจังหวัดในวิชาวิทยาศาสตร์ และมีงานเขียนเอกสารทางวิชาการ

5.มาเลเซีย นายโนร์ฮาอิลมี อับดุล มูตาลิบ สอนวิชาวิทยาศาสตร์โรงเรียนมัธยมศึกษา SMK Jerlun รัฐเกดะห์ ครูต้นแบบการสอน STEM ศึกษาระดับประเทศ ได้รับการเสนอให้เป็น “Master Trainers for Inquiry-Based Science” ในระดับประเทศและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการสอนแบบบูรณาการด้านเทคโนโลยีดิจิทัล

6.เมียนมา นายจอร์ ซิน ออง ครูผู้ช่วยสอนอาวุโส (Senior Assistant Teacher) และสอนภาษาอังกฤษที่ No.8 Basic Education Middle School เมืองลาโชว์ รัฐฉาน ได้รับรางวัลครูดีเด่นระดับโรงเรียน และรางวัล Outstanding Teacher Award ระดับรัฐ

7.ฟิลิปปินส์ นายมาเซโล ที โอทินเควท หัวหน้าครูในระดับพื้นที่ 5 โรงเรียน Governor Bado Dangwa Agro-Industrial, Kapangan, Benguet ผู้ประสานงานเก็บรวบรวมเอกสารคลังข้อมูลชนพื้นเมือง และมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาชุมชนในหลายบริบท

8.สิงคโปร์ นายหยก จูน เม็ง หัวหน้าภาควิชาภาษาอังกฤษและสังคม โรงเรียนประถมศึกษา Yu Neng นำ ICT เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ บูรณาการการคิดและวิเคราะห์ การใช้ Coding และมีการทำแผนภาพการใช้ ICT บูรณาการกับโครงการต่าง ๆ ของโรงเรียน

9.ติมอร์-เลสเต นายวีเซ็นเต มาร์กัล ดา ซิลวา ผู้อำนวยการและสอนภาษาอังกฤษ-โปรตุเกส โรงเรียน Ensino Central Tirilolo Baucau (The Central Basic School of Tirilolo Baucau Vila) มีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐาน การกีฬาในโรงเรียน และการฝึกอบรมครูและนักเรียนของประเทศ

10.เวียดนาม น.ส.ฮ่า หัน เฟื่อง สอนวิชาภาษาอังกฤษที่โรงเรียนมัธยมศึกษา Huong Can จังหวัดฟู้เถาะ พัฒนาการเรียนการสอนแบบห้องเรียนไร้พรมแดนให้เด็กนักเรียนบนพื้นที่สูงและเด็กชนเผ่า และบูรณาการวิชาภาษาอังกฤษเข้าไปในการเรียนการสอน เชื่อมโยงกับสังคมยุคใหม่ด้วยแนวคิดการเป็นพลเมืองโลก

11.ไทย น.ส.ประทิน เลี่ยนจำรูญ สอนวิชาการตลาดและเศรษฐศาสตร์ ระดับ ปวช.วิทยาลัยเทคนิคพังงา จังหวัดพังงา มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านการเขียนแผนธุรกิจ เป็นที่ปรึกษาธุรกิจของผู้เรียนอาชีวศึกษาได้รับรางวัลระดับประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการ “บางพัฒน์โฮมสเตย์” ที่ดำเนินการประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีการมอบรางวัลคุณากร ครูยิ่งคุณ และ ครูขวัญศิษย์ โดยครูที่ได้รับรางวัลคุณากร ปี 2564 จำนวน 3 ราย คือ น.ส.กล่อมจิต ดอนภิรมย์ โรงเรียนกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ครูผู้เติมเต็มศักยภาพให้แก่ลูกศิษย์ที่หลากหลายวิธี โดยเชื่อว่าทุกคนเป็นดาวเด่นในตัวเอง, นางสุมิตรา กลิ่นบุบผา โรงเรียนบ้านหนองแดน สาขาบ้านโละโคะ จังหวัดกำแพงเพชร แม่ครูที่ทำให้เด็กกลุ่มชาติพันธุ์อ่านออกเขียนได้ และไม่เคยทอดทิ้งนักเรียนและชุมชนและ นายสิทธิชัย จันทร์คลาย โรงเรียนบ้านไทยสามัคคี จังหวัดสระแก้ว ครูผู้ใช้ศิลปะเพื่อปลุกความคิดสร้างสรรค์สู่การพัฒนาความถนัดของผู้เรียน ทั้งนี้สามารถดูรายชื่อครูที่ได้รับการคัดเลือกได้ที่เว็บไซต์ www.PMCA.or.th

น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับครูที่ได้รับรางวัลและประทับใจในความทุ่มเท เสียสละ ไม่ว่าลูกศิษย์จะมีต้นทุนชีวิตที่ต่างกันอย่างไร แต่ครูมองเห็นถึงศักยภาพที่มีอยู่ภายในลูกศิษย์ สามารถสร้างให้เป็นบุคลากรที่มีคุณภาพได้ บทบาทของความเป็นครูในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่กำลังระบาดระลอกที่ 3 เป็นโจทย์ท้าทายที่นอกจากจะต้องคำนึงถึงการเรียนรู้ของลูกศิษย์ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นทางเศรษฐกิจ สุขภาพกาย สุขภาพจิตใจ และความปลอดภัยของผู้เรียนแล้ว ก็ต้องดูแลสวัสดิภาพและความปลอดภัยของเพื่อนครูด้วยกันอีกด้วย สิ่งที่ตนห่วงใยคือ ปรากฏการณ์ความรู้ถดถอยของผู้เรียน หรือ Learning Loss ที่กำลังเกิดขึ้นในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย อันเป็นผลมาจากการใช้มาตรการการจัดการศึกษาเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยการปิดโรงเรียน และใช้วิธีการเรียนแบบผสมผสานระหว่างการเรียนทางไกลควบคู่กับการเรียนในสถานที่ สิ่งนี้อาจทำให้นักเรียนเกิดภาวะ Learning Loss หรือความรู้ที่หายไป ซึ่งมีผลต่อการเรียนรู้ของเด็ก

1.“ความห่วงใยที่เกิดขึ้น จึงขอฝากแนวคิดการจัดการศึกษาภายใต้หลักความปลอดภัยของครูในยุคโควิด-19 ไว้ 4 ประการ คือ 1. ครูต้องหมั่นสำรวจความพร้อมของผู้เรียน เพื่อวัด Learning Lloss และดำเนินการเติมเต็มช่องว่างการเรียนรู้ที่หายไป ไม่ว่ารูปแบบใด ๆ เพื่อเติมการเรียนรู้ของผู้เรียน 2. การหมั่นสำรวจสุขภาพกาย สุขภาพจิตของผู้เรียนและเพื่อนครู 3. การติดตามข้อมูลผลกระทบทางเศรษฐกิจ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือ และ 4. การให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในชีวิตและการเดินทาง เพื่อให้เกิดความมั่นใจต่อความปลอดภัยจากการระบาดของเชื้อ และเพื่อให้โรงเรียนรู้ข้อมูลที่เกิดขึ้นกับนักเรียนเป็นรายบุคคลเพื่อออกแบบแนวทางแก้ปัญหาได้ตรงจุด ทั้ง 4 ประการนี้จะเกิดขึ้นได้ โรงเรียนต้องมีอิสรภาพในการบริหารจัดการภายในโรงเรียน เพื่อออกแบบการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นตามบริบทสถานการณ์ในพื้นที่” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าว

สำหรับบทบาทของครูในยุคโควิด-19 น.ส.ประทิน กล่าวว่า จากประสบการณ์ระบาดเมื่อปีที่แล้วทำให้ครูต้องเปลี่ยนบ้านเป็นโรงเรียน การศึกษาต้องมีความยืดหยุ่น โดยการเรียนออนไลน์ไม่เกิน 2 วิชาต่อ 1 วัน ซึ่งต้องบูรณาการวิชาต่างๆ เข้าด้วยกัน ครูต้องกระชับหลักสูตรสอนเนื้อหาที่ต้องรู้ ส่วนเนื้อหาที่ควรรู้ก็ปรับรูปแบบเป็นใบงานให้ค้นคว้าเพิ่มเติมเพื่อฝึกปฏิบัติจากสิ่งใกล้ตัว อย่างไรก็ตาม สถานการณ์สึนามิเกิดขึ้นครั้งเดียว แต่การระบาดของโควิดส่งผลกระทบถึง 3 ระลอก ซึ่งจังหวัดพังงาเป็นเมืองท่องเที่ยวและได้ผลกระทบทำให้ลูกศิษย์ที่ยากจนที่สุดที่ได้รับทุนนวัตกรรมสายอาชีพและเรียนสาขาการท่องเที่ยวกังวลเรื่องการมีงานทำเมื่อจบมา ครูจึงต้องสร้างความมั่นใจและสอนให้ติดตามข่าวสารเพื่อให้ปรับตัวได้เร็ว

นางสุมิตรา กล่าวว่า บ้านโละโคะเป็นพื้นที่ 2 ชนเผ่า นักเรียนส่วนใหญ่ไม่ได้พูดภาษาไทย การปิดเทอมที่ยาวนานทำให้การรู้ภาษาไทยหายไป คณะครูจึงต้องออกมาสอนตามบ้านและให้ใบงานเพื่อการเรียนรู้ที่ต่อเนื่อง ซึ่งการเข้าหมู่บ้านได้ ครูก็ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนในหมู่บ้าน ทำตัวให้ปลอดเชื้อเป็นตัวอย่าง เก็บตัว สวมหน้ากากอยู่ตลอดเวลา

น.ส.กล่อมจิต กล่าวว่า การสอนผ่านออนไลน์ที่ผ่านมาเกิดช่องว่างการเรียนรู้ พบว่าเด็ก 60 เปอร์เซ็นต์ เข้าห้องเรียน อีก 40 เปอร์เซ็นต์ไม่สามารถเข้าห้องเรียนได้ เพราะบางคนเรียนออนไลน์ผ่านมือถือ การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ขาดอุปกรณ์ สถานที่ไม่เอื้อต่อการเรียน และอีกกลุ่มคือขาดความรับผิดชอบ ในขณะที่ผู้ปกครองบางส่วนก็ขาดความเข้าใจ ซึ่งการแก้ปัญหาเด็ก 40 เปอร์เซ็นต์ ที่หายไป จึงพัฒนา “ศูนย์เรียนรู้ประจำชุมชน” โดยมีอาสาสมัครและครูเข้าไปจัดการสอนในชุมชน

ขณะที่ นายสิทธิชัย กล่าวว่า การสอนออนไลน์ที่ผ่านมาไม่ได้ผล เพราะเด็กที่มีโทรศัพท์ไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ และผู้ปกครองขาดรายได้ จึงปรับรูปแบบการสอนด้วยการบูรณาการวิชาเรียนในรูปแบบโครงงาน เช่น การเรียนเรื่องสี่เหลี่ยมที่เชื่อมโยงระหว่างวิชาคณิตศาสตร์ ศิลปะ และภาษาไทย โดยสอน 2 รูปแบบ ทั้งออนไลน์และการแจกใบงานสำหรับเด็กที่เข้าไม่ถึงออนไลน์














กำลังโหลดความคิดเห็น